|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สหรัฐอาหรับอียิปต์ The Arab Republic of Egypt
|
|
ชื่อทางการ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt)
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา
ทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดรัฐอิสราเอล ทิศตะวันออกติดทะเลแดง ทิศใต้ติดสาธารณรัฐซูดาน และทิศตะวันตก
ติดสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย
พื้นที่ 1,001,450 ตารางกิโลเมตร
ภูมิอากาศ อากาศร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อน มีฝนตกน้อยมาก ฤดูร้อนมี
อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 27 - 32 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส
ประชากร 78,887,007 คน (ปี 2549) ประกอบด้วยชาวอียิปต์
ร้อยละ 98 ชาวเบอร์เบอร์ นูเบีย และเบดูอิน ร้อยละ 1 และชาวกรีก
และอาร์เมเนียร้อยละ 1
เชื้อชาติ ประกอบด้วย ชนชาติเฟลลาฮีน เบดูอิน และนูเบียน
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไปได้แก่ ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส
ศาสนา อิสลาม (สุหนี่) ร้อยละ 90 คริสเตียนคอปติก และอื่น ๆ ร้อยละ 10
เมืองหลวง กรุงไคโร (Cairo)
การเมืองการปกครอง
แบ่งเป็น 3 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในทางปฏิบัติ ประธานาธิบดีเป็นผู้มีบทบาทสูงสุด และเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ประธานาธิบดี มูบารัค ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2524 รวมปัจจุบันอยู่ในตำแหน่ง 26 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 5 และจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเดือนกันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีมูบารัค พยายามดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม และเศรษฐกิจโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualism) เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ประธานาธิบดีมูบารัค ได้ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และสามารถมีผู้สมัครได้มากกว่า 1 คน จากเดิมที่กำหนดให้รัฐสภาเสนอชื่อผู้สมัครเพียงคนเดียว อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 ประธานาธิบดีมูบารัคได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศอีกสมัยหนึ่ง
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุข มีวาระคราวละ 6 ปี และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนายโมฮัมเหม็ด ฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) นายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายอาเหม็ด นาซีฟ ( Ahmed Nazif)
อียิปต์มีรัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่
1. สภาประชาชน (Majilis Al-Shaab หรือ Peoples Assembly) จำนวน 454 ที่นั่ง
2. สภาที่ปรึกษา (Majilis Al-Shoura หรือ Consultative Assembly) จำนวน 254 ที่นั่ง นอกจากนี้ อียิปต์มีระบบการเมืองแบบหลายพรรค (Multi-party System) ปัจจุบัน มีพรรคการเมืองที่ได้รับการรับรองจากทางการ 18 พรรค พรรค National Democratic Party (NDP) ซึ่งประธานาธิบดีมูบารัคเป็นหัวหน้า เป็นพรรครัฐบาล ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาประชาชนรวม 324 เสียง
- ประมุข ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2524 รวมปัจจุบันอยู่ในตำแหน่ง 26 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 5 และจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเดือนกันยายน 2554 (ค.ศ. 2011)
- นายกรัฐมนตรี : นาย Ahmed Mohamed Nazif
- รัฐมนตรีต่างประเทศ : นาย Ahmed Aboul Gheit
ทางด้านเศรษฐกิจ
- อียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญ เคยผลิตได้วันละ 922,000 บาร์เรล แต่ลดลงเหลือวันละประมาณ 700,000 บาร์เรล นอกจากนี้ อียิปต์มีศักยภาพด้านก๊าซธรรมชาติ และคาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ จึงอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินโครงการเพื่อส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas - LNG)
- อียิปต์มีรายได้หลัก 5 ด้าน ได้แก่ การส่งออกน้ำมัน การท่องเที่ยว รายได้จากค่าธรรมเนียมการผ่านคลองสุเอซ การส่งเงินกลับจากแรงงานในต่างประเทศ และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ปัจจุบัน รายได้จากการส่งออกน้ำมัน (ผลิตได้วันละ 700,000 บาร์เรล และส่งออกครึ่งหนึ่ง) คิดเป็นประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และรายได้จากแรงงานอียิปต์ในต่างประเทศ (ประมาณ 5 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบียประมาณ 1 ล้านคน ในลิเบียประมาณ 1.5 ล้านคน) ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
- ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ หนี้ต่างประเทศ (ประมาณ 29.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการเพิ่มประชากรสูง การว่างงาน (ประมาณร้อยละ 10) ความยากจน และการขาดดุลงบประมาณ ปัญหาระบบราชการและรัฐวิสาหกิจซึ่งมีขนาดใหญ่และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลอียิปต์มีนโยบายที่จะแปรรูปกิจการของรัฐ และปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ โดยได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก
กลุ่มประเทศผู้บริจาค (Paris Club) รวมทั้งจากกลุ่มประเทศอาหรับ
- อียิปต์ได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2533 โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจการตลาดเสรี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นผลให้ภาวะเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ลดภาวะเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานลงได้ จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 ในปัจจุบัน
- รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าเสรีและบทบาทของภาคเอกชน โดยเร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา การปฏิรูประบบศุลกากร ปรับปรุงระบบภาษี การลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจำเป็นพื้นฐาน เช่น ข้าวสาลี และน้ำตาล การส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสารและคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาการเพิ่มขึ้นสูงของประชากร และการว่างงาน นาย Ahmed Nazif นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางธุรกิจสูง และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลของคนรุ่นใหม่ ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตกจำนวนมาก และ
มีความชำนาญงานด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่
- ในปี 2541 อียิปต์ได้เข้าไปร่วมเป็นสมาชิกตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและใต้ (Common Market of Eastern and Southern Africa COMESA) เพื่อขยายตลาดสินค้าอียิปต์ในประเทศต่างๆใน แอฟริกา ต่อมาในปี 2544 อียิปต์ได้ทำความตกลง Euro-Mediterranean Association Agreement กับสหภาพยุโรป (European Union EU) เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์กับ EU ในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การเงิน สังคม วัฒนธรรม และการกงสุล เพื่อเป็นพื้นฐานของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรปกับอียิปต์ต่อไปในอนาคต
- ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ส่วนประเทศในทวีปเอเชียนั้น สนใจขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กับสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย โดยในการประชุม Sino-African Summit ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 อียิปต์ได้ลงนามความตกลงในด้านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและด้านวิชาการกับจีนรวม 9 ฉบับ
GDP 84.51 พันล้าน USD 2549 (2549)
GDP per Capita 4,200 USD 2549 (2549)
GDP Growth ร้อยละ 5.7 2549 (2549)
ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ฟอสเฟต ยิปซัม
อุตสาหกรรม สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยว เคมีภัณฑ์ น้ำมัน
ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมี การก่อสร้าง ซีเมนต์ โลหะ
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ อาหารแปรรูป
เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เชื้อเพลิง
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ฝ้าย
สิ่งทอ เหล็ก และเคมีภัณฑ์
ตลาดนำเข้าสำคัญ สหรัฐฯ เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส อิตาลี
ซาอุดีอาระเบีย
ตลาดส่งออกสำคัญ สหรัฐฯ อิตาลี สเปน ซีเรีย ฝรั่งเศส
เยอรมนี สหราชอาณาจักร
อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ = 4.66 ปอนด์ (ต.ค. 2545)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับอียิปต์ |
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียิปต์ ดำเนินมาอย่างราบรื่นและก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-อียิปต์ (Thai-Egyptian Joint Commission - JC) ครั้งแรกเมื่อปี 2546 และครั้งที่สองเมื่อปี 2549 ไทยและอียิปต์ได้ขยายความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ ความร่วมมือด้านข่าวกรอง การผลักดันให้แต่ละฝ่ายเป็นประตู (gateway) ทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในปี 2547 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อียิปต์ ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่ารวมด้านการค้าเป็น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2551 เพิ่มพูนความร่วมมือกันในด้านพลังงาน วิชาการและการศึกษา อาทิ ความร่วมมือด้านการป้องกันโรคไข้หวัดนก การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมของมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al Azhar University) และการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ การเสด็จฯ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2550 และการเชิญผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al Azhar) เยือนไทย ระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายน 2550 นับเป็นความก้าวหน้าในความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ
ความสัมพันธ์ด้านการทูตและการเมือง
ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2497 นับเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาหรับที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน ต่างสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ และในความร่วมมือระดับภูมิภาคเช่น ในเวที Asia Middle East Dialogue (AMED) เป็นต้น
ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ
การค้าไทย อียิปต์ในปี 2549 มีมูลค่ารวม 392.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 377.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 15.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 361.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 มูลค่าการค้ารวมสูงขึ้น
ร้อยละ 18.22 การส่งออกของไทยขยายตัวกว่าร้อยละ 40 ขณะที่การนำเข้าจากอียิปต์ลดลงร้อยละ 76.16
สินค้าออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ
สินค้าเข้าจากอียิปต์ที่สำคัญ ได้แก่ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ด้ายและเส้นใย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษาและฝึกอบรม
อียิปต์เป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลามซึ่งเป็นที่นิยมของนักศึกษาไทยมุสลิม ปัจจุบันไทยมีโครงการร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al Azhar University) ของอียิปต์ โดยมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ได้สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส และการส่งครูมาร่วมทำการสอน นอกจากนั้น ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยซึ่งกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ประมาณ 2,500 คน โดยในแต่ละปีมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมประมาณปีละ 60-80 ทุน และทุนจากรัฐบาลอียิปต์ (กระทรวงอุดมศึกษา) ซึ่งให้แก่นักเรียนไทยทั่วไป ปีละ 2 ทุน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ยังได้ส่งครูมาสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในไทยมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ทั้งนี้ ในปี 2549 และ 2550 ไทยได้บริจาคเงิน ปีละจำนวน 1 ล้านบาทให้กับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของนักเรียนไทยด้วย
ขณะเดียวกัน ไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่อียิปต์ในหลายสาขา อาทิ การจัดอบรมหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว หลักสูตรฝึกอบรมด้านการบริหารธุรกิจการส่งออก หลักสูตรด้านการบริหารจัดการลุ่มน้ำและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
ความตกลงที่สำคัญกับไทย
- ความตกลงทางการค้าไทย อียิปต์ลงนาม ลงนามเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2527
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543
- การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-อียิปต์ (Thai-Egyptian Joint Commission) เมื่อเดือนกันยายน 2532 โดยได้ลงนามกันในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน (Exchange of Note) ซึ่ง พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนาย Ahmed Abdel Maguid รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เป็นผู้ลงนามฝ่ายอียิปต์
- ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อ 29 มกราคม 2549 โดยมี
ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนาย Ahmed Aboul Gheit รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายอียิปต์
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการและสถาบันการต่างประเทศอียิปต์ ตามโครงการแลกเปลี่ยนข้าราชการไทย-อียิปต์ ลงนามเมื่อ 18 เมษายน 2550 โดยมีนายนรชิต สิงหเสนี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และดร.Walid M. Abdelnasser ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศอียิปต์ เป็นผู้ลงนามฝ่ายอียิปต์
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์ (ระหว่างปี 2531 2550)
- เมื่อเดือนธันวาคม 2531 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- เมื่อเดือนมกราคม 2533 และเดือนมกราคม 2536 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- เมื่อเดือนธันวาคม 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนอียิปต์เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 17 23 มีนาคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
รัฐบาล (ระหว่างปี 2530 2550)
- เมื่อเดือนมีนาคม 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- เมื่อปี 2542 นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เดินทางเยือนอียิปต์เพื่อเข้าร่วมประชุมศาสนาอิสลาม
- เมื่อวันที่ 29 30 มกราคม 2546 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อียิปต์ ครั้งที่ 1
- เมื่อวันที่ 23 25 กันยายน 2546 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลพร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนอียิปต์
- เมื่อวันที่ 20 23 มีนาคม 2547 นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางไปร่วมประชุมความร่วมมือนานาชาติในการกำจัดโรคเท้าช้าง ครั้งที่ 3 (Third Meeting of the Global Alliance for Elimination of Lymphatic Filariasis) ที่กรุงไคโร
- เมื่อวันที่ 4 9 มกราคม 2548 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะเดินทางไปเจรจาเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร
- เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2548 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนไทยเดินทางไปขยายความสัมพันธ์และแสวงหาโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า อุตสาหกรรม ความร่วมมือทางวิชาการ และการลงทุนกับอียิปต์
- เมื่อวันที่ 28 30 มกราคม 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อียิปต์ ครั้งที่ 2
- เมื่อวันที่ 17-18 เมษายน 2550 นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
ฝ่ายอียิปต์
รัฐบาล (ระหว่างปี 2539 2550)
- เมื่อปี 2539 นาย Amr Moussa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์เยือนไทย
- เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2 มีนาคม 2547 Sheikh (Prof. Dr.) Ahmed Al-Tayeb อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al Azhar University) เยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล
- เมื่อวันที่ 13-15 ตุลาคม 2547 นาย Ezzat Saad, Assistant Foreign Minister for Asian Affairs ของอียิปต์เดินทางเยือนไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 23-27 มิถุนายน 2550 ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al Azhar) ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรีในทางการเมือง เยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
Royal Thai Embassy
9 Tiba Street,
Dokki, Giza
Tel : (202) 3336-7005, 3760-3553-4
Fax : (202) 3760-5076,3760-0137
E-mail : royalthai@link.net
Website : http://www.thaiembassy.org/cairo
Office Hours : Sunday - Thursday 09.00 - 16.30 hrs.
Visa and Consular section : 09.30 - 12.30 hrs.
Weekly Holidays : Friday - Saturday
ฝ่ายอียิปต์
The Embassy of the Arab Republic of Egypt
6 Las Colinas Bldg., 42 nd Fl., Sukhumvit 21,
Watthana, Bangkok 10110
Tel : 0-2661-7184 0-2262-0236
Fax : 0-2262-0235
E-mail : egyptemb@loxinfo.co.th
Office Hours: 09.00 - 15.30 (Monday - Friday)
10.00 - 12.00 (Visa Section)
***************
กรกฎาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|