|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี Republic of Equatorial Guinea
|
|
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณเส้นศูนย์สูตร
มีอาณาเขต
- ทิศเหนือติดกับประเทศแคเมอรูน
- ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับประเทศกาบอง
- ทิศตะวันตกติดกับอ่าวกินี
พื้นที่ 28,051 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงมาลาโบ (Malabo) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะ Bioko
เมืองสำคัญ เมืองบาทา (Bata) ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ
ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยกว่า 2,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส
ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร
จำนวนประชากร 551,201 คน (ประมาณการเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550)
เชื้อชาติ Fang 85.7%, Bubi 6.5%, Mdowe 3.6%, Annobon 1.6%, Bujeba 1.1%, อื่น ๆ 1.4% (2537)
ภาษา ภาษาสเปน และภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ มีภาษาพื้นเมืองอื่น คือ Fang Bubi Ibo และ pidgin English
ศาสนา ศาสนาคริสต์ (ร้อยละ 89) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรมันคาธอลิกนอกจากนี้ ยังมีลัทธิความเชื่อดั้งเดิม
ข้อมูลเกี่ยวกับการปกครอง
รูปแบบการปกครอง แบบสาธารณรัฐ โดยประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ
สถาบันทางการเมือง
ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร (Camara de Representantes del Pueblo) มีสมาชิก 80 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรง และจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 7 ปี และเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาล และรองนายกรัฐมนตรีอีก 2 คน รวมทั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูง (Supreme Tribunal)
ประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดีโดยการเลือกตั้งจากประชาชน ปัจจุบันพลจัตวา Teodoro Obiang Nguema Mbasogo ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 7 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 7 ปี และสามารถต่ออายุได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา
ผู้นำรัฐบาล นายกรัฐมนตรี นาย Ricardo Mangue Obama Nfubea ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2549
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Pastor Micha Ondó Bile
วันชาติ วันที่ 12 ตุลาคม (ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อ พ.ศ. 2511)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประมาณ 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.4 ( 2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 6,205 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ น้ำมันปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ไม้ ทองคำ บ็อกไซด์ เพชร แทนทาเนียม หินกรวดและทราย ดินเหนียว
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ กาแฟ โกโก้ ข้าว เผือก มันสำปะหลัง กล้วย เมล็ดน้ำมันปาล์ม ปศุสัตว์ และไม้
อุตสาหกรรมที่สำคัญ ปิโตรเลียม การจับปลา การเลื่อยไม้ และ แก๊สธรรมชาติ
หนี้สินต่างประเทศ 289 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2549)
เงินตราสำรอง 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 5.0 (ประมาณการ พ.ศ. 2549)
ดุลการค้า : ปี 2549 ส่งออก 8,448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า -2,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เสียเปรียบดุลการค้า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
สินค้าออกที่สำคัญ ปิโตรเลียม ไม้ เมธิลแอลกอฮอล์ และโกโก้
สินค้าเข้าที่สำคัญ ปิโตรเลียม สินค้าอุตสาหกรรม และเครื่องมือต่าง ๆ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
ส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 24.6) จีน (ร้อยละ 21.8) สเปน (ร้อยละ 10.8) แคนาดา(ร้อยละ 7.3) ไต้หวัน(ร้อยละ 7.2) โปรตุเกส(ร้อยละ 5.5) เนเธอร์แลนด์(ร้อยละ 5.2) บราซิล (ร้อยละ 4.6) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 4)(2548)
นำเข้าจาก สหรัฐฯ (ร้อยละ 24.5) อิตาลี (ร้อยละ 20.6) ฝรั่งเศส(ร้อยละ 12.1) สเปน (ร้อยละ 10.8) โกตดิวัวร์(ร้อยละ 8.6) และสหราชอาณาจักร (ร้อยละ 6.9) (2548)
สกุลเงิน ฟรังก์เซฟา (CFAF) โดย 1 ฟรังก์เซฟาเท่ากับ 100 ซังตีมส์ (centimes)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 522.9ฟรังก์เซฟา (2549)
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
อิเควทอเรียลกินี เป็นอาณานิคมเพียงแห่งเดียวของสเปนในแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub Sahara Africa) ซึ่งสเปนไม่ได้ให้ความสนใจในการพัฒนา จนกระทั่งได้รับเอกราชในปี 2511
นาย Francisco Macias Nguema เป็นประธานาธิบดีคนแรก โดยเริ่มโน้มเอียงเข้าหาสหภาพโซเวียต และปกครองประเทศแบบเผด็จการโดยมีพรรคการเมืองเดียว ทำการควบคุมและบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จโดยอาศัยเครือข่ายเครือญาติที่แน่นหนา ส่งผลให้ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศถูกสังหารหรือลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศ ความสัมพันธ์กับสเปน ตลอดจนประเทศตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้านเสื่อมทรามลง
ในปี 2522 เมื่อนาย Macias เริ่มสงสัยและกำจัดศัตรูทางการเมืองที่ในกลุ่มเครือญาติของตน ส่งผลให้นาย Teodoro Obiang Nguema Mbasogo หลานชายของนาย Macias ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำการรัฐประหารโดยได้รับการสนับสนุนของโมร็อกโกและสเปน รัฐบาลชุดใหม่เริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก
หลังจากทำรัฐประหารสำเร็จ นาย Obiang ให้คำมั่นสัญญากับประเทศตะวันตกว่า จะไม่ก่อการรัฐประหารอีก อย่างไรก็ตามในยุคแรกของนาย Obiang เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่อยมา และไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลทำให้ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือกับอิเควทอเรียลกินีกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนเปลงระบบการเมืองให้เป็นระบบการเมืองหลายพรรคในปี 2534 โดยหวังว่าจะมีการปรับปรุงให้การเมืองของอิเควทอเรียลกินีดีขึ้นและโปร่งใส
รัฐธรรมนูญปี 2534 กำหนดให้ประธานาธิบดีและผู้แทนราษฎรจำนวน 100 ที่นั่งมาจาก
การเลือกตั้งโดยทั่วไป ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล โดยประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 7 ปี และไม่จำกัดวาระในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2545 โดยนาย Obiang ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2547 พรรค Partido Democratio de Guinea Ecuatorial (PDGE) ของประธานาธิบดี Obiang ได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวน 98 ที่นั่ง
อนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2552 อย่างไรก็ตาม โดยที่ประธานาธิบดี Obiang เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงทำให้เริ่มมีความขัดแย้งในกลุ่มผู้ใกล้ชิดเกี่ยวกับการกำหนดผู้ที่จะรับตำแหน่งสืบต่อไป
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
หลังจากที่นาย Obiang ยึดอำนาจไว้ได้ในปี 2522 อิเควทอเรียลกินีได้ดำเนินการปรับความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสเปนกับฝรั่งเศส โดยความสัมพันธ์กับสเปนนั้น ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอย่างถาวร ในส่วนของความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสนั้น ประธานาธิบดี Obiang ออกกฎบังคับให้เรียนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนเพื่อให้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและสเปนเป็นภาษาราชการ ต่อมา ในปี 2543 ฝรั่งเศสดำเนินโครงการลดความยากจนและปรับปรุงสาธารณูปโภคในท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลืออิเควทอเรียล และส่งที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสไปทำงานในกระทรวงการคลังและการวางแผนเพื่อให้คำปรึกษาด้านโครงการ
ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศทางตะวันตกเริ่มสั่นคลอน เนื่องมาจากข้อสงสัยจากหลายฝ่ายที่ว่าอิเควทอเรียลกินีไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาการเมืองให้ดีขึ้นแม้จะได้รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี การค้นพบทรัพยากรน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอิเควทอเรียลกินีกับประเทศตะวันตกอย่างรวดเร็ว สหรัฐอเมริกาเปิดสถานทูตที่กรุงมาลาโบอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2546 หลังจากได้ปิดทำการไปเมื่อปี 2539 เนื่องจากสาเหตุด้านสิทธิมนุษยชน
ในขณะเดียวกัน การค้นพบน้ำมันสำรองนอกชายฝั่งทะเลได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิเควทอเรียลกินีกับหลายประเทศในภูมิภาค มีกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเลกับประเทศรอบบ้านหลายประเทศ อิเควทอเรียลกินีเคยโต้แย้งกับไนจีเรียเรื่องการแบ่งเขตน่านน้ำ และยังมีข้อพิพาทเรื่องการครอบครองดินแดนกับกาบอง โดยทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ Mbanie Cocotier และ Conga และอิเควทอเรียลกินียังไม่ยอมรับข้อเสนอของกาบองในการตกลงการจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน
สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป
ก่อนการได้รับเอกราชของอิเควทอเรียลกินี องค์ประกอบสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเกษตร โดยเฉพาะการปลูกโกโก้ และกาแฟ การทำปศุสัตว์ ป่าไม้และการประมง แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาภาคการเกษตรของอิเควทอเรียลกินีไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐ ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ลดลงและมีการส่งขายภายในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น จากที่เคยผลิตโกโก้ได้มากถึง 36,161 ตัน ในปี 2512 เหลือเพียง 76 ตัน ในปี 2547 นอกจากนี้ ผลผลิตอื่นๆ มีการผลิตลดลงเรื่อยมา
ในปี 2538 มีการค้นพบแหล่งสำรองน้ำมันขนาดใหญ่ในอ่าวกินี ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิเควทอเรียลกินีอย่างมาก โดยการส่งออกน้ำมันกลายเป็นรายได้หลักของประเทศ นอกจากนี้ อิเควทอเรียลกินียังได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และมีการจัดตั้งบริษัท Sonagaz ในปี 2548 จากการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินี้ ทำให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในอิเควทอเรียลกินี เช่น สหรัฐฯ ลงทุนในสาขาน้ำมันตั้งแต่ปี 2540 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศร้อยละ 93 มาจากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเป็นรายได้ของรัฐบาลร้อยละ 94 และส่งออกร้อยละ 99 ในปี 2548
การเติบโตในภาคธุรกิจน้ำมันทำให้รัฐบาลมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภค ในระหว่างปี 2546-2548 มีการใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายในเรื่องความไม่โปร่งใสของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว
แม้อิเควทอเรียลกินีจะมีอัตรารายได้ต่อหัวสูง แต่อิเควทอเรียลกินีประสบปัญหาความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยอย่างมาก นอกจากนี้ การพัฒนาในส่วนภูมิภาคและชนบทของอิเควทอเรียลกินีไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาพื้นที่ที่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมืองหลวง Malabo เมืองท่า Luba และเมือง Bata
นอกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อิเควทอเรียลกินียังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้มีการนำมา ใช้อย่างจริงจัง เช่น ไททาเนียม แร่เหล็ก แมงกานีส ยูเรเนียม และสินแร่ทองคำ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิเควทอเรียลกินีค่อนข้างห่างเหิน ไม่ปรากฎการเยือนของผู้นำระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม มีการพบหารือระหว่างผู้นำระดับสูงในการประชุมระหว่างประเทศ อาทิ นายสรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิเควทอเรียลกินี ในระหว่างการประชุม South Summit ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อมิถุนายน ปี 2548 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิเควทอเรียลกินีระหว่างงาน Festival dAssilah โมร็อกโก เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี 2548
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยและอิเควทอเรียลกินีมีปริมาณไม่มากนัก โดยในปี 2549 มีมูลค่าการค้ารวมเป็นจำนวน 87.5 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้ากับอิเควทอเรียลมาโดยตลอด ในปี 2549 ไทยส่งออกไปอิเควทอเรียลกินี จำนวน 46.8 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากอิเควทอเรียลกินี จำนวน 40.7 ล้านบาท ได้ดุลการค้าอิเควทอเรียลกินี จำนวน 6.1 ล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออกไปอิเควทอเรียลกินี 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ข้าว 2. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 3. หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ 4. ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป 5. ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 6. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 7. เสื้อผ้าสำเร็จรูป 8. ประทีปโคมไฟ 9. เคหะสิ่งทอ 10. รองเท้าและชิ้นส่วน สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอิเควทอเรียลกินี 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 2. สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป 3. เคมีภัณฑ์ 4. สิ่งพิมพ์ 5.เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด 6.สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 7. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 8. ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก 9. วงจรพิมพ์ 10. น้ำมันดิบ
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ไม่ปรากฏข้อมูล
ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ไม่มีความตกลงกับประเทศอิเควทอเรียลกินี
มิถุนายน 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|