|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐเอสโตเนีย Republic of Estonia
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของที่ราบยุโรปตะวันออกบนชายฝั่งทะเลบอลติก และเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในกลุ่มประเทศในบอลติก 3 ประเทศ มีทะเลสาบ Peipsi (Chudskoye ในภาษารัสเซีย) ซึ่งเป็นทะเลสาบชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันออก
พื้นที่ 45,227 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 1.324 ล้านคน (กรกฎาคม 2549)
กลุ่มชนชาติ ชนชาติเอสโตเนีย 68% ชนชาติรัสเซีย 26% ชนชาติยูเครน 2% ชนชาติเบลารุสเซีย 1% ฟินแลนด์ 1%
ภาษา ใช้ภาษาเอสโตเนีย เป็นภาษาราชการ นอกจากนั้นยังมีใช้ภาษารัสเซีย และภาษาละตินบ้าง
ศาสนา ศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดคือ ศาสนา Lutheran แต่สำหรับชาวรัสเซียในเอสโตเนียนับถือศาสนาแคทอลิกนิกายออร์ธอดอกซ์
เมืองหลวง ทาลลินน์ (Tallinn)
สกุลเงิน Kroon (EEK) อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ 15.65 Kroon = 1 Euro/ 1 EEK = 3.1594 บาท/ 1 บาท = 0.31652 EEK
วันชาติ 24 กุมภาพันธ์ (Independence Day)
ระบบการเมือง มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2535
ประธานาธิบดี นาย Toomas Hendrik Ilves (9 ตุลาคม 2549)
นายกรัฐมนตรี นาย Andrus Ansip (12 เมษายน 2548)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Urmas Paet ( 12 เมษายน 2548)
สถาบันทางการเมือง
- สาธารณรัฐเอสโตเนียมีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยในช่วงแรกได้รับเลือกตั้งโดยตรง แต่ตามรัฐธรรมนูญใหม่รัฐสภาจะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดี และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2535 นาย Lennart Meri ได้รับเลือกโดยรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของเอสโตเนีย
- รัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว (Unicameral) เรียกว่า Riigikogu หรือ State Assembly มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง โดยวิธี proportional representation จำนวน 101 คน มีวาระคราวละ 4 ปี
- รัฐบาลดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของรัฐสภาเว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะลาออก หรือรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
GDPต่อหัว 8,586 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.2
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.0
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 9.7
ดุลการค้า ขาดดุล 2.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออก 6.06 และนำเข้า 8.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศคู่ค้าส่งออกสำคัญ ฟินแลนด์ สวีเดน ลัตเวีย รัสเซีย เยอรมนี
ประเทศคู่ค้านำเข้าสำคัญ ฟินแลนด์ เยอรมนี รัสเซีย สวีเดน ลิทัวเนีย
สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สินค้าหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูป
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและส่วนประกอบ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง โลหะและผลิตภัณฑ์จากโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูป วัตถุดิบและสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี
- ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ในปี 2549 อยู่ในลำดับที่ 25 (ปี 2548 ลำดับที่ 26)
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 ประธานาธิบดี Lennart Meri ได้กล่าวคำปราศัยต่อประชาชนในโอกาสวันครบรอบ 80 ปี แห่งความเป็นเอกราชของเอสโตเนีย ซึ่งได้ระบุถึงปัจจัยสำคัญ 6 ประการต่อสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน คือ 1) การธำรงไว้ซึ่งความสืบเนื่องสาธารณรัฐเอสโตเนีย 2) การคงไว้ซึ่งความไว้วางใจของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล 3) ความรอบคอบในการที่จะสืบทอดความเจริญทางเศรษฐกิจ 4) ความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ (NATO) และ 6) การพัฒนาหลักการประชาธิปไตยในทางการเมืองและสังคม
การเลือกตั้งทั่วไปและการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม 2542 และเดือนมกราคม 2545
- เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2542 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปปรากฏว่า พรรค Centre ของอดีตนายกรัฐมนตรี Edgar Savisaar (ช่วงปี 2533-2535) ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 28 ที่นั่ง พรรค Pro Patria Union ของนาย Mart Laar นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และพรรค Estonian Reform ได้รับเลือกตั้งเป็นอับดับสองและสามเท่ากัน คือ 18 ที่นั่ง สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่าพรรค Pro Patria Union พรรค Estonian Reform และพรรค Moodukad ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภา 53 เสียงจาก 101 ที่นั่งในสภา โดยเสนอให้นาย Mart Laar ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2545 นายกรัฐมนตรี Mart Laar ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้นาย Siim Kallas หัวหน้าพรรค Estonian Reform เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนตุลาคม 2544
- เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 รัฐสภาเอสโตเนียได้ทำการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเอสโตเนียคนใหม่สืบแทนนาย Lennart Meri ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในเดือนตุลาคม 2544 (นาย Meri ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัยระหว่างปี 2535-2539 และปี 2539-2544) ผลปรากฏว่า ทั้งนาย Peeter Kreitzberg ศาตราจารย์และรองโฆษกพรรค Center ซึ่งเป็น พรรคฝ่ายค้าน และนาย Andres Tarand ผู้สมัครจากฝ่ายรัฐบาลผสม 3 พรรค ไม่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนข้างมาก 2 ใน 3 จากคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 101 คน โดยผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนในสภาอย่างน้อย 68 เสียง ทั้งนี้
นาย Kreitzberg ได้ 40 เสียง นาย Tarand ได้ 38 เสียง
- เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544 รัฐสภาเอสโตเนียได้พยายามเสนอชื่อผู้สมัครคนใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงส่งผลทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่วาระการพิจารณาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคณะกรรมการเลือกตั้งพิเศษ ซึ่งมีสมาชิก 367 คน ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา101 คน และผู้แทนสภาระดับท้องถิ่น 266 เสียง โดย ผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนข้างมาก (184 เสียงจาก 367 คน)
- เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2544 คณะกรรมการเลือกตั้งพิเศษได้ลงคะแนนเสียง
เลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งต้องลงคะแนนเสียง 2 รอบ ผลปรากฏว่า นาย Arnold Ruutel (อาร์โนล รือเทล) ผู้แทนจากพรรค Peoples Union และอดีตผู้นำคอมมิวนิสต์และประธานสภาโซเวียตของเอสโตเนีย ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 186 เสียง และนาย Ruutel ได้กระทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 8 ตุลาคม 2544 และนับเป็นประธานาธิบดีเอสโตเนียคนที่สอง หลังจากที่เอสโตเนียได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2534 (นาย Meri เป็นประธานาธิบดีเอสโตเนีย คนแรก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2535 7 ตุลาคม 2544)
การเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม 2546 และการจัดตั้งรัฐบาลเดือนเมษายน 2546
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2546 ผลปรากฏว่า พรรค Res Publica ภายใต้การนำของนาย Juhan Parts และพรรค Centre ได้รับคะแนนเสียงเท่ากันพรรคละ 28 ที่นั่ง ขณะที่พรรค Reform ได้จำนวน 19 ที่นั่ง สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลปรากฏว่า พรรค Res Publica พรรค Reform และพรรค People's Union สนับสนุนให้นาย Juhan Parts หัวหน้าพรรค Centre ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทนนาย Siim Kallas
การจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน 2548
- เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 นาย Juhan Parts ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากที่รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจนาย Ken-Marti Vaher รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจากกรณีการเสนอแผนการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงและยาเสพติด สาเหตุของความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมเกิดจากการที่นายกรัฐมนตรี Partsประกาศปลดนาง Kristiina Ojuland (พรรค Reform) ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงพบว่าเอกสารลับทางราชการระหว่างปี 2539-2547 (ค.ศ. 1996-2004) จำนวน 91 ฉบับ หายไปจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548
- เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 รัฐสภาเอสโตเนียได้ให้ความเห็นชอบกับการจัดตั้งรัฐบาล
รัฐบาลเอสโตเนียชุดใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม 3 พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา (51 เสียงจาก 101 เสียง) ประกอบด้วยพรรค Reform (19 เสียง) พรรค Peoples Union (13 เสียง) และพรรค Centre (19 เสียง) โดยมีนาย Andrus Andsip (อันดรูส อันซิบ) หัวหน้าพรรค Reform และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและคมนาคมในรัฐบาลชุดก่อน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนตุลาคม 2549
-ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเอสโตเนีย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งตามวาระ (ทุก 5 ปี) สมาชิกรัฐสภาและผู้แทนองค์กรท้องถิ่นเอสโตเนียได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเอสโตเนียคนใหม่ ผลปรากฏว่า นาย Toomas Hendrik Ilves สมาชิก European Parliament และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนีย ได้รับเลือกตั้งสืบแทนนาย Ruutel
-ประธานาธิบดี Ilves ได้กระทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 9 ตุลาคม 2549 โดยการพ่ายแพ้การเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดี นาย Arnold Ruutel มีสาเหตุสำคัญเนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนต่อการดำเนินการทางการเมืองที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมของพรรค Center Party และพรรค Peoples Union ซึ่งให้การสนับสนุนนาย Ruutel
- เอสโตเนียนับเป็นประเทศในกลุ่มบอลติกที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีเสถียรภาพมากที่สุด โดยรัฐบาลเอสโตเนียได้ให้ความสำคัญต่อการปรับและปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาด ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเอสโตเนียได้ขยายตัวในระดับที่สูง (ปี 2546 ร้อยละ 5.1) อย่างไรก็ดี จากการที่เอสโตเนียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างที่จะสูง ทำให้รัฐบาลเอสโตเนียได้ตระหนักถึงสภาวะเศรษฐกิจในลักษณะของร้อนแรง(overheat) และอาจก่อให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับประเทศในเอเชีย ดังนั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 รัฐบาลเอสโตเนียจึงได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยมีเป้าหมายในการที่จะกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยให้ความสำคัญกับมาตรการทางการเงินและการคลัง อาทิ การจัดทำงบประมาณเกินดุล เป็นต้น
- รัฐบาลเอสโตเนียมีโครงการที่จะนำเงินรายได้ของรัฐบาลที่มีอยู่ในรูปของเงินสะสม
ในรูปแบบต่างๆ เช่น งบประมาณประกันสุขภาพ รายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนหนึ่งนำไปฝากไว้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศเพื่อเป็นมาตรการอันหนึ่งที่จะ ลดปริมาณการไหลเวียนของเงินภายในประเทศโดยหวังว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและความต้องการในการสั่งซื้อสินค้าเข้าลดลง อันจะช่วยในการลดการขาดดุลบัญชีเงินสะพัด นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การกำหนดเงื่อนไขสำหรับธนาคารพาณิชย์ในการให้กู้ยืมเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินโดยรัฐบาลท้องถิ่นด้วย
- เมื่อปี 2542 ภาคเศรษฐกิจของเอสโตเนียได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าในบางสาขาลดลง รัฐบาลจึงได้มีมาตรการลดอุปทานภายในประเทศและมีการเข้มงวดกับการกู้ยืมเงิน สำหรับอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ปรากฏว่า อุตสาหกรรมประเภทเบา (สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่มรองเท้า) เป็นภาคที่มีการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจการตลาดได้ดีที่สุดและเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอของเอสโตเนียมีศักยภาพสูงในการขยายตัวเนื่องจากมีข้อตกลงกับสหภาพยุโรปทำให้ไม่ถูกจำกัดโควต้าในการส่งออก นอกจากนี้ การผลิตอาหารและผลิตไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากไม้ยังเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ความสำคัญในเศรษฐกิจของเอสโตเนียเช่นกัน
- เมื่อพิจารณาถึงความได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของเอสโตเนียในการเป็นศูนย์กลางของการเป็นเมืองท่า และเส้นทางคมนาคมขนส่งบริเวณทะเลบอลติก และการมีที่ตั้งของประเทศที่อยู่ใจกลางของกลุ่มประเทศในแถบทะเลบอลติก(Baltic Sea Region) ซึ่งประกอบด้วยเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ภาคเหนือของเยอรมนี โปแลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย จึงทำให้เอสโตเนียสามารถที่จะพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งสินค้าและการลงทุนแห่งใหม่สำหรับสหภาพยุโรป
ความตกลงด้านเศรษฐกิจและการค้า เอสโตเนียได้จัดทำความตกลงการจัดตั้งการค้าเสรี คือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย สวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวัก ตุรกี โปแลนด์ ฮังการี สโลวีเนีย เกาะฟาโร สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และสหภาพยุโรป) อย่างไรก็ตาม ความตกลงจัดตั้ง เขตการค้าเสรีที่เอสโตเนียกระทำกับสวีเดน ฟินแลนด์ ได้หมดสภาพไปตั้งแต่ต้นปี 2538 เมื่อสวีเดนและฟินแลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่เขตการค้าเสรีระหว่างเอสโตเนียกับสหภาพยุโรปยังคงมีผลอยู่ ความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างเอสโตเนียกับ สหภาพยุโรปช่วยส่งผลให้ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 20-40 ถูกยกเลิกไป และนอกเหนือจากสหภาพยุโรป เอสโตเนียยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ และแคนาดา และมีเพียงสหรัฐฯ ที่ได้จัดทำความตกลงเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับเอสโตเนีย สำหรับกับกลุ่มประเทศ CIS นั้น เอสโตเนียได้มีความตกลงด้านเศรษฐกิจ/การค้ากับ 5 ประเทศ คือ Ukraine, Georgia, Armania, Moldova และ Kyrgystan ซึ่ง Ukraine นับเป็นประเทศที่เอสโตเนียมีความร่วมมือที่ ใกล้ชิดที่สุดกับเพราะมีความตกลงด้านต่าง ๆ ถึง 4 ฉบับ สำหรับรัสเซียนั้น อาจถือว่าเป็นประเทศเดียวที่มีปัญหาด้านการค้ากับเอสโตเนียเพราะการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงทางการค้าได้หยุดชะงักในช่วงกลางปี 2537 อีกทั้งรัสเซียได้ตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากเอสโตเนียเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะสินค้าหมวดอาหารซึ่งช่วงหนึ่งถูกจัดเก็บ
ในอัตราที่สูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่นถึงเท่าตัว และแม้ว่าจะลดลงมาบ้างในขณะนี้แต่ก็ยังเป็นอัตราภาษีที่เลือกประติบัติอยู่
ระบบภาษี เอสโตเนียมีระบบภาษีที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร้อยละ 26
- ภาษีศุลกากร (custom duties) สำหรับสินค้านำเข้ามี 2 อัตรา คือ ร้อยละ 10
สำหรับการนำเข้ารถยนต์และเรือทุกประเภท และร้อยละ 169 สำหรับการนำเข้าขนสัตว์และเสื้อขนสัตว์ ส่วนสินค้าส่งออกมีอัตราเดียว คือ ร้อยละ 100 สำหรับการส่งออกโบราณวัตถุ
- ภาษีสรรพสามิต (excise duties) กำหนดอัตราภาษีต่อปริมาตรสินค้า
- procedure tax คิดร้อยละ 0.5 ของมูลค่าสินค้านำเข้า-ส่งออก
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 18
การลงทุน
- เอสโตเนียให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดในเอสโตเนียในปี 2547 ได้แก่ สวีเดน (ร้อยละ 45.6) ฟินแลนด์ (ร้อยละ 24.1) สหรัฐฯ (ร้อยละ 4.4) นอร์เวย์ (ร้อยละ 2.8) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 2.7) เดนมาร์ก (ร้อยละ 2.2) จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนียเวียเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในเอสโตเนีย สำหรับประเภทของกิจการที่ต่างชาติมีความสนใจเข้าไปลงทุนได้แก่ การค้าและการเงิน อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสาธารณูปโภคพื้นฐาน
-ในช่วงที่ผ่านมา โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ 1) Coastal Baltic Holding จากสหรัฐฯ ในการปรับปรุงและซ่อมแซมท่าขนส่งน้ำมันในกรุงทาลลินน์ 2) บริษัท Elcoteq จากฟินแลนด์ในการขยายโรงงานอิเล็กทรอนิคส์ และ 3) บริษัท Tolaram จากสิงคโปร์ ในการพัฒนา ที่ดิน ผลิตสิ่งทอและกระดาษ เป็นต้น สำหรับสาเหตุที่การลงทุนในเอสโตเนียมีจำนวนสูงขึ้นมาก เนื่องมาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่น ทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ อัตราราคาแรงงานที่ค่อนข้างจะถูก การขนส่งซึ่งค่อนข้างมีเครือข่ายครอบคลุมที่ดี เช่น ทางรถไฟ ท่าเรือน้ำลึกที่ปลอดน้ำแข็งตลอดปี 3 แห่ง (มีทั้งหมด 16 ท่า) นอกจากเหตุผลทางด้านที่ตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานดังกล่าวแล้ว เอสโตเนียยังมีแรงจูงใจในด้านการลงทุนจากการที่ค่าเงินมีเสถียรภาพและการโอนเงินกระทำได้โดยสะดวกอีกด้วย
- รัฐบาลเอสโตเนียได้ให้สำคัญแก่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยมีนโยบายที่จูงใจและผ่อนคลายกฎระเบียบในการลงทุน เช่น การไม่จำกัดเงินลงทุน การให้สิทธิเท่าเทียมกับผู้ประกอบการภายใน มาตรการจูงใจทางด้านภาษี ซึ่งส่งผลทำให้เอสโตเนียเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศบอลติก โดยในปี 2546 เอสโตเนียได้รับเงินลงทุนจาก FDI เป็นมูลค่า 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1ใน 3 ของ GDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
- สำหรับการลงทุนของเอสโตเนียในต่างประเทศ ปรากฎว่าลิทัวเนียเป็นประเทศที่เอสโตเนียไปลงทุนมากที่สุด (ร้อยละ 38.8) และตามมาด้วยลัตเวีย (ร้อยละ 33.2) ไซปรัส (ร้อยละ 11.4) อิตาลี (ร้อยละ 1.4) และรัสเซีย (ร้อยละ 2.1)
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเอสโตเนียได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้ามากพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่ภาคเอกชนเข้าเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมและการค้าเกือบทั้งหมดยกเว้นกิจการสาธารณูปโภค อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีนโยบายที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจในด้านกิจการพลังงานและโทรคมนาคมด้วยเช่นกัน
การเมืองการปกครอง
ประวัติย่อบุคคลสำคัญทางการเมืองของเอสโตเนีย
ประธานาธิบดีเอสโตเนีย
นาย Toomas Hendrik Ilves กระทำพิธีสาบานตนเข้ารับหน้าที่ประธานาธิบดีเอสโตเนีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 (วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี) สืบแทนนาย Arnold Ruutel ประธานาธิบดีคนที่สองของเอสโตเนียซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2544 นาย Hendrik เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2496 (ค.ศ.1953) นับเป็นประธานาธิบดีคนที่สามของเอสโตเนีย หลังจากที่เอสโตเนียได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2534 จบการศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยา เมื่อปี 2521 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของ เอสโตเนีย 2 สมัย ระหว่างปี 2542-2545 และระหว่างปี 2539-2541 และเอกอัคราชทูตเอสโตเนียประจำสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ระหว่างปี 2536-2539
นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย
นาย Andrus Ansip (อันดรูส อันซิบ) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม (ค.ศ.1956) ที่เมือง Tartu เอสโตเนีย และเป็นหัวหน้าพรรค Estonian Reform ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและคมนาคมระหว่างปี 2547-2548 และนายกเทศมนตรีเมือง Tartu ระหว่างปี 2541-2547
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย
นาย Urmas Paet (อูรมาส ไปป์) เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นสมัยแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2517 (ค.ศ.1974) ที่กรุง Tallinn เอสโตเนีย ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างปี 2546-2548 และเป็นสมาชิกพรรค Estonian Reform
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเอสโตเนีย |
ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทยได้ประกาศรับรองเอกราชสาธารณรัฐเอสโตเนียเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2534 (ค.ศ.1991) พร้อมกับลัตเวียและลิทัวเนีย ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2535 (ค.ศ.1992) ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเอสโตเนียอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม มีเขตอาณาครอบคลุมสาธาณรัฐเอสโตเนียและสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์มดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐเอสโตเนีย และสาธารณรัฐฟินแลนด์ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ไทยได้อนุมัติให้เอสโตเนียเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย และแต่งตั้งให้ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์เอสโตเนียประจำประเทศไทย (คนแรก) สถานที่อยู่ 62 Soi Yodsuwan Pracha-Uthai Road Huay Kwang Bangkok 10320
ในปัจจุบันนายอภิชาติ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์มดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐเอสโตเนีย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงสตอกโฮล์ม
ที่อยู่ Royal Thai Embassy, Floragatan 3 Box 26220 100 40 Stockholm
Tel. (4608) 7917340 Fax: (4608) 7917351
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและเอสโตเนียที่ผ่านมาพัฒนาไปด้วยความราบรื่นและไม่มีประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศที่ขัดแย้งระหว่างกัน เอสโตเนียมีความสนใจที่จะพัฒนาและขยายความร่วมมือกับไทยในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ กงสุล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเอสโตเนียมองไทยว่าเป็นประเทศที่เป็นหัวหอกสำคัญในกลุ่มประเทศอาเซียนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เอสโตเนียเป็นประเทศที่ได้ให้ความสนับสนุนไทยในกิจการระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการให้ความสนับสนุนไทยในการสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก เมื่อปี 2542 และการเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือของไทยในองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) เมื่อปี 2543
ความสัมพันธ์ด้านการค้า ปริมาณการค้าไทย-เอสโตเนียในรอบ 5 ปีที่ผ่านมายังมีมูลค่าน้อย ในช่วงปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 43.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 28.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 15.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปี 2548 ปริมาณการค้าไทย-เอสโตเนียมีมูลค่ารวม 31.3 ล้านดอลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 27.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐและไทยนำเข้า 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 24.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ และอุปกรณ์ ปลาแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเอสโตเนีย ได้แก่ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เคมีภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลวดและสายเคเบิล เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม เป็นต้น
(ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
ตารางมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเอสโตเนีย ดังเอกสารแนบ
ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยที่เอสโตเนียมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
ด้านต่างๆ ได้แก่ ไม้แปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจโทรคมนาคมโดยเฉพาะระบบ fibre optic cablesและเทคโนโลยีชีวภาพ ไทยจึงอาจแสวงหาโอกาสและลู่ทางในการส่งเสริมความร่วมมือในการทำธุรกิจการลงทุนร่วมกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี กับฝ่ายเอสโตเนีย
การท่องเที่ยว
ชาวเอสโตเนียเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในปี 2533 แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเอสโตเนียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มบอลติกเดียวกัน ซึ่งได้แก่ ลัตเวีย และลิทัวเนีย โดยในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคมของปี 2547 มีนักท่องเที่ยวเอสโตเนียเดินทางมาไทยจำนวน 1,733 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 22.82 โดยในปี 2546 มีนักท่องเที่ยวเอสโตเนียเดินทางมาไทยจำนวน 1,884 คน
จากสถิติข้อมูลของเอสโตเนียเกี่ยวกับการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศในภูมิภาคเอเชียของนักท่องเที่ยวเอสโตเนียปรากฏว่า ไทยเป็นประเทศในเอเชียที่นักท่องเที่ยวเอสโตเนียได้ให้ความสนใจเป็นอันดับแรก โดยมีอัตรานักท่องเที่ยวเอสโตเนียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในจำนวนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอิสราเอลและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าเอสโตเนียจะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการที่นักท่องเที่ยวเอสโตเนียจะเดินทางต่อไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
(ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
ภาพลักษณ์ของประเทศ
ไทยในสายตาเอสโตเนีย ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของเอสโตเนียปรากฏว่า มีทำนองลักษณะเดียวกันกับของฟินแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปเหนือ คือ สาธารณชนให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องยาเสพติด สิ่งแวดล้อมและปัญหาโสเภณี รวมทั้งโรคเอดส์ สำหรับภาพพจน์ที่เป็นไปในทำนองบวก คือ ศักยภาพของไทยในด้านการค้าและการลงทุน และการที่ไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอสโตเนียในสายตาไทย ในปัจจุบัน ประชาชนชาวไทยเริ่มรู้จักเกี่ยวกับประเทศเอสโตเนียมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความสำคัญในด้านการเป็นตลาดสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ ภาพลักษณ์ของเอสโตเนียโดยทั่วไปจะอยู่ในมุมมองที่ว่า เอสโตเนียเป็นประเทศที่เกิดใหม่ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และกำลังมีการพัฒนาการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศเอสโตเนียยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประเทศไทยให้ชาวเอสโตเนียมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมเอสโตเนียได้จัดโครงการนำสื่อมวลชนเอสโตเนียเดินทางมาเยือนไทยเพื่อทำข่าวด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-25 กันยายน 2544
ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเอสโตเนียใน Website ทาง Internet
1 www.europa.eu
2 www.riik.ee
3 www.vm.ee
สรุป ตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบัน เอสโตเนียนับเป็นประเทศในกลุ่มบอลติก (ลัตเวียและลิทัวเนีย) ที่มีความก้าวหน้าในการเสริมสร้างระบบและสถาบันประชาธิปไตยประเทศหนึ่ง โดยมีการพัฒนาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิถีทางประชาธิปไตย ในด้านเศรษฐกิจ เอสโตเนียมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเจริญเติบโตที่สูงประเทศหนึ่งในจำนวนรัฐเอกราชที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตจนได้รับการจับตามองว่าเป็นเสือทางเศรษฐกิจแห่งบอลติก Baltic Tiger ด้วยความมีเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจ ทำให้เอสโตเนียกลายเป็นประเทศในกลุ่มบอลติกที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนา ซึ่งส่ง ผลทำให้เป็นประเทศที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาการขยายสมาชิกภาพกับสหภาพยุโรปได้ในกลุ่มแรกในปี 2541 และได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปใหม่อย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะมีความห่างไกลในด้านภูมิศาสตร์ เอสโตเนียก็มีศักยภาพและขีดความสามารถที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบ แหล่งลงทุน และตลาดการท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของไทยในภูมิภาคยุโรปเหนือได้ นอกเหนือไปจากตลาดสินค้าของสหภาพยุโรป และยังอาจเป็นประเทศที่สามารถเป็นประตูในการส่งสินค้าเข้าสู่ประเทศอื่น ๆ ในแถบบอลติกและรัสเซียต่อไปได้ ตลอดจน ไทยยังอาจใช้เอสโตเนียเป็น European Base เพื่อเชื่อมโยงผลประโยชน์ของไทยในการขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่างๆ ในภูมิภาคบอลติกและยุโรปเหนือต่อไป
นโยบายที่สำคัญๆ ในด้านการต่างประเทศ
1 นโยบายต่อสหภาพยุโรป (EU)
เอสโตเนีย และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศบอลติก คือ ลัตเวีย และลิทัวเนีย พร้อมด้วยสาธารณรัฐเช็ก ไซปรัส ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวะเกีย
ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547
สรุปพัฒนาการความสัมพันธ์เอสโตเนียต่อสหภาพยุโรป
- เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 รัฐบาลเอสโตเนียได้ลงนามความตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบกับสหภาพยุโรป (Association Agreement) ความตกลงฉบับนี้กำหนดมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อทั้งรัฐสภาเอสโตเนียและรัฐสภาของประเทศสมาชิก EU 15 ประเทศ ให้สัตยาบันครบหมด ซึ่งความตกลงว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิกสมทบ EU ของเอสโตเนีย ได้รับสัตยาบันแล้วจากรัฐสภายุโรปและรัฐสภาของประเทศสมาชิก EU
- เมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้เอสโตเนียพร้อมกับ
สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ ฮังการี สโลเวเนียและไซปรัสเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมในการเจรจาขยายสมาชิกภาพ (Enlargement) ในรอบแรก
- เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541 นาย Toomas Hendrik Ilves รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้แถลงถึงความสำเร็จของนโยบายในเรื่องดังกล่าวที่เอสโตเนียได้เพียรพยายามมาตั้งแต่ปี 2539 ต่อรัฐสภาว่า ปัญหาสำคัญที่สำคัญในการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก EU ของเอสโตเนีย คือ ระยะเวลาของการปรับตัวในการที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดของ EU ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของเอสโตเนียให้เข้ากับของ EU
- นาย Toomas Hendrik Ilves รัฐมนตรีต่างประเทศ ยังได้ระบุถึงเป้าหมายที่สำคัญ
ของเอสโตเนียต่อ EU ในปี 2541 คือ การลงนามในความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการตรวจลงตรากับประเทศภาคีความตกลง Schengen ซึ่งการยกเลิกการตรวจลงตรากับประเทศภาคีฯ นี้ถือว่าสอดคล้องกับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างเอสโตเนียกับ EU ในระดับใหม่
- ในระหว่างการหารือกับนายกรัฐมนตรี Paavo Lipponen แห่งฟินแลนด์เมื่อเดือน
กรกฎาคม 2541 นายกรัฐมนตรี Mart Siimann แห่งเอสโตเนีย ได้แสดงท่าทีว่า เอสโตเนียสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อโครงการนโยบายมุ่งเหนือ (Northern Dimension) ของ EU ที่ฟินแลนด์เตรียมดำเนินการอยู่และหวังว่า โครงการดังกล่าวซึ่งได้เน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปเหนือในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันโดยคำนึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จะเป็นประโยชน์ต่อเอสโตเนียซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาจุดเชื่อมระหว่างภูมิภาค
ยุโรปทางเหนือและใต้ และจากเอสโตเนียไปยังเมือง St. Petersburg ของรัสเซีย
2 นโยบายต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
2.1 พัฒนาการสำคัญของเอสโตเนียก่อนเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO ในปี 2547 คือ
การแสวงหาลู่ทางเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ NATO โดยเร็วที่สุดในการขยายสมาชิกภาพของ NATO โดยเป็นนโยบายสำคัญของเอสโตเนียและกลุ่มประเทศบอลติกอื่น เพื่อให้เป็นหลักประกันในด้านความมั่นคงปลอดภัยของเอสโตเนียเอง ทั้งนี้ เอสโตเนียได้เป็นสมาชิกในโครงการหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace -PfP) ของ NATO ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เกรงว่าการเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO ของ
เอสโตเนีย และกลุ่มประเทศบอลติกจะเป็นการสร้างความไม่พอใจให้แก่รัสเซีย
2.2 สำหรับกิจกรรมของเอสโตเนียกับ NATO ปรากฏว่า เมื่อเดือนกันยายน 2541 กองกำลังของเอสโตเนียได้เข้าร่วมซ้อมรบภายใต้โครงการซ้อมรบ Partnership for Peace ที่ Macedonia ซึ่งกองกำลังที่เข้าร่วมซ้อมรบประกอบด้วยประเทศต่างๆ จากประเทศสมาชิก NATO และจากนอร์เวย์ เดนมาร์ก พร้อมทั้ง ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย อัลบาเนีย บัลกาเรีย มาเซโดเนีย มอลโดวา ยูเครน อาเซอร์ไบจาน ลัตเวีย สำหรับฟินแลนด์และลิทัวเนียได้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมแทน
2.3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ณ ที่ประชุมสุดยอด NATO เอสโตเนียพร้อมกับประเทศ
ในเขตยุโรปกลางและตะวันออก 6 ประเทศ คือ บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวะเกีย และสโลวีเนีย ได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการขององค์กร NATO และ ในเดือนมีนาคม 2546 ได้มีการให้สัตยาบันแก่ข้อตกลงการเข้าร่วมองค์กร NATO ซึ่งมีผลให้เอสโตเนียเป็นสมาชิกองค์กร NATO อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2547
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
- เดือนกันยายน 2535 (ค.ศ.1992) คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ (Familiarization Mission) เยือนประเทศกลุ่มบอลติก(ลิทัวเนีย ลัตเวียและเอสโตเนีย) เพื่อสำรวจลู่ทางการพัฒนาความสัมพันธ์
- วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2539 (ค.ศ.1996) เจ้าหน้าที่กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศเยือนเอสโตเนีย พร้อมด้วยเดนมาร์กและฟินแลนด์ (ระหว่างวันที่ 18-29 พฤษภาคม 2539) เพื่อศึกษาหาข้อมูล เสริมสร้างประสบการณ์และมิตรภาพระหว่าง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานความสัมพันธ์ ทวิภาคีของประเทศที่รับผิดชอบ
- วันที่ 22 สิงหาคม - 3 กันยายน 2542 (ค.ศ.1999) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเกาะกรีนแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย เป็นการส่วนพระองค์ (เอสโตเนีย ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2542)
- วันที่ 9-19 กรกฎาคม 2543 (ค.ศ.2000) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ได้จัดงาน Baltic Countries Road Show 2000 ที่เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนีย (กรุงทาลลินน์ วันที่ 12 กรกฎาคม 2543)
- วันที่ 19-22 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002) นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (TTR) เยือนเอสโตเนีย ในโอกาสเยือนสวีเดน ฟินแลนด์ และเอสโตเนีย ระหว่างวันที่ 7-22 พฤษภาคม 2545 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือ และได้หารือกับนาย Indrek Tarand ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย และนาง Liina Tinisson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ขนส่งและคมนาคมเอสโตเนีย
ฝ่ายเอสโตเนีย
- วันที่ 26 - 28 กันยายน 2536 (ค.ศ.1999) นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย (นาย Mart Laar) เยือนประเทศไทยโดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) และหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ)
- วันที่ 5 - 7 กุมภาพันธ์ 2540 (ค.ศ.1997) นาย Sulev Roostar อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนียและคณะเดินทางมาประเทศไทยระหว่างเพื่อเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการโอนตัวนักโทษระหว่างไทยกับเอสโตเนีย
- วันที่ 16 - 30 มีนาคม 2541(ค.ศ.1998) คณะผู้แทนทางการค้าและสถานีโทรทัศน์ของเอสโตเนียเดินทางเยือนไทยเพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางด้านเศรษฐกิจ สารนิเทศและการท่องเที่ยว รวมทั้งผู้แทนธุรกิจภาคเอกชนของฝ่ายไทย เพื่อแสวงหา ลู่ทางในด้านการตลาด การขยายการค้าและการส่งเสริมการท่องเที่ยว
- วันที่ 27-30 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ.2002) นาย Mait Martinson เอกอัครราชทูต เอสโตเนียประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเยือนไทยเพื่อลงนามในพิธีแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสำหรับความตกลงว่าด้วยการโอนตัวนักโทษไทย-เอสโตเนีย ในฐานะผู้แทนรัฐบาลเอสโตเนียร่วมกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
มกราคม 2550
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|