|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Federal Republic of Germany
|
|
ที่ตั้ง ตอนกลางของทวีปยุโรป ทิศเหนือจรดเดนมาร์ก ทิศใต้จรดสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ทิศตะวันออกจรดสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์ ทิศตะวันตกจรดเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส
พื้นที่ 357,023 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงเบอร์ลิน (ย้ายจากกรุงบอนน์เมื่อปี 2533)
ประชากร 82.4 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติประมาณร้อยละ 8.9
ภูมิอากาศ ภูมิอากาศในเยอรมนีมีหลายแบบ โดยบริเวณชายฝั่งจะมีอากาศอบอุ่นในฤดูร้อนและหนาวเย็นปานกลางในฤดูหนาว ในขณะที่บริเวณภาคพื้นทวีปมีอากาศร้อนในฤดูร้อนและหนาวเย็นในฤดูหนาว
ภาษาราชการ เยอรมัน
ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ร้อยละ 34 นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ 34 อิสลาม ร้อยละ 3.7 และนับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีศาสนา ร้อยละ 28.3
หน่วยเงินตรา ยูโร (Euro) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 44.45บาท ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2550
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) 2.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 31,725 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.3 (2549)
วันชาติ 3 ตุลาคม (วันรวมประเทศ) รวมประเทศเมื่อปี 2533
ระบอบการปกครอง ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ (federalism) ประกอบด้วย 13 รัฐ (states) และ 3 รัฐอิสระ (free states) ซึ่งปกครองด้วยรัฐสภาและรัฐบาลของตนเอง ฝ่ายบริหารมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ดำรงตำแหน่ง 5 ปี และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ดำรงตำแหน่ง 4 ปี
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายฮอร์ส เคอห์เลอร์ (Horst Koehler) เข้ารับตำแหน่งเมื่อกรกฎาคม 2547
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นางอังเกล่า แมร์เคล (Angela Merkel) เข้ารับตำแหน่งเมื่อพฤศจิกายน 2548
รมว.กต. คนปัจจุบัน นายฟรังค์-วัลเตอร์ ชไตน์มัยเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) เข้ารับตำแหน่งเมื่อพฤศจิกายน 2548
นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย
(1) สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 600 คน และมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(2) สภาพันธรัฐ หรือสภาสูง (Bundesrat) ซึ่งเป็นผู้แทนจาก 16 รัฐ โดยแต่ละรัฐมีสิทธิ์ในการออกเสียง 3-6 เสียงตามจำนวนประชากร ทั้งนี้ ในสภาสูงมีจำนวนเสียงทั้งสิ้น 69 เสียง สมาชิกสภาสูงถูกกำหนดโดยตำแหน่ง (ตามปกติได้แก่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือระดับรัฐมนตรีของรัฐ) แต่ไม่มีกำหนดวาระของการทำงาน เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลตามการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละรัฐ ประธานสภาพันธรัฐมีวาระของการทำงาน 1 ปี และจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งระหว่างรัฐต่างๆ ในกรณีที่ประธานาธิบดีเยอรมนีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ประธานสภาพันธรัฐจะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดี
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 นาง Angela Merkel หัวหน้าพรรค Christian Democratic Union (CDU) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากฝั่งเยอรมันตะวันออก นาง Merkel ดำรงตำแหน่งผู้นำของรัฐบาลผสมแบบ Grand Coalition ระหว่างพรรค CDU/Christian Social Union (CSU) กับพรรค Social Democratic Party (SPD) ทั้งนี้ พรรค CDU/CSU ได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาล่าง (Bundestag) ทั้งสิ้น 226 และพรรค SPD มีที่นั่ง 222 จากทั้งหมด 614 ที่นั่ง
คณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี (CDU) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (CDU) และรัฐมนตรีประจำ 14 กระทรวง (พรรค CDU/CSU ได้รับจัดสรรตำแหน่ง 6 กระทรวง พรรค SPD 8 กระทรวง)
นโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ ได้แก่
1) นโยบายการคลัง ให้เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 19 และยกเลิกการลดหย่อนทางภาษีและเงินสนับสนุนของรัฐบาลส่วนหนึ่ง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ทั้งนี้ การเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าวเป็นการเพิ่มอัตราภาษีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนีตั้งแต่ปี 2492 โดยรัฐบาลจะปรับลดอัตราค่าประกันการว่างงานลงร้อยละ 2 จากร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 4.5 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน และนำรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นไปใช้แก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของ GDP ตามเพดานที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา Maastricht ภายในปี 2550 นอกจากนี้ พรรค SPD เสนอนโยบายให้เพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ขั้นสูงสุด (ภาษีคนรวย) จากร้อยละ 43 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2550 เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับระบบภาษี ในขณะที่พรรค CDU เสนอให้ปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2551 ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป
2) นโยบายปฏิรูปด้านตลาดแรงงานและปฏิรูประบบประกันความมั่นคงทางสังคม (Social Security Reform) สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของเยอรมนี โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอายุเพิ่มมากขึ้นในขณะที่อัตราการเพิ่มของประชาการน้อยลงซึ่งจะทำให้สัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อันเป็นเหตุให้รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดด้านสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งทำให้เกิดความกดดันต่อระบบการเงินและการจัดทำงบประมาณของเยอรมนีเป็นอย่างมาก จนมีผู้วิเคราะห์ว่า หากเยอรมนีไม่ปฏิรูประบบการประกันความมั่นคงทางสังคม (Social Security Reform) อาจทำให้ระบบการเงินการคลังของเยอรมนีล้มเหลวในอนาคต รัฐบาลผสม Grand Coalition ของนางแมร์เคลจึงมีนโยบายลดรายจ่ายในการดูแลผู้เกษียณอายุลง โดยให้ปรับเพิ่มเกณฑ์การเกษียณอายุจาก 65 ปีเป็น 67 ปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2555 จนถึงปี 2578 และให้คงนโยบายหลัก Agenda 2010 ของอดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ (Gerhard Schroeder) ไว้ก่อนซึ่งมุ่งเน้นแก้ปัญหาการว่างงานระยะยาว
3) นโยบายปฏิรูประบบการประกันสุขภาพ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของนโยบายปฏิรูประบบประกันความมั่นคงทางสังคมของเยอรมนี ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเยอรมนี ประเด็นสำคัญในนโยบายปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในรัฐาล Grand Coalition คือ การทำให้กิจการการประกันสุขภาพของรัฐบาลสามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ปัจจุบัน เยอรมนีมีระบบประกันสุขภาพในรูปแบบกองทุนเจ็บป่วยภาคบังคับ (Statutory Sickness Funds) สำหรับประชาชนที่มีรายได้ระดับต่ำและระดับปานกลาง เนื่องจากโครงสร้างอายุของประชากรเยอรมันที่เพิ่มสูงขึ้น และมีรายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น กองทุนเจ็บป่วยเหล่านี้จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นและมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราเบี้ยประกันสุขภาพให้สูงขึ้น อันเป็นผลให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ภาษีของทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของภาคเอกชนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน อันก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณให้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาลูกโซ่ไปยังระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีโดยรวม อย่างไรก็ดี พรรคร่วมรัฐบาลทั้งสองยังไม่สามารถตกลงกันเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่เป็นเอกภาพได้ และยังไม่มีท่าทีที่จะตกลงกันได้ โดยพรรค SPD เสนอให้คงระบบปัจจุบัน คือ เก็บตามสัดส่วนของรายได้ และเสนอให้ปฏิรูปการประกันสุขภาพเป็นรูปแบบ Citizen Insurance คือ ให้รัฐบาลดำเนินระบบการประกันสุขภาพทั้งหมด (Unitary Health Insurance) เช่นเดียวกับระบบ National Health Service หรือ NHS ตามระบบของประเทศอังกฤษ ขณะที่พรรค CDU/CSU เสนอให้ปฏิรูปโดยเปลี่ยนระบบการเก็บอัตราการประกันสุขภาพเป็นอัตราเดียว (flat rate) โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนในการจ่ายเบี้ยประกันแก่ผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงต้องจับตาดูทิศทางของนโยบายการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของรัฐบาลเยอรมนีต่อไป
4) นโยบายการต่างประเทศ ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส และโปแลนด์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งรัสเซีย และสนับสนุน NATO ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีแมร์เคลมีบทบาทที่โดดเด่นในด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องบทบาทของเยอรมนีต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โครงการนิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน
5) นโยบายส่งเสริมการศึกษาและนวัตกรรม ให้จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรมเพิ่มเติมจำนวน 4 พันล้านยูโร และให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 3 ของ GDP ภายในปี 2553 นอกจากนี้ ให้เพิ่มเงินทุนแก่สถาบันวิจัยอีกร้อยละ 3 จนถึงปี 2553 ตลอดจนให้สนับสนุนเงินทุนรวม 6 พันล้านยูโร เพื่อการพัฒนา nanotechnology biotechnology และ information technology รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยด้าน chemical และ green biotechnology ในภาคเอกชน
6) นโยบายด้านพลังงาน ให้คงนโยบายสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนภายใน ประเทศตามกฎหมาย Renewable Energy Act ค.ศ. 2003 โดยให้เพิ่มเงินทุนสนับสนุนการวิจัยด้านพลังงานทดแทนต่างๆ ทั้งนี้ รัฐบาลให้เลื่อนการพิจารณานโยบายการยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากความแตกต่างของนโยบายของพรรมร่วมรัฐบาล โดยพรรค CDU ประสงค์จะให้มีการทบทวนนโยบายการยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดก่อนซึ่งนำโดยพรรค SPD
เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นอันดับสามของโลก และมีการส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ดี ขณะนี้เยอรมนียังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันตั้งแต่ปี 2544 อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP growth rate) ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในปี 2545 และ ร้อยละ 0 ในปี 2546 โดยในปี 2548 เยอรมนีมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.8 และเพิ่มเป็น ร้อยละ 2.3 ในปี 2549 ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนี อันเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยเยอรมนีเป็นผู้ส่งออกมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2547 และทำให้ภาคธุรกิจทำกำไรได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนียังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีความระมัดระวังในการลงทุน และภาคประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาตลาดแรงงานและการปฏิรูประบบประกันความมั่นคงทางสังคมของรัฐบาล ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเยอรมนี
ปัญหาสำคัญเรื้อรังของเยอรมนี คือ ปัญหาอัตราการว่างงานสูงต่อเนื่อง ในปี 2549 ประชากรเยอรมนีว่างงานเฉลี่ยประมาณ 4.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 10.8 ของแรงงานทั้งหมด และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งปัญหาการว่างงานนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้าง (structural unemployment) เนื่องจากมีตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่น (labour market rigidity) และระบบประกันความมั่นคงทางสังคม (social security system) ที่ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่สูงขึ้นและมีปัญหาขาดดุลงบประมาณเกินเพดานที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา Maastricht ของประชาคมยุโรป (ร้อยละ 3 ของ GDP) มาติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี
ในปี 2546 รัฐบาลเยอรมนีได้นำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคม "Agenda 2010" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีให้ได้ภายในปี 2553 โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาใน 3 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปตลาดแรงงานและระบบสวัสดิการสังคม (2) การลดงบประมาณขาดดุล เน้นดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ควบคุมรายจ่ายภาครัฐ และ (3) การลดอัตราภาษี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 แม้ว่า Agenda 2010 จะยังไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลเยอรมนีต่อประชาชนที่จะต้องปรับตัวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนางแมร์เคล ได้ดำริที่จะปรับนโยบายการคลังใหม่ โดยเน้นการปรับโครงสร้างภาษีและเน้นการปฏิรูประบบการประกันสุขภาพเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเยอรมนี โดยยังคงแนวทางของ Agenda 2010 ต่อไป และเพิ่มนโยบายลดรายจ่ายในการดูแลผู้เกษียณอายุลงด้วยการปรับเพิ่มเกณฑ์การเกษียณอายุ จาก 65 ปีเป็น 67 ปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2555
นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังมีนโยบายเพิ่มความสนับสนุนการศึกษา และคงนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนการพิจารณายุติการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติเนื่องจากความแตกต่างของนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี |
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับเยอรมนีเมื่อ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2405 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการเดินเรือระหว่างกันระหว่างปี 2426-2430 ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2430 จัดตั้งสำนักงาน ณ กรุงเบอร์ลินสำหรับเอกอัครราชทูต และจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอดีตเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ได้ย้ายสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ไปอยู่ กรุงเบอร์ลิน พร้อมกันนั้น ได้จัดตั้งสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุงบอนน์ขึ้น แต่ได้ปิดทำการไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 และได้มีการเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545
สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ของไทยมี 4 แห่ง คือ
1. ฮัมบูร์ก (ครอบคลุมรัฐ Hamburg รัฐ Bremen และรัฐ Schleswig-Holstein)
2. มิวนิก (ครอบคลุมรัฐ Bavaria และรัฐ Saxony)
3. ดึสเซลดอร์ฟ (ครอบคลุมรัฐ North Rhine-Westphalia และรัฐ Lower Saxony)
4. ชตุทท์การ์ท (ครอบคลุมรัฐ Baden-Wuerttemberg)
1.2 การเมือง
ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไทยและเยอรมนีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ เยอรมนีสนับสนุนท่าทีต่างๆ ของไทย เช่น ท่าทีต่อปัญหากัมพูชา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ เยอรมนียังชื่นชมและตระหนักถึงความสำคัญของไทยในฐานะที่มีบทบาทนำและเป็นแบบอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย การรักษาสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อมวลชน ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และความสำเร็จทางเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้ เยอรมนีมีท่าทีผ่อนปรนต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของไทย โดยรัฐบาลเยอรมนีมิได้กล่าวประณามการยึดอำนาจในประเทศไทย และยังได้แสดงความไม่พอใจต่อแถลงการณ์ฉบับแรกของฟินแลนด์ ในฐานะประธานสหภาพยุโรป ที่ประกาศโดยไม่ได้หารือกับประเทศสมาชิกอื่นๆ และต่อมาเยอรมนีได้มีบทบาทร่วมกับสหราชอาณาจักรในการร่างแถลงการณ์ฉบับที่สองซึ่งมีสาระความแข็งกร้าวน้อยกว่าฉบับแรก นอกจากนี้ ในการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนายชไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์ฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 ระหว่างการประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting ครั้งที่ 16 ณ เมือง Nuremburg ฝ่ายเยอรมันได้แสดงความเข้าใจและเห็นใจต่อสถานการณ์ในประเทศไทย และพร้อมจะช่วยให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ มองประเทศไทยในภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
1.3 ความมั่นคง
ในฐานะประธานสหภาพยุโรป เยอรมนีให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางภาคใต้ของไทยเป็นอย่างมาก โดยเยอรมนีได้คอยติดตามสอบถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นระยะๆ ล่าสุด มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศรวมทั้งเยอรมนี จะเดินทางไปพบปะสนทนากับผู้นำทางศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ในการเขียนรายงานเกี่ยวกับสภาวะของศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ที่ประเทศสมาชิกต้องจัดทำสำหรับทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ เยอรมนียังให้ความสนใจกับปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค เช่น ปัญหาผู้อพยพชาวม้งลาว และสถานการณ์ในพม่า
เยอรมนีขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนเยอรมนีเข้าเป็นสมาชิกประเภทถาวรของคณะมนตรี ความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสมาชิกประเภทไม่ถาวรวาระปี ค.ศ. 2011-2012
1.4 เศรษฐกิจ
1.4.1 การค้า
เยอรมนีเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของไทยรองจากญี่ปุ่น สหรัฐ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ตามลำดับ และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป ในช่วง ปี 2542-2545 การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 3694.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2549 ไทยและเยอรมนีมีมูลค่าการค้ารวม 5,122.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 906.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าทุนจากเยอรมนีในปริมาณที่สูงมาก สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเยอรมนี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เลนส์ วงจรพิมพ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากเยอรมนี ได้แก่ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การวัด การตรวจสอบ การถ่ายรูป แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
1.4.2 การลงทุน
การลงทุนของเยอรมนีในไทยที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2548 มีทั้งสิ้น 19 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 7,022 ล้านบาท (อันดับ 2 ของการลงทุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป รองจากเนเธอร์แลนด์) อย่างไรก็ดี การลงทุนของเยอรมนีในไทยลดน้อยลงมากในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมา เยอรมนีได้รับการส่งเสริมการลงทุนในไทยผ่าน BOI จำนวน 18 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1,231 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 83 โดยสาขาที่เยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ โครงการในสาขาสาธารณูปโภคและบริการ รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานพาหนะ เครื่องจักรและอุปกรณ์
บริษัทเยอรมนียังคงเข้ามาลงทุนในเอเชียค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ดี เยอรมนีตระหนักถึงความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างมาก และได้มีการกำหนดนโยบายในเชิงรุกต่อเอเชียโดยเน้นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนขนาดเล็กและกลางของเยอรมนีมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในจีน
1.4.3 การท่องเที่ยว
ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2549 (มกราคม ธันวาคม) มีนักท่องเที่ยวเยอรมันเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 507,942 คน (เป็นอันดับที่ 2 ในยุโรปรองจากสหราชอาณาจักร) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 16.35 โดยนักท่องเที่ยวเยอรมันจัดเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพราะจะพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันค่อนข้างสูง (ในปี 2547 นักท่องเที่ยวเยอรมันมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันราว 3,720.23 บาท ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 21,781.44 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ไทยและเยอรมนีได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี (JEC) โดยมีคณะทำงาน 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี และคณะทำงานด้าน SMEs เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การค้า และการลงทุน และไทยสนใจจะให้มีการตั้งคณะทำงานด้านพลังงานที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคณะทำงาน
1.5 สังคมและวัฒนธรรม
ไทยต้องการให้เยอรมนีมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาความร่วมมือไตรภาคี เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาภูมิภาค (Partnership for Development/ Partnership for the Region) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านในกรอบโครงการกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) และประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นภาวะสงครามหรือความขัดแย้ง เช่น ติมอร์เลสเต ศรีลังกา รวมทั้งประเทศที่สามอื่นๆ อาทิ ประเทศในแอฟริกา
ไทยและเยอรมนีได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอการลงนามโดยผู้แทนของทั้งสองฝ่าย
1.6 แนวโน้มความสัมพันธ์
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EC) มีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2549 ให้ระงับการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงกับไทย ภายหลังจากที่ฟินแลนด์ในฐานะประธานสหภาพยุโรปได้แสดงความไม่พอใจกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย อย่างไรก็ดี เยอรมนีแสดงความเห็นใจในสถานการณ์ของไทยและได้ร่วมกับอังกฤษในการออกแถลงการณ์ฉบับที่สองที่ลดความแข็งกร้าวลง นอกจากนี้เยอรมนียังมีการแสดงออกที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความเห็นต่อสถานการณ์ของไทยในลักษณะที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เยอรมนียังทาบทามขอหารือทวิภาคีกับฝ่ายไทยในระหว่างการประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting ครั้งที่ 16 ณ เมือง Nuremburg ซึ่งฝ่ายเยอรมันได้แสดงความเข้าใจและเห็นใจในสถานการณ์ของไทยอย่างไรก็ดี ฝ่ายเยอรมันก็ยังคงท่าทีว่า การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงคงต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองของไทยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปและการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
2. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
2.1 สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามครั้งแรก 13 ธันวาคม 2504 ลงนามครั้งล่าสุด หลังจากเจรจาใหม่ 24 มิถุนายน 2545)
2.2 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (ลงนาม 17 กุมภาพันธ์ 2513)
2.3 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (ลงนาม 24 มีนาคม 2526 มีผลบังคับใช้ 25 กรกฎาคม 2527)
2.4 สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษไทย-เยอรมนี (ลงนาม 26 พฤษภาคม 2536)
2.5 ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเล (ลงนาม 31 กรกฎาคม 2544)
2.6 สนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (ลงนามเมื่อ 24 มิถุนายน 2545 และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารระหว่างกันเมื่อ 20 กันยายน 2547)
2.7 บันทึกความเข้าใจจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี (ลงนาม 31 มีนาคม 2546)
2.8 ความตกลงว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เยอรมนี (ดำเนินการส่งหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างกันแล้วเสร็จเมื่อ 7 พฤษภาคม 2546)
2.9 ความตกลงทางด้านการเงินระหว่างไทย เยอรมนี (ลงนาม 30 กันยายน 2548) ความตกลงที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วและกำลังรอการลงนาม
2.10 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี ความตกลงที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาปรับแก้
2.11 ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (ลงนามครั้งแรก 5 มีนาคม 2505)
2.12 ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามครั้งแรก 10 กรกฎาคม 2510)
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
3.1.1 ระดับพระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 25 กรกฎาคม 2 สิงหาคม 2503 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 9-13 เมษายน 2540 เสด็จฯ เยือนรัฐแซกโซนีและรัฐบาวาเรีย
- วันที่ 16-22 กรกฎาคม 2550 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 24-26 มิถุนายน 2546 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 9 กันยายน - 21 ตุลาคม 2550 เสด็จฯ เยือนนครมิวนิค เพื่อทรงทำการฝึกบินในทวีปยุโรป
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 21-24 พฤษภาคม 2538 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- วันที่ 14-29 สิงหาคม 2543 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 19 กุมภาพันธ์-22 มีนาคม 2545 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 18-23 สิงหาคม 2545 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 5-11 เมษายน 2546 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 6-12 ตุลาคม 2550 เสด็จฯ เยือนนครแฟรงก์เฟิร์ต เพื่อทอดพระเนตรงานนิทรรศกาลหนังสือ Book Fair 2007
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 9-13 เมษายน 2540 เสด็จฯ เยือนรัฐแซกโซนีและรัฐบาวาเรีย
- วันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2538 เสด็จฯ เยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 13-18 เมษายน 2542 เสด็จฯ เยือนรัฐแซกโซนีและรัฐบาวาเรีย
- วันที่ 28 กันยายน-18 ตุลาคม 2543 เสด็จฯ เยือนเยอรมนีเพื่อทรงงานด้านการวิจัย
- วันที่ 15-20 สิงหาคม 2546 เสด็จฯ เยือนเยอรมนี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
- วันที่ 14-20 มีนาคม 2550 เสด็จ เยือนรัฐบาวาเรีย
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
- วันที่ 17-21 มีนาคม 2545 เสด็จ ร่วมงาน Berlin ITB 2002
- วันที่ 7-12 มีนาคม 2546 เสด็จ ร่วมงาน Berlin ITB 2003
- วันที่ 7-11 มีนาคม 2550 เสด็จ ร่วมงาน Berlin ITB 2007
3.1.2 บุคคลระดับสูง
- วันที่ 18-21 กันยายน 2537 น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ และเป็นการเยือนครั้งแรกภายหลังการรวมเยอรมนี
- วันที่ 8-10มีนาคม 2538 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนเยอรมนี ตามคำเชิญของนายเฮลมุท โคห์ล (Helmut Kohl) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
- วันที่ 7-12 พฤษภาคม 2541 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเยือนเยอรมนี
- วันที่ 2-4 มิถุนายน 2541 นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรี เยือนเยอรมนี
- วันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ 2542 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 30 มีนาคม-2 เมษายน 2542 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เยือนรัฐแซกโซนี และรัฐบาวาเรีย
- วันที่ 12-14 เมษายน 2542 นายศุภชัย พาณิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 28 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2542 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีนำคณะจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเยือนเยอรมนี เพื่อจัดประชุมสัมมนาเผยแพร่การลงทุน
- วันที่ 10-11 พฤษภาคม 2542 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะเยือนเยอรมนี
- วันที่ 9-10 ตุลาคม 2542 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมปะชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซมครั้งที่ 2 (Second ASEM Economic Ministers Meeting) ที่กรุงเบอร์ลิน
- วันที่ 27-31 ตุลาคม 2542 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะ เยือนเยอรมนี
- วันที่ 2-3 มีนาคม 2543 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเยอรมนี
- วันที่ 10-14 สิงหาคม 2543 นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เยือนเยอรมนี
- วันที่ 10-17 สิงหาคม 2543 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เยือนสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี
- วันที่ 4-6 มิถุนายน 2544 นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เยือนเยอรมนี
- วันที่ 12-16 มีนาคม 2546 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เยือนเยอรมนีเพื่อร่วมงาน CeBit 2003
- วันที่ 18-21 กันยายน 2546 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 19-22 ตุลาคม 2547 นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เยือนรัฐบาวาเรีย เพื่อชักจูงการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม
- วันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ
3.2 ฝ่ายเยอรมนี
- วันที่ 28-29 สิงหาคม 2536 นาย Richard von Weizsaecker ประธานาธิบดีเยอรมนีเยือนไทย
- วันที่ 1-2 มีนาคม 2539 นาย Helmut Kohl นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเข้าร่วมการประชุมเอเชีย-ยุโรปที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 24-28 ตุลาคม 2539 นาย Matthias Wissmann รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเยอรมนี เยือนไทยตามคำเชิญของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย
- วันที่ 18-20 มกราคม 2540 นาย Carl-Dieter Spranger รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เยอรมนี เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 20-21 ตุลาคม 2540 นาย Klaus Kinkel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2541 Dr. Theodor Waigel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี เยือนไทย
- วันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2541 Dr. Walter Doering รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของรัฐบาลบาเด็น- วือร์เต็มแบร์ก เยือนไทย
- วันที่ 25-28 พฤษภาคม 2543 Dr. Werner Mueller รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเยอรมนี นำคณะเจ้าหน้าที่ภาครัฐบาล นักธุรกิจภาคเอกชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชนเยอรมนี เยือนไทย
- วันที่ 14-15 กรกฎาคม 2543 นาย Joschka Fischer รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 24-27 มิถุนายน 2545 นาย Johannes Rau ประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 30-31 มีนาคม 2546 นาย Wolfgang Clement รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและแรงงานเยอรมนี เยือนไทยพร้อมคณะนักธุรกิจเยอรมนีเพื่อเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี
- วันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2547 นาย Wolfgang Clement รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและแรงงานเยอรมนี เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมธุรกิจเยอรมนีในเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 10 ในฐานะแขกของรองนายกรัฐมตรี (นายพินิจ จารุสมบัติ)
- วันที่ 8-9 มกราคม 2548 นาย Joschka Fischer รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เยือนกรุงเทพฯ และภูเก็ตเพื่อติดตามสถานการณ์ภายหลังธรณีพิบัติภัยในไทย
เรียบเรียงโดย กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5000 ต่อ 3258 Fax. 0 2643 5141 E-mail : european04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|