|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐกานา Republic of Ghana
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา
มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับบูร์กินาฟาโซ
ทิศใต้ติดกับอ่าวกินี
ทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐโตโก
ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐโกตดิวัวร์
พื้นที่ 238,540 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงอักกรา (Accra)
เมืองสำคัญอื่น ๆ Kumasi Tamale Tema และ Sekondi Takoradi
ภูมิอากาศ บริเวณชายฝั่งอากาศร้อนชื้น โดยอากาศจะร้อนตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24 32 องศาเซลเซียส ฤดูฝนอุณหภูมิประมาณ 21 27 องศาเซลเซียส ในเขตภาคเหนือ อากาศจะ ค่อนข้างเย็นและความชื้นต่ำกว่าทางภาคใต้ ปริมาณฝนตกเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี
จำนวนประชากร 22,931,299 (ประมาณการเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550)
เชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า Akan ร้อยละ 45.3 ที่เหลือได้แก่
Moshi Dagomba ร้อยละ 15.2 Ewe ร้อยละ 11.7 Ga-Dangme ร้อยละ 7.3 Guan ร้อยละ 4 Gurma ร้อยละ 3.6 Grusi ร้อยละ 2.6 และมีเชื้อชาติอื่นๆ อีกประมาณร้อยละ 9
ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และมีภาษาพื้นเมืองอื่น ๆ ได้แก่ Akan Moshi Dagomba Ewe และ Ga
ศาสนา ประชากรนับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 68.8 นับถือศาสนาอิlลาม ร้อยละ 16 ที่เหลือนับถือความเชื่อดั้งเดิม
วันชาติ วันที่ 6 มีนาคม (ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 2500)
รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและผู้นำรัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 4 ซึ่งได้รับการลงประชามติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2535 ได้กำหนดให้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่จำกัดไม่เกิน 2 สมัย
สถาบันทางการเมือง ประกอบด้วย
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นผู้นำรัฐบาล สำหรับคณะรัฐมนตรีซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งด้วยนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาแบบสภาเดียว (unicameral) ประกอบด้วยสมาชิก 230 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไป และอยู่ในตำแหน่ง คราวละ 4 ปี
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
ประมุขแห่งรัฐ นาย John Agyekum Kufuor ซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2547
รองประธานาธิบดี นาย Alhaji Aliu Mahama ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2544
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Akwasi Osei-Adjei ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2550
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 11.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 493 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 10.9 (2549)
หนี้สินต่างประเทศ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
เงินตราสำรองระหว่างประเทศ 2,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการค้า มูลค่าการค้ารวม 10,487.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่งออก 3,729.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 6,758.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขาดดุลการค้าประมาณ 3,029 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
สินค้าออกที่สำคัญ ทองคำ โกโก้ ไม้ ปลาทูนา บ็อกไซต์ อลูมิเนียม แร่แมงกานีสและเพชร
สินค้าเข้าที่สำคัญ สินค้าทุน ปิโตรเลียม และอาหาร
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ส่งออกไปยัง เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 12.8 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 8.3 สหรัฐฯ ร้อยละ 6.5 เบลเยี่ยม ร้อยละ 6 ฝรั่งเศส ร้อยละ 5.5 นำเข้าจาก ไนจีเรีย ร้อยละ 14 จีน ร้อยละ12.5 สหรัฐฯ ร้อยละ 6.2 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.5 เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 4.2 (2548)
หน่วยเงินตรา Cedi (GHC) และ pesewas (P)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 9,174.4 cedi (2549)
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนกานาถูกครอบครองโดยชนเผ่าและแคว้นนักรบต่าง ๆ โดยเฉพาะอาณาจักร Ashanti ซึ่งมั่งคั่งขึ้นมาจากการค้าทาส ในปี 2417 สหราชอาณาจักรได้เข้ารุกรานอาณาจักร Ashanti และประกาศให้พื้นทื่ Gold Coast เป็นอาณานิคม จนกระทั่งปี 2444 จึงสามารถยึดพื้นที่ได้ทั้งหมดทำให้กานาตกเป็นรัฐในอารักขา (protectorate) ของอังกฤษ
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรค Convention Peoples Party (CPP) ของนาย Kwame Nkrumah ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2493 อันนำไปสู่การได้เอกราชของกานาในวันที่ 6 มีนาคม 2500 ทั้งนี้ กานาเป็นประเทศแรกในแอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan African) ที่ได้รับเอกราช โดยยังคงเป็นดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ จนอีก 3 ปีต่อมา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2503 กานาได้ประกาศเป็นสาธารณรัฐภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ โดยนาย Kwame Nkrumah ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก และได้วางรากฐานการปกครองของกานาในแบบสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนาย Nkrumah ได้ถูกโค่นล้มโดยการทำรัฐประหารในปี 2509
สถานการณ์ทางการเมือง
ภายหลังจากรัฐประหารในปี 2509 นั้น คณะนายทหารผู้ก่อรัฐประหารได้ตั้ง National Liberation Council ขึ้นเพื่อปกครองประเทศ และมีการคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนแต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีการผลัดเปลี่ยนการคุมอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยรัฐประหารครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2524 โดยเรืออากาศเอก Jerry Rawlings เป็นผู้นำการรัฐประหาร จากนั้น ได้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารประเทศ คือ Provisional National Defence Council (PNDC) ขึ้น พร้อมกับยุบสภา ระงับการใช้รัฐธรรมนูญ และห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง
จนถึงเดือนมีนาคม 2535 เรืออากาศเอก Rawlings ได้ประกาศถ่ายโอนอำนาจให้เป็นประชาธิปไตย และมีการลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แห่งสาธารณรัฐที่ 4 ในวันที่ 28 เมษายน 2535 ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งระบบการปกครองแบบมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารตามแบบของสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐสภาที่มาจากหลายพรรค และระบบตุลาการที่เป็นอิสระ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2535 เรืออากาศเอก Rawlings ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2539
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 7 และ 28 ธันวาคม 2543 ปรากฏว่า นาย John Agyekum Kufuor จากพรรค National Patriotic Party (NPP) ชนะคู่แข่ง คือ นาย John Atta Mills จากพรรค National Democratic Congress (NDC) อดีตรองประธานาธิบดีผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนาย Jerry Rawlings และได้เข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของกานาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2544 ซึ่งจากการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการยุติอำนาจทางการเมืองของนาย Jerry Rawlings ที่อยู่ในตำแหน่งประมุขของรัฐมาเป็นเวลากว่า 19 ปี
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2547 นาย John Agyekum Kufuor ชนะการเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกเป็นสมัยที่ 2 นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนสมาชิกรัฐสภาจาก 200 ที่นั่งเป็น 230 ที่นั่งด้วย และการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2551
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
กานาดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ นอกจากนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดี Rawlings ยังมีการดำเนินนโยบายที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
ในปี 2518 กานาสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการก่อตั้งกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเมืองของประเทศในภูมิภาค ต่อมาในปี 2533 กานาเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมในกองกำลังของ ECOWAS ซึ่งเข้าไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในไลบีเรีย นอกจากนี้ กานายังได้ร่วมกับสหประชาชาติในการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในกัมพูชาระหว่างปี 2535-2536 และในรวันดาระหว่างปี 2536-2537 กานาเป็นประธานของ ECOWAS ในช่วงระหว่างปี 2537 ถึง ปี 2539
ในสมัยของประธานาธิบดี Kufuor กานามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคแอฟริกา อาทิ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการก่อตั้งกลุ่มประเทศหุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาแอฟริกา (The New Partnership for Africas Development-NEPAD) นอกจากนี้ นาย Kufuor ประธานาธิบดีกานาคนปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศแอฟริกาและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพแอฟริกา (Africa Union-AU) ในเดือนมกราคม ปี 2550 ทั้งนี้ กานาเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เครือจักรภพอังกฤษ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non Aligned Movement NAM) องค์การเอกภาพแอฟริกา(Organization of African Unity OAU) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแอฟริกา(Economic Commission for Africa ECA) ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West Africa States ECOWAS) และ African States associated with the EC (Lome Convention)
สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป
กานามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นสองเท่าของประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาตะวันตก อย่างไรก็ตาม กานายังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวิชาการจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยนับตั้งแต่ปี 2526 เศรษฐกิจของกานาได้รับความช่วยเหลือจากการสนับสนุนของ IMF และ World Bank โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจมหภาค และดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างของเศรษฐกิจในกานา รัฐบาลได้นำเอานโยบายต่างๆ มาใช้ อาทิ นโยบายการเงินและงบประมาณ อัตราการแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามกลไกตลาด การยกเลิกการถือหุ้นของรัฐบาลในธนาคาร และการปลดหนี้จากบัญชีกลางของรัฐบาล
ในช่วงระหว่างปี 2538 - 2540 กานาประสบความสำเร็จในโครงการปรับโครงสร้าง 3 ปี โดยความร่วมมือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยความตกลงหลังสุดที่กานาได้ทำกับ IMF ในปี 2546 คือ การลดความยากจนและการเจริญเติบโตด้านสาธารณูปโภค (a poverty reduction and growth facility-PRGF) ซึ่งจากการประเมินผลของ IMF พบว่า ภาระหนี้สินต่ำลง ภาวะเงินเฟ้อลดลง และเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความตกลง PRGF จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2550 และรัฐบาลกานาอาจไม่ดำเนินการต่อเนื่องจากไม่พอใจกับข้อบังคับของ PRGF ที่เน้นเรื่องการยืมเงินเชิงพาณิชย์
ด้านการเกษตร ภาคการเกษตรเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจกานา แรงงานร้อยละ 50 อยู่ในภาคเกษตรและคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศประมาณร้อยละ 35 สินค้าส่งออกที่สำคัญของกานา ได้แก่ โกโก้ ไม้ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารทะเล สับปะรด อย่างไรก็ตาม กานาต้องประสบปัญหาด้านต่างๆ ในภาคการเกษตร อาทิ ราคาในตลาดโลกที่ปั่นป่วน โรคพืช ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามที่จะขยายเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมและได้ตั้งเป้าไว้ที่ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น การแปรรูปมันสำปะหลังในประเทศให้เป็นแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงในภาครัฐและพันธะกรณีในเรื่องกองกำลังรักษาสันติภาพในภูมิภาค ก็ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินในเรื่องการขาดดุลจากอัตราเงินเฟ้อ มีการลดค่าเงินและประชาชนก็ไม่พอใจต่อมาตรการประหยัดของรัฐบาล
ด้านธุรกิจ ธุรกิจภาคการบริการเป็นอีกสาขาที่กำลังเติบโต ในปี 2547 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจากภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 40 นอกจากนี้ กานายังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ (แหล่งทองคำอยู่ที่เมือง Ashanti และทางภาคตะวันตกของกานา) เพชร บอกไซต์ และแร่แมงกานีส ในส่วนของการทำเหมืองแร่ทองคำนั้นจึงเป็นอีกส่วนที่สำคัญของการทำรายได้เข้าประเทศ โดยคิดเป็นร้อยละ 5-6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และในปี 2548 กานาส่งออกทองคำและโกโก้คิดเป็นร้อยละ 66 ของการส่งออก ทั้งนี้ ราคาของสินค้าทั้งสองขึ้นอยู่กับการผันผวนของราคาในตลาดโลก
ด้านการศึกษา ตั้งแต่ช่วงปี 2513 กานาเป็นหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาที่มีการพัฒนาด้านการศึกษา โดยรัฐบาลได้ปรับปรุงองค์กรและให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการพัฒนาระบบการศึกษา จากการสำรวจของธนาคารโลก อัตราผู้ไม่รู้หนังสือในกานาลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2528 ผู้ไม่รู้หนังสือ คิดเป็นเพศชาย ร้อยละ 36 เพศหญิงร้อยละ 58 เหลือร้อยละ 18 และร้อยละ 34 ตามลำดับ ในปี 2545
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกานา |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ด้านการเมือง
ประเทศไทยและสาธารณรัฐกานาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2528 เดิมไทยให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมกานา ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการปรับเปลี่ยนเขตอาณาให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐกานา สำหรับฝ่ายกานาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตกานาประจำประเทศมาเลเซีย มีเขตอาณาดูแลประเทศไทย เอกอัครราชทูตกานาประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ คนปัจจุบันคือ นาย Nana Kwadwo Seinti นอกจากนี้ กานาได้แต่งตั้งนางนาถดา สิงห์สมบุญ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์กานาประจำประเทศไทย
ด้านเศรษฐกิจ
กานาได้ติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ปี 2515 โดยในระยะแรกไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า แต่ตั้งแต่ปี 2535-2543 ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าติดต่อกันเรื่อยมา เนื่องจาก ไทยนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำจากกานาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังปี 2543 ไทยส่งออกข้าวไปกานาเป็นจำนวนมาก (กานาเป็นประเทศคู่ค้าข้าวอันดับ 6 ของไทยในทวีปแอฟริกา) และไทยได้ลดการนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำจากกานาด้วย ทำให้ไทยกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับกานามาจนถึงปัจจุบัน
ในปี 2544 ไทยได้เปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ณ กรุงอักกรา โดยมีภารกิจดูแลการขยายตลาดส่งออกของไทย โดยเฉพาะตลาดข้าวในประเทศแอฟริกาแถบตะวันตก นอกจากนี้ มีร้านอาหารไทย 1 ร้านตั้งอยู่ที่กรุงอักกราเช่นกัน ชื่อร้านว่า Sukhothai Complex
ในปี 2549 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกานามีปริมาณ 3,952.2 ล้านบาท ไทยส่งออกไปยังกานาจำนวน 3,604.8 ล้านบาท และนำเข้าจากกานาจำนวน 347.5 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้ากับกานาจำนวน 3,257.3 ล้านบาท สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปกานา ได้แก่ 1.ข้าว 2.เม็ดพลาสติก 3.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 4.เสื้อผ้าสำเร็จรูป 5.แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากกานา ได้แก่ 1.พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 2.ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ 3.สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป 4.ด้ายและเส้นใย 5.ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เป็นต้น
สถิติการค้าระหว่างไทย กานา ดูเอกสารแนบ
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
กานาเป็นประเทศที่ไทยกำหนดให้อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย (Thai Aid Programme) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษา/ฝึกอบรมและดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญและเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา ในปี 2550 สำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (สพร.) จะให้ทุนอบรมกับกานาเป็นจำนวน 4 ทุน ได้แก่ 1.Integrated Watershed Management 2.Prevention, Resuscitation and Rehabilitation in Traumatic injury; A Nursing Perspective 3.Sufficiency Economy 4.Grassroots Economic Development with One Tambon One Product (OTOP)
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ วิชาการ และวัฒนธรรม และพิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กานา (ลงนามเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549)
การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
- วันที่ 4-5 กรกฎาคม 2549 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนกานาอย่างเป็นทางการ และได้พบหารือกับรองประธานาธิบดี กานา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกานา
ฝ่ายกานา
- วันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2549 นาย Alhaji Aliu MAHAMA รองประธานาธิบดี เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำระดับสูง และได้เข้าพบหารือกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกานาโดยอุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา คือ นายนิยม วัฒน์ธรรมาวุธ
ที่อยู่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา
Royal Thai Embassy
Plot 766 Panama Street,,
Cadastral Zone A6, off IBB Way,
Maitama, Abuja,
NIGERIA
E-mail : thaiabj@mfa.go.th
ฝ่ายกานา
กานาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตกานาประจำประเทศมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตกานาประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ คือ H.E.Mr. Nana Kwadwo Seinti
ที่อยู่ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกานา
The High Commission of the Republic of Ghana
14 Ampang Hilir
Off Jalan Ampang
55000 Kuala Lumpur
Malaysia
Tel. (603) 4252-6995 / 4257-1264
Fax. (603) 4257-8698
E-mail : ghcomkl@tm.net.my
มิถุนายน 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|