|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐฮังการี Republic of Hungary
|
|
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง บริเวณที่ราบคาร์เปเทียนในยุโรปกลาง ไม่มีทางออกทะเล
ทิศเหนือ ติดกับสโลวาเกีย และยูเครน
ทิศใต้ ติดกับโครเอเชีย เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร
ทิศตะวันออก ติดกับโรมาเนีย
ทิศตะวันตก ติดกับออสเตรีย และสโลวีเนีย
พื้นที่ ๙๓,๐๓๐ ตาราง กิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบูดาเปสต์ (Budapest)
ประชากร ๑๐ ล้านคน (ปี ๒๕๕๐) ประกอบด้วย
ชาวฮังกาเรียน (๙๒.๓%) โรมา (๑.๙%) และอื่นๆ (๕.๘%)
ภูมิอากาศ มีฤดูหนาวที่ชื้น ฤดูร้อนที่อบอุ่น อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาว
๐ ถึง -๑๕ องศาเซลเซียส ฤดูร้อน ๒๗-๓๕ องศาเซลเซียส
ภาษาฮังกาเรียน ๙๘% อื่นๆ ๒%
ศาสนา โรมันคาทอลิก ๖๗.๕% คาลวินิสต์ ๒๐% ลูเธอแรนส์ ๕%
หน่วยเงินตรา โฟรินท์ (Forint) อัตราแลกเปลี่ยน ๒๑๐.๙๒ โฟรินท์เท่ากับ
๑ ดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๑๐๓.๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๔๙)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๐,๒๙๘ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๔๙)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๓.๙ (๒๕๔๙)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นประมุขของ
ประเทศอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๕ ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียง
๒ วาระ ปัจจุบัน คือ นาย Laszlo Solyom ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๘
นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
๑. การเมืองการปกครอง
๑.๑ ฮังการีเป็นประเทศแรกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และราบรื่นที่สุดในกลุ่มประเทศภายใต้สหภาพโซเวียต ในช่วงปี ๒๕๒๓ ฮังการีเริ่มนโยบายต่างประเทศที่หันไปทำการค้ากับตะวันตกมากขึ้น และเริ่มเปลี่ยนระบอบการปกครองในปี ๒๕๓๑ กองทัพโซเวียตถอนกำลังออกจากฮังการีในปี ๒๕๓๓ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้เริ่มต้นขึ้น
๑.๒ ฮังการีมีการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานแผ่นดิน รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสมเสรีฝ่ายซ้าย (left-liberal coalition) สำหรับรัฐสภาฮังการีเป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิก ๓๘๖ คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการทำงาน ๔ ปี
๑.๓ นับตั้งแต่ฮังการีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ๕ ครั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งพรรคสังคมนิยม (MSZP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลได้รับชัยชนะ ทำให้นาย Ferenc Gyurcsany ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง
๑.๔ นโยบายของรัฐบาลในสมัยที่สองไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ กล่าวคือ เน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ แก้ไขปัญหาความยากจน รัฐบาลฮังการียึดถือยุทธศาสตร์ที่ว่า ประชาชนฮังการีต้องทำงานหนักเพื่อพัฒนาประเทศ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมาตรฐานการดำรงชีวิตในสังคม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และสิทธิของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายฮังกาเรียนที่อยู่นอกประเทศที่มีอยู่ประมาณ ๕ ล้านคน โดยพยายามหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในออสเตรีย สโลวัก โรมาเนีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย โดยคำนึงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นด้านกฎหมาย แต่เป็นประเด็นทางการเมืองด้วย
๑.๕ ในปี ๒๕๔๘ นายกรัฐมนตรีฮังการี ได้เสนอแผน ๕ ประการ (Five Point Ethnic Plan) เพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยฮังกาเรียนที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งปัจจุบันบรรจุอยู่ในนโยบายแห่งชาติ ได้แก่ (๑) การให้ multiple-entry visas เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรม ภาษา และความเป็นชนชาติฮังการี (๒) การปรับขั้นตอนการเข้าเมืองให้ง่ายขึ้น (๓) การสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยมีการปกครองตนเองในดินแดนที่เคยเป็นของฮังการีมาก่อน (๔) การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ดินแดนที่เคยเป็นของฮังการีมาก่อนโดยใช้งบประมาณ ๑ พันล้านโฟรินทร์ หรือประมาณ ๔ ล้านเหรียญสหรัฐ (๕) การออกหนังสือเดินทางที่เป็นไปตามระเบียบของสหภาพยุโรป (EU-conforming passports) ให้กับชนกลุ่มน้อยที่มีเชื้อสายฮังกาเรียน อนึ่ง เรื่องชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนสำคัญในนโยบายของรัฐบาลฮังการี เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว เนื่องจากฮังการีได้สูญเสียดินแดนภายหลังสงครามโลกครั้งที่๑ ทำให้มีชาวฮังกาเรียนอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก สำหรับชนกลุ่มน้อยภายในประเทศนั้น ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ชาวยิปซี ชาวเยอรมัน และชาวยิว ซึ่งรัฐบาลระมัดระวังในการดำเนินการ หลีกเลี่ยงการเลือกประติบัติ การบังคับให้ผสมกลมกลืนกัน ให้สิทธิในการนับถือศาสนา การใช้ภาษาของกลุ่ม รวมทั้งการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษานั้นๆ ฮังการีชื่นชมการดำเนินการเพื่อความสมานฉันท์ในภาคใต้ของรัฐบาลไทย ซึ่งเมื่อครั้งที่ไทยประกาศนโยบายเรื่องภาคใต้นั้น เอกอัครราชทูตฮังการีฯ ได้รายงานไปยังรัฐบาลว่า เป็นนโยบายที่มีแนวทางเดียวกันกับของฮังการี
นโยบายต่างประเทศ
๓.๑ รัฐบาลฮังการีมีนโยบายในการปฏิรูประบบการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศบนพื้นฐานที่สอดคล้องและควบคู่ไปกับระบบความสัมพันธ์กับต่างประเทศและประเทศพันธมิตร โดยวางกรอบของความสำคัญ ดังนี้
๓.๑.๑ ความเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
๓.๑.๒ เศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี
๓.๑.๓ การธำรงสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
๓.๑.๔ ปัญหาของผู้พลัดถิ่นเชื้อสายฮังการี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ให้ได้รับสถานะรวมอยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิใช้เขตแดนร่วมของ EU แทนที่จะถูกแบ่งแยกให้เป็นเอกเทศ
๓.๒ สนับสนุนนโยบายการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป โดยเล็งเห็นจากประสบการณ์ภายหลังการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของตนว่า การขยายสมาชิกภาพเป็นสิ่งสรรสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศยุโรปตะวันตกและตะวันออก รัฐบาลฮังการีหวังว่าจะมีประเทศสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เช่น โครเอเชีย และประเทศในกลุ่มบอลข่านตะวันตก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อนโยบายต่างประเทศ และความมั่นคงของยุโรป
๓.๓ นโยบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับภูมิภาคตะวันออกไกล หลังจากฮังการีเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และองค์การ NATO และมีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงแล้ว นโยบายต่างประเทศในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือ Looking East โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าว ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ฮังการีให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยพิจารณาจากเหตุผลด้านสถานะของประเทศทั้งสองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและในระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงปริมาณการค้าทวิภาคี และการลงทุนในต่างประเทศ และมีเป้าหมายที่จะดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อขยายลู่ทางและมูลค่าการค้าระหว่างฮังการีและประเทศทั้งสองให้มากขึ้น
๒. เศรษฐกิจและสังคม
๒.๑ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา เศรษฐกิจของฮังการีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ ๔ ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ฮังการีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เสรีและก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ ได้รับการจัดอันดับทางเศรษฐกิจที่ดี และมีการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างประเทศได้ง่าย นอกจากนี้ ฮังการียังเป็นแหล่งลงทุนของต่างประเทศที่สำคัญในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
๒.๒ ปัจจุบันฮังการีประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่สูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายจ่ายที่มาจากกองทุนสุขภาพและกองทุนบำเหน็จบำนาญ ตลอดจนการแบกรับหนี้สินของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนักวิชาการและภาคเอกชนเห็นว่า รัฐบาลฮังการีน่าจะพยายามหาทางลดรายจ่ายในส่วนนี้ แต่กลับแก้ปัญหาด้วยการขึ้นภาษี และหากรัฐบาลฮังการียังคงดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณเช่นนี้ต่อไป ก็เกรงว่าจะไม่สามารถลดการขาดดุลงบประมาณได้ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเพื่อให้สามารถเข้าร่วมในการใช้เงินสกุลยูโรประมาณปี ๒๕๕๑ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
๒.๓ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ รัฐสภาฮังการีได้เห็นชอบข้อมติเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจฮังการีในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า (Basic Economic Policy Principles for the Next Ten Years) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างหลักประกันต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฮังการีอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการต่างๆ ในการแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
๒.๓.๑ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง
๒.๓.๒ ปฏิบัติตามสนธิสัญญา Maastricht ในเรื่องการเริ่มใช้เงินสกุลยูโรในปี ๒๕๕๑
๒.๓.๓ ลดความซ้ำซ้อนในระบบราชการ และใช้เหตุผลเชิงโครงสร้าง (structural
rationalization) กับงานบริหารรัฐกิจ รัฐบาลท้องถิ่น ระบบประกันสังคม และประกันสุขภาพเพื่อให้สังคมมีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับหลักความมีเอกภาพของยุโรป
๒.๓.๔ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และบรรเทาปัญหาความเสียเปรียบ
ด้านดินแดน
๒.๓.๕ จัดระบบใหม่ด้านภาษีและการให้การอุดหนุน โดยลดระดับการจัดสรรปันส่วนจากภาครัฐ
๒.๓.๖ ปรับปรุงคุณภาพระบบการศึกษาของฮังการี โดยยึดถือหลักธรรมเนียมที่ปฏิบัติ
กันมาเป็นระยะเวลานานควบคู่ไปกับการปรับปรุงให้ทันสมัย เน้นสาขาการศึกษาสาธารณะ การศึกษาขั้นสูง และอาชีวศึกษา โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานระยะยาว
๒.๓.๗ กำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่น วิสาหกิจ และภูมิภาคต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์เรื่องความช่วยเหลือด้านโครงสร้างซึ่งสหภาพยุโรปเป็นผู้จัดหาให้ได้อย่างเต็มที่
๒.๓.๘ สร้างมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งให้หลักประกันเรื่อง
สิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนดังกล่าว สนับสนุนให้ฮังการีพัฒนาไปเป็นศูนย์ภูมิภาคของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
๒.๓.๙ สนับสนุนให้บริษัทภายในประเทศมุ่งสู่ความเป็นสากล พัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน รัฐให้ความสนับสนุนตามมาตรการสากลเพื่อการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมถึงพัฒนาภาคการบริการ อาทิ ท่องเที่ยว IT Logistics
๒.๓.๑๐ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการสร้างงานและจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเสริมสร้างการจ้างงานที่รับเงินทุนจากภาครัฐ ตลอดจนเพิ่มอัตราการจ้างงานร้อยละ ๗ ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี
๒.๓.๑๑ สร้างแรงจูงใจด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (อาทิ เพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเป็น ๒ เท่าในระยะเวลา ๑๐ ปี ตลอดจนส่งเสริมการใช้และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ) โดยดึงภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย
๒.๓.๑๒ ปฏิบัติตามนโยบายของสหภาพยุโรป เพื่อเป็นการรับรองผลประโยชน์ของฮังการี รวมทั้งใช้โอกาสจากตลาดที่เป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐฮังการี |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับฮังการีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยาวนานกว่า ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ประพาสฮังการี ระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จ ประพาสยุโรปครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ไทยและฮังการีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยฮังการีจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๒๑ เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันคือ นายอันดรัช บาล็อก (Andras Balogh) และได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองพัทยา มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนไทยจัดตั้ง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อปี ๒๕๓๒ เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันคือ นายเปี่ยมศักดิ์ มิลินทจินดา
๑.๑ ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ฮังการีเป็นพันธมิตรที่ดีของไทยในสหภาพยุโรป ไทยและฮังการีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันบ่อยครั้งในระดับสูง ฮังการีแสดงความเห็นอกเห็นใจไทยภายหลังเหตุการณ์ปฎิรูปการปกครองเมื่อปี ๒๕๔๙ แม้ว่ายังต้องปฏิบัติตามมติของสหภาพยุโรปในการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยภายหลังการปฏิรูปการปกครอง แต่ภาครัฐและเอกชนยังกระตือรือร้นที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับไทย รัฐบาลฮังการีถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย แต่ประสงค์ที่จะเห็นประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยเร็ว ทั้งนี้ ฮังการียังเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในความมั่นคงและเป็นปึกแผ่นของอาเซียน
๑.๒ ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ไทยและฮังการีมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการค้า ทวิภาคีในปี ๒๕๔๙ สาธารณรัฐฮังการีเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป (รวมโรมาเนีย และบัลแกเรีย) มีมูลค่าการค้ารวม ๓๔๐.๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕ จากปี ๒๕๔๘ โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นติดต่อกันทุกปี และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีอัตราการเติบโตสูง คือ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและทรานซิสเตอร์ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสาขาสำคัญที่กำลังเติบโตในฮังการี ส่วนสินค้าฮังการีที่ไทยนำเข้ามูลค่าสูงสุด คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปัจจุบันมีการลงทุนจากฮังการีเพียงโครงการเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นโครงการร่วมทุน (joint venture) ระหว่างบริษัท Bangkok Cable และบริษัท Dunasolar ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ในประเทศไทย ปัจจุบัน ตลาดนักท่องเที่ยวฮังการีมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๔๙ มีนักท่องเที่ยวฮังการีมาไทย ๑๘,๗๐๒ คน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ ๔๙.๘ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเปิดเที่ยวบินตรงเส้นทางบูดาเปสต์-กรุงเทพฯ ของสายการบิน Malev Hungarian Airlines สัปดาห์ละ 3 เที่ยว ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน จนถึงประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการบินตามฤดูกาล
นอกจากนี้ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี (Joint Economic CommitteeJEC) มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในมติที่ประชุมร่วม (Agreed Minutes) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมความร่วมมือ ในด้านต่างๆ อาทิ การค้า การลงทุน ท่องเที่ยว รวมทั้ง ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการเกษตร ด้านการศึกษาและวิชาการ ทั้งนี้ ฝ่ายฮังการีกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JEC ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๕๐ หรือ ๒๕๕๑
อนึ่ง ไทยและฮังการีได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีไทย-ฮังการี เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ และได้ดำเนินการโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเวียดนามเป็นโครงการแรกแล้ว โดยเป็นการให้ความร่วมมือลักษณะไตรภาคีไทย-ฮังการี-เวียดนาม ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว
๑.๓ ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ไทยและฮังการีได้มีการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมพอสมควร เมื่อปี ๒๕๓๗
กระทรวงการต่างประเทศโดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำคณะศิลปวัฒนธรรมไทยไปแสดงในประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมทั้งฮังการี ฝ่ายฮังการีได้ส่งคณะนักแสดงพื้นบ้านเข้าร่วมเทศกาลวัฒนธรรม ณ อุทยานเบญจสิริเมื่อปี ๒๕๔๕ และกระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งคณะนักแสดงพื้นบ้านเข้าร่วมงานเทศกาล World Folkloriada ครั้งที่ 3 ณ เมือง Pecs เมื่อปี ๒๕๔๗ และงาน Summerfest International Folklore Festival and Folk Art Fair ติดต่อกันเมื่อปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙
๑.๔ แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย-ฮังการี
เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับฮังการีแล้ว การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในสาขาและระดับต่างๆ น่าจะพัฒนาต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยมีกรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ดี การที่ฮังการีต้องปฏิบัติตามมติของสหภาพยุโรปในฐานะสมาชิกในการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยภายหลังการปฏิรูปการปกครอง อาจเป็นปัจจัยซึ่งมีผลกระทบให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-ฮังการีชะลอตัวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
๒. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
๑. ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๑ ที่กรุงเทพฯ) ปัจจุบัน
ทั้งสองฝ่ายได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกความตกลงฉบับนี้แล้ว เนื่องจากฮังการีได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี แทน
๒. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ที่กรุงเทพฯ) ปัจจุบัน ได้ยกเลิกตามความตกลงทางการค้าไปแล้ว
๓. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ลงนามครั้งแรกวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๗ และให้สัตยาบัน วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๓๕ ฮังการีแจ้งความประสงค์ขอแก้ไขหรือยกร่างความตกลงใหม่ ซึ่งฝ่ายไทยได้ตกลงที่จะแก้ไขความตกลงฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และได้ลงนามในฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)
๔. ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๒)
๕. พิธีสารความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าฮังการี (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๔)
๖. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๔)
๗. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๔)
๘. ความตกลงบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖)
๙. บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการขนส่งและการสื่อสาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๙)
๑๐. Letter of Intent of Cooperation between Bangkok Metropolitan Administration (BMA) and Local Government of Budapest (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐)
๑๑. Memorandum of Understanding between Hungarian Export-Import Bank Ltd. and Export-Import Bank of Thailand (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑)
๑๒. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๓)
๑๓. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-ฮังการี (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔)
๑๔.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ลงนามเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗)
๑๕.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี (ลงนามเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗)
๓. การเยือนที่สำคัญ
๓.๑ ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ ๒๘- ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๒ เสด็จฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ ๑๘-๒๒ มีนาคม ๒๕๓๗ เสด็จฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ ๖-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ทรงเข้าร่วมการประชุม World Science Forum
- วันที่ ๖-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ทรงเข้าร่วมการประชุม World Science Forum
- วันที่ ๒๔-๒๖ กันยายน ๒๕๔๙ คณะกรรมการ Intergovernmental Forum on Chemical Safety ภายใต้การดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Special Recognition Award
รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์)
- วันที่ ๑๖-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๑ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
การเยือนสหภาพโซเวียต และฟินแลนด์
๓.๒ ฝ่ายฮังการี
ประธานาธิบดี
- วันที่ ๑๕-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ นาย Arpad Goncz ประธานาธิบดีและภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
- วันที่ ๑๒-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ นาย Arpad Goncz และภริยาแวะผ่านประเทศไทยระหว่างเดินทางเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ โดยนาย Arpad Goncz และภริยาได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒
รองนายกรัฐมนตรี
- วันที่ ๑๕-๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๒ นาย Péter Medgyessy อดีตนายกรัฐมนตรีเยือนไทย
ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
สิงหาคม 2550
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|