|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง Southern Cone Common Market MERCOSUR
|
|
ข้อมูลทั่วไป
1. ภูมิหลัง
ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Southern Common Market) หรือ Mercosur เริ่มก่อร่างขึ้นโดยสนธิสัญญา Asuncion ประเทศปารากวัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2534 (ค.ศ.1991) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาค และต่อมาเมื่อปี 2537 (ค.ศ.1994) ได้มีการแก้ไขและปรับปรุงโดยปฏิญญา Ouro Preto Protocol ซึ่งกำหนดให้เริ่มนำระบบสหภาพศุลกากรมาใช้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 (ค.ศ.1995) เป็นต้นไป
การรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิก Mercosur จะครอบคลุมพื้นที่ 12 ล้านตารางกิโลเมตรและมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งของภูมิภาคลาตินอเมริกา คือประมาณ 240 ล้านคน มีประมาณ GDP รวมกันประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 3.6 (ค.ศ.2006) ปริมาณการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิก Mercosur มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาทั้งหมด
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าของกลุ่มได้เพิ่มขึ้นจากจำนวน 4.1 พันล้านดอลลาร์หสรัฐ ในปี 2534 (ค.ศ.1991) เป็น 21.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 (ค.ศ.2005) สมาชิกสมทบของ Mercosur ประกอบด้วย ชิลี (2539) โบลิเวีย (2539) เปรู (2546) โคลอมเบีย (2547) และเอกวาดอร์ (2547)
2. วัตถุประสงค์
2.1 เปิดเสรีทางการค้าภายในภูมิภาค (Trade Liberalization Program)
2.2 กำหนดนโยบายการค้าและอัตราภาษีศุลกากรต่อประเทศนอกกลุ่มในลักษณะเดียวกัน (Common External Tariff)
2.3 ประสานและสร้างความกลมกลืนด้านนโยบายเศรษฐกิจของชาติในระดับมหภาค(Gradual Coordination of Macroeconomic Policies) และ
2.4 การออกกฎระเบียบเพื่อนำปัจจัยและทรัพยากรการผลิตมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Adoption of Sectorial Agreements)
3. โครงสร้าง
Mercosur ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
3.1 สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat) Mercosur ไม่มีสำนักงานเลขาธิการถาวร เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ จะหมุนเวียนไปยังประเทศต่าง ๆ ทุก 6 เดือน แต่มีสำนักงานบริหาร (administrative
office) ที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ทำหน้าที่ด้านการเอกสารและงานธุรการ
3.2 คณะมนตรี (Council) มีการประชุมกันทุก 6 เดือน
3.3 คณะกรรมาธิการต่าง ๆ (Committees) อาทิ คณะกรรมาธิการบริหาร (Executive Committee) คณะกรรมาธิการการค้า (Trade Committee) เป็นต้น
ประธานกลุ่ม Mercosur
ประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นประธานชั่วคราวของกลุ่มโดยมีวาระครั้งละ 6 เดือน
ปัจจุบันอุรุกวัยเป็นประธานชั่วคราวของกลุ่ม (ก.ค- ธ.ค. 2550) ต่อจากปารากวัย (ม.ค.-มิ.ย.2550)
4. ขั้นตอนของการรวมกลุ่ม
4.1 สหภาพศุลกากร (Custom Union) เริ่มนำระบบนี้มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 (ค.ศ.1995)
4.2 เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) กำหนดให้เริ่มใช้ระบบนี้ภายในปี 2548 (ค.ศ.2005)
4.3 ตลาดร่วม (Common Market) กำหนดให้ใช้ระบบนี้ในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการรวมกลุ่ม
5. กลไกของ MERCOSUR
5.1 การตัดสินใจทุกอย่างจะต้องเป็นไปโดยเอกฉันท์ระหว่างประเทศสมาชิก
5.2 มีกลไกการหารือและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก
6. ระบบการเก็บภาษีต่อประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน (Common External Tariff)
เมื่อปี 2537 (ค.ศ.1994) ประเทศสมาชิกได้เจรจากันเพื่อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรต่อประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน (Common External Tariff CET) และกำหนดให้เริ่มนำระบบ CET มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 (ค.ศ.1995) โดยมีช่วงเวลาการปรับตัว (transition period) สำหรับการใช้ CET อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าและบริการในบางประเภท เช่น สินค้าการสื่อสารข้อมูลและโทรคมนาคม จะขยายเวลาออกไปถึงปี 2549
CET มีอัตราอยู่ระหว่างร้อยละ 0-20 ครอบคลุมสินค้าของประเทศสมาชิกประมาณร้อยละ 85 ของรายการสินค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม CET มิได้มีผลบังคับใช้กับสินค้าของประเทศสมาชิกทุกรายการ แต่ละประเทศสามารถจะกำหนดรายการสินค้าของตนเองที่เป็นข้อยกเว้นไม่ใช้ CET ที่แตกต่างกันไป
> 7. หลักเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)
กำหนดไว้โดยทั่วไปว่า สินค้าที่จะขายในกลุ่มได้โดยได้รับการยกเว้นภาษี จะต้องมีส่วนประกอบที่ผลิตในกลุ่มฯ (local contents) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยสำหรับสินค้าแต่ละประเภทด้วย
การส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งในกลุ่ม MERCOSUR ต่อไปยังอีกประเทศหนึ่งภายในกลุ่ม นอกจากจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของ MERCOSUR แล้วยังจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ภายในของประเทศปลายทางที่สินค้านั้น ๆ จะถูกส่งไปขายด้วย
ความเคลื่อนไหวและประเด็นสำคัญ ๆ ของกลุ่ม Mercosur
1. การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกกลุ่ม
ปัจจุบัน Mercosur ได้ลงนามความตกลงแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศอินเดียเพื่อปูทางไปสู่การทำ FTA) และกับสหภาพศุลกากรของแอฟริกาใต้ (SACU ) ซึ่งเป็นการจัดทำ FTA สามฝ่าย (SIM) นอกจากนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2547 Mercosur ได้ลงนามความตกลงการจัดทำการค้าเสรีกับกลุ่ม Andean (เปรู โคลอมเบีย เอกกวาดอร์ เวเนซุเอลา และโบลิเวีย) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา เรื่องความตกลงเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะสั้น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการจัดตั้งสมาคมระหว่างภูมิภาค (Interregional Association Agreement) กับสหภาพยุโรป และกำลังพิจารณาทำ feasibility study สำหรับทำความตกลงทางการค้าเสรีกับเกาหลีใต้และจีน
มีการลงนาม คตล.ด้านการค้าระหว่าง Mercosur กับคิวบา อันนำไปสู่การเพิ่มประเภทสินค้าระหว่าง Mercosur กับคิวบา จาก 1,300 เป็น 2,700 รายการ อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก อุปกรณ์ถ่ายรูป เวชภัณฑ์ ทั้งนี้ คตล.ดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มของ ปธน.Chavez สำหรับคิวบา คตล.ดังกล่าวนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่คิวบามีกลุ่มเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต
(ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทย กับกลุ่ม Mercosur มีจำนวน 2667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็น 1.04 % ของการค้าไทยกับทั่วโดย และไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าจำนวน 151 ดอลลาร์สหรัฐ)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง |
3. การเข้าร่วมเป็นสมาชิก Mercosur ของเวเนซุเอลา
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2549 ประธานาธิบดีของประเทศสมาชิก Mercosur (อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) ได้ร่วมลงนาม Protocol of Adhesion of Venezuela กับ ปธน. Hugo Chávez แห่งเวเนซุเอลา เพื่อรับรองการเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของ Mercosur หลังจากที่ได้เข้าเป็นสมาชิกสมทบของMercosur เมื่อเดือน ธ.ค. 2547 ประเทศสมาชิก Mercosur เห็นว่า การเข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของเวเนซุเอลา
มีความสำคัญต่อบูรณาการในภูมิภาค เพราะเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอเมริกาใต้ และเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 6 ของโลก รวมทั้งยังมีปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย การเข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของเวเนซุเอลาส่งผลให้ Mercosur เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดประชากร 250 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 65 และ GDP ร้อยละ 78 ของภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เวเนซุเอลาจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่ม Mercosur โดยสมบูรณ์นั้น เวเนซุเอลาจะต้องมีการปรับกฎระเบียบด้านภาษีและนโยบายการค้าให้เป็นแบบเดียวกับกลุ่ม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการนำระบบ Common External Tariff มาใช้ หลังจากนั้น รัฐสภาแต่ละประเทศสมาชิกต้องดำเนิน การให้สัตยาบันการรับรองเวเนซุเอลาเข้าเป็นสมาชิกก่อน (ขณะนี้มีเพียงบราซิล และปารากวัยที่ยังไม่ได้ ให้สัตยาบัน)
4. การประชุมสุดยอดกลุ่ม (Mercosur Summit) ที่กรุงอะซุนซิออง เมื่อเดือนมิ.ย. 2550 ได้มีการประชุมสุดยอดระดับผู้นำกลุ่ม Mercosur ที่ประเทศ ปารากวัย โดยผู้นำของประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศเข้าร่วมประชุม ยกเว้นเวเนซุเอลาที่ได้ให้นาย Jorge Rodriguiz รองประธานาธิบดีเข้าร่วมประชุมแทน เนื่องจาก นาย Hugo Chavez ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนรัสเซีย อิหร่าน และเบลารุส ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่การเข้าร่วมกลุ่มของ เวเนซุเอลาที่ประธานาธิบดี Chavez ไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดระดับผู้นำ ขณะนี้ การเข้าร่วมกลุ่มของเวเนซุเอลากำลังเป็นปัญหาของกลุ่ม Mercosur เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยนักกับประเทศสมาชิกเดิมของกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิล โดยประธานาธิบดี Chavez เคยวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายนิติบัญญัติของบราซิลเป็นเหมือน pirates parrot ของสหรัฐฯ (มีผลให้ รัฐสภาบราซิลยังไม่ได้ให้การให้สัตยาบันการเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของเวเนซุเอลา) รวมทั้ง ความล่าช้าของเวเนซุเอลาในการดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าให้เข้ากลับระเบียบของกลุ่ม Mercosur ทั้งนี้ การที่เวเนซุเอลายังไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มโดยสมบูรณ์มีผลให้ไม่สามารถใช้อำนาจ veto ในกลุ่มได้กลุ่ม Mercosur ได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงินและพลังงานของกลุ่ม โดยเฉพาะโครงการ Gran Gasoducto del Sur สร้างท่อส่งก๊าซเชื่อมระหว่างประเทศสมาชิก การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา (Bank for the Development of Mercosur) รวมทั้งการออกพันธบัตร Bono Sur ซึ่งเป็นความริเริ่มร่วมของประธานาธิบดี Chavez แห่งเวเนซุเอลาและ ประธานาธิบดี Kirchner แห่งอาร์เจนตินา
นอกจากนี้ กลุ่ม Mercsour ยังมุ่งเน้นแสวงหากลไกของการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน (Asymmetry) ในการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และเห็นว่าการบูรณาการทางการเมือง และเศรษฐกิจของกลุ่มเป็นเรื่อง ที่สำคัญยิ่งของภูมิภาค โดยเห็นชอบจะให้มีการพัฒนาการก่อตั้งประชาคมอเมริกาใต้ (The South American Community of Nations) เพื่อเป้าหมายหลักของการบูรณาการ ในภูมิภาค อยางไรก็ตามปัญหาสำคัญ คือ รัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกยังคงให้ความสนใจ ผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นสำคัญมากกว่า ความเห็นร่วมกันในเชิงเพื่อประโยชน์และการพัฒนา ของกลุ่มในภาพรวม
5. เม็กซิโกให้ความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม Mercosur
นาย Luis Ernesto Derbez รมว.กต.เม็กซิโกซึ่งเป็นแขกพิเศษของที่ประชุมได้กล่าวภายหลังการประชุมสุดยอดเมื่อเดือน ก.ค. 2549 ที่อาร์เจนตินา ว่า รัฐบาลเม็กซิโกประสงค์จะขอเข้าเป็นสมาชิกสมทบของ Mercosur ทั้งนี้ เม็กซิโกมีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในเมอร์โคซูร์ตั้งแต่ 2547 นอกจากนี้ เม็กซิโกได้เริ่มเจรจา FTA กับกลุ่ม Mercosur ตั้งแต่ปี 2548 แต่จนปัจจุบันยังคงไม่มีความ คืบหน้าใด
6. อุปสรรคและปัญหา
6.1 ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก บราซิลและอาร์เจนตินามีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าปารากวัยและอุรุกวัยมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรวมกันเป็นเขตการค้าเสรีและตลาดร่วมต่อไป
6.2 ทิศทางของกลุ่มที่อาจถูกชี้นำโดยประเทศที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สูงกว่า คือบราซิลและอาร์เจนตินา ซึ่งทำให้ประเทศเล็กๆ เช่น อุรุกวัยและปารากวัยเกิดความไม่พอใจ
6.3 การที่แต่ละประเทศยังมีการคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศระบบการกำหนดภาษีศุลกากรต่อประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน (CET) ได้เปิดช่องให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถกำหนดรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้นจากระบบ CET เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศของตน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการรวมกลุ่มไปสู่ระดับเขตการค้าเสรีและตลาดร่วมได้
6.4 การเข้าเป็นสมาชิกของเวเนซุเอลาอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อกลุ่ม Mercosur
ดังจะเห็นได้จากความไม่พอใจของ ปธน. Lula ต่อท่าทีของ ปธน.Chavez ที่ต้องการมีบทบาทนำในกลุ่มโดยการนำ agenda ด้านการเมืองบางประเด็นที่ ปธน. Chavez นำเข้ามา เช่น การกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับคิวบา สำหรับอาร์เจนตินา อาจมองว่าเวเนซุเอลาสามารถมาช่วยดึงความสำคัญและบทบาทของบราซิลลงบ้างแต่ก็ยังระมัดระวังที่จะไม่ใกล้ชิดมาก
6.5 ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม Mercosur กำลังมีข้อขัดแย้งทวิภาคีระหว่างกันที่สำคัญคือ ข้อพิพาทระหว่างอาร์เจนตินากับอุรุกวัย เรื่องการก่อสร้างโรงงานกระดาษ ข้อพิพาทระหว่างอาร์เจนตินากับชิลีเรื่องการขึ้นภาษีก๊าซธรรมชาติ หรือ การที่โบลิเวียประกาศให้อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการของรัฐซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของบราซิล รวมทั้ง ความไม่พอใจของปารากวัยและอุรุกวัยต่อความไม่เท่าเทียมกันในกลุ่ม และบทบาทของเวเนซุเอลาในกลุ่ม Mercosur
21 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5000 ต่อ 3013, 3014, 3016, 3018 หรือ 02 6435114 Fax. 0-2643-5115
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|