|
แผนที่
|
สาธารณรัฐมาลาวี Republic of Malawi
|
|
ที่ตั้ง มาลาวีเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแทนซาเนีย
ทิศตะวันตกติดกับแซมเบีย
ทิศใต้ ตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้ติดกับโมซัมบิก
มีทะเลสาปใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ ทิศใต้มีเทือกเขาสูง
พื้นที่ 118,480 ตารางกิโลเมตร ภาคใต้ของประเทศเป็นแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา
ประชากร 13,603,181 คน (ก.ค.2550)
- มีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 2.38 (2550)
- ประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ คือ Chewa (90%) นอกนั้นเป็นเผ่า Nyanja, Tumbuko, Yao, Lomwe, Sena, Tonga, Ngoni, Ngonde ชาวเอเชียและชาวยุโรป
เมืองหลวง กรุง Lilongwe
- Zomba เป็นเมืองหลวงเก่า
- Blantyre เป็นเมืองสำคัญทางภาคใต้
ภาษา ภาษาอังกฤษและ Chichewa เป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาท้องถิ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ
ศาสนา คริสต์นิกายโปรแตสเตนท์ ร้อยละ 55 โรมันคอธอลิก ร้อยละ 20 มุสลิม ร้อยละ 20 นอกนั้นนับถือลัทธิวิญญาณตามความเชื่อดั้งเดิม
วันชาติ 6 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันประกาศเอกราชในปี 2507
ระบอบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Bingu wa Mutharika
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาติต่อหัว 164 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
สกุลเงิน Kwacha (MK)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 Malawian Kwacha (MK) = 100 tambala
1 ดอลลาร์ เท่ากับ 136 MK (2549)
ประวัติศาสตร์
เดิมดินแดนนี้ชื่อ นยาซาแลนด์ (Nyasaland) โดยอังกฤษและโปรตุเกสเคยแย่งชิงดินแดนนี้กันมาตลอด จนถึงปี 2445 นยาซาแลนด์จึงตกเป็นดินแดนในความคุ้มครองของอังกฤษ และในปี 2450 นยาซาแลนด์ก็ได้ตกเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2496 นยาซาแลนด์ได้เข้าร่วมเป็นสหพันธ์แอฟริกากลางร่วมกับโรดิเซียเหนือและใต้ (ปัจจุบันแซมเบียและซิมบับเว) ในปี 2506 ออกจากสหพันธ์ฯ และเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2507 มีนาย Hastings Kamuzu Banda เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
มาลาวีเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในปี 2510 และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจนถึงปัจจุบัน ประธานาธิบดีปกครองประเทศด้วยวิธีการที่เป็นเผด็จการยิ่งขึ้นเพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพทางการเมือง ฝ่ายต่อต้านมีการตั้งขบวนการต่าง ๆเข่น the Socialist League of Malawi และ Malawi Freedom Movement (Mafremo) รวมทั้ง Congress for the Second Republic ขึ้นปฏิบัติการต่อต้าน แต่กระแสการต่อต้านประธานาธิบดี Banda ได้ลดลงในปลายปี 2524 เมื่อนาย Orton Chirwa หัวหน้าขบวนการ Mafremo ถูกจับกุมตัว ทำให้นาย Banda ปกครองประเทศอย่างเผด็จการมาเป็นเวลากว่า 30 ปี
สถานการณ์การเมืองการปกครอง
จากกระแสต่อต้านและแรงกดดันต่อการปกครองแบบเผด็จการมายาวนาน รัฐบาลได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับระบอบการปกครองในปี 2535 ซึ่งชาวมาลาวีได้เลือกการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคเป็นแนวทาง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2537 และรัฐธรรมนูญฉบับแรกมีผลบังคับใช้ในปี 2537 เช่นกัน ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 โดยนาย Bingu wa Mutharika ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งรัฐบาลของนาย Mutharika ประสบปัญหาพอสมควร เนื่องจากนาย Mutharika แสดงความเป็นอิสระทางนโยบายจากพรรคเดิมของตน ทำให้พรรคเดิมใช้วิธีต่างๆ ในการบั่นทอนความน่าเชื่อถือและอำนาจของนาย Mutharika แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้สมาชิกสภานิติบัญญัติที่โยกย้ายพรรคกลางสมัยเลือกตั้ง ต้องสละตำแหน่งในเขตที่ตนได้รับเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ อนาคตรัฐบาลของนาย Mutharika จึงมีความไม่แน่นอนสูงมาก
สถาบันการเมือง ประกอบด้วยฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ
ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งโดยการได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 โดยนาย Bingu wa Mutharika ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบรัฐสภาของมาลาวีเป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิกรัฐสภา
จำนวน 177 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย Supreme Court of Appeal ศาลสูง และ Magistrate Courts
พรรคการเมือง
พรรครัฐบาล คือ พรรค United Democratic Front (UDF)มีประธานาธิบดี Bakili Muluzi เป็นหัวหน้าพรรค
พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรค Alliance for Democracy (AFORD), พรรค Congress for the Second Republic (CSR), พรรค Malawi Democratic Party(MDP), พรรค People Democratic Party (PDP) และพรรค Social Democratic Party (SDP)
การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 24 เขต ได้แก่Blantyre,Chikwawa,Chiradzulu, Chitipa, Dedza, Dowa, Karonga, Kasungu, Lilongwe, Machinga (Kasupe), Mangochi, Mchinji, Mulanje, Mwanza, Mzimba, Ntcheu, Nkhata Bay, Nkhotakota, Nsanje, Rumphi, Salima, Thyolo และ Zomba
นโยบายต่างประเทศ
มาลาวีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านทุกประเทศและกับประเทศตะวันตก พยายามวางตัวเป็นกลางกรณีความขัดแย้งในแอฟริกากลาง แต่ได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหภาพแอฟริกา (African Union) ในสาธารณรัฐประชาธิไตย คองโก (Democratic Republic of Congo) ทั้งนี้ นาย Bakili Muluzi ประธานาธิบดีคนก่อน ซึ่งเป็นชาวมุสลิม มีบทบาทในการเจรจาเพื่อสันติภาพในซูดานและช่วงเสริมสร้างสัมพันธ์กับโลกมุสลิม อย่างไรก็ดี บทบาทการต่างประเทศของมาลาวีลดลงภายใต้การนำของนาย Mutharika
นอกจากนั้น มาลาวียังเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ อาทิ เช่น
- องค์การสหประชาชาติ
- องค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU)
- เครือจักรภพ
- คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งแอฟริกา (ECA)
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (ADB)
- กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM)
- สมาชิกสมทบประชาคมยุโรป
- ที่ประชุมเพื่อประสานงานการพัฒนาแอฟริกาภาคใต้ (SADCC)
- องค์การการค้าโลก (WTO)
ปัญหาด้านการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ปัญหาการส่งสินค้าผ่านแดนซึ่งพึ่งพาโมซัมบิกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าด้านมหาสมุทรอินเดียผ่านเมืองท่า Beira และ Nacala ของโมซัมบิก ด้วยเหตุนี้มาลาวีจึงต้องวางนโยบายโดยการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลโมซัมบิกทุกรัฐบาลไว้ให้ได้ ในขณะเดียวกันจะต้องไม่กระทบกระเทือนสัมพันธภาพกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ความสัมพันธ์กับโมซัมบิก (โดยเฉพาะสมัยประธานาธิบดี Machel) ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากโมซัมบิกกล่าวหาว่ามาลาวีให้การสนับสนุนขบวนการ NRM ซึ่งต่อต้านรัฐบาลโมซัมบิก แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากมาลาวี อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างมาลาวีกับโมซัมบิกแน่นแฟ้นขึ้นในสมัยประธานาธิบดีคนปัจจุบันของโมซัมบิก คือ ประธานาธิบดี Chissano
- ความสัมพันธ์กับแทนซาเนียอยู่ในลักษณะเดียวกับโมซัมบิก คือ ถ้ามาลาวีไม่ส่งผ่านโมซัมบิกก็ต้องผ่านแทนซาเนีย ต่อมาได้มีการสร้างทางรถไฟจากเมือง Salima ซึ่งคาดว่าจะไปเชื่อมกับสาย Tanzam ของแทนซาเนียในอนาคต มาลาวีได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับแทนซาเนียตั้งแต่ปี 2528
- ปัญหาเรื่องดินแดนกับแทนซาเนียและโมซัมบิก มาลาวีอ้างสิทธิเหนือดินแดนชายฝั่งทะเลสาบมาลาวีด้านติดกับแทนซาเนียและโมซัมบิก แต่การอ้างสิทธิของมาลาวีก็มิได้นำมาซึ่งการสู้รบใด ๆ กับแทนซาเนีย มาลาวีอาจเรียกร้องขึ้นเพื่อเป็นการต่อรองมิให้แทนซาเนียสนับสนุนการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดี Banda ซึ่งหลบเข้าไปลี้ภัยและอาศัยแทนซาเนียเป็นฐานปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดี Banda และโมซัมบิก ทั้งนี้ มาลาวีอาจใช้เป็นข้อต่อรองในการอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าผ่านแดนก็เป็นได้
- ปัญหาการโค่นล้มรัฐบาลนิยมตะวันตกของประธานาธิบดีบันดาโดยกลุ่มที่นิยมคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่มรัฐแนวหน้าด้วย
ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
- มาลาวีถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) อาศัยอยู่ในเขตชนบท ระบบเศรษฐกิจโดยรวมขึ้นอยู่กับภาคการเกษตรและบริการเป็นสำคัญ ผลผลิตทางการเกษตรทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 35-40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product GDP) และคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 90 ของรายได้จากการส่งออก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมทำรายได้ประมาณเพียงร้อยละ 10 ของ GDP และภาคบริการยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม ทั้งนี้ การพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรเป็นหลักทำให้รายได้ประชาชาติมีการแกว่งตัวสูงตามราคาผลผลิตในตลาดโลก โดยตั้งแต่ปี 2543 เศรษฐกิจได้เข้าสู่วงจรตกต่ำและฟื้นคืน (cycles) ถึง 2 ครั้ง
- ด้านอุตสาหกรรม รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า มีบริษัทของรัฐบาลทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนร่วมกับเอกชนและต่างประเทศ คือ Malawi Development Corporation นอกจากนี้ ก็ทำหน้าที่ริเริ่มในการลงทุนทางอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาสนใจธุรกิจด้านนี้ยิ่งขึ้น สำหรับแร่ธาตุ มาลาวีมี Bauxite Asbestos และ Graphite แต่ยังไม่มีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขุดขึ้นขายเป็นสินค้าออก อย่างไรก็ดี บริษัท Paladin Resources ของออสเตรเลียได้สำรวจพบแหล่งแร่ยูเรเนียมทางตอนเหนือของประเทศ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการขุดค้นอย่างเป็นระบบได้ในปี 2552 นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนการพัฒนาประเทศโดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร การส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อการส่งออกชนิดใหม่ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งถือครองที่ดินรวมกันกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ที่ใช้ทำการเพาะปลูกทั้งหมด และการปรับปรุงการคมนาคม นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายเข้มงวดทางการเงินและการคลัง อาทิ การจำกัดการนำเข้าการพัฒนาการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน สำหรับอุปสรรคในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญ นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของมาลาวียังได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งสินค้าส่งออก ซึ่งมีราคาสูงมาก เพราะการส่งสินค้าผ่านแดนต้องเสี่ยงกับการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย
- มาลาวีต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ เป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มาลาวีถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Highly Indebted Poor Countries (HIPC) ซึ่งได้รับการยกเว้นหนี้และเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบจากสหประชาชาติและกลุ่มประเทศ G8 รัฐบาลมาลาวียังเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนาประเทศหลายประการ ที่สำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจแบบตลาด การพัฒนาการศึกษา การควบคุมการระบาดและรักษาประชากรที่ติดเชื้อ HIV/AIDS อย่างไรก็ตาม ในอดีต มาลาวีมีปัญหาการควบคุมรายจ่ายภาครัฐอย่างมาก แต่นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี Mutharika ใช้ความพยายามอย่างสูงในการปฏิบัติตามข้อแนะนำของ IMF จึงได้รับการอนุมัติแผนงบประมาณให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Poverty Reduction and Growth Facility PRGF) อีกประมาณ 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้จนถึงปี 2551
ข้อมูลทั่วไปด้านเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.5 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 14 (2549)
หนี้สินต่างประเทศ 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 133.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ผลผลิตสำคัญทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง ข้าว ถั่วลิสง พืชผลสำหรับเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมและส่งออกที่สำคัญ คือ ยาสูบ ฝ้าย ชา ยาง เม็ดมะม่วงหิมพานต์
มูลค่าการค้า ปี 2549 1,392.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาลาวีขาดดุลการค้า 271.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าเข้าสำคัญ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เชื้อเพลิง น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค
สินค้าออกสำคัญ ยาสูบ น้ำตาล ชา ด้ายและผ้าฝ้าย
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
ส่งออก แอฟริกาใต้ เยอรมนี อียิปต์ สหรัฐอเมริกา
นำเข้า แอฟริกาใต้ แซมเบีย ซิมบับเว โมซัมบิก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐมาลาวี |
ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและการทูต
ด้านการทูต
ไทยกับมาลาวีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 โดยปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตของไทย ณ กรุงพริทอเรีย ดูแลความสัมพันธ์กับมาลาวี ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตของมาลาวี ณ กรุงโตเกียว ดูแลไทยเป็นเขตอาณา
ความสัมพันธ์ด้านการค้า
การค้าระหว่างไทยกับมาลาวียังอยู่ในระดับต่ำและไม่สม่ำเสมอ ในปี 2549 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 285.6 ล้านบาท (ซึ่งมากกว่าปี 2548 เกือบร้อยละ 80) โดยไทยส่งออกสินค้าไปเป็นมูลค่า 232 ล้านบาท นำเข้า 21 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 178.4 ล้านบาท
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว แม่พิมพ์หุ่นแบบหล่อโลหะ และสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า คือ ด้ายและเส้นใย กาแฟ ชา เครื่องเทศ เครื่องเพชร พลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ
สถิติการค้าระหว่างไทย มาลาวี ดูเอกสารแนบ
การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
ที่ผ่านมา ยังไม่มีคณะผู้แทนระดับสูงของฝ่ายไทยเยือนมาลาวี
ฝ่ายมาลาวี
- วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 นาย Bakili Muluzi ประธานาธิบดีแวะผ่านประเทศไทย โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้มอบกระเช้าดอกไม้ให้แก่นาย Muluzi
- วันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2543 นาย Sam Mpasu ประธานรัฐสภามาลาวีเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภา ที่กรุงเทพฯ
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|