|
แผนที่
|
สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ Republic of the Marshall Islands
|
|
สภาพภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ในภูมิภาคแปซิฟิกตอนกลาง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโฮโนลูลูประมาณ 2,200 ไมล์ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกวมประมาณ 1,600 ไมล์
พื้นที่ 181.3 ตารางกิโลเมตร มีเกาะต่าง ๆ 1,225 เกาะ
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) 200 ไมล์ทะเล
เมืองหลวง กรุงมาจูโร (Majuro)
ประวัติความเป็นมา ภายใต้ความตกลงร่วมกับสหรัฐอเมริกา (Compact of Free Association) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 ทำให้สหรัฐฯ ยุติการปกครองหมู่เกาะมาร์แชลล์ในฐานะเป็นดินแดน ในอารักขาของสหประชาชาติ โดยมีสถานะเป็นรัฐอิสระที่มีอธิปไตยปกครองตนเองในปี 2529 สามารถกำหนดนโยบายภายในและต่างประเทศ ยกเว้นด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงที่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2534
ประชากร 60,422 คน (ปี 2549)
ภาษา Marshallese และภาษาอังกฤษ
GDP 135.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 2,900 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.5 (ปี 2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.5 (ปี 2549)
อุตสาหกรรมหลัก มะพร้าวตากแห้ง ประมง ผลิตภัณฑ์จากหอย มุก
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มะพร้าว โกโก้ เผือก สาเก ผลไม้
ผลิตภัณฑ์การส่งออกที่สำคัญ ปลา น้ำมันมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากทะเล
ผลิตภัณฑ์การนำเข้าที่สำคัญ อาหาร เครื่องจักร เครื่องดื่ม ใบยาสูบ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญเป็นแบบ Semi - Westminster โดยรวมเอา หลักการของทั้งรัฐธรรมนูญอังกฤษและสหรัฐฯ รัฐสภามีสองสภา
ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดี Kessai Note ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2543
รัฐมนตรีต่างประเทศ H.E. Mr. Gerald M. Zackios
ฝ่ายบริหาร สภาผู้แทนราษฎร (Nitijela) ประกอบด้วยสมาชิก 33 คน จะเป็นผู้แต่งตั้งประธานาธิบดี โดยมี Council of Iroij ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าชนเผ่าต่าง ๆ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดี การปกครองแบ่งเป็น 33 เขตการปกครอง โดยทุกเขตมีผู้ว่าการเขตของตัวเอง และมีผู้แทนในสภา Nitijela อย่างน้อย 1 คน
สังคมในหมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นสังคมที่ยึดถือระบบอาวุโสเป็นหลัก ประชาชนจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยตามแบบสมัยใหม่ ประธานาธิบดีสองท่านแรกมาจากชนชั้นสูง ในขณะที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันมาจากสามัญชน
ความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลักสำคัญของเศรษฐกิจ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรในทะเล แร่ธาตุ และแหล่งท่องเที่ยว แต่เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีคุณภาพ หมู่เกาะมาร์แชลล์จึงยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้เต็มที่
ในภาคเกษตรกรรม ผลผลิตทางเกษตรมักอยู่ที่ไร่ขนาดเล็ก มีบริเวณเพาะปลูกน้อย ดินไม่มีคุณภาพ และขาดเกษตรกรที่มีความชำนาญ ทำให้การเกษตรไม่พัฒนาเท่าที่ควร พืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ มะพร้าว มะเขือเทศ แตง ฯลฯ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก คือ งานหัตถกรรม ปลาที่ผ่านกระบวนการแปรรูป และ เนื้อมะพร้าวแห้ง
หมู่เกาะมาร์แชลล์ประสบปัญหาด้านการเงินมาตั้งแต่ปี 2534 รัฐบาลได้แก้ไขโดยออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายและชำระหนี้สินซึ่งมีสูงถึง 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นในปี 2539 รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน
ด้านการประมง หมู่เกาะมาร์แชลล์มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปลาทูน่า เปลือกหอย และไข่มุกดำ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา บริษัทของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เข้าไปจับปลาทูน่าเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ แต่หมู่เกาะมาร์แชลล์ก็ยังมีความต้องการที่จะนำเข้าปลากระป๋องเป็นจำนวนมากเช่นกัน
สถิติการค้าไทย-หมู่เกาะมาร์แชลล์ (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปี มูลค่าการค้า ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2544(2001) 36.9 0.4 36.5 -36.1
2545(2002) 67.7 0.7 67 -66.3
2546(2003) 29.2 1 28.2 -27.2
2547(2004) 22.4 1.2 21.2 -20
2548(2005)ม.ค.-เม.ย. 4.0 0.4 3.7 -3.3
2549 (2006) 10.1 1.1 9.0 -7.9
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ |
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
หมู่เกาะมาร์แชลล์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ภายใต้ความตกลง 15 ปี Compact of Free
Association โดยแลกเปลี่ยนกับการยินยอมให้สหรัฐฯ ใช้เกาะ Kwajelein เป็นฐานทดลองขีปนาวุธ ซึ่งลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2525 และภายใต้ความตกลงนี้ สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่สอง ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับหมู่เกาะมาร์แชลล์ ในปี 2530 หมู่เกาะมาร์แชลล์มีผู้แทนทางการทูตที่กรุงวอชิงตัน กรุงโตเกียว ไทเป กรุงซูวา (ฟิจิ) และที่นครนิวยอร์ก
ความสัมพันธ์ทวิภาคี
ไทยและหมู่เกาะมาร์แชลล์ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2536 ปัจจุบันไทยได้มอบให้คณะทูตถาวร ณ นครนิวยอร์ก เป็นจุดติดต่อระหว่างไทยกับมาร์แชล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนหมู่เกาะมาร์แชลล์ เนื่องในโอกาสเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์
ในปี 2548 การค้าระหว่างไทย - หมู่เกาะมาร์แชลล์ มีมูลค่ารวม 1,163.3 ล้านบาท ไทยส่งออก 64.0 ล้านบาท และนำเข้า 1,099.3 ล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้า 1,035.4 ล้านบาท ต่อมา ในปี 2549 การค้าสองฝ่ายลดลงโดยมีมูลค่ารวม 383.0 ล้านบาท ไทยส่งออก 41.0 ล้านบาท และนำเข้า 342 ล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้า 301 ล้านบาท
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ (อุปกรณ์และส่วนประกอบ) ผลิตภัณฑ์เซรามิก เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ปลาทูน่าสด แช่เย็นและแช่แข็ง ดินสอ ปากกา หมึกพิมพ์ และอุปกรณ์เกี่ยวกับการพิมพ์ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
กองแปซิฟิกใต้
วันที่ 22 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5117-8 Fax. 0-2643-5119 E-mail : american04@mfa.go.th
|
|