|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน Islamic Republic of Pakistan
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับจีน ทิศตะวันตกติดกับ อิหร่านและอัฟกานิสถาน ทิศตะวันออกติดกับอินเดีย และทิศใต้ติดกับทะเลอาหรับ
พื้นที่ 796,095 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงอิสลามาบัด (Islamabad)
เมืองสำคัญ การาจี (Karachi) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทางใต้ของประเทศ ละฮอร์ (Lahore) เป็นเมืองศูนย์กลางของธุรกิจอุตสาหกรรม ทางเหนือของประเทศ
ภูมิอากาศ บริเวณส่วนใหญ่ของประเทศอากาศร้อนและแห้งแล้ง ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่อากาศอบอุ่น และภาคเหนือมีอากาศเย็น
ประชากร ประมาณ 160 ล้านคน
เชื้อชาติ ปัญจาบร้อยละ 59 ปาทานร้อยละ 14 ซินด์ร้อยละ 12 บาลูชีร้อยละ 4 และมูฮาเจียร์ (Muhajir - ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอินเดีย) ร้อยละ 8 และอื่นๆ ร้อยละ 3
ภาษา ภาษาอูรดูเป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในรัฐบาลกลางและแวดวงธุรกิจ และมีภาษาท้องถิ่นอาทิ ปัญจาบี ซินดิ ปาทาน และบาลูชี
ศาสนา อิสลามร้อยละ 97 (ในจำนวนนี้ ร้อยละ 77 เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ 20 เป็นนิกายชีอะห์) คริสต์ ฮินดูและอื่นๆ รวมร้อยละ 3
วันสำคัญ วันที่ 23 มีนาคม (Pakistan Day)
การศึกษา ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปี ที่อ่านออกเขียนได้เฉลี่ยร้อยละ 45.7 (แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 59.8 เพศหญิง ร้อยละ 30.6)
หน่วยเงินตรา รูปีปากีสถาน (Pakistani Rupee) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 59.9 รูปี
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประมาณ 385.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 736 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคน ต่อปี (ปี 2548)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.6 (ปี 2548-2549)
สินค้าส่งออกสำคัญ ฝ้าย สิ่งทอ เครื่องหนัง ข้าว พรม อุปกรณ์กีฬา สินค้าหัตถกรรม อุปกรณ์การแพทย์ ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา ผลไม้
สินค้านำเข้าสำคัญ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร น้ำมันพืช เหล็ก และเหล็กกล้า
ประเทศคู่ค้าสำคัญ จีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อุตสาหกรรมการผลิตสำคัญ สิ่งทอ น้ำตาล น้ำมันพืช สินค้าเกษตร ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์กีฬา พรม รถยนต์
ระบอบการเมือง กึ่งประชาธิปไตย โดยประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดจากการรัฐประหาร
ระบบการปกครอง สาธารณรัฐ (Republic) แบ่งเป็น 4 รัฐ 1 เขตปกครอง และแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งปากีสถานและอินเดียโต้แย้งเรื่องสิทธิที่จะปกครองแคว้นทั้งหมด ในทางปฏิบัติทั้งสองประเทศแบ่งดินแดนเป็น 2 ส่วน และแยกกันปกครอง
ประมุขของรัฐ ประธานาธิบดี พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 20 มิถุนายน 2544
หัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 28 สิงหาคม 2547
การเมือง
ปากีสถานเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ การกระจายอำนาจการปกครองเป็นในลักษณะสหพันธรัฐ (Federal System) แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ 4 รัฐ (State หรือแคว้น - Province) ได้แก่ ซินด์ (Sindh) ปัญจาบ (Punjab) บาโลจีสถาน (Balochistan) รัฐตะวันตกเฉียงเหนือ (North West Frontier Province) นอกจากนั้นปากีสถานมี 1 เขตปกครอง (territory) เรียกว่าเขตชนเผ่า (Tribal Area) ซึ่งปกครองตนเองแต่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลกลาง ส่วนแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) ซึ่งปากีสถานและอินเดียต่างอ้างสิทธิในการปกครองนั้น ในทางปฏิบัติได้แบ่งเขตปกครองเป็นสองส่วน คั่นกลางด้วยเส้นควบคุม (Line of Control) และแต่ละประเทศปกครองในเขตของตน
ปากีสถานมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) และรัฐบาลระดับรัฐ (State Government หรือ Provincial Government) แบ่งการปกครองเป็นระดับประเทศและระดับรัฐ ทำให้แต่ละรัฐมีระบบการบริหารภายในของตนเองด้วย
การปกครอง
1. การบริหารรัฐบาลกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ 1) วุฒิสภา (Senate) ประกอบด้วยสมาชิก 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านสภาระดับรัฐ (Provincial Assembly) ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) มีสมาชิก 342 คน สมาชิก 272 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี ส่วนสมาชิกอีก 60 คนเป็นตัวแทนของสตรี และ 10 คนเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและได้รับเลือกตั้งจากประชาชน มีหน้าที่ดูแลการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล แม้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (พลเอก Pervez Musharraf) ขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการทำรัฐประหาร แต่ได้จัดให้มีการลงประชามติรับรองการดำรงตำแหน่งในภายหลัง
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำบริหารประเทศ ตามรัฐธรรมนูญของปากีสถาน นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบริหารงานรัฐบาลกลางร่วมกับคณะรัฐมนตรี (Federal Cabinet) เพื่อดูแลนโยบายในระดับประเทศ ทั้งด้านการเมือง
เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ โดยต้องประสานและรายงานประธานาธิบดีด้วย
ฝ่ายตุลาการ
ปากีสถานมีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด ประธานศาลฎีกา (Chief Justice of Pakistan) ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ส่วนผู้พิพากษาศาลฎีกาคนอื่นๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดยการหารือกับประธานศาลฎีกาแล้ว และมีศาลสูง (High Court) ประจำในรัฐทั้งสี่ โดยมีหัวหน้าผู้พิพากษา (Chief Justice) และคณะผู้พิพากษา (Judge) ที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยหารือกับประธานศาลฎีกาเช่นกัน
นอกจากนี้ ปากีสถานมีศาลที่เรียกว่า Federal Shariat Court ซึ่งมีสมาชิก 8 คน ประกอบด้วย 1) หัวหน้าผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีแต่งตั้ง 2) บุคลากรที่มีคุณสมบัติเพียงพอจะเป็น ผู้พิพากษาศาลสูง 4 คน และ 3) Ulema (ผู้ศึกษากฎหมายอิสลาม) 3 คน เป็นศาลที่คอยกำกับข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ให้ไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม รวมทั้งชี้ขาดกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างกฎหมายต่างๆ กับกฎหมายอิสลาม
2. การบริหารระดับรัฐ
โครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละรัฐประกอบด้วยผู้ว่าการรัฐ (Govonor) ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดีให้บริหารระดับรัฐ (Provincial Government) ทั้งนี้ ผู้ว่าการรัฐจะบริหารโดยคัดเลือกคณะบริหาร (Council of Ministers) ซึ่งประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้า และมีคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (Provincial Cabinet, Provincial Minister) ช่วยกำกับงานด้านต่างๆ ภายในรัฐ อีกทั้งมีรัฐสภาระดับรัฐ (Provincial Assembly) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ร่วมกำกับการทำงานของคณะผู้บริหาร
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
อาณาเขตของประเทศปากีสถานในปัจจุบันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดียโบราณ ซึ่งเคยถูกปกครองโดยชาวอารยัน เปอร์เซีย มาเซโดเนีย กลุ่มชนจากเอเชียกลาง อาณาจักรออตโตมัน ชาวอาหรับ และจักรวรรดิ์โมกุลตามลำดับ จนถึงช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 จักรวรรดิ์อังกฤษได้ขยายอิทธิพลมายังอินเดียและดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้แทนที่จักรวรรดิ์โมกุลที่เสื่อมอำนาจลง และต่อมาอังกฤษสามารถปกครองอนุทวีปเอเชียใต้นี้ได้โดยสมบูรณ์
ในยุคอาณานิคมนั้น ดินแดนปากีสถานในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และชาวมุสลิมในอินเดียได้ดำเนินการเผยแพร่ความคิดที่จะสถาปนาดินแดนอิสระของชาวมุสลิม (separate Muslim state) ขึ้นในอินเดีย ระหว่างปี 2480-2482 (ค.ศ. 1937-1939) กลุ่มชาวมุสลิมรวมตัวกันภายใต้ชื่อ All-India Muslim League และผลักดันข้อเสนอดังกล่าว จนฝ่ายปกครองต้องเห็นชอบกับข้อมติที่เรียกกันว่า Pakistan Resolution เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2483 (ค.ศ. 1940) จึงเกิดดินแดนที่มีชาวมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ขึ้นในอนุทวีปเอเชียใต้ ในนามดินแดนปากีสถาน
ต่อมาอินเดียได้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จนประสบความสำเร็จในวันที่ 14 สิงหาคม 2490 (ค.ศ. 1947) และทำให้ปากีสถานมีสถานะเป็นประเทศอีกประเทศหนึ่งแยกจากอินเดีย โดยแบ่งดินแดนปากีสถานเป็น 2 ส่วน คือ ปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก โดยมี Quaid-i-Azam Muhammad Ali Jinnah เป็นผู้นำประเทศคนแรกในตำแหน่ง Governor General (ขณะนั้นยัง ไม่มีตำแหน่งประธานาธิบดี) และเป็นบุคคลที่ชาวปากีสถานยกย่องเป็นบิดาของประเทศ (Father of the Nation) ซึ่งต่อมาในปี 2514 (ค.ศ. 1971) ปากีสถานตะวันออกได้แยกตัวเป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน
นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ด้านการเมือง
รัฐบาลชุดปัจจุบันของปากีสถานเน้นการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองควบคู่กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ ชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ และพอใจต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองเรื่องความชอบธรรมในการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ และลดโอกาสที่ประชาชนจะคล้อยตามการปลุกปั่นของฝ่ายค้าน ด้วยเหตุนี้ จึงมีการผลักดันบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านการเงิน การธนาคารอย่างนายชอกัต อาซิซ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อควบคุมการบริหารประเทศให้เป็นไปตามทิศทางดังกล่าวได้อย่างเต็มที่
แม้ประธานาธิบดีมูชาร์ราฟจะถูกโจมตีเรื่องการได้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม และบริหารประเทศโดยควบตำแหน่งผู้นำทางการทหาร จนต้องพยายามลดความกดดันด้วยการจัดการเลือกตั้ง และให้มีรัฐบาลพลเรือนร่วมบริหารประเทศ แต่ภาพของการเป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จก็ยังคงอยู่ กระนั้นก็ตาม ชุมชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้พยายามมองข้ามจุดนี้ เพราะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีมูชาร์ราฟทำให้ปากีสถานประสบผลสำเร็จในการลดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความชอบธรรมจากนานาประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลปากีสถานได้ใช้นโยบายการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุผลในการสร้างความมั่นคงทางการเมืองภายในไปพร้อมๆ กัน
กล่าวโดยสรุป นโยบายการเมืองของปากีสถานในปัจจุบัน คือ การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมีบทบาททางการเมืองผ่านการเลือกตั้งและรัฐสภา แต่ประธานาธิบดีมูชาร์ราฟก็ยังคงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด โดยอาศัยฐานะผู้บัญชาการทางทหาร ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องรอมชอมและยอมรับอำนาจนี้ แม้พรรคแกนนำรัฐบาลจะได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา รวมทั้งมีแกนนำของพรรคดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วยก็ตาม
ด้านการต่างประเทศ
ปากีสถานให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างแข็งขันในสงครามโค่นล้มรัฐบาลทาลิบันในอัฟกานิสถาน เมื่อปี 2545 ตลอดจนเข้าร่วมปราบปรามการก่อการร้ายอันเป็นผลพวงจากสงครามดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าปากีสถานประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมสถานภาพของตนในสายตาชาติตะวันตก
ทำให้สินค้าออกของปากีสถานได้สิทธิพิเศษและโควต้าในตลาดของประเทศตะวันตก หรือการได้รับอนุญาตให้กลับเข้าร่วมกลุ่ม Commonwealth ซึ่งสะท้อนถึงการยอมรับต่อสถานะของปากีสถานทั้งสิ้น แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้านใช้โจมตีรัฐบาล เพราะเห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายที่เข้าข้างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมากเกินไป ขณะที่รัฐบาลพยายามแสดงจุดยืนต่อสาธารณชนว่าแนวนโยบายดังกล่าว
เอื้อประโยชน์ต่อปากีสถานเอง
รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศโดยรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศตะวันตก พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือกับเอเชียและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น กล่าวคือความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับตะวันตกนำไปสู่การต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องหันความสนใจมาสู่เอเชีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และเพื่อเป็นการลดภาพการใกล้ชิดกับตะวันตกด้วย
ในกรอบพหุภาคี ปากีสถานเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non Aligned Movement-NAM) สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation -SAARC) องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conferences -OIC) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Organization -ECO) และการประชุมว่าด้วยการแสวงหามาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia -CICA) และปากีสถานได้เข้าร่วมในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคีอื่นๆ ได้แก่ ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) ซึ่งปากีสถานรับผิดชอบในการจัดตั้ง Asian Institute of Standards และได้เป็นเจ้าภาพการประชุม ACD ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 5-6 เมษายน 2548
นโยบายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ปากีสถานมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ พร้อม ๆ กับรับความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก เนื่องจากให้ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย เศรษฐกิจของปากีสถานขยายตัวจากร้อยละ 4.8 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 8.4 ในปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 12.5 โดยเฉพาะการพัฒนาระบสาธารณูปโภค โทรคมนาคม และการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ภาคบริการเติบโตร้อยละ 7.9
และภาคการเกษตรเติบโตร้อยละ 7.5 โครงสร้างทางเศรษฐกิจของปากีสถานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สัดส่วนของภาคบริการสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 53 ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของปากีสถานที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจยังอยู่ในระดับด้อยพัฒนา และยังคงมีปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และประสบกับภาวะเงินเฟ้อในอัตราที่สูง ปัจจุบันปากีสถานมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีมากขึ้น เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัว และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลได้ยกเลิกระบบการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ส่งออก อาทิ การลดภาษีรายได้จากการส่งออก สนับสนุนการส่งออกโดยการให้สถานะปลอดภาษี ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก และรับประกันการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงในการทำการค้า
นอกจากนี้ ปากีสถานมีนโยบายมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าเรือ ถนน สนามบิน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำลังพัฒนาเมืองการาจีให้เป็นเมืองท่าเสรี ตลอดจนพัฒนาท่าเรือกวาดาร์ในรัฐบาลูจิสถาน (Baluchistan) ให้เป็นศูนย์กลางพาณิชย์และการขนส่งในมหาสมุทรอินเดีย โดยปากีสถานคาดหวังให้ท่าเรือกวาดาร์เป็นศูนย์กลางสำหรับการค้าขายในภูมิภาคเอเชียใต้กับตะวันออกกลาง รวมทั้งจีนและอิหร่าน โดยท่าเรือดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกต่อเขตเศรษฐกิจจำเพาะของปากีสถาน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปลาชุกชุม และปากีสถานจะพัฒนาถนนและทางหลวงเชื่อมท่าเรือกวาดาร์กับเมืองใหญ่ต่างๆ รวมทั้งทางหลวงเชื่อมจากชายแดนที่ติดกับอัฟกานิสถานไปสู่ท่าเรือกวาดาร์ โครงการท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์แห่งนี้เป็นผลจากข้อตกลงระหว่างปากีสถานกับจีนเมื่อเดือนมีนาคม 2545
ปากีสถานเป็นประเทศที่โครงสร้างมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก (ประมาณ 20.5% และ 20.4% ของ GDP ตามลำดับ) และมีการขาดดุลการค้าอยู่เสมอ ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศยังมีน้อย จึงประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงิน ปากีสถานจึงพยายามชักจูงนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้าไปลงทุน เพื่อชดเชยปัญหาดังกล่าว รวมทั้งต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออก
ปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศสนใจที่จะร่วมลงทุนในปากีสถานมากขึ้น มูลค่าการลงทุนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2548 มกราคม 2549 เท่ากับ 1,627 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 138.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ปากีสถานมีนโยบายจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement -FTA) กับประเทศต่าง ๆ โดยอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำ FTA กับจีน มาเลเซีย ตุรกี และไทย และได้ลงนามจัดทำ FTA กับศรีลังกาแล้ว
นอกจากนี้ ปัจจุบันปากีสถานยังได้เริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกระตุ้นความสนใจต่อแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีทางพุทธศาสนาในปากีสถาน โดยเฉพาะที่เมืองตักศิลา ทั้งนี้ ปากีสถานหวังว่าการท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกสาขาหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งยังต้องพัฒนาความพร้อมอีกมาก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน |
ด้านการทูต
ไทยกับปากีสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2494 ปัจจุบันนายสุโข ภิรมย์นาม ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน (ตั้งแต่ต้นปี 2550) และพลโท ขะตีร์ อัสซัน ข่าน (Khateer Hassan Khan) เป็นเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549)
นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรัฐซินด์ (Sindh) และรัฐบาลูจิสถาน (Baluchistan) โดยมีนายจุมพล มนัสช่วง ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่
ด้านการเมือง
ไทยและปากีสถานเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน เคยร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Treaty Organization -SEATO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2497 แม้ว่าในปัจจุบันการดำเนินงานในกรอบของ SEATO จะยุติลงแล้ว แต่มิติทางประวัติศาสตร์ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างไทยกับปากีสถาน โดยได้แลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและข่าวกรอง โดยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมอื่น ๆ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งมีความใกล้ชิดของฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่นคง
นอกจากนี้ ปากีสถานต้องการอาศัยความใกล้ชิดกับไทย เพื่อเป็นช่องทางไปสู่การเพิ่มบทบาทในเอเชีย และกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ตามนโยบาย Look East ของปากีสถาน ด้วยเหตุนี้ปากีสถานจึงให้ความร่วมมือกับไทยทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น แสดงความกระตือรือร้นในเวที ACD ที่ไทยริเริ่มขึ้น (โดยปากีสถานเป็นเจ้าภาพการประชุม ACD ครั้งที่ 4 ในเดือนเมษายน 2548 ณ กรุงอิสลามาบัด) ซึ่งสอดคล้องกับความประสงค์ของไทยที่ต้องการเสริมเวที ACD ให้แข็งแกร่งขึ้น
ด้านเศรษฐกิจ
ไทยกับปากีสถานมีกลไกความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Commission - JEC) ซึ่งได้จัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง การประชุม JEC ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและติดตามความคืบหน้า เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ
ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับปากีสถานในฐานะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ ประกอบกับปากีสถานสนใจที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทย จากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีปากีสถานในเดือนพฤษภาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงที่จะจัดทำความตกลง FTA ขึ้น โดยได้จัดตั้งคณะศึกษาร่วม (Joint Study Group - JSG) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำ FTA ทั้งนี้ได้มีการประชุมคณะศึกษาร่วมฯ ไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาเกี่ยวกับสภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ระบบภาษี และอัตราค่าธรรมเนียมการค้าในระดับพหุภาคีและทวิภาคี และแลกเปลี่ยนผลการวิเคราะห์ข้อมูลของการค้าทวิภาคีในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อคัดเลือกตัวสินค้าที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันและส่งเสริมกันในการเปิดการค้าเสรีระหว่างกัน ได้แก่ สินค้าเกษตร สิ่งทอ เสื้อผ้า อาหาร ประมง เครื่องมือแพทย์ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ในอนาคตไทยอาจใช้ปากีสถานจะเป็นทางผ่านของสินค้าไปสู่อัฟกานิสถานและภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งมีความต้องการสินค้าบริโภคจำนวนมาก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจปากีสถานที่กำลังขยายตัวอย่างมากในด้านอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค โทรคมนาคม ที่อยู่อาศัย ท่าเรือ สนามบิน ซึ่งเป็นผลจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นติดต่อกันหลายปี ก็จะเป็นตลาดที่สำคัญของไทยได้ในอนาคต
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2548 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือของปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถาน ในรูปของเงินช่วยเหลือและสิ่งของบรรเทาทุกข์คิดเป็นมูลค่า 18 ล้านบาท ที่สำคัญยิ่ง คือ เมื่อวันที่ 4-5 มกราคม 2549 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้ เสด็จฯ ไปปากีสถานเพื่อทรงนำสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปพระราชทานแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบเงิน 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ (12 ล้านบาท) ให้แก่องค์กรสภาเสี้ยววงเดือนแดงปากีสถานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 โดยสรุปแล้วไทยให้ความช่วยเหลือปากีสถานในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้รวม 48 ล้านบาท
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ไทยและปากีสถานต่างเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน และมีความเกี่ยวพันระหว่างภาคประชาชนชุมชนคนไทยในปากีสถานมาช้านาน นอกจากกลุ่มคนที่สมรสกับชาวปากีสถานและไปประกอบอาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนไทยประมาณ 250 คน ไปศึกษาศาสนาในปากีสถาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย ปากีสถานในประเทศทั้งสองด้วย ชาวปากีสถานนิยมเดินทางมาไทยมากกว่าชาวไทยไปปากีสถาน ทั้งนี้ เพราะชาวปากีสถานที่มีรายได้ดีจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และไทยเป็นที่เป้าหมายหนึ่ง ซึ่งนอกจากมีสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังมีสินค้าต่างๆ ให้เลือกซื้อมากมาย ส่วนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปากีสถานในฐานะแหล่งท่องเที่ยวมากนัก
อย่างไรก็ดี ปากีสถานมีแหล่งวัฒนธรรมและโบราณคดีทางพุทธศาสนาจำนวนมากในบริเวณตอนเหนือของประเทศ เช่น เมืองตักศิลา และปากีสถานประสงค์ให้ไทยช่วยเหลือและพัฒนาสถานที่ทางศาสนาเหล่านั้นเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งปากีสถานมีแผนที่จะเผยแพร่และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาในประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งไทยก็สนับสนุนเรื่องนี้ในรูปของความร่วมมือทางวิชาการและการถ่ายทอดประสบการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของไทย เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามในการอนุรักษ์โบราณสถานทางพุทธศาสนา
ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
1. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ปี 2512)
2. อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ปี 2523)
3. ความตกลงทางการค้า (ปี 2527)
4. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (ปี 2534)
5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการส่งกำลังบำรุงทหาร (ปี 2545)
6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว (ปี 2545)
7. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง BOI ไทย-ปากีสถาน (ปี 2545)
8. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 2547)
9. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมเฉพาะเรื่องอื่นๆ (ปี 2547)
10. พิธีสารว่าด้วยการปรึกษาและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-ปากีสถาน (ปี 2547)
11. พิธีสารว่าด้วยแผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไทย-ปากีสถาน (ปี 2548)
การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- วันที่ 11-22 มีนาคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ ในสมัยของประธานาธิบดีกอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan)
- วันที่ 9 -14 กรกฎาคม 2534 วันที่ 26-29 มีนาคม 2541 และวันที่ 4 5 มกราคม 2549 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง คือ (เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานเพื่อพระราชทานสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่)
รัฐบาล
- เดือนสิงหาคม 2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถาน
- เดือนมีนาคม 2542 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถาน และร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Commission JEC) ไทย ปากีสถาน ครั้งที่ 1 ที่กรุงอิสลามาบัด
- เดือนมีนาคม 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
- เดือนกรกฎาคม 2545 พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
- เดือนเมษายน 2548 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี และ นายกันตธีร์ ศุภมงคลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue ครั้งที่ 4
- เดือนมิถุนายน 2548 นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนการค้าไทยเยือนปากีสถาน
- วันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2549 พลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เข้าร่วมงาน International Defence Exhibition and Seminars ครั้งที่ 4
- วันที่ 4-6 เมษายน 2550 นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
ฝ่ายปากีสถาน
รัฐบาล
- เดือนกันยายน 2540 นาย กอฮาร์ อายุบ ข่าน (Gohar Ayub Khan) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานเยือนไทย และได้ลงนามจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (JEC) ไทย-ปากีสถาน
- เดือนเมษายน 2543 พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ผู้นำปากีสถาน เยือนไทย
- เดือนสิงหาคม 2545 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังปากีสถาน เดินทางเพื่อร่วมประชุม JEC ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ
- เดือนเมษายน 2547 มีร์ ซาฟารูลลาห์ ข่าน จามาลี (Mir Zafarullah Khan Jamali) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 17 พฤษภาคม 2547 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังปากีสถาน เยือนไทย และเข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2548 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 19 มิถุนายน 2548 พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ประธานาธิบดีปากีสถาน แวะผ่านไทย และได้พบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 3 ตุลาคม 2548 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เยือนจังหวัดขอนแก่น และได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 4 สิงหาคม 2549 นาย ชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน แวะผ่านไทย และได้พบหารือกับ นายกรัฐมนตรี
--------------------------------
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|