ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> โปแลนด์




แผนที่
สาธารณรัฐโปแลนด์
Republic of Poland


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติด 7 ประเทศ ได้แก่ ทิศเหนือจรดรัสเซีย (ตำบล Kaliningrad) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกจรดลิธัวเนีย เบลารุสและยูเครน ทิศใต้จรดสาธารณรัฐเช็กและสโลวัก ทิศตะวันตกจรดเยอรมนี และทิศเหนือจรดทะเลบอลติก

ภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเกือบทั้งประเทศ นอกจากบริเวณชายแดนทางใต้เป็นภูเขา Tatra ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขา Carpathian และภูเขา Sudety ซึ่งมียอดเขาสูงที่สุดคือยอด Rysy สูงจากระดับน้ำทะเล 8,200 ฟุต

ภูมิอากาศ ฤดูหนาว เดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย -1 ถึง -5 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เดือนกรกฎาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 16.5-19 องศาเซลเซียส

พื้นที่ 312,685 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป (มีพื้นที่ประมาณ 3 ใน 5 ของไทย)

ประชากร 38.2 ล้านคน เป็นชาวโปลร้อยละ 98 อีกร้อยละ 2 มีเชื้อสายเยอรมัน เบลารุส ยูเครน ลิทัวเนียและอื่นๆ

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 98

ศาสนา ร้อยละ 96 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก นอกนั้นเป็นโปลิซออร์ธอด๊อกซ์ โปรเตสแตนท์ ลัทธิยูดา และมีมุสลิมเพียงเล็กน้อย

ภาษาราชการ ภาษาโปลิช (เป็นภาษาในตระกูลสลาฟ)

เมืองหลวง กรุงวอร์ซอ (ประชากร 1,635,000 คน)

เมืองสำคัญ วู๊ด (Lodz) ประชากร 825,600 คน (เมืองอุตสาหกรรมทอผ้า) คราคูฟ (Krakow) ประชากร 746,000 คน (เมืองหลวงเก่า) กดั๊งซ์ (Gdansk) ประชากร 463,000 คน (เมืองท่าสำคัญและอู่ต่อเรือ)

วันชาติ 3 พฤษภาคม (Constitution Day)

GDP 338 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)

GDP per capita 8,890 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.8 (ปี 2549)

สกุลเงิน สว้อตตี้ ( Zloty ) 2.86 = 1 ดอลลารสหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.0 (ปี 2549)

ทรัพยากรธรรมชาติ ถ่านหิน (มีแหล่งสำรองถ่านหินใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก) กำมะถัน ทองแดง ก๊าซธรรมชาติ เงิน ตะกั่ว ดีบุก อำพัน

ผลผลิตทางเกษตร ธัญพืช สุกร นม มันฝรั่ง น้ำตาล น้ำมันพืช พืชสวน (ผัก ผลไม้)

อุตสาหกรรม เครื่องจักรกลในการก่อสร้าง แร่เหล็กและเหล็กแปรรูป เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ การต่อเรือ อาหารสำเร็จรูป เครื่องแก้ว เครื่องดื่ม

สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักร ยานพาหนะ (รถยนต์ เรือ) สินค้าแปรรูป อาหาร

ประเทศคู่ค้า เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านการขนส่ง สินค้าแปรรูป เคมีภัณฑ์

ประเทศคู่ค้า ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน

การเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ NATO, OECD, WTO, Council of Europe และ EU

ประธานาธิบดี นาย Lech Kaczynski (ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2548 และมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2548)

ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งคือ นาย Lech Walesa (ระหว่าง 2533-2538) คนที่ 2 คือนาย Aleksander Kwasniewski จากกลุ่มการเมือง Democratic Left Alliance (SLD) และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ 8 ต.ค. 2543 และโปแลนด์ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดรอบแรกเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2548 และรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2548 ผลปรากฏว่า นาย Lech Kaczynski จากพรรค Law and Justice (PiS) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 โดยสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2548

นายกรัฐมนตรี นาย Donald Tusk (ได้รับการแต่งตั้งจากนาย Lech Kaczynski ประธานาธิบดีโปแลนด์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2550 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สืบแทนนาย Jaroslaw Kaczynski)

นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจในการบริหารสูงสุด นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และได้รับการรับรองจากสภาล่าง ส่วนคณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรี และได้รับการรับรองจากสภาล่าง โปแลนด์จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2550 โดยนาย Donald Tusk หัวหน้าพรรค Civic Platform (PO) อดีตพรรคฝ่ายค้าน สามารถกำชัยชนะเหนือพรรค Law and Justice (PiS) ของนาย Jaroslaw Kaczynski ซึ่งเป็นแฝดผู้พี่ของประธานาธิบดี Lech Kaczynski

รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Radoslaw Sikorski (ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2550) โดยนาย Sikorski เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี Jaroslaw Kaczynski แต่ถูกปลดออกไปเนื่องจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกับคู่แฝด Kaczynski

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสองสภา (Bicameral Parliament) คือ สภาสูง (Senate) มี 100 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในระดับจังหวัด มีวาระ 4 ปี และสภาล่าง (Sejm) จำนวน 460 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งระบบผู้แทนแบบสัดส่วน (proportional representation) ซึ่งรวม 2 ที่นั่งจากการเลือกสรรตัวแทนของชนกลุ่มน้อยด้วย มีวาระ 4 ปีเช่นกัน ทั้งนี้ ประธานสภา Sejm คนปัจจุบัน คือ นาย Marek Jurek จากพรรค Law and Justice (PiS) ประธาน Senate คือ นาย Bogdan Borusewicz ไม่สังกัดพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 10 เป็นผลจากการลงประชามติทั่วประเทศ (national referendum) เมื่อ 25 พ.ค. 2540 และประกาศใช้เมื่อ 17 ต.ค. ในปีเดียวกัน สารัตถะของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากการแบ่งอำนาจสูงสุดของประเทศเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการแล้ว ยังได้วางแนวปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตยโดยให้มีการ“ตรวจสอบและถ่วงดุลกัน” (checks and balances) ระหว่างประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งการขยายขอบข่ายการทบทวนกฎหมายและกระบวนการออกกฎหมาย รวมไปถึงการค้ำประกันสิทธิและเสรีภาพในการพูด การชุมนุมและแสดงความคิดเห็นของประชาชน และสื่อมวลชน ซึ่งชาวโปลเพิ่งได้รับ

การเมืองการปกครอง
การจัดการเลือกตั้ง จะจัดการเลือกตั้ง 2 สภาพร้อมกัน ประชาชนตั้งแต่อายุ
18 ปี มีสิทธิลงคะแนนเสียง ประธานาธิบดีจะประกาศกำหนดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนที่ รัฐสภาปัจจุบันจะสิ้นอายุลง และมีการจัดตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Electroral Committee) เป็นหน่วยงานกลางควบคุมดูแลการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2550 พรรค Civic Platform (PO) อดีตพรรคฝ่ายค้านสามารถตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค Polish Peasant Party (PSL) กุมเสียงข้างมาก 240 เสียง จาก 460 เสียง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ซึ่งสะท้อนถึงความไม่พอใจในการดำเนินนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรี Jaroslaw Kaczynski

ระบบศาล ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุด นอกจากนั้นมีศาลจังหวัด ศาลท้องถิ่น และศาลรัฐธรรมนูญ

การปกครองท้องถิ่น ตั้งแต่ 1 มกราคม 1999 แบ่งออกเป็น 3 ระดับ (1) ระดับจังหวัด(voivodship) แบ่งออกเป็น 16 voivodships (2) ระดับเมือง แบ่งเป็นเมืองที่ชุมชนไม่หนาแน่น (poviat) จำนวน 308 povials และเมืองชุมชนหนาแน่น (city) จำนวน 65 cities (3) ระดับเขต/อำเภอ ที่เรียกว่า qmina มีจำนวน 2,000 qminas

พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองสำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ พรรค Law and Justice (PiS) เป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายขวากลางจัดตั้งโดยสองพี่น้องฝาแฝดตระกูล Kaczynski ซึ่งปัจจุบัน นาย Jaroslaw Kaczynski ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ขณะที่นาย Lech Kaczynski แฝดผู้น้องดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโปแลนด์

พรรค Democratic Left Alliance (SLD) เป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายกลุ่มใหญ่ที่สุดหลัง ยุคคอมมิวนิสต์ เคยเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อปี พ.ศ. 2536 และในการ เลือกตั้งทั่วไปเมื่อกันยายน2544 ได้ร่วมกับพรรค Union Labour (UP) เป็นกลุ่มการเมืองผสม SLD-UP จนประสบชัยชนะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งร่วมกับพรรค PSL เป็นรัฐบาลผสมฝ่ายซ้าย SLD-UP-PSL

พรรค Civic Platform (PO) เป็นขบวนการเสรีนิยมขวาสายกลางกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่ไม่นิยมฝ่ายซ้ายและเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมือง ฝ่ายขวา และได้รับความนิยมสูงในปัจจุบันซึ่งส่งผลให้นาย Donald Tusk หัวหน้าพรรคสามารถกำชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดและจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ

พรรค Samoobrona (Self-defence) เป็นพรรคของกลุ่มเกษตรกรที่มีเป้าหมาย ปกป้องผลประโยชน์ของภาคเกษตรกรรม แต่นิยมใช้การประท้วงทุกรูปแบบเป็นคู่แข่งของ PSL ซึ่งเป็นพรรคเกษตรกรเช่นกัน แต่ PSL มีลักษณะเสรีนิยมมากกว่า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโปแลนด์
1.ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยและโปแลนด์มีความสัมพันธ์มาช้านานกว่า 100 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 ในครั้งนั้นได้เสด็จประพาสโปแลนด์ด้วย (ในขณะนั้นโปแลนด์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย) และได้ประทับอยู่ที่กรุงวอร์ซอ 2 วัน ระหว่างการเสด็จฯ จากกรุงเวียนนาไปกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก โดยเป็นพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียและต่อมาได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2515 แม้จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงไม่มากนัก แต่โปแลนด์ก็มีความสำคัญต่อไทยในฐานะประเทศที่มีค่านิยมและแนว อุดมการณ์ทางการเมืองด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน และต่างมีบทบาทนำอย่างแข็งขันและโดดเด่นในแต่ละภูมิภาคในเรื่องดังกล่าว

ในระดับทวิภาคีไทยและโปแลนด์มีความตกลง 13 ฉบับที่กำหนดกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ในระดับพหุภาคีโปแลนด์เป็นมิตรประเทศในยุโรปตะวันออกที่ให้การสนับสนุนและเป็นฐานเสียงให้ไทยในกรอบ UN, WTO และ OSCE ด้วยดีเสมอมา

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและโปแลนด์เมื่อปี 2535 ได้มีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอได้จัดสัมมนาในหัวข้อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-โปแลนด์

และในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและโปแลนด์ในปี 2545 นอกจะมีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายแล้ว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอได้จัด “Thailand-Poland Month” ในเดือนพฤศจิกายน 2545 เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมต่าง ๆ อันได้แก่ จัดสัปดาห์ภาพยนตร์ไทย การมอบหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยให้มหาวิทยาลัยวอร์ซอ การจัดสัปดาห์อาหารไทยที่โรงแรม Dorint เมือง Wroclaw การจัดทำ Supplement เผยแพร่ประเทศไทยในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโปแลนด์ เป็นต้น

สำหรับในปี 2547 มีพัฒนาการที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันเป็นผลจากการเยือนไทยครั้งแรกของประธานาธิบดีโปแลนด์ โดยนาย Aleksander Kwasniewski และภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 27-28 กุมภาพันธ์ 2547 โดยเป็นแขกของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในระหว่างการเยือน ผู้นำทั้งสองได้ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง ในการผลักดันการส่งเสริมและขยายความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้านได้แก่

(1) การหาลู่ทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนกับสหภาพยุโรป
(2) การเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่า ภายใน 3 ปี
(3) การสนับสนุนสายการบิน LOT Polish Airlines เปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-วอร์ซอ
(4) ความร่วมมือทางทหารในอิรัก และการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากโปแลนด์
(5) ความร่วมมือทางการศึกษาโดยส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในโปแลนด์
(6) การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการส่งเสริมความร่วมมือ
(7) การขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง รวมทั้งการปราบปรามการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด
(8) การเข้าร่วมประชุมปฏิรูปสหประชาชาติที่โปแลนด์จัดขึ้น
(9) ขยายปฏิสัมพันธ์กับภาคเอกชนโปแลนด์และการไปร่วมกิจกรรมของภาคเอกชนในการฟื้นฟูอิรัก


2. การแลกเปลี่ยนการเยือน

ฝ่ายไทย
• นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2536
• นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เยือนระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2537
• นายศุภชัย พานิชยภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี เยือนระหว่างวันที่15-17 มีนาคม 2537
• สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2539
• นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดงาน Amazing Thailand Promotion ที่กรุงวอร์ซอ ระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายน 2541
• นายโสภณ เพชรสว่าง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เยือนระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2542
• นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม “Towards a Community of Democracies” ที่กรุงวอร์ซอ ระหว่าง 26-27 มิถุนายน 2543
• นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เยือนระหว่าง 17-18 มกราคม 2545
• นายเตช บุนนาค ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเยือนระหว่าง 4 – 7 มิถุนายน 2545
• นายปรีชา เลาหพงษ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนระหว่าง 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2548
• นายศุภชัย ภู่งาม ประธานศาลฎีกาและคณะรวม 20 คน เยือนระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2548
• สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือน ระหว่างวันที่ 13 - 17 กุมภาพันธ์ 2539
• สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือน ระหว่างวันที่ 16 - 23 มิถุนายน 2549 เพื่อทรงเป็นองค์ปาฐกในการสัมมนา The 5th International Symposium on Chromatography of Natural Products
• พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ เยือน ระหว่างวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2550


ฝ่ายโปแลนด์
• นาย Henryk Goryszewski รองนายกรัฐมนตรีโปแลนด์เยือนไทย เมื่อเดือนเมษายน 2536
• นาย Jan Czaja รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เยือนระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2538
• นาย Adam Struzik ประธานวุฒิสภา (Senate) เยือนระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2539
• นาย Wlodzimierz Cimoszewicz นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2539
• นาย Maciej Lesny รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-โปแลนด์ ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 26 – 27 มิถุนายน 2539
• นาย Dariusz Rosati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์เยือนไทยอย่างเป็น ทางการ ระหว่างวันที่ 16-20 เมษายน 2540
• นาย Maciej Kojlowski รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน 2541
• ประธานาธิบดี Aleksader Kwasniewski และภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 27-28 กุมภาพันธ์ 2547

3. ความตกลงทวิภาคีไทย-โปแลนด์
14 พ.ย. 2515 การแลกเปลี่ยนบันทึกระหว่างผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติไทย-โปแลนด์เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
19 พ.ค. 2519 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ
2520 ความตกลงว่าด้วยร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทย-โปแลนด์
8 ธ.ค. 2521 ความตกลงหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีซ้อน
15 พ.ย. 2523 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้า (สิ้นสุดลงเมื่อโปแลนด์เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2547)
31 ก.ค. 2535 ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ
18 ธ.ค. 2535 ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
17 มิ.ย. 2536 พิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ
21 มี.ค. 2539 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
23 ก.ย. 2539 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด
19 เม.ย.2540 ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็น ไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา
27 ก.พ.2547 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางอาญา
26 ต.ค.2547 บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินระหว่างสำนักงาน ปปง.กับ The General Inspector of Financial Information ของโปแลนด์

4.ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง
ความร่วมมือด้านข่าวกรอง
หน่วยงาน Foreign Intelligence Agency (AW) ของโปแลนด์ได้ทาบทามขอมีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านข่าวกรองของไทย ต่อมา ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้ลงนามอนุมัติการสถาปนาความสัมพันธ์ด้านการข่าวกับหน่วยงานข่าวกรองของโปแลนด์แล้วเมื่อ 1 กรกฎาคม 2546

และในระหว่างการเยือนไทยของประธานาธิบดีโปแลนด์เมื่อกุมภาพันธ์ 2547 ได้มีการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)กับนาย Jerzy Szmajdzinski รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโปแลนด์ แ ละนาย Zbigniew Siemiatkowski รัฐมนตรีดูแลสำนักข่าวกรองโปแลนด์เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ความร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพในอิรัก การปราบปรามการก่อการร้ายและยาเสพติด โดยฝ่ายโปแลนด์แสดงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านข่าวกรอง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรรมจัดตั้งในรัสเซีย และเชิญเจ้าหน้าที่ของไทยไปโปแลนด์

ต่อมา เมื่อกรกฎาคม 2547 สขช.ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาเยือนโปแลนด์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน หลังจากนั้น ฝ่ายโปแลนด์ได้เสนอทำความตกลงกับฝ่ายไทย 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมจัดตั้งและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง และความตกลงว่าด้วยการรักษาเอกสารลับ

ความร่วมมือทางการทหาร
ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทย-โปแลนด์มีพัฒนาการมากขึ้นโดย
(1) ไทยส่งทหาร 446 คนเข้าร่วมปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและฟื้นฟูอิรักภายใต้เขตรับผิดชอบของโปแลนด์ เป็นเวลา 1 ปี (สิงหาคม 2546 –กันยายน 2547) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นหุ้นส่วนในการรักษาเสถียรภาพในดินแดนที่เป็นปัญหานอกแต่ละภูมิภาค
(2) การเยือนของประธานาธิบดีโปแลนด์เยือนไทยเมื่อกุมภาพันธ์ 2547 ผู้นำทั้งสองได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะขยายความร่วมมือด้านนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ทางทหาร การแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ทางทหาร ความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิชาการ

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือทางทหารและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการข่าว เพื่อปราบปรามการก่อการร้ายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในการนี้ รัฐมนตรีกลาโหมไทยรับที่จะเยือนโปแลนด์ตามคำเชิญของรัฐมนตรีกลาโหมโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมไทยได้เลื่อนกำหนดการเยือนไทยในต้นตุลาคม 2547 ออกไปเนื่องจากการปรับคณะรัฐมนตรีของไทยและสถานการณ์ภาคใต้

5.ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลการเยือนของประธานาธิบดีโปแลนด์ทำให้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความ ร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทย-โปแลนด์ ครั้งที่ 1 ที่กรุงวอร์ซอระหว่าง 1 – 2 กรกฎาคม 2547 ผลของการประชุมคือ
(1) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในโครงการร่วมระหว่างกันในปี 2547-2548
(2) เสนอความร่วมมือในลักษณะการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยรวมทั้งทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน
(3) ไทยแสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือกับสถาบัน Research Institute of Pomology and Floriculture ในด้าน organic fruits และการตัดต่อสายพันธุ์ยีนส์

นอกจากนี้ ได้มีคณะผู้แทนไทยเดินทางมาศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโปแลนด์ตามลำดับ ที่สำคัญ ได้แก่ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และสถาบันมาตรวิทยาของไทยได้เดินทางมาศึกษาดูงานด้าน Chemical Metrology และการสกัดสารสมุนไพรที่ Warsaw University of Technology และ Medical School of Lublin ระหว่าง 5 - 7 ตุลาคม 2547


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
โปแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในยุโรปตะวันออก (รองจากเช็ก และฮังการี) ช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2550 มีมูลค่าการค้ารวม 65.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2549 มีมูลค่าการค้ารวม 326.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 62.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 231.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าจากโปแลนด์ 94.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 137.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง รถบรรทุกดีเซล ตู้เย็น โทรทัศน์สี ยางพารา ผลไม้กระป๋อง เสื้อผ้าสำเร็จรูป และคอมพิวเตอร์ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากโปแลนด์ ได้แก่ เครื่องจักร เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ปุ๋ย แก้วและผลิตภัณฑ์จากแก้ว เป็นต้น


ข้อจำกัดทางการค้าระหว่างไทยกับโปแลนด์
(1) L/C และสินเชื่อ โปแลนด์เพิ่งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีได้ 10 กว่าปี นักธุรกิจโปแลนด์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจใหม่ ไม่มีทุนสำรองหมุนเวียนในการประกอบกิจการมากนัก จึงมีความประสงค์ ที่จะดำเนินธุรกิจแบบสินเชื่อ อีกทั้ง การเปิด L/C จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในโปแลนด์ ขณะที่นักธุรกิจไทยไม่สามารถรับเงื่อนไขแบบดังกล่าวได้อีกทั้งหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการ ส่งออกมิได้ให้การสนับสนุน จึงทำให้นักธุรกิจโปแลนด์หันไปค้าขายกับประเทศอื่น ที่สามารถผ่อนปรนและให้สินเชื่อได้

(2) ปัจจัยทางด้านราคา ชาวโปลิชให้ความสำคัญต่อปัจจัยในด้านราคาในการตัดสินใจซื้อสินค้า ผู้นำเข้าจะเลือกซื้อสินค้าจากประเทศในเอเชียเพราะราคาต่ำกว่า แต่ไทยมักจะเสียเปรียบในด้านราคาต่อจีนและเวียดนามเนื่องจากราคาสินค้าบางอย่างแพงกว่า ผู้นำเข้าจึงหันไปนำเข้าจากประเทศดังกล่าว

(3) ปัจจัยทางด้านมาตรฐานและสุขอนามัยสินค้า โปแลนด์มีข้อกำหนดในการควบคุมมาตรฐานและสุขอนามัยสินค้าอาหารที่นำเข้าอย่างเข้มงวดในแนวทางเดียวกับกฎระเบียบของ EU

(4) ระยะทางที่ห่างไกลระหว่างไทยและโปแลนด์ กอปรกับไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน โดยเฉพาะด้านการค้าส่งผลให้ต้นทุนในการขนส่งสูง

ลู่ทางในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังโปแลนด์
สินค้าไทยที่มีศักยภาพในโปแลนด์ ได้แก่ สินค้าประเภทอาหาร อาทิ ปลากระป๋อง ซอส/เครื่องปรุงรส ข้าว ผลไม้กระป๋อง กาแฟดิบ สินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าประเภทเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ แนวทางในการส่งเสริม ได้แก่

(1) สนับสนุนผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของไทยรุกตลาดโปแลนด์ และเชื่อมโยงผู้นำเข้าใน โปแลนด์กับผู้ผลิตสินค้าอุปโภครายย่อยของไทย ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ผลิตอาหารไทยเดินทางไปเจรจา การค้าในโปแลนด์ และให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกไทยในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเยอรมนีหรือโปแลนด์ จัดทำรายชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตรายย่อยของไทย เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้นำเข้า เชิญชวน ผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของโปแลนด์เข้าแสดงในงานแสดงสินค้าในไทย จัดสร้างศูนย์ข้อมูลสินค้า Stock Lot เพื่อให้นำเข้าโปแลนด์ได้ทราบเกี่ยวกับปริมาณและรูปแบบของสินค้า Stock Lot ที่ผู้ผลิตไทยมีอยู่ในสต็อก

(2) ช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยด้วยการขยายสินเชื่อเพื่อการส่งออกและประกันการส่งออกไปโปแลนด์ ซึ่งหากยังดำเนินการไม่ได้เต็มที่ก็อาจประกันความเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยน และ/หรืออัตราดอกเบี้ย อำนวยความสะดวกให้แก่ผุ้ส่งออกไทยในการจ้างตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าในโปแลนด์ก่อนตกลงทางการค้า

(3) ช่วยเหลือผู้นำเข้าขยายตลาดและนำสินค้าไทยเข้าไฮเปอร์/ซุปเปอร์มาร์เก็ตในด้านค่าใช้จ่าย ในการนำสินค้าเข้าไฮเปอร์/ซุปเปอร์มาร์เก็ต และการนำสินค้าอาหารให้ผู้บริโภคทดลองชิม แปลวิธีการปรุงอาหารไทยเป็นภาษาโปลิซ และเผยแพร่ให้แก่ร้านอาหารพิจารณาเพิ่มอาหารไทยในรายการอาหารของร้าน เผยแพร่ให้แก่ผู้ค้าเพื่อพิจารณาพิมพ์แจกไปกับสินค้าอาหารไทยที่ขาย และเผยแพร่ให้แก่ผู้บริโภคในโอกาสพิเศษต่าง ๆ จัดตลาดสินค้าไทยสัญจรไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในโปแลนด์ โดยร่วมมือกับผู้นำเข้าและ โรงแรมในโปแลนด์ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอกิจกรรมสนับสนุนเหล่านี้ต่อผู้นำเข้าระหว่างเจรจาเสนอขายสินค้าใหม่แก่ผู้นำเข้าในโปแลนด์ เพื่อจูงใจให้ผู้นำเข้าตัดสินใจนำเข้าสินค้าใหม่ ๆ จากไทย

ปัจจุบันมีบริษัทของไทยเข้าไปลงทุนในโปแลนด์ 2 บริษัท คือ บริษัท Lucky Union เข้าไปลงทุนในรูปแบบ Joint Venture ร่วมกับบริษัท Euro-Fish Poland ตั้งบริษัท Lucky Union Foods - Euro (บ. Lucky Union ถือหุ้น 95%) ผลิตปูอัดแช่แข็งส่งออก และบริษัท ส. ขอนแก่น เข้าไปตั้งโรงงานผลิตอาหารอิสานส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก EU ของโปแลนด์ เพื่อขจัดอุปสรรคด้านมาตรฐานอาหารของ EU ที่บริษัทส่งออกของไทยส่วนใหญ่ต้องประสบ

ศักยภาพของโปแลนด์ด้าน Logistics
โปแลนด์มีพรมแดนติดกับ 7 ประเทศ มีท่าเรือ 4 เมืองทางออกสู่ทะเลบอลติก มีความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาคยุโรปที่สำคัญ 3 ฉบับส่งผลให้เส้นทางคมนาคมสายหลักในยุโรปถึง 4 สายพาดผ่านดินแดนของโปแลนด์ ประกอบด้วย เส้นทาง European route E67 จากกรุงเฮลซิงกิถึงกรุงปราก E30 จากไอร์แลนด์ถึงรัสเซีย E40 จากฝรั่งเศสถึงคาซัคสถาน E75 จากนอรเวย์ถึงกรีซ และภายในอีก 5 -6 ปีข้างหน้าจะมีโครงข่ายทางหลวงใหม่เชื่อมต่อกับประเทศยุโรปอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก 4 สาย โปแลนด์ยังมีโครงสร้างสาธารณูปโภคด้าน Logistics ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีบุคลากรที่มีทักษะและค่าแรงถูกกว่าประเทศยุโรปตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางด้าน Logistics (เช่น เนเธอร์แลนด์)


กิจกรรมด้านสารนิเทศและการส่งเสริมประเทศไทยในโปแลนด์

ทัศนะของชาวโปแลนด์ต่อประเทศไทย
โปแลนด์เป็นประเทศในยุโรปกลางที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 8 ของภูมิภาคยุโรป มีประชากรประมาณ 39.5 ล้านคน โดยมีอัตราการรู้หนังสือในปัจจุบันถึงร้อยละ 98 หลังจากโปแลนด์ได้ปรับเปลี่ยนระบบจากสังคมนิยมมาเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีส่งผลให้ประชากรเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่พัฒนาในทาง ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ กอปรกับการที่โปแลนด์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นมาส่งผลให้คนโปแลนด์เริ่มให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เปิดประเทศรับและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปแลนด์จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและมีความสัมพันธ์มายาวนาน คนโปแลนด์รู้จักประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศในเอเชียที่ไม่เคยเป็นอาณานิคม มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม มีวัฒนธรรม และคนไทยก็มีจิตใจดีงามและมีจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยเช่นเดียวกับโปแลนด์ ชาวโปแลนด์ที่ได้เดินทางมาประเทศไทยล้วนแสดงความประทับใจในพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ความทันสมัยของประเทศ ชื่นชมและประทับใจกับวัฒนธรรม ประเพณีและอัธยาศัยไมตรีของคนไทย รวมทั้งความสำเร็จในการฟื้นตัวจากวิกฤติทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ อาหารไทยเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่ชื่นชอบของชาวโปแลนด์ แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากมีร้านอาหารไทยเพียง 5 ร้านอยู่ในกรุงวอร์ซอซึ่งดำเนินกิจการโดยชาวไทย และชาวอินเดีย

ทัศนะของสื่อมวลชน
ในปัจจุบัน สื่อมวลชนโปแลนด์ให้ความสนใจ เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น โดยเน้นในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนที่เกี่ยวกับข่าวการเมืองไทย เป็นการเผยแพร่ข่าวรายงานสถานการณ์ทางการเมืองที่มาจากแหล่งข่าวต่างประเทศอื่น ๆ เช่น สถานการณ์ไข้หวัดนก สถานการณ์ภาคใต้ของไทย เป็นต้น มิใช่การวิเคราะห์หรือวิจารณ์เอง และไม่ค่อยปรากฏรายงานข่าวปัญหาทางสังคมของไทย เช่น ยาเสพติด โรคเอดส์ ฯลฯ

กิจการด้านการศึกษา วัฒนธรรม และการส่งเสริมการศึกษาของสถานเอกอัครราชทูตฯ
นอกเหนือจากการดำเนินภารกิจประจำในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งด้านการเมือง การทูต เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยการจัดส่งเอกสารเผยแพร่ที่ได้รับจากกระทรวงฯ และหน่วยงานอื่นๆ แล้ว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้ดำเนินการทางการทูตในด้านวัฒนธรรมต่อโปแลนด์ ดังนี้
ด้านการศึกษา
การสอนภาษาไทยและจัดตั้ง Thai Corner ที่มหาวิทยาลัย Adam Mickiewicz
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้ริเริ่มโครงการสอนภาษาไทย ที่สถาบันภาษาศาสตร์มหาวิทยาลัย Adam Mickiewicz ณ เมือง Poznan มาตั้งแต่ปี 2543 และมีโครงการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นแห่งแรกในโปแลนด์ โดยมีอาจารย์จากประเทศไทยเป็นผู้สอน ในปีการศึกษา 2548 สถาบันได้จัดตั้งภาควิชาภาษาไทย-เวียดนามขึ้น และโดยที่มีนักศึกษาสนใจเรียนวิชาภาษาไทยมากกว่า 30 คน ทางสถาบันจึงดำริที่จะเปิดภาควิชาภาษาไทยแยกออกจากภาษาเวียดนาม
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้มอบหนังสือภาษาไทยและเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง Thai Corner ที่สถาบันดังกล่าว เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงสำหรับ นักศึกษาในหลักสูตรภาษาไทยและผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์จากมุมภาษาไทยดังกล่าว
• สนับสนุนและร่วมงาน Thai Day ที่สถาบันฯ จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาภาควิชาภาษาไทยได้แสดงผลงานการใช้ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวไทย
• ได้สนับสนุนให้ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าวได้รับรางวัล Friends of Thailand ประจำปี 2545 ของ ททท. ทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศไทย ได้พบกับนักวิชาการไทย และมีโครงการที่จะขยายความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อยู่ระหว่างเจรจาสาขาความร่วมมือ)

การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัย ABAC และ มหาวิทยาลัย Polonia เมือง Czesztochowa
เนื่องจากมหาวิทยาลัย ABAC ของไทยและมหาวิทยาลัย Polonia เมือง Czesztochowa ได้มีกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากร รวมทั้งข้อมูลการศึกษาระหว่างกัน ในปี 2545 มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Polania เดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัย ABAC เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี 2546 สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้บริจาคหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย (ภายใต้งบสันถวไมตรี)

ความร่วมมือทางการศึกษากับมหาวิทยาลัย Jagiellonian เมืองคราคูฟ
มีโครงการร่วมมือทางการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย Jagiellonian กับมหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ โดยในปีการศึกษา 2548 มีนักศึกษาไทย 2 รุ่น (3 และ 4 คนตามลำดับ) ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย Jagiellonian มาศึกษาในสาขาดังกล่าว 1 ภาคการศึกษา นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตได้บริจาคหนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนเกี่ยวกับประเทศไทย(จากงบสันถวไมตรี)ให้หอสมุดมหาวิทยาลัยดังกล่าว และในระหว่างพิธีมอบหนังสือโดยนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ เมื่อ 27 กันยายน 2547 ทางมหาวิทยาลัยได้จัดแสดงหนังสือพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนหอสมุดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ด้วย
ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
การประกวดวาดภาพในหมู่เยาวชนโปแลนด์
ในปี 2544 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ จัดการประกวดวาดภาพในหมู่เยาวชนโปแลนด์ภายใต้หัวข้อ “ Impression on Thailand” ซึ่งมีเยาวชนโปแลนด์ส่งภาพเข้าร่วมในกิจกรรมหลายพันภาพ ผู้ชนะประกวดได้เดินทางไปเที่ยวประเทศไทย (ภายใต้งบสารนิเทศ และความอุปถัมภ์ของ ททท.แฟรงก์เฟริ์ต และสายการบิน Marlev Hungarian Airlines) ภาพที่ส่งเข้าประกวดได้รับการจัดพิมพ์เป็นบัตรอวยพร และใช้เผยแพร่ในโอกาสต่าง ๆ

การจัดสัปดาห์ภาพยนตร์ไทยในกรุงวอร์ซอ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้จัดสัปดาห์ภาพยนตร์ไทยในกรุงวอร์ซอระหว่าง 1 – 5 พฤศจิกายน 2545 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและโปแลนด์ โดยเป็นการจัดฉายภาพยนตร์ไทยเป็นครั้งแรกในโปแลนด์ ซึ่งดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชน นักธุรกิจ และนักศึกษามาก สถาบันการศึกษาบางแห่งได้ขอภาพยนตร์ไทยไปฉาย เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย เช่น มหาวิทยาลัย Adam Mickiewicz และมหาวิทยาลัยวอร์ซอ

การจัดพิมพ์ Supplement ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้ตีพิมพ์บทแทรกเกี่ยวกับประเทศไทยในวารสาร Gazeta Wyborcza ในโอกาสครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-โปแลนด์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546

การสนับสนุนเทศกาลอาหารไทยในเมือง Wroclaw
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้สนับสนุนให้โรงแรม Dorint เมือง Wroclaw จัดสัปดาห์อาหารไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในโรงแรมดังกล่าวเป็นเวลา 2 เดือน ในช่วง พฤศจิกายน – ธันวาคม 2545

การจัดสัปดาห์อาหาร ผลไม้และวัฒนธรรมไทย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้จัดงานสัปดาห์อาหาร ผลไม้และวัฒนธรรมไทยที่โรงแรม J.W.Mariott ระหว่าง 25- 31 พฤษภาคม 2547 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร ผลไม้และสินค้าไทย ในงานดังกล่าวมีการแสดงมวยไทย และนิทรรศการแสดงภาพวาดเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนโปแลนด์ที่ส่งเข้าประกวดเมื่อปี 2544

การจัดตั้งสมาคมมวยไทยในโปแลนด์
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้สนับสนุนการจัดตั้งสหพันธ์มวยไทยในโปแลนด์ทั้งด้านเอกสาร อุปกรณ์และวิดิทัศน์ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ก่อตั้งได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศไทยเพื่อศึกษาและเรียนรู้แม่ไม้มวยไทยจากต้นตำหรับ การก่อตั้งสหพันธ์เป็นการรวบรวมชมรมมวยไทยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโปแลนด์ใปรวมอยู่ที่เดียวกัน ปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ที่เมืองคราคูฟ และได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการโปแลนด์ด้วย ในปี 2547 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ บริจาคเงิน 50,000 บาท (จากงบสันถวไมตรี) สนับสนุนการแข่งขันมวยไทยต้านยาเสพติด เมื่อเดือน พฤษภาคม 2547
ด้านการท่องเที่ยว
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ให้ความร่วมมือกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตเข้าร่วมออก booth ในเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวนานาชาติที่กรุงวอร์ซอเป็นประจำทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก โดยเน้นการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย ในการนี้ ได้จำลองศาลาไทยไว้ในบริเวณงานซึ่งได้รับความสนใจจากชาวโปแลนด์และชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในงานเทศกาลท่องเที่ยว TT Warsaw ในเดือนกันยายนของทุกปี โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมโดยการสาธิตการทำอาหารไทย แจกอาหารไทยให้ชิมฟรี แจกเอกสารประชาสัมพันธ์ บริการนวดแผนไทยฟรีในงานดังกล่าวด้วย
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้จัดทำหนังสือท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นภาษาโปลิชโดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ นครแฟรงค์เฟิร์ทในการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในโปแลนด์
• ในช่วงวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) และโรคไข้หวัดนก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้จัดทำข่าวสารนิเทศเผยแพร่ข้อมูลล่าสุด ชี้แจงความคืบหน้าของสถานการณ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชน จนทางการโปแลนด์แก้ไขปลดชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด
• อนึ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวจากโปแลนด์ไปเยือนประเทศไทยในปี 2547 มีจำนวน 10,618 คน และระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2548 มีจำนวน 3,739 คน (ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแฟรงก์เฟิร์ต)


การคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ของไทยในโปแลนด์

โปแลนด์เป็นประเทศในยุโรปตะวันออกที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 8 ของภูมิภาคยุโรป โดยมีประชากรประมาณ 38.6 ล้านคน และหลังจากการที่โปแลนด์ได้ปรับเปลี่ยนระบบจากสังคมนิยมมาเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีส่งผลให้ประชากรเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่พัฒนาในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่สูงขึ้น อำนาจในการซื้อเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ คนโปแลนด์เริ่มให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอกและเปิดประเทศรับกับวัฒนธรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีชาวโปแลนด์นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น และเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน (ปี 2548 ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย)

ในส่วนของการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศนั้น เนื่องจากมีนักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนน้อยมาก นอกจากร้านอาหารไทย 5 แห่งซึ่งเป็นของคนไทย-เวียดนาม 2 แห่ง ของชาวอินเดีย 2แห่ง และร้านอาหารของคนไทยซึ่งเพิ่งเปิดเมื่อปี 2548 อีก 1 แห่ง มีคนไทยทำธุรกิจด้านเสื้อผ้า และข้าว อีก 2 ราย ปัจจุบันมีคนไทยมีถิ่นอาศัย รวมทั้งเข้ามาทำงานในโปแลนด์ 70 คน (เป็นคนไทยที่สมรสกับชาวโปแลนด์ 26 คน / คนไทยที่มาทำงาน 22 คน / คนไทยที่มาศึกษา 4 คน / และข้าราชการกับครอบครัว 18 คน)

ที่ผ่านมาไม่ปรากฎปัญหาแรงงานไทยที่ทำงานในโปแลนด์โดนเอาเปรียบหรือตกทุกข์ได้ยาก ทั้งนี้ ปัญหาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ประสบคือ แรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในโปแลนด์อย่างไม่ถูกต้อง โดยถูกหลอกว่าให้เดินทางมาโปแลนด์และสัญญาว่าจะมีงานรองรับในโปแลนด์แต่เมื่อเดินทางมาถึงปรากฎว่าไม่มีงานรองรับจริงอย่างที่แจ้งเอาไว้ โดยมีการดำเนินการกันเป็น ขบวนการร่วมมือกันระหว่างคนไทยและชาวโปแลนด์ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ออกประกาศเตือนคนไทยที่ประสงค์จะมาทำงานในโปแลนด์ให้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจอย่างเป็นระยะๆ

การตรวจลงตรา
ไทยและสาธารณรัฐโปแลนด์ได้ทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ โดยสามารถพำนักได้เป็นระยะเวลา 90 วัน

27 ธันวาคม 2550

เอกสารแนบ

เรียบเรียงโดย กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : european04@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์