ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> เกาหลีใต้




แผนที่
สาธารณรัฐเกาหลี
Republic of Korea


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี โดยมีเส้นขนานที่ 38 แบ่งกั้นระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)

พื้นที่ 99,392 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 45 ของพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี (1 ใน 5 ของไทย)

ประชากร 48.8 ล้านคน (ณ มีนาคม 2549)

เมืองหลวง กรุงโซล (Seoul)

เมืองที่สำคัญ ปูซาน แตจอน แตกู อินชอน และกวางจู

สมาชิกสหประชาชาติ 17 ก.ย. 2534

GDP ต่อหัว รายได้ต่อหัว 18,392 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)

หน่วยเงินตรา ประมาณ 1,000 วอน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ภูมิอากาศ มี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว
เดือน มิ.ย.- ส.ค. เป็นช่วงที่ฝนตกชุก อุณหภูมิโดยเฉลี่ย -5 C ในฤดูหนาว และ 33 C ในฤดูร้อน

คสพ.การทูต สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อ 1 ต.ค. 2501

ออท. ไทย นายวศิน ธีรเวชญาณ

ประธานาธิบดี นาย Roh Moo-hyun (โน มูเฮียน) รับตำแหน่งเมื่อ 25 ก.พ. 2546

นายกรัฐมนตรี นาง Han Duck-soo (ฮัน ด๊อก-ซู)

รมว.กต.และการค้า นาย Song Min-soon (ซอง มิน-ซุน)

ศาสนา มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ 46% โปรเตสแตนต์ 39% คาทอลิก 13% ขงจื๊อ 1% และอื่นๆ 1%)

การศึกษา ภาคบังคับ 9 ปี

อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 98

สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

สถานการณ์ในเกาหลีใต้
1. ปี 2546 (ปีแรกของการเข้ารับหน้าที่) ประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ต้องประสบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่สำคัญได้แก่
- การที่พรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในรัฐสภา พรรค Grand National Party (GNP) เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างมากในสภา ทำให้สามารถคัดค้าน/ตีรวนนโยบายสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาได้
- การแตกแยกของสมาชิกพรรครัฐบาล พรรค Millennium Democratic Party (MDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่มีปัญหาแตกแยกของสมาชิกพรรคอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่ต้องการปฏิรูปพรรคอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดสมาชิกพรรคกลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งนำโดยนาย Kim One-ki ได้ลาออกจากพรรค MDP ไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ Uri Party สำหรับประธานาธิบดี Roh ได้ลาออกจากพรรค MDP ด้วยโดยได้ประกาศว่าจะเข้าร่วมพรรค Uri
ปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการประท้วงของสหภาพแรงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2546 รวมทั้งความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายสำคัญต่างๆ ของประธานาธิบดี Roh โดยเฉพาะนโยบายต่อสหภาพแรงงาน และนโยบายต่างประเทศต่อสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้คะแนนนิยมต่อประธานาธิบดี Roh ลดลงอย่างมาก

ประธานาธิบดี Roh ตระหนักถึงปัญหาที่ประชาชนเสื่อมความนิยมต่อตนจึงได้ประกาศจะให้มีการลงประชามติการไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีในวันที่ 15 ธ.ค. 2546 แต่ถูกพรรคการเมืองต่างๆ ต่อต้านอย่างมาก โดยพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าการลงประชามติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีรวมถึงคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดี และปลัดกระทรวงต่างๆ แทนในช่วง ม.ค. 2547 และประธานาธิบดี Roh กล่าวว่าตนจะลาออกโดยไม่ต้องมีการลงประชามติหากผลการสอบสวนพบว่าจำนวนเงินสินบนที่บุคคลใกล้ชิดของตนรับจากภาคธุรกิจสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่ากับ 1 ใน 10 ของจำนวนเงินสินบนที่พรรคฝ่ายค้านรับ และประธานาธิบดี Roh กล่าวว่าจะประกาศความตั้งใจเกี่ยวกับการลงประชามติภายหลังจากคณะอัยการรัฐเสร็จสิ้นภารกิจสรุปผลการสอบสวนเรียบร้อยแล้ว

เมื่อ 12 มี.ค. 2547 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ออกจากตำแหน่งด้วยข้อหา 1) การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ประธานาธิบดี Roh กล่าวสนับสนุนพรรค Uri 2) การรับสินบนของผู้ช่วยของประธานาธิบดี 3) ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจเกาหลีใต้ มติดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีต้องพ้นจากหน้าที่ชั่วคราว (suspended) ต่อมาเมื่อ 14 พ.ค. 2547 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ได้มีคำวินิจฉัยว่าประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ได้ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญในเรื่องต่างๆ โดย 1) ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการและประมุขของรัฐโดยการกล่าวสนับสนุนพรรค Uri ในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ แต่เนื่องจากการกล่าวถึงพรรค Uri เป็นการตอบคำถามสื่อมวลชน จึงไม่สามารถตีความว่าเป็นการรณรงค์หาเสียงให้พรรค Uri 2) ประกาศให้มีการทำประชามติเพื่อลงคะแนนไว้หรือไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนภาระหน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ และ 3) ทีมกฎหมายของประธานาธิบดี Roh แสดงความสงสัยท้าทายความถูกต้องของกฎหมายเลือกตั้งเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินว่าประธานาธิบดี Roh ฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองซึ่งถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมิได้เป็นความผิดรุนแรงที่ต้องถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องที่ประธานาธิบดีกล่าวสนับสนุนพรรค Uri ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในโอกาสอื่นๆ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ในส่วนการรับสินบนของบุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดีและความล้มเหลวในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในขอบข่ายของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นาย Roh Moo-hyun จึงสามารถกลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยทันที

เมื่อ 15 เม.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้สมัยที่ 17 ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการพรรค Uri ได้คะแนนเสียงข้างมากส่งผลให้พรรค Uri ซึ่งสนับสนุนประธานาธิบดี Roh กลายเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเกาหลีใต้ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายปฏิรูปต่างๆ ที่เคยถูกขัดขวางจากพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 นาย Goh Kun ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี Roh ได้แต่งตั้งนาย Lee Hun-jai รองนายกรัฐมนตรีด้านการคลังและเศรษฐกิจให้รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวจนกระทั่ง 29 มิ.ย. 2547 เมื่อที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบการแต่งตั้งนาย Lee Hae- chan เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนาย Lee Hun-jai

การเมืองภายในเกาหลีใต้ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงเพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนมิถุนายน 2549 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนธันวาคม 2550 จากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นประกอบกับการที่ประธานาธิบดีโน มู-เฮียน ไม่สามารถลงรับเลือกตั้งซ้ำตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ทำให้ความสำคัญของประธานาธิบดีโน มู-เฮียนลดลงเป็นลำดับ สำหรับ ผู้ที่คาดหมายว่าจะเป็นผู้เข้าแข่งขันรับเลือกตั้งประธานาธิบดีได้แก่ นายจุง ดอง-ยัง (Chung Dong-young) รัฐมนตรีกระทรวงการรวมประเทศ จากพรรค Uri และนางปัก กึน-เฮ (Park Geun-hye) บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีปัก จุง-ฮี (Park Chung-hee) จากพรรค Grand National Party (GNP)

หลังจากสหรัฐฯ ได้มอบอำนาจบัญชาการกองทัพของ Demilitarised Zone (DMZ) คืนให้กับเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เกาหลีใต้จะปรับยุบหน่วยงานทหารให้มีขนาดเล็กลง อีกทั้งจะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้พัฒนากองทัพในทุกด้าน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถและประจำการยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2549 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้มีมติรับรองการแต่งตั้งนาง Han Myeong-sook เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สืบต่อจากนาย Lee Hae-chan ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 เพื่อแสดงความรับผิดชอบจากการเล่นกอล์ฟกับผู้บริหารบริษัทเอกชนที่มีประวัติอาชญากรรม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สตรีได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ และประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ได้แต่งตั้งนาง Han ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2549

ผลการเลือกตั้งหัวหน้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับสูงในเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม.2549 ปรากฏว่าพรรค Grand National Party (GNP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ชนะการเลือกตั้งใน 6 เทศบาลนคร จากทั้งหมด 7 เทศบาลนคร และ 6 จังหวัด จากทั้งหมด 9 จังหวัด ในขณะที่พรรค Uri ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลเกาหลีใต้ ชนะการเลือกตั้งในจังหวัด Jeollabuk-do เท่านั้น และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 นาย Chung Dong-young หัวหน้าพรรค Uri ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งดังกล่าว

2. การต่างประเทศ เกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ แม้จะมีปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเกาหลีใต้ แต่ประเทศทั้งสองก็ได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือเพื่อปูทางไปสู่การปรองดองระหว่างกัน มีการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้ว 14 ครั้ง โดยได้เห็นชอบและดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามแถลงการณ์ร่วม North-South Declaration เมื่อปี 2543 ล่าสุด ได้มีการประชุมหารือระหว่างผู้แทนระดับนายพลทหารของเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายความตึงเครียดทางทหาร
เกาหลีใต้-สหรัฐฯ ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังคงมีกำลังทหารอยู่ในเกาหลีใต้ ประมาณ 37,000 คน และกำลังจะพิจารณาถอนกำลังทหารส่วนหนึ่งจากเกาหลีใต้ไปอิรัก นอกจากนั้น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้เจรจาปรับย้ายที่ตั้งของกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ โดยสหรัฐฯ จะย้ายทหารสหรัฐฯ ลงไปทางใต้ห่างจากแนวชายแดนเกาหลีเหนือมากขึ้น ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้ร้องขอให้เกาหลีใต้ส่งหน่วยทหารไปช่วยรักษาความสงบเพิ่มเติมในอิรักซึ่งเมื่อสิงหาคม 2547 เกาหลีใต้ได้ส่งกำลังเสริม 3,000 นาย
ไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพและฟื้นฟูบูรณะอิรัก

3. เศรษฐกิจ ปี 2546 เกาหลีใต้ประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างมากอันเป็นผลมาจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเกี่ยวกับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ ตามด้วยผลกระทบจากสงครามอิรัก และการแพร่ระบาดของโรค SARS ประกอบกับการบริโภคภายในของเกาหลีใต้และการลงทุนภาคธุรกิจในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2547 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ดีกว่าในปี 2546 อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน โดยได้เปรียบดุลการค้าถึง 29.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแทนการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ชะลอตัว
ในปี 2548 ค่าเงินวอนที่แข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาราคานำมันที่เพิ่มขึ้นมาก และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ อาจทำให้การส่งออกในปี 2548 ขยายตัวลดลงกว่าในปี 2547 ทั้งนี้ เกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายทำเขตการค้าเสรีกับ 15 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ภายในปี 2550 เพื่อขยายตลาดการค้าให้สินค้าส่งออกของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ร้อยละ 70 ของ GDP ขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายจะสร้างงานให้ประชาชนให้ได้ 400,000 อัตราในปี 2548 และเพิ่มรายได้ต่อหัวให้ถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2551


สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อปลายปี 2545 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความพยายามเพื่อลดความตึงเครียดดังกล่าวดังนี้

1) การเจรจา 3 ฝ่าย
จีนซึ่งได้รับการร้องขอจากสหรัฐฯ ได้จัดการเจรจา 3 ฝ่าย (Trilateral Talks) ระหว่าง สหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และจีน ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 23-25 เม.ย. 2546 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเกาหลีเหนือได้ตั้งข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าเป็นการข่มขู่ (blackmail) สหรัฐฯ

2) การเจรจา 6 ฝ่ายรอบแรก
จีนได้จัดให้มีการเจรจา 6 ฝ่าย (Six - Party Talks) รอบแรกขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 27-29 ส.ค. 2546 โดยมีสหรัฐฯ เกาหลีเหนือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย เข้าร่วมแต่ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่มีท่าทียืดหยุ่นและผ่อนปรนจุดยืนของตน สหรัฐฯ ต้องการให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยทันทีก่อน ส่วนเกาหลีเหนือก็เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ได้แก่ 1) ให้สหรัฐฯ จัดหาน้ำมันและอาหารแก่เกาหลีเหนือ 2) ให้มีการจัดทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน 3) ให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือกับญี่ปุ่น และ 4) ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งที่สหรัฐฯ สัญญาจะสร้างให้

3) การเจรจา 6 ฝ่ายรอบสอง
จัดที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 25-28 ก.พ. 2547 สหรัฐฯ ต้องการให้เกาหลีเหนือล้มเลิกด้วยการทำลาย (dismantle) โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จากแร่พลูโตเนียมและแร่ยูเรเนียมอย่างสิ้นเชิง ตรวจสอบได้ และหวนกลับคืนไม่ได้ (complete, verifiable and irreversible) แล้วสหรัฐฯ กับทุกฝ่ายจึงจะร่วมกันดูแลความมั่นคงปลอดภัยให้แก่เกาหลีเหนือ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและพลังงาน ส่วนเกาหลีเหนือต้องการสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ หรือหลักประกันจากทั้ง 5 ฝ่าย โดยคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ เป็นการตอบแทน ทั้ง 6 ฝ่ายได้จัดตั้งคณะระดับทำงาน (working-level group)
- การประชุมคณะระดับทำงานครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อ 12-14 พ.ค. 2547 ที่กรุงปักกิ่ง โดยไม่มีความก้าวหน้าที่สำคัญมากนักเนื่องจากท่าทีของสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังคงแตกต่างกันมาก การประชุมคณะระดับทำงานครั้งที่ 2 การเจรจา 6 ฝ่ายรอบสามมีขึ้นระหว่าง 21-22 และ 23-26 มิ.ย. 2547

4) การเจรจา 6 ฝ่ายรอบสาม
จัดที่กรุงปักกิ่งเมื่อ 23-26 มิถุนายน 2547 โดยได้มีความคืบหน้า 3 ประการคือ 1) จีนในฐานะประธานการเจรจาได้ออกคำแถลงของประธาน (Chairman’s Statement) มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ทั้ง 6 ฝ่ายเน้นย้ำความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนของถ้อยคำต่อถ้อยคำและการกระทำต่อการกระทำ (step-by-step process of words for words and action for action) ในการหาแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นอาวุธนิวเคลียร์ 2) กำหนดให้มีการประชุมคณะระดับทำงานครั้งที่ 3 โดยเร็วที่สุด และ 3) กำหนดให้มีการเจรจา 6 ฝ่ายรอบสี่ภายในเดือนกันยายน 2547 เพื่อกำหนดขอบเขต ระยะเวลา การตรวจสอบ และมาตรการที่สอดคล้องกัน ในการดำเนินการในขั้นตอนแรกของการทำลาย (dismantle) โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ประการแก่เกาหลีเหนือเพื่อเป็นการตอบแทนที่เกาหลีเหนือระงับ (freeze) โครงการอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ 1) ช่วยเหลือด้านน้ำมันเชื้อเพลิง 2) ค้ำประกันเฉพาะกาลด้านความมั่นคง (provisional security guarantee) 3) ช่วยเหลือด้านพลังงานในระยะยาว 4) หารือกับเกาหลีเหนือโดยตรงเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและถอนเกาหลีเหนือออกจากบัญชีรายชื่อประเทศก่อการร้าย และ 5) ฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในช่วง 3 เดือนซึ่งเป็นขั้นเตรียมการ (preparatory period) ไปสู่กระบวนการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ

5) การเจรจา 6 ฝ่ายรอบสี่
การเจรจา 6 ฝ่ายรอบที่ 4 ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2548 มีพัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่ ด้านสารัตถะ ทุกฝ่ายสามารถบรรลุความเห็นชอบในหลักการร่วมกันใน Joint Statement ซึ่งจะเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและนำสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ด้านกลไก การเจรจาครั้งนี้เปิดให้สมาชิก 6 ฝ่ายพบหารือทวิภาคีเพื่อปรับท่าทีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือได้พบ หารือทวิภาคีกันมากกว่า 10 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งนี้ต้อง recess เนื่องจากสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังมีท่าทีที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐฯ ย้ำว่าเกาหลีเหนือต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด ขณะที่เกาหลีเหนือ เห็นว่าโครงการนิวเคลียร์เพื่อกิจการพลเรือนและการใช้นิวเคลียร์อย่างสันติเป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐอธิปไตย
การเจรจา 6 ฝ่ายรอบที่ 4 ระยะที่ 2 เริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 13 -19 กันยายน 2548 โดยทั้ง 6 ฝ่ายได้ออกคำแถลงร่วม (Joint Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) สมาชิกทั้ง 6 ฝ่ายยืนยันอย่างเป็นเอกฉันท์ถึงเป้าหมายของการเจรจา 6 ฝ่าย คือ การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยสันติวิธี และสามารถตรวจสอบได้ (2) สมาชิก 6 ฝ่ายเคารพเป้าหมายและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและยอมรับบรรทัดฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน (3) สมาชิก 6 ฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาพลังงาน การค้า และการลงทุน ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี (4) สมาชิก 6 ฝ่ายเห็นชอบที่จะจัดการเจรจา 6 ฝ่ายรอบที่ 5 ที่กรุงปักกิ่งในต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 โดยจะหารือเกี่ยวกับกำหนดวันต่อไป

6) การเจรจา 6 ฝ่ายรอบห้า
การประชุมเจรจา 6 ฝ่ายรอบที่ 5 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 วัน ก่อนที่จะมีการหยุดพักชั่วคราว (recess) เพื่อให้คณะผู้แทนไปเข้าร่วมประชุม APEC ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
ประเด็นหลักในการเจรจาครั้งนี้ คือ การหารือในรายละเอียดของ Joint Statement ที่สมาชิกทั้ง 6 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ในการเจรจารอบที่ 4 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 ได้แก่ (1) การยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ (2) การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ (3) ความช่วยเหลือด้านพลังงานแก่เกาหลีเหนือ

การเมืองการปกครอง
สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 6 เขตการปกครอง (โซล ปูซาน อินชอน แตกู กวางจู แตชอน)

รัฐธรรมนูญ

เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 17 ก.ค. 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

ฝ่ายนิติบัญญัติ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา (National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน โดยสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อปี 2547) สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน

อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ

ฝ่ายบริหาร

- ประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง โดยมีวาระ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายอำนาจ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการจำเป็นในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา

- คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านบริหารประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีจำนวน 20 คน นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังประกอบด้วย สภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาการรวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ คณะกรรมการเกี่ยวกับสิทธิสตรี สภาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ โดยประธานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ทั้งนี้ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐบาลด้วย
2.4 ฝ่ายตุลาการ
ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน คำพิพากษาจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ
นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ (โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับการร้องขอจากศาลชั้นต้นหรือจากกลุ่มบุคคลที่ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าว) อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมายของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

2.5 พรรคการเมือง
เมื่อ ธ.ค. 2538 เกิดการรวมตัวของ 3 พรรคใหญ่ คือ 1) พรรค Democratic Justice Party-DJP 2) พรรค Reunification Democratic Party-RDP และ 3) พรรค New Democratic Republican Party-NDRP และตั้งชื่อว่าพรรค New Korean Party-NKP
ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ธ.ค. 2540 ได้เกิดพรรคใหม่คือ 1) พรรค Grand National Party -GNP (ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรค NKP กับพรรค New Party by the People) 2) พรรค Millennium Democratic Party-MDP ซึ่งมีนาย คิม แด จุง เป็นหัวหน้าพรรค และ 3) พรรค United Liberal Democrats-ULD ซึ่งมีนาย คิม จอง พิล เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรค MDP กับพรรค ULD ได้ร่วมกันส่งนายคิม แด จุง เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับชัยชนะ โดยนาย คิม จอง พิล ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาพรรค ULD ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปัจจุบันมีพรรคฝ่ายค้าน (Grand National Party-GNP) และพรรครัฐบาล (Millennium Democratic Party-MDP) และพรรคฝ่ายค้านเสียงส่วนน้อย (United Liberal Democrats-ULD) ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้าน GNP สามารถคุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภารวม 139 ที่นั่ง ทั้งนี้เมื่อ 15 เม.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้สมัยที่ 17 โดยเป็นการเลือกสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 299 ที่นั่งประกอบด้วยการเลือกตั้งโดยตรง 243 ที่นั่ง และจากสัดส่วนพรรค (party list) 56 ที่นั่ง ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการพรรค Uri ได้คะแนนเสียงข้างมากส่งผลให้พรรค Uri กลายเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม พรรค Uri ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม 6 ครั้งในเดือนเมษายน 2548 ทำให้พรรค Uri ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้แพ้ในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนตุลาคม 2548 อีก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหามากขึ้น

เศรษฐกิจการค้า
การส่งออก ในปี 2547 มีมูลค่าส่งออก 257.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 33 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย รถยนต์ และคอมพิวเตอร์

การนำเข้า ในปี 2547 มีมูลค่านำเข้า 219.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 23 สินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ วัตถุดิบประเภทเชื้อเพลิงและแร่ธาตุ สินค้าทุน ส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องจักร และคอมพิวเตอร์เป็นต้น

ดุลการค้า ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าต่อเกาหลีใต้มาโดยตลอด ในปี 2549 ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้ารวม 7,666.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลมูลค่า 2,378.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ดำเนินไปด้วยดีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยในระดับทวิภาคีนั้น ไทยและเกาหลีใต้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางการทูตระดับอัครราชทูตเมื่อ 1 ต.ค. 2501 ซึ่งต่อมาได้ยกขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อ 1 ต.ค. 2503

ในระดับพหุภาคีนั้น แม้ไทยและเกาหลีใต้จะเป็นสมาชิกในองค์การหรือในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ เช่น APEC, ASEM, WTO ฯลฯ เช่นเดียวกัน แต่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเกิดขึ้นในกรอบอาเซียนซึ่งเกาหลีใต้ได้เป็นคู่เจรจามาตั้งแต่ก.ค.2538 โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้ง ASEAN+3 ในปี 2540 เพื่อเป็นเวทีหารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

1.1 ความสัมพันธ์ด้านการทหารและความมั่นคง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้เริ่มขึ้นจากความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง โดยในช่วงสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493-2496 นั้น ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังสหประชาชาติซึ่งได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐฯ และพันธมิตรฝ่ายตะวันตก เพื่อป้องกันเกาหลีใต้จากการรุกรานของเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียต

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงอันเกิดจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 ความสัมพันธ์ด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างประเทศทั้งสองยังคงดำรงอยู่ หากเกาหลีใต้เป็นฝ่ายกระตือรือร้นในการริเริ่มกิจกรรมความร่วมมือมากกว่าฝ่ายไทยเนื่องจากเกาหลีใต้ยังคงรู้สึกไม่มั่นคงต่อสถานการณ์ต่างๆ ในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเกาหลีใต้ได้พยายามแสวงหาความสนับสนุนจากไทยทั้งที่เป็นรูปธรรมและสัญลักษณ์ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีใต้ยังต้องการการสนับสนุนในด้านความมั่นคงแม้ความสนับสนุนดังกล่าวจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าในเชิงสารัตถะ ได้แก่กรณีทหารประจำกองบัญชาการร่วมสหประชาชาติ (UNC: United Nations Command) ณ กรุงโซล ซึ่งมีทหารไทยประจำเพื่อทำหน้าที่กองทหารเกียรติยศ ฝึกซ้อมรบ เชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา ตลอดจนร่วมพิธีเกี่ยวกับสงครามเกาหลี

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว ไทยกับเกาหลีใต้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนข่าวกรองประจำปี รวมทั้งมีความร่วมมือในการฝึกอบรมทางทหาร นอกจากนี้ ไทยและเกาหลีใต้ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งกองกำลังบำรุงเมื่อ 4 พ.ย. 2534 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือฝึกในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อมูลการส่งกองกำลังบำรุง

หลังจากสหรัฐฯ ได้มอบอำนาจบัญชาการกองทัพของ Demilitarised Zone (DMZ) คืนให้กับเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เกาหลีใต้จะปรับยุบหน่วยงานทหารให้มีขนาดเล็กลง อีกทั้งจะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้พัฒนากองทัพในทุกด้าน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถและประจำการยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย

1.2 การแลกเปลี่ยนการเยือน

ระดับราชวงศ์
1. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พฤษภาคม 2535)
2. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อมีนาคม 2534 และ 2-4 ตุลาคม 2547
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ
3.1 เมษายน 2536
3.2 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2547 (ทรงรับเหรียญรางวัลจากที่ประชุม World Congress of International Confederation of Societies of Authors and Composers ครั้งที่ 44)
3.3 วันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2547 (ทรงหารือความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กับ Korea Institute of Science and Technology)
3.4 วันที่ 12-19 พฤษภาคม 2548 (ทรงลงพระนามในบันทึกความเข้าใจกับ Korea Institute of Science and Technology)

ระดับนายกรัฐมนตรี
1. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (8-10 พฤศจิกายน 2534)
2. นายชวน หลีกภัย (23-26 มิถุนายน 2537 และ 25-27 เมษายน 2542) และเข้าร่วมการประชุม ASEM ครั้งที่ 3 (20-21 ตุลาคม 2543)
3. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เยือนอย่างเป็นทางการระหว่าง 24-26 สิงหาคม 2546
4. พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมประชุม 6th Global Forum on Reinventing Government ที่กรุงโซล ระหว่าง 23-24 พฤษภาคม 2548
5. พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 13 ณ เมืองปูซาน ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2548

ระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง (ในรอบ 5 ปี)
1. นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อเข้าร่วมประชุม Joint Trade Commission ครั้งที่ 12 (31 ม.ค.–1 ก.พ. 2545)
2. นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สังเกตการณ์การการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 ที่เมืองปูซาน (11-13 ต.ค.2545)
3. นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีสังเกตการณ์การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่เมืองปูซาน (9-13 ต.ค. 2545)
4. นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุม The 2nd Ministerial Conference of the Community of Democracies (10-11 พ.ย. 2545)
5. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยรวม (23-28 พ.ย. 2546)
6. นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลีใต้ (25-27 มิถุนายน 2547)

การเยือนของฝ่ายเกาหลีใต้
ระดับประธานาธิบดี
1. นาย Chun Doo-hwan (3-5 กรกฎาคม 2524)
2. นาย Roh Moo-hyun เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปก ครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 20-22 ตุลาคม 2546

ระดับประธานรัฐสภาและรัฐมนตรี (ในรอบ 5 ปี)
1. นาย Lee Joung-binn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าประชุม PMC/ARF (25-30 ก.ค. 2543)
2. นาย Choi Sung-hong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าเพื่อเข้าร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) ครั้งที่ 1 (18-19 มิ.ย. 2545)
3. นาย Yoon Young-kwan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 และการประชุม ACD ครั้งที่ 2 (21-22 มิ.ย. 2546) และติดตามประธานาธิบดี Roh Moo-hyun เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ (ระหว่าง 20-22 ต.ค. 2546) และเมื่อพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้วได้มาเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้บรรยายพิเศษให้แก่สถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (ระหว่าง 30 เม.ย.-4 พ.ค. 2547)
4. นาย Ban Ki-moon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ (ระหว่าง 24-25 ส.ค. 2547)
5. นาย Kim Won-ki ประธานรัฐสภาเกาหลีใต้เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐสภาไทย (ระหว่าง 6-10 ต.ค. 2547)


1.3 ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ดำเนินไปค่อนข้างราบรื่นโดยมีกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ได้แก่ 1) ความตกลงทางการค้าซึ่งลงนามเมื่อปี 2504 2) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อปี 2532

แม้จะมีความตกลงต่างๆ เป็นกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ไทยและเกาหลีใต้ แต่ก็มีปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อกันอยู่บ้าง ที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการกีดกันสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในตอนกลางทศวรรษ 1980 และก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ในปีพ.ศ. 2539 ซึ่งต่อมาเกาหลีใต้ได้ประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2540 จนต้องกู้ยืมเงินจาก IMF แต่ก็สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและคืนเงินกู้ทั้งหมดให้แก่ IMF งวดสุดท้ายเมื่อเดือนก.ย. 2544 ในขณะเดียวกัน องค์การการค้าโลก (WTO) ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมูลค่าทางการค้าใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลกโดยในปี 2544 (เคยอยู่ในลำดับที่ 11 เมื่อปี 2539) และจะไต่ลำดับสูงขึ้นต่อไปในอนาคต

ทางด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้นยังคงเน้นอุตสาหกรรมหนัก และเทคโนโลยีระดับสูงที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Chaebol) ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ทำให้สินค้าของเกาหลีใต้ เช่น เรือเดินสมุทร รถยนต์ เครื่องจักร สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือสื่อสารมีจำหน่ายในท้องตลาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งตลาดในไทย ในทางตรงกันข้าม โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังคงเป็นเกษตรกรรม และเป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายในตลาดเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีสินค้าบางชนิดที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น แผงวงจรไฟฟ้า แต่ก็เป็นสินค้าที่ผลิต โดยกลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้เรื่อยมานับเป็นสิบปี ซึ่งฝ่ายไทยได้พยายามเรียกร้องให้เกาหลีใต้เพิ่มปริมาณและมูลค่าในการซื้อสินค้าไทยให้มากขึ้น แต่เกาหลีใต้ก็ได้ยกตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาไทยราวปีละประมาณ 5-600,000 คน ขึ้นเป็นประเด็นต่อรองว่า เกาหลีใต้ได้ใช้จ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลให้กับไทยเป็นการทดแทนแล้ว ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีใต้เพียงปีละประมาณ 50,000 คน

1.3.1 การค้า

ก่อนปี 2532 การค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้มีมูลค่าไม่มากนัก แต่ได้ขยายตัวขึ้นอย่างมาก เกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลมาโดยตลอด

การขาดดุลที่ไทยมีกับเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ไทยและเกาหลีใต้ได้จัดประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อความร่วมมือทางการค้า(JTC: Joint Trade Commission) ครั้งแรกเมื่อ ก.ค. พ.ศ. 2518 ที่กรุงโซล JTC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าและกำหนดเป้าหมายที่จะซื้อสินค้าระหว่างกันเป็นปี ๆ ในระดับรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2518 ทั้งสองประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commissionหรือ JTC) เพื่อเป็นกลไกทางการค้าที่เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในการแสวงหาลู่ทางขยายการค้า รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ระหว่างกัน โดยได้มีการประชุมมาแล้ว 12 ครั้ง ทั้งนี้ การประชุม JTC ครั้งที่ 12 (ล่าสุด) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.2545 ณ กรุงโซล ส่วนในภาคเอกชน ทั้งสองประเทศได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลี ( Korea-Thai Economic Cooperation Committee) ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2518 โดยได้มีการประชุมมาแล้ว 9 ครั้ง

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญ คือในขณะที่ไทยมีนโยบายการค้าแบบเสรี เกาหลีใต้ยังใช้มาตรการต่างๆ ในการปกป้องตลาด แม้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO และการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD จะทำให้เกาหลีใต้ต้องเปิดตลาดขึ้นเรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันเกาหลีใต้ยังคงปกป้องตลาดภายในประเทศของตนด้วยมาตรการภาษีและมิใช่ภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยต่อสินค้าเกษตรกรรมของประเทศอื่นรวมทั้งของไทย มูลค่าการค้ารวมระหว่างกันในปี 2547 มีมูลค่ารวม 5,437.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ในอัตราสูงตลอดมากว่า 10 ปี เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากเกาหลีใต้เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเกาหลีใต้เป็นสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ไทยยังประสบกับมาตรการกีดกันทางการค้าของเกาหลีใต้ทั้งในด้านภาษีและมิใช่ภาษี

1.3.2 การลงทุน

การลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยมีปริมาณทั้งสิ้น 11,023.2 ล้านบาท (จากปี 2528 - ปี 2546) ปัจจุบันการลงทุนจากเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยในปี 2546 มีการลงทุน 3,505.5 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2545 ซึ่งมีการลงทุน 3,212.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้สนใจมาลงทุนยังคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนน้อย (ต่ำกว่า 50 ล้านบาท) และอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้เงินลงทุน 50-99 ล้านบาท ประเภทกิจการที่เกาหลีใต้สนใจมากที่สุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ปัจจุบัน โดยปี 2546 มีการลงทุน 40 โครงการ(โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน) จากจำนวนทั้งสิ้น 169 โครงการ (นับตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2546) เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 21.2 โดยสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสาขาที่มีเม็ดเงินลงทุนและจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง สาขาเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก โครงการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 80 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 72.5 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,771.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.06 ของการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้ที่ได้รับอนุมัติ
สำหรับการลงทุนของไทยในเกาหลีใต้มีปริมาณทั้งสิ้น 274.52 ล้านบาท (จากปี 2512 - ปี 2546) ปัจจุบันการลงทุนของไทยในเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยในปี 2546 มีการลงทุน 35.48 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2545 ซึ่งมีการลงทุน 13.28 ล้านบาท โดยปี 2546 มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 5 โครงการ(โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน) จากจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ (นับตั้งแต่ปี 2512 ถึงปี 2546) เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ซึ่งมีจำนวน 4 โครงการ โดยสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสาขาที่มีเม็ดเงินลงทุนมากที่สุดและสาขาการค้าปลีกและค้าส่งเป็นสาขาที่มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติมากเป็นอันดับหนึ่ง

1.3.3 แรงงานไทย

แรงงานไทยเริ่มเดินทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2531 ประมาณการว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยในเกาหลีใต้ 29,200 คน โดยเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 2,000 คน ที่เหลือเป็นแรงงานที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย
สาเหตุที่แรงงานไทยเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มากเนื่องจาก
1. เกาหลีใต้ขาดแคลนแรงงานและช่างฝีมือโดยเฉพาะโรงงานหรือธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก
2. ผลกระทบจากการที่ชาวเกาหลีใต้ถูกปลูกฝังให้เกลียดงานประเภท 3 D คือ งานยากลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานเสี่ยงอันตราย (Dangerous) ซึ่งหมายถึงงานกรรมกร
3. นับตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบันค่าจ้างแรงงานในเกาหลีใต้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงสามเท่าตัว เป็นสาเหตุจูงใจให้แรงงานต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้น ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายของเกาหลีใต้ (Exit and Entry Control Act 1977) ไม่อนุญาตให้คนงานต่างชาติทำงานในเกาหลีใต้ ยกเว้นงานพิเศษบางประเภท และการเข้าไปฝึกอบรมการทำงานหรือเข้าไปทำงานผ่านบริษัทร่วมทุนของเกาหลีใต้
ที่ผ่านมา คนงานต่างชาติรวมทั้งคนงานไทยสามารถเข้าไปทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายของเกาหลีใต้ได้ 2 วิธี คือ เข้าไปทำงานในรูปของการฝึกงาน (training) ผ่านการจัดสรรโควต้าของสมาพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของเกาหลี (KFSB) เป็นเวลา 2 ปี และเข้าไปทำงานโดยผ่านการนำเข้าของสมาคมก่อสร้างเกาหลีโดยได้รับอนุญาตให้ทำงาน 1 ปี และต่ออายุได้ 1 ปี โดยที่การเข้าไปทำงานในรูปของการฝึกอบรมหรือผ่านสมาคมก่อสร้าง คนงานจะได้ค่าจ้างต่ำกว่าราคาค่าจ้าง
ในตลาดแรงงานทั่วไปร้อยละ 25-50 คนงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานโดยถูกกฎหมายร้อยละ 85 จึงผละหนีการทำงานในที่ทำงานเดิมไปหาที่ทำงานใหม่ จากข้อมูลที่ได้รับ คนงานประเภทฝึกงานของไทยได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 4-500,000 วอน (ประมาณ 20,000 บาท) แต่ถ้าไปทำงานในโรงงานโดยทำงานประเภทเดียวกันจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 800,000 วอน (ประมาณ 30,000 บาท)
เมื่อปลายปี 2546 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากที่ใช้ระบบผู้ฝึกงานอย่างเดียวเป็นการใช้ควบคู่กับระบบใบอนุญาตทำงานด้วย ซึ่งระบบใบอนุญาตทำงานนั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2546 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 ส.ค. 2547 โดยกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ได้คัดเลือกประเทศที่จะสามารถส่งคนงานไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบใหม่นี้จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา คาซัคสถาน และมองโกเลีย
เมื่อ 25 มิ.ย. 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เดินทางไปลงนาม MOU ฉบับดังกล่าวที่เกาหลีใต้ การลงนามในครั้งนี้นับเป็นการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาแรงงานถูกหลอกลวงและถูกบริษัทจัดหางานเอาเปรียบได้อย่างมาก

1.3.4 การท่องเที่ยว

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชาวเกาหลีใต้นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ได้เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าจะซบเซาลงไปบ้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในเกาหลีใต้ ระหว่างปี 2540-2541 แต่กลับฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2544 ก็ไม่กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาไทย แหล่งท่องเที่ยวของไทยที่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้นิยมได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยปี 2545 มีประมาณ 700,000 คน ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 15,000 ล้านบาท สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้มีประมาณ 50,000 คน ต่อปี โดยการเดินทางไปยังเกาหลีใต้ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นอันดับที่ 9 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้นิยมใช้มัคคุเทศก์ที่มีความรู้ภาษาเกาหลี แต่ไทยมีจำนวนมัคคุเทศก์ดังกล่าวเพียง 500 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อ ความต้องการ เนื่องจากอาชีพมัคคุเทศก์เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาไทยเป็นจำนวนมากและปัจจุบันรัฐบาลไทยได้หาหนทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนมัคคุเทศก์ภาษาเกาหลีด้วยการพิจารณาให้ใช้ล่ามชาวเกาหลีใต้แปลควบคู่กับมัคคุเทศก์ชาวไทย โดยจะพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้

1.3.5 การจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเกาหลีใต้
ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าไทย-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 11 เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2542 มีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้ได้มอบหมายให้ The Korean Institute for International Economic Policy (KIEP) เป็นผู้ศึกษาวิจัย และไทยมอบหมายให้กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ (ปัจจุบันคือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงพาณิชย์ทำการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะทำงานของแต่ละฝ่ายร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยใช้เวลาศึกษาวิจัยประมาณ 1 ปี (2543) ผลการศึกษาวิจัยในภาพรวมได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อมีนาคม 2544 ต่อมาฝ่ายเกาหลีใต้มีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสินค้าเกษตร โดยเกาหลีใต้จะรอผลการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับชิลีให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะเริ่มพิจารณาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่น รวมทั้งประเทศไทยต่อไป
เมื่อ 24-26 ส.ค. 2546 นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอกับฝ่ายเกาหลีใต้ในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันโดยใช้แนวทางการดำเนินการกับสินค้า 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มสินค้าที่เริ่มดำเนินการลดภาษีได้ทันที 2) กลุ่มสินค้าที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการระยะหนึ่ง และ 3) กลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่ต้องใช้เวลาในการเปิดตลาดในระยะยาว ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้แจ้งฝ่ายไทยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะตั้งองค์กรประจำขึ้นมาเพื่อพิจารณาการจัดทำเขตการค้าเสรีกับแต่ละประเทศต่อไป และว่าจะพิจารณาเรื่องการปฏิรูประบบเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรี
ฝ่ายเกาหลีใต้แจ้งด้วยว่าเกาหลีใต้ประสบปัญหาขาดบุคคลากรที่จะดำเนินการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย เนื่องจากขณะนี้เกาหลีใต้เริ่มมีการเจรจากับหลายประเทศมากขึ้น และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้บุคลากรมาก เกาหลีใต้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน หลังจากการศึกษาได้ข้อสรุป เกาหลีใต้ก็จะพิจารณาว่าจะดำเนินการเรื่องความตกลงการค้าเสรีกับแต่ละประเทศอาเซียนอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ มีประเทศอาเซียนอื่นๆ ทาบทามเกาหลีใต้ด้วย เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเสนอรูปแบบเป็น Trade and Investment Facilitation Agreement ซึ่งน่าจะทำได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามเกาหลีใต้ต้องการเวลาอีกระยะหนึ่งที่จะพิจารณากำหนดท่าทีและแนวทางที่ชัดเจนว่าจะทำความตกลงการค้าเสรี ในรูปแบบใด เมื่อใด

1.4 ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ

1.4.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 ให้ความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามใน MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ โดย MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในด้าน Solar Cells, Advanced Materials, Biotechnology, Nanotechnology, Electronic Computer, Nuclear Energy, Space Technology และ Meteorology ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ในระหว่างการพิจารณาช่วงกำหนดการลงนาม
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ (นายกร ทัพพะรังสี) ได้หารือกับนาย Kim You-seung ประธาน Korea Institute of Science and Technology (KIST) ในเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมันสำหรับรถยนต์และรถประจำทาง และการใช้ Nanotechnology ในการพัฒนาสมุนไพร ซึ่งนาย Kim รับว่าจะแจ้งชื่อบริษัทของเกาหลีใต้ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทราบ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูล สำหรับการใช้ Nanotechnology ในการพัฒนาสมุนไพรเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออก เช่น ยารักษาโรค อาหารเสริมและเครื่องสำอาง นาย Kim แจ้งว่า KIST มีความยินดีที่จะร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยขอให้นักวิจัยของทั้งสองประเทศได้หารือและทำวิจัยร่วมกัน ในชั้นแรกอาจจัดให้มีการประชุม Symposium ร่วมกัน เพื่อศึกษาความพร้อมและความต้องการของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ KIST ยินดีที่จะให้นักศึกษาจากประเทศไทยไปศึกษาที่ KIST ทั้งในระดับปริญญาโท-เอก หรือจะมาทำวิจัยโดยได้รับปริญญาจาก KIST ก็ได้
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ KIST โดย ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ได้ทรงลงพระนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 ณ กรุงโซล กรอบข้อตกลงครอบคลุมการแลกเปลี่ยนบุคลากร การสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกัน และการร่วมมือทางด้านวิชาการซึ่งรวมถึงการให้ปริญญาร่วมกัน
ได้มีการลงนามใน MOU ระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานพลังงานปรมาณู กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกาหลีใต้ เพื่อความร่วมมือด้านพลังงานปรมาณู เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547 ณ กรุงเทพฯ


1.4.2 การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC)
หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) เพื่อเป็นกลไกและติดตามการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อ ก.ค. 2541 การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมครั้งที่ 1 ได้มีขึ้นระหว่าง 20-21 มิ.ย.2546 ที่จ.เชียงใหม่ โดยทั้งสองได้หารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการค้า โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของกันและกัน ด้านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวด้านแรงงานไทย ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการหารือในประเด็นปัญหาภูมิภาคต่างๆ เช่น สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี การบูรณะฟื้นฟูอิรักภายหลังสงคราม และการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Joint Commission ครั้งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549

1.4.3 ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม

ไทยและเกาหลีใต้ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือทางวัฒนธรรมส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการแสดงทางวัฒนธรรม การประชุมสัมมนาทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางวัฒนธรรม และการเยือนของผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดกรอบการให้ความร่วมมือทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ระหว่างไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ประกอบด้วย 1) การแลกเปลี่ยนการเยือน เพื่อศึกษาดูงานของผู้บริหารงานวัฒนธรรมทั้งระดับสูงและระดับกลาง 2) การสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน 3) การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง ด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม 4) ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม อาทิ วรรณคดี ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ โบราณคดี จิตรกรรม หัตถกรรม และความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน 5) ความร่วมมือเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด้านความร่วมมือในการจัดโครงการนิทรรศการด้านศิลป์ ภาพยนตร์ แฟชั่น หรือดนตรี ความร่วมมือในการจัดอบรม สัมมนาปฏิบัติการเชิงวิชาการด้านการบริหารจัดการ ทางด้านวัฒนธรรม การจัดการพิพิธภัณฑ์ ศิลปะสมัยใหม่ งานออกแบบเชิงพาณิชย์สำหรับเครื่องแต่งกาย อบรมด้านนาฏศิลป์ ดนตรีร่วมสมัย และ 6) กิจกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะทางวัฒนธรรม
ในระหว่างการเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. 2547 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างกัน

* * * * * * *

กองเอเชียตะวันออก 4
กรมเอเชียตะวันออก
19 กรกฎาคม 2550

เรียบเรียงโดย กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5209-10Fax. 0-2643-5208 E-mail : eastasian05@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์