|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐสโลวัก Slovak Republic or Slovakia
|
|
สาธารณรัฐสโลวัก
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง อยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล
ทิศเหนือติดกับโปแลนด์ ทิศใต้ติดกับฮังการี ทิศตะวันออกติดกับยูเครน และทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐเช็ก และออสเตรีย
พื้นที่ ๔๙,๐๓๕ ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบราติสลาวา (Bratislava)
ประชากร ๕.๔ ล้านคน (สโลวัก ร้อยละ ๘๕.๘ ฮังกาเรียน ร้อยละ ๙.๗
เช็ก ร้อยละ ๐.๘ และอื่นๆ)
ภูมิอากาศ อากาศเย็นในหน้าร้อน และช่วงหน้าหนาวค่อนข้างหนาว
มีหมอกและอากาศชื้น
ภาษาราชการ สโลวัก ร้อยละ ๘๓.๙ ฮังกาเรียน ร้อยละ ๑๐.๗
ศาสนาคริสต์ (โรมันคาทอลิก ร้อยละ ๖๐.๓ โปรเตสแตนต์ ร้อยละ ๘.๔ และ ออร์โธดอกซ์ ร้อยละ ๔.๑)
หน่วยเงินตรา โครูนา (Koruna)
อัตราแลกเปลี่ยน ๒๙.๑๓ โครูนาเท่ากับประมาณ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ (เดือนมีนาคม ๒๕๕๐)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๔๖.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๔๙)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๕,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๔๙)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๗.๕ (ปี ๒๕๔๙)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเป็นระบบสภาเดียว
มีสมาชิก ๑๕๐ ที่นั่ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๖ โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นประมุข มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนาย Ivan Gasparovic นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน คือนาย Robert Fico
๑. การเมืองการปกครอง
๑.๑ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๔๙ นาย Robert Fico และพรรค Smer ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายเอาชนะรัฐบาลเก่าของนาย Mikulas Dzurinda หัวหน้าพรรค Slovak Democratic Coalition (SDK) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง ๘ ปี และมีนโยบายบริหารประเทศ โดยเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเสรี การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และการให้ความสำคัญกับการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้และสหภาพยุโรป จึงทำให้สโลวาเกียภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี Dzurinda ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น และประสบความสำเร็จในการผลักดันสโลวาเกียเข้าเป็นสมาชิก OECD สหภาพยุโรป และ นาโต้ในปี ๒๕๔๘ อย่างไรก็ตามความนิยมในรัฐบาลในระยะหลังกลับลดลง เนื่องจากความไม่แน่ใจของประชาชนเกี่ยวกับอนาคตของสโลวาเกียภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ความขัดแย้งและการคอรัปชั่นภายในรัฐบาล อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น และความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศ ส่งผลให้พรรค SDK ของนาย Dzurinda พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อ
พรรค Smer ของนาย Robert Fico ในที่สุด
๑.๒ รัฐบาลปัจจุบันของนาย Robert Fico ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายบริหาร คือเน้นความเป็นชาตินิยม ประกอบไปด้วยการให้ความสำคัญกับการปฎิรูประบบสวัสดิการสังคม และการระงับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่แล้ว ปัจจุบัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยังคงได้การยอมรับจากประชาชนสโลวาเกียในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและนานาประเทศที่เห็นว่านโยบายของรัฐบาลจะส่งผลให้สโลวาเกียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลง
๒. นโยบายต่างประเทศ
๒.๑ นโยบายต่างประเทศในปัจจุบัน ภายใต้การนำของนาย Jan Kubis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนักการทูต ซึ่งเชี่ยวชาญการทูตพหุภาคี เปลี่ยนแนวทางจากการให้ความสำคัญและสร้างความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาเป็นการให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป และปรับนโยบายต่างประเทศตามแนวทางของสหภาพยุโรปแทน
๒.๒ ปัจจุบันสโลวาเกียมีบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของ OSCE OECD นาโต้ และ สหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗
๒.๓ ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสโลวาเกียกับฮังการีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสโลวาเกีย อันเนื่องมาจากปัญหาชนกลุ่มน้อยเชื้อสายฮังกาเรียนใน สโลวาเกีย ซึ่งมีอยู่ประมาณประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คน หรือ ร้อยละ ๙.๗ (ฮังการีเคยปกครองสโลวาเกียอยู่กว่า ๑,๐๐๐ ปีภายใต้จักรวรรดิออสโตร-ฮังการเรียน จึงมีชาวฮังการีในสโลวาเกียจำนวนมาก) ในสมัยของนายกรัฐมนตรี Meciar ได้เคยออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของชาวฮังกาเรียน เช่น ประกาศใช้ภาษาสโลวักเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว อีกทั้งยังห้ามใช้ป้ายภาษาฮังการีแม้แต่ในย่านที่อยู่อาศัยของชาว
ฮังกาเรียนกลุ่มน้อย ในขณะที่ฮังการีได้ออกกฎหมายที่จะให้สิทธิและความคุ้มครองชนเชื้อสายฮังการีแม้จะเป็นประชากรของประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้ประเทศทั้งสองมีความขัดแย้งกันในระดับหนึ่ง
๓. เศรษฐกิจ
๓.๑ เศรษฐกิจของสโลวาเกียเริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลของนาย Mikulas Dzurinda ได้เข้ามาบริหารประเทศในปี ๒๕๔๑ โดยนโยบายหลักของรัฐบาลคือการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาด การสร้างเสถียรภาพ และการปฏิรูปโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจมหภาค ตลอดจนดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและระบบธนาคาร ซึ่งส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจของสโลวักมีความมั่นคงและการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น สโลวาเกียเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) ที่สูงมากเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่
เอื้ออำนวยการลงทุนจากต่างชาติ (ธนาคารส่วนใหญ่ในประเทศเป็นของคนต่างชาติ) ศักยภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สูง เนื่องจากในสมัยสังคมนิยมถูกกำหนดให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าจักรกล อุปกรณ์โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้สโลวาเกียยังมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงที่ถูก และแรงงานมีการศึกษา มีระบบโครงสร้างภาษีที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติ อาทิ U.S. Steel, Volkswagen, Siemens, Plastic Omnium Matsushita, Deutsche Telecom และ Sony เข้าไปลงทุนในสโลวาเกีย นอกจากนี้ สโลวาเกียยังเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูกสำหรับประเทศ
ในสหภาพยุโรปอีกด้วย
๓.๒ ภายหลังจากที่นาย Robert Fico เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๔๙ มีนโยบายที่เน้นความเป็นชาตินิยมและการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดน้อยลงกว่า ๒-๓ ปีก่อน โดยมีการคาดการณ์กันว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในระดับร้อยละ ๖.๕-๗ ในปี ๒๕๕๐
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสโลวัก |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
๑.๑ การทูต
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสโลวาเกียขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๖ ฝ่ายสโลวาเกียได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตขึ้นในไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ สำหรับไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา มีเขตอาณาดูแลสโลวาเกีย และจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ขึ้นที่ กรุงบราติสลาวา ปัจจุบันนาย Alexander Rozin ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทยประจำสโลวาเกีย
๑.๒ ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ความสัมพันธ์ไทยกับสโลวาเกียเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยที่สโลวาเกียยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเชโกสโลวาเกีย โดยมีหลายกลไกที่พร้อมจะช่วยผลักดันความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสองประเทศ อาทิ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและสโลวักที่ลงนามเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ นอกจากนี้ไทยและสโลวาเกียังมีความร่วมมือพหุภาคียภายใต้กรอบ Asia-Europe Meeting (ASEM) และ ASEAN-EU
ไทยและสโลวาเกียยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในการเสด็จฯ เยือนสโลวาเกียอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนาย Michal Kovac ประธานาธิบดีสโลวาเกียเมื่อวันที่ ๒๐-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ส่วนฝ่ายสโลวาเกีย นาย Jozef Moravcik รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวาเกียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๗-๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๖
๑.๓ ความมั่นคง
ปัจจุบัน ยังไม่มีความร่วมมือทางทหารระหว่างสโลวาเกียกับไทยอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามสโลวาเกียได้แสดงประสงค์จะร่วมมือทางทหารและการซื้อขายอาวุธมากขึ้น และเสนอจะจัดการเครื่องเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้แก่ไทย
๑.๔ เศรษฐกิจ
๑.๔.๑ การค้า
มูลค่าการค้ารวมในปี ๒๕๔๙ อยู่ที่ ๕๔.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก ๓๙.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า ๒๓.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ยางพารา เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แร่ดิบ ผลิตภัณฑ์ไม้ ยากำจัดศัตรูพืช เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
๑.๔.๒ การลงทุน
มีบริษัทของไทย ๒ บริษัทเข้าไปลงทุนในสโลวาเกีย กล่าวคือ บริษัทคอมพิวเตอร์ Delta และบริษัท Jimpex Biotechnology ซึ่งดำเนินกิจการด้านพลังน้ำ ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีบริษัทของสโลวาเกียเข้ามาลงทุนในไทย
๑.๔.๓ การท่องเที่ยว
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสโลวาเกียมาเยือนไทยเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๙ มีถึง ๒๘๑๘ คน ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยเยือนยูเครนยังมีไม่ค่อยมากนัก โดยในปี ๒๕๔๙ มีประมาณ ๔๐๐ กว่าคน นอกจากนี้รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้แสดงความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยอาจใช้โอกาสการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทยกับ
สโลวาเกียครั้งที่ ๑ ที่อาจจะจัดขึ้นในปี ๒๕๕๐ ในการหารือรายละเอียด
๑.๔.๕ ความร่วมมือทางวิชาการ
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ รัฐบาลสโลวาเกียมีการมอบทุนรัฐบาลให้กับนักศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษาและระดับปริญญาตรีเป็นประจำทุกปี
๑.๕ สังคมและวัฒนธรรม
ปัจจุบันยังไม่ปรากฏความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศที่เด่นชัด ในปี ๒๕๔๙ คนไทยที่ไปประกอบอาชีพส่วนตัวและเป็นนักศึกษาที่สโลวาเกียมีอยู่ประมาณ ๓๐ คน
๑.๖ แนวโน้มความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากสโลวาเกียมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมสูง และมีแรงงานที่ถูกและมีความชำนาญที่สูง ในขณะเดียวกัน สโลวาเกียก็ให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น โดยมองว่าไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สูง และไทยมีศักยภาพที่จะเป็นประตูส่งออกสินค้าของสโลวาเกียไปสู่ตลาดอื่นๆ ในประเทศกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ การที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมครั้งที่ ๑ นั้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการหารือความตกลงที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะหาลู่ทางการค้าใหม่ๆ ร่วมกัน ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมือง ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน สโลวาเกียเริ่มมีบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น จากการที่สโลวาเกียได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ และยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป OSCE และ OECD ด้วย
๒. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ความตกลงที่ลงนามแล้ว ได้แก่
๒.๑ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมสโลวัก (ลงนามเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑)
๒.๒ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและสโลวัก (ลงนามเมื่อปี ๒๕๔๓)
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา
๒.๓ ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
๒.๔ อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้
๓. การเยือนที่สำคัญ
๓.๑ ฝ่ายไทย
๓.๑.๑ ระดับพระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ ๒๐-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในการเสด็จฯ เยือนสโลวาเกีย
อย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนาย Michal Kovac ประธานาธิบดีสโลวาเกีย
๓.๑.๒ บุคคลระดับสูง
- วันที่ ๕-๖ ธันวาคม ๒๕๔๔ ดร.ประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เยือนสโลวาเกีย
- วันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศเยือนสโลวาเกียอย่างเป็นทางการ
๓.๒ ฝ่ายสโลวาเกีย
- วันที่ ๗-๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๖ นาย Jozef Moravcik รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศสโลวาเกียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ ๒๔-๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ นาย Vladimir Meciar นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย
เดินทางมาเยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ ๑-๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ นาย Jozef Sestak ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
สโลวาเกียเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ ๒-๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ นาย Jaroslav Chlebo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
การต่างประเทศสโลวาเกีย เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวง
การต่างประเทศ
- วันที่ ๑๕-๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ นาย Michal Kovac อดีตประธานาธิบดีสโลวาเกีย
และภริยา เดินทางมาเยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ นาย Juraj Migas อธิบดีกรมการเมืองกระทรวง
การต่างประเทศสโลวาเกีย เดินทางเยือนไทย เพื่อร่วมประชุมหารือภายใต้กรอบพิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและสโลวาเกีย
สิงหาคม 2550
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|