|
แผนที่
|
สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย Federal Republic of Somalia
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดจิบูตี
ทิศตะวันตกติดเอธิโอเปีย
ทิศตะวันออกติดมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดเคนยา
พื้นที่ 637,660 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงโมกาดิซู (Mogadishu)
ภูมิอากาศ อากาศร้อนแบบทะเลทราย
จำนวนประชากร 10,400,000 คน (2549)
เชื้อชาติ โซมาเลียร้อยละ 85 บันทูและอาหรับร้อยละ 15
ภาษา ภาษาโซมาลีเป็นภาษาทางการ ทางตอนใต้ของประเทศใช้
ภาษาอารบิคและอิตาลี ส่วนทางตอนเหนือใช้ภาษาอังกฤษ
ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่
สกุลเงิน Somali Shilling (SoSh)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 20,000 SoSh (2549)
การเมืองการปกครอง
โซมาเลียปกครองในระบบสหพันธรัฐแบบสภาเดียว (unicameral) ปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลถาวร โดยรัฐบาลชั่วคราว (Transitional Federal Government: TFG) ทำหน้าที่บริหารประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 โดยจะบริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี ฝ่ายบริหารประกอบด้วยประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ โดยได้รับเลือกโดยสมัชชาสหพันธรัฐรักษาการ (Transitional Federal Assembly) และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีและต้องได้รับการรับรองจากสมัชชาสหพันธรัฐรักษาการ ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งมีสภาเดียวคือ สมัชชาสหพันธรัฐรักษาการประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 275 คน โดยชนกลุ่มใหญ่ 4 เผ่า (Darod, Digil-Mirifle, Dir และ Hawiye) ส่งผู้แทนเข้าร่วมแต่ละเผ่าจำนวน 61 คน และอีก 31 คน เป็นผู้แทนมาจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ฝ่ายตุลาการยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลถาวร ปัจจุบันแต่ละชนเผ่าใช้จารีตประเพณีหรือกฎหมายชารีอะ (Sharia Law) เป็นกฎหมายของแต่ละท้องถิ่น
โซมาเลียไม่มีรัฐบาลปกครองประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในปี 2534 นอกจากนั้น รัฐ Somaliland และรัฐ Puntland มีความพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งยังได้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนเผ่าต่างๆ มาโดยตลอด ทำให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางออกโดยการเจรจาเรื่อยมา การเจรจาสันติภาพในปี 2546 ได้เห็นชอบในความตกลงต่างๆ เกี่ยวกับร่างกฎบัตรของสหพันธรัฐชั่วคราว และได้แต่งตั้งให้นาย Abdullahi Yusuf Ahmed เป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์ ซึ่งได้แต่งตั้งนาย Ali Mohamed Ghedi เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ (Transitional Federal Government: TFG) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้งภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชั่วคราวยังไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ และต้องคอยปราบปรามกลุ่มกบฏต่างๆ อยู่โดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มติดอาวุธภายใต้การนำของ the Union of Islamic Court (UIC) ซึ่งยังคงมีการต่อสู้กันอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจ
แม้โซมาเลียจะยังคงมีความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจของประเทศก็ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ เนื่องจากรัฐต่างๆ ในประเทศมีอำนาจกึ่งอธิปไตย (semi-autonomity) ทำให้สามารถปกป้องเศรษฐกิจของตนเองได้ ภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปศุสัตว์ โดยร้อยละ 40 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศมาจากภาคเกษตรกรรม และรายได้จากการส่งออกร้อยละ 65 มาจากภาคเกษตรกรรม โดยซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำเข้าหลักสินค้าปศุสัตว์จากโซมาเลีย สินค้าส่งออกที่สำคัญของโซมาเลีย ได้แก่ ปศุสัตว์ หนังสัตว์ ปลา ถ่านหิน และกล้วย และประเทศที่โซมาเลียส่งสินค้าออกไป ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน โอมาน ไนจีเรีย และคูเวต (2548) ส่วนสินค้าที่โซมาเลียนำเข้า ได้แก่ น้ำตาล ข้าวฟ่าง ข้าวโพด และสินค้าประเภทเครื่องจักร โดยประเทศที่โซมาเลียนำเข้าสินค้า ได้แก่ จิบูตี เคนยา อินเดีย บราซิล และโอมาน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ด้านการเมืองและการทูต
ไทยและโซมาเลียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 โดยไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา มีเขตอาณาครอบคลุมโซมาเลีย และโซมาเลียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโซมาเลียประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีเขตอาณาดูแลไทย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังมีไม่มากนัก ไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนระดับสูงระหว่างกัน
ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยกับโซมาเลียอยู่ในปริมาณไม่มาก ในปี 2549 มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกของไทยไปยังโซมาเลียมีมูลค่าทั้งสิ้น 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังโซมาเลีย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลไม้กระป๋องและ แปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ไทยนำเข้าจากโซมาเลีย มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไนโรบี
(Royal Thai Embassy, Nairobi)
Rose Avenue, off Denis Pritt Rd, P.O. Box 58349, Nairobi
Tel. (254-2) 715243, 715800, 715796, 714276
Fax. (254-2) 715801, 715802
E-mail : thainbi@form-net.com
Website : http://www.thaiembassy.org/nairobi
สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลียประจำกรุงปักกิ่ง
(The Embassy of the Federal Republic of Somalia)
No. 2, San Li Tun Lu, Chao Yang Distrist, Beijing, The People's Republic of China
Tel: (8610) 6532-1651, 6532-0717
Fax: (8610) 6532-1752
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5051-52 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|