|
แผนที่
|
สาธารณรัฐซูดาน Republic of the Sudan
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง และมีพรมแดนติดกับประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ได้แก่ อียิปต์ ลิเบีย ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอริเทรีย เอธิโอเปีย คองโก ยูกันดา และเคนยา
พื้นที่ 2,505,810 ตารางกิโลเมตร (967,493 ตารางไมล์) เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา
เมืองหลวง กรุงคาร์ทูม (Khartoum)
ภูมิอากาศ ร้อนแห้งแล้งแบบทะเลทราย
จำนวนประชากร 39.38 ล้านคน (ก.ค. 2550)
เชื้อชาติ แอฟริกันร้อยละ 52 อาหรับร้อยละ 39 เบจาร้อยละ 6 อื่นๆ ร้อยละ 3
ภาษา ภาษาอาราบิกเป็นภาษาราชการ
ศาสนา มุสลิมร้อยละ 70 คริสเตียนร้อยละ 5 และอื่น ๆ ร้อยละ 25
วันชาติ 1 มกราคม
รูปแบบการปกครอง เป็นระบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี Lt.Gen. Umar Hasan Ahmad al-Bashir (2532-ปัจจุบัน)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Lam Akol (2548-ปัจจุบัน)
สถาบันทางการเมือง
ฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้ระบบสองสภา ได้แก่ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) มีสมาชิก 450 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และคณะมนตรีแห่งชาติ(Council of States) มีสมาชิก 50 คน (มาจากแต่ละรัฐ รัฐละ 2 คน) มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีโดยนาย Omar Hassan Ahmad al-Bashir ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีรองประธานาธิบดี 2 คน คือ นาย Salva Kiir รองประธานาธิบดีคนที่ 1 และนาย Ali Osman Taha รองประธานาธิบดีคนที่ 2
ฝ่ายตุลากร ศาลสูง (Supreme Court)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) 39.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 740 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 9.6 (2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 7.5 (2549)
หนี้สินต่างประเทศ 29.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 2,784.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
มูลค่าการค้า ปี 2549 มูลค่าการค้ารวม 14.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออก 5.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 8.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เสียเปรียบดุลการค้า 2.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
ทรัพยากรธรรมชาติ ปิโตรเลียม (ปริมาณน้ำมันดิบสำรอง 262 ล้านบาร์เรล)
สินค้าออกที่สำคัญ น้ำมัน ฝ้าย เมล็ดงา ปศุสัตว์ ถั่วลิสง น้ำตาล
สินค้าเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ สินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์ยานยนต์ ยา เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ข้าวสาลี
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ส่งออกไปยัง จีน 46.7% ญี่ปุ่น 32.7% ซาอุดีอาระเบีย 3.9% อียิปต์ 2.5%
นำเข้าจาก จีน 20.6% ซาอุดีอาระเบีย 8.6% เยอรมนี 4.4% สหรัฐอาหรับเอมิเรต 4.4% (2549)
สกุลเงิน ซูดานดีนาร์ (Sudanese Dinar- SD)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 217.2 SDD (2549)
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ซูดานเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษและอียิปต์ เมื่อปี 2428 ชาวซูดานพยายามเรียกร้องเอกราชแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ซูดานได้รับเอกราชจากอังกฤษ เนื่องจากมีการประท้วงทั่วประเทศ หลังจากนั้น ซูดานมีระบบการปกครองสลับกันระหว่างโดยระบบทหารและประชาธิปไตย โดยมีผู้นำทางการเมืองมาจากภาคเหนือของประเทศ ต่อมาในปี 2532 Lt. Gen Omar Hassan Ahmed al-Bashir ได้ก่อรัฐประหารและปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ซูดานยังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งในประเทศระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านชาวคริสเตียนทางภาคใต้ของประเทศ
สถานการณ์การเมือง
นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ซูดานตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกลางเมืองมาโดยตลอด สงครามกลางเมืองช่วงแรกสิ้นสุดลงเมื่อปี 2515 ถัดมาอีกเพียง 11 ปี สงครามกลางเมืองครั้งที่สองก็เริ่มขึ้นใหม่ในปี 2526 ระหว่างซูดานทางเหนือที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และเป็นฝ่ายรัฐบาลกับซูดานทางตอนใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์และความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกองกำลังต่อต้าน เรียกว่า Sudan Peoples Liberation Movement (SPLM) สงครามครั้งนี้ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ ก่อให้เกิดผู้พลัดถิ่นกว่า 4 ล้านคน และเสียชีวิตอีก 2 ล้านคน ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงสันติภาพ (Comprehensive Peace Agreement: CPA) ระหว่างกันเมื่อเดือนมกราคม 2548 ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ตกลงให้มีการตั้งโครงสร้างการปกครองที่ทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วม เช่น ให้ผู้นำของ SPLM เป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง จัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรค National Congress Party (NCP) ของรัฐบาลและกลุ่ม SPLM ภายใต้ชื่อ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (Government of National Unity: GNU) แบ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันระหว่างฝ่ายเหนือและใต้ในอัตราส่วนร้อยละ 50:50 และให้ฝ่ายใต้มีอำนาจปกครองตนเอง (autonomy) เป็นเวลา 6 ปี ก่อนจะให้ประชาชนลงประชามติเลือกอนาคตของตนเองต่อไป
ปัจจุบันซูดานมีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล โครงสร้างการปกครองแบ่งเป็น ฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐมนตรี มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาสูง หรือคณะมนตรีแห่งรัฐ (Council of States) มีสมาชิก 50 คน ได้รับการเลือกตั้งจากรัฐทั้ง 25 รัฐ รัฐละ 2 คน และสภาล่าง หรือ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) มีสมาชิก 450 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านเดิม และอื่นๆ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปี และคณะมนตรีแห่งชาติ (Council of States) มีสมาชิก 50 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในราวปี 2551-2552
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
1. ประเด็นหลักในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของซูดานในขณะนี้ คือ ประเด็นปัญหาดาร์ฟูร์ รัฐบาลซูดานโดนกล่าวหาจากชาติตะวันตกว่า ปฏิบัติการต่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและประชาชนในดินแดน ดาร์ฟูร์อย่างไม่มีมนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยการส่งกองกำลังมุสลิมติดอาวุธที่เรียกว่าพวก Janjaweed บุกจู่โจม เผาทำลายหมู่บ้านประชาชนอย่างโหดเหี้ยม อย่างไรก็ดีรัฐบาลซูดานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด สหภาพแอฟริกา (African Union: AU) ได้ส่งกองกำลังเข้าไปตรวจตราสถานการณ์ความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2547 และได้พยายามจัดการเจรจาสันติภาพขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ได้มีการลงนามสัญญาสันติภาพดาร์ฟูร์ขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการแบ่งสรรอำนาจ แบ่งสรรรายได้ การหยุดยิงและการจัดการด้านความมั่นคง อย่างไรก็ดี สัญญาสันติภาพนี้ ครอบคลุมเพียงบางส่วนของฝ่ายต่อต้านในดาร์ฟูร์เท่านั้น
2. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ 1706 ให้ส่งกองกำลังทหารรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชนจำนวน 17,000 นายเข้าไปสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในดาร์ฟูร์ แทนที่กองกำลังของสหภาพแอฟริกา (African Union Mission in the Sudan: AMIS) จำนวน 7000 นายที่อ่อนกำลังและไม่สามารถปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในดาร์ฟูร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี รัฐบาลซูดานต่อต้านอย่างเต็มที่ต่อข้อมติดังกล่าว จนกระทั่งปลายปี 2549 ที่ประธานาธิบดีแห่งซูดานมีท่าทีผ่อนปรนขึ้น ยินยอมให้องค์การสหประชาชาติเข้าไปเสริมความเข้มแข็งด้านเทคนิคและยุทธปัจจัยให้แก่กองกำลังของสหภาพแอฟริกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างซูดานและองค์การสหประชาชาติมีปัญหาอีกครั้ง เมื่อซูดานได้ปฏิเสธการออกวีซ่าให้แก่บุคคลบางคนในคณะผู้แทนจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ซึ่งมีภารกิจในการเข้าไปหาข้อเท็จจริงในดินแดนดาร์ฟูร์ ตามมติที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 เมื่อ 13 ธันวาคม 2549
3. ซูดานเป็นประเทศหนึ่งที่เคยถูกสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายสากล เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2541 สหรัฐฯ ยิงจรวดถล่มโรงงานเภสัชกรรมซูดานในกรุงคาร์ทูมเพื่อตอบโต้การที่ซูดานมีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายและการลอบวางระเบิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเคนยาและแทนซาเนีย โดยอ้างว่า โรงงานดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอาวุธเคมี พร้อมทั้งประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางทหารต่อซูดาน อย่างไรก็ดี ซูดานปฏิเสธและมีหนังสือเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้าไปพิสูจน์ ในปีต่อมาสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรซูดานเพื่อเปิดทางให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อซูดาน ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ มีความพอใจที่รัฐบาลคาร์ทูมให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้าย
4. สำหรับความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกา ปัจจุบันซูดานเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแอริกา (African Union: AU) และองค์การตลาดร่วมแห่งแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก (Common Market for Eastern and Southern Africa :Comesa)
ซูดานเป็นประเทศเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบแหล่งน้ำมัน และเริ่มผลิตน้ำมัน ในปี 2542 และในขณะนี้สามารถผลิตได้ถึง 250,000 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบได้ประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน นำรายได้เข้าประเทศ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทต่างชาติเดินทางมาเยือนซูดาน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในด้านกิจการน้ำมันในซูดาน ซึ่งขณะนี้ จีน แคนาดา และมาเลเซีย ได้ร่วมลงทุนสร้างท่อส่งน้ำมันในซูดานแล้ว ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของซูดานได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองทำให้สาธารณูปโภคถูกทำลาย การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และการที่มีประชากรผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยกว่า 4 ล้านคนอยู่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนจะยังคงมีส่วนอย่างมากในการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากแบบสังคมนิยมมาเป็นเศรษฐกิจการตลาด
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐซูดาน |
ด้านการเมือง
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับซูดานเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2525 โดยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีเขตอาณาคลุมถึงประเทศซูดาน เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันคือนายนภดล เทพพิทักษ์ และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม คือนาย Gamal B. Elnefeidi ส่วนฝ่ายซูดานมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตซูดานประจำประเทศมาเลเซีย ดูแลประเทศไทย กงสุลกิตติมศักดิ์ซูดานประจำประเทศไทยคือ นาย Yahia Elmakki Mohamed
ด้านเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ไทย-ซูดานทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ด้วยดี มูลค่าการค้าไทย-ซูดานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) โดยมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 1,561 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด ยกเว้นปี 2546 ที่ไทยขาดดุลการค้า เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าประเภทด้ายและเส้นใยจากซูดานจำนวนมาก
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศในปี 2549 มีมูลค่า 3,485.5 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.86 และเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมาก โดยไทยส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 3,361.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 1,508 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับการนำเข้าสินค้านั้น ไทยนำเข้าสินค้าจากซูดานเป็นมูลค่า 124.3 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ด้ายและเส้นใย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
ศักยภาพการเข้าไปลงทุนในซูดานของนักธุรกิจไทย
แม้สหประชาชาติจะจัดซูดาน เป็น 1 ใน 50 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกแต่ซูดานก็มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยสังเกตได้จากการก่อสร้างที่มีมากขึ้นบริเวณกรุงคาร์ทูม อย่างไรก็ดี สินค้าอุปโภคบริโภคยังมีราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากได้มีการลงนามสันติภาพแล้วเมื่อ 9 มกราคม 2548 ซูดานจึงให้ความสนใจต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ซูดานเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกามีพื้นที่มากกว่าประเทศไทย 4 เท่า มีแม่น้ำบลูไนล์และไวท์ไนล์ไหลมาบรรจบที่กรุงคาร์ทูม ทำให้พื้นที่สองฟากฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์
แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและซูดานยังไม่มาก แต่ซูดานมีความต้องการสินค้าจากไทย เช่น เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง อาหารกระป๋องและไทยนำเข้าฝ้าย การค้าส่วนใหญ่ผ่านประเทศที่สาม ซึ่งหากมีการติดต่อโดยตรงจะช่วยให้ต้นทุนของสินค้าลดลงและสามารถขยายสินค้าเข้าไปจำหน่ายในซูดานได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปลงทุนในซูดานได้อีกมาก เพราะไทยมีแรงงานและช่างฝีมือไทยซึ่งฝีมือดีเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคการก่อสร้างที่กำลังขยายตัวและในธุรกิจบริการ ทั้งนี้ หากวัสดุก่อสร้างจากประเทศไทยสามารถเข้ามาในซูดานได้ก็จะยิ่งทำให้มีผู้ประกอบการชาวไทยมีโอกาสเจาะตลาดได้อีกมาก เนื่องจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของซูดานต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและคงทนถาวร มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน (value for money) และที่สำคัญต้นทุนไม่สูงมากอย่างของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ถึงแม้ซูดานจะยังมีปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศและมีความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในภาคใต้และเขต Darfur แต่โดยข้อเท็จจริงการทำธุรกิจในซูดานกำลังขยายและมีการติดต่อธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางซึ่งมีสายการบินของซูดานและต่างชาติอื่น ๆ บินเข้า-ออกซูดานทุกวัน ปัจจุบันประเทศในอาเซียนเข้าไปทำธุรกิจในซูดาน เช่น บริษัทน้ำมันของมาเลเซียและอินโดนีเซีย
สถิติการค้าไทย - ซูดาน ดูเอกสารแนบ
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
- นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา และคณะเดินทางเยือนซูดานระหว่างวันที่ 11 15 มิถุนายน 2544
- อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนไทยเยือนซูดาน และร่วมประชุม Working Group Dialogue ครั้งที่ 1 ที่กรุงคาร์ทูม เมื่อวันที่ 13 15 กันยายน 2546
- นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รมช.พณ. เยือนซูดาน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548
- ฯพณฯ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนซูดาน ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2549 เพื่อร่วมประชุม Executive Council ของ African Union
- นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนซูดาน ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2550
ฝ่ายซูดาน
- ประธานรัฐสภาซูดานเยือนไทยระหว่างวันที่ 5 9 มีนาคม 2545 และเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเห็นพ้องให้จัดตั้ง Working Group Dialogue ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศ
- Dr. Mosfa Osman Esmael รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดานแวะพักเปลี่ยนเที่ยวบินที่ประเทศไทยเพื่อเดินทางไปเมืองดูไบเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548
- นาย Lam Akol Ajawin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดานเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2549
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
ไทยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตประจำอียิปต์ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำซูดาน โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้แก่ นายนภดล เทพพิทักษ์
Royal Thai Embassy
9 Tiba Street , Dokki
Giza, Cairo,
EGYPT.
Tel. (202) 336-7005, 760-3553-4
Fax. (202) 760-5076, 760-0137
E-mail : thaiemb@starnet.com.eg
สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงคาร์ทูม โดยไทยได้มอบหมายให้นาย Gamal Bashir Elnefeidi ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำสาธารณรัฐซูดาน
Royal Thai Consulate
Elnefeidi Group Building, Parlman Street,
P.O.Box 2206, East Khartoum, SUDAN
Tel. 249-11-780500 , 249-11-784012
Fax. 249-11-770996 , 249-11-785090
E-mail : thai@elnefeidigroup.com
Office Hours: 09.00-16.30 hrs
ฝ่ายซูดาน
ซูดานมอบหมายให้ออท.ซูดานประจำมาเลเซียดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตซูดานประจำประเทศไทย ได้แก่ นาย Abdel Rahman Hamza Elrayah Hamza
Embassy of the Republic of the Sudan
No. 2 & 2A Persiaran Ampany
Off jalan Ru 55000
Kuala Lumpur or P.O.Box 12591
MALAYSIA.
Tel. (603) 4256-9104, 4251-6054, 4252-5631
Fax. (603) 4256-8107
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|