|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
ราชอาณาจักรสวีเดน Kingdom of Sweden
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ทิศเหนือติดกับประเทศนอร์เวย์และฟินแลนด์ ทิศตะวันออกติดกับอ่าวบอทเนีย ทิศใต้ติดกับทะเลบอลติก ทิศตะวันตกติดกับประเทศนอร์เวย์
พื้นที่ 486,601 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 8.9 ล้านคน กลุ่มชนชาติ ชาวซอมิ (แลปป์) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยประมาณ 15,000 คน
ภาษา ภาษาสวีเดนเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ ใช้ภาษาซอมิและภาษาฟินแลนด์เป็นส่วนน้อย
ศาสนา ร้อยละ 80 นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Lutheran State Church
เมืองหลวง กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm)
สกุลเงิน Swedish Krona (SEK) อัตราแลกเปลี่ยน 1 โครน ประมาณ 5.00 บาท 9 โครน ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
วันชาติ 6 มิถุนายน
ระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเดียว โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสวีเดนมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ประกอบด้วยกฎหมายขั้นมูลฐาน รวม 4 ฉบับ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1809
ประมุขสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ (King Carl XVI Gustaf)
นายกรัฐมนตรี นาย Frederik Reinfeldt (ตุลาคม 2549)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Carl Bildt (ตุลาคม 2549)
สถาบันการเมือง ระบบรัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว (Unicameral) เรียกว่า รีคสด๊าก (Riksdag) ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 349 คน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐสภาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 4 จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ ประธานรัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับฝ่ายตุลาการแยกเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
รัฐสภา นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 สวีเดนมีรัฐสภา เรียกว่า รีคสด๊าก (Riksdag) เป็นระบบสภาเดียว โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสวีเดนเมื่อปี ค.ศ.1968-1969 ได้ยกเลิกระบบ 2 สภา ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1860 สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 349 คน ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี โดยได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนชาวสวีเดนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของสวีเดนเป็นการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน(proportional representation) ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการกระจายที่นั่งระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ไปตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคต่าง ๆ ได้รับทั่วประเทศและป้องกันมิให้เกิดพรรคการเมืองเล็ก ๆ ขึ้นมากมาย พรรคการเมืองที่จะมีสมาชิกในรัฐสภาได้ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4
รัฐสภาสวีเดนประกอบด้วย ประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 3 คน กรรมาธิการ 15 คณะ สมัยประชุมรัฐสภาจะมีอยู่ประมาณปีละ 8 เดือน โดยจะมีการปิดสมัยประชุมตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-กันยายน คณะกรรมาธิการจะมีการประชุมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ส่วนการประชุมรัฐสภาจะมีทุกสัปดาห์ตั้งแต่วันอังคาร-วันพฤหัสบดี
พรรคการเมือง
พรรคการเมืองที่สำคัญของสวีเดนที่มีที่นั่งในสภาในปัจจุบันมีอยู่ 7 พรรค คือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) พรรคโมเดอเรท (Moderate Party) พรรคเสรีนิยม (Liberal Party) พรรคเซนเตอร์ (Center Party) พรรคคริสเตียนเดโมแครท (Christian Democratic Party) พรรคกรีน (Green Party) พรรคเลฟท์ (Left Party)
พัฒนาการการเมืองภายในประเทศ
1. การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2541 (ค.ศ.1998)
ผลปรากฏว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Goran Persson ยังคงได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 131 ที่นั่ง (เมื่อปี 2537 (ค.ศ.1994) ได้รับเลือกตั้ง 162 ที่นั่ง) อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยจะไม่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภานายกรัฐมนตรี Persson ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2541
2. การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2545 (ค.ศ.2002)
ผลปรากฏว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี Goran Persson ยังคงได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 144 ที่นั่ง และได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเสียงข้างน้อยในสภา และนายกรัฐมนตรี Goran Persson ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน
2.1 การปรับคณะรัฐมนตรีสวีเดน
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 สำนักนายกรัฐมนตรีสวีเดนได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรี ในบางตำแหน่ง โดยแต่งตั้งให้ นาง Laila Freivalds ( ไลลา ไฟรวัลด์) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนคนใหม่สืบแทนนาง Anna Lindh ซึ่งได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 และแต่งตั้งให้นาง Barbro Holmberg ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการนโยบายผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง นาง Carin Jamtin ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสืบแทนนาย Jan O. Karlsson ซึ่งเป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา นโยบายผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนในสมัยที่นาง Anna Lindh ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (2541-2546) นอกจากนี้ นาง Margareta Winberg รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกจากตำแหน่งในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ด้วยและจะไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำบราซิล ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2546
3. การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2549
ผลปรากฏว่า กลุ่มการรวมตัวทางการเมืองของพรรคร่วมฝ่ายค้านในนาม \"Alliance for\" ซึ่งประกอบด้วยพรรค Moderate พรรค Centre พรรค Liberal และพรรคChristian Democratsประสบชัยชนะเหนือพรรคร่วมรัฐบาลคือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrats) ของนายกรัฐมนตรี Goran Persson และพรรค Green และพรรค Left ทั้งนี้ กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านดังกล่าวได้สนับสนุนให้นาย Frederik Reinfeldt หัวหน้าพรรค Moderate ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสวีเดน คนใหม่สืบแทนนาย Persson ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของสวีเดน
รัฐบาล
อำนาจทางการเมืองเป็นของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีจำนวน 22 คน (เป็นชาย 11 คน หญิง 11 คน) มีนายกรัฐมนตรี 1 คน
ในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1998 นายกรัฐมนตรี Persson ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการกระทรวงต่าง ๆ ใหม่ ดังนี้
- ยุบกระทรวงการขนส่งและคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และกระทรวงมหาดไทย เพื่อรวมกันเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์
- แบ่งความรับผิดชอบในกระทรวงต่าง ๆ ใหม่ อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องการเป็นประธานสหภาพยุโรปของสวีเดนในปี ค.ศ.2001 กระทรวงการต่างประเทศดูแลเพิ่มเติมนโยบายด้านการค้าและกิจการเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคบอลติก และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ทำหน้าที่หลักในการประสานนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ก่อนปี ค.ศ.1971 สวีเดนถูกแบ่งออกเป็น 850 เทศบาล (Kommun) แต่ปัจจุบันได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง 288 เทศบาล โดยแต่ละเทศบาลต่างมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งอำนาจและหน้าที่ของเทศบาลเกี่ยวข้องกับการให้บริการและการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ระหว่างรัฐบาลกลางและเทศบาลมีการปกครองในระดับภูมิภาคประกอบด้วย 24 มณฑล โดยรัฐบาลกลางมีข้าหลวงมณฑลเป็นผู้แทนและมีคณะกรรมการบริหารมณฑล ข้าหลวงมณฑลได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางให้ดำรงตำแหน่งวาระ 6 ปี โดยมักจะคัดเลือกมาจากนักการเมือง แต่บุคคลเหล่านี้จะต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญของการบริหารมณฑลดำเนินงานโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งข้าหลวงเป็นประธาน และสมาชิกคณะกรรมการบริหารมณฑลได้รับการแต่งตั้งจากสภามณฑล ภารกิจส่วนใหญ่ของการบริหารมณฑลมีลักษณะเป็นงานส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ละมณฑลมีสภามณฑลที่มาจากการเลือกตั้ง สภานี้มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในด้านอนามัยและสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการให้บริการในโรงพยาบาล การจัดการศึกษาบางประเภทและ
การฝึกอาชีพ สภามณฑลมีสิทธิที่จะเก็บภาษีรายได้มาใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายได้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1976 คนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในสวีเดนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งและสมัครเข้ารับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งในสภาเทศบาลและสภามณฑล
การต่างประเทศ
การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นและการแบ่งแยกทางการเมืองในยุโรป ทำให้ช่วงทศวรรษ 1990 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสวีเดน โดยสวีเดนได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวของยุโรปตะวันตก ซึ่งสวีเดนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union - EU) เมื่อปี ค.ศ.1991 และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1995 โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการลงประชามติเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1994 ถึงร้อยละ 52.3 และในฐานะของสมาชิกสหภาพยุโรป สวีเดนจะยังธำรงไว้และจะไม่เป็นพันธมิตรทางการทหาร โดยสวีเดนจะไม่พิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการป้องกันใด ๆ ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สวีเดนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association - EFTA) เมื่อปีค.ศ. 1960 อย่างไรก็ดี ภายหลังที่สวีเดนเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี ค.ศ.1995 ก็มิได้เป็นสมาชิกของ EFTA อีกต่อไป และสวีเดนยังเป็นประเทศสมาชิกคณะมนตรีกลุ่มนอร์ดิก (Nordic Council) และเข้าร่วมในโครงการพันธมิตรเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace - PFP) ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) บทบาทด้านการต่างประเทศของสวีเดนมีความโดดเด่นมากขึ้น เมื่อสวีเดนได้เข้าเป็นประธานสหภาพยุโรป ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ค.ศ.2001 (EU Presidency) โดยสวีเดนได้มุ่งเน้นความสำคัญในประเด็นด้านการขยายสมาชิกภาพ (enlargement)การจ้างงาน (employment) และสิ่งแวดล้อม (environment) หรือเรียกโดยย่อว่า นโยบาย 3Es
1. ประวัติบุคคลสำคัญ (ประมุขของรัฐ)
สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน (His Majesty King Carl XVI Gustaf) เป็นพระราชโอรสใน Prince Gustaf Adolf และ Princess Sibylla of Sachsen-Coburg-Gotha ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2489 (ค.ศ.1946) และเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973) อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีซิลเวีย (Her Majesty Queen Silvia) ซึ่งมีพระนามเดิม คือ Ms. Silvia Sommerlath เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2519 (ค.ศ.1976) และมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม 3 พระองค์ คือ Her Royal Highness Crown Princess Victoria (ประสูติเมื่อปี 2520 (ค.ศ.1977)) His Royal Highness Prince Carl Philip (ประสูติเมื่อปี 2522 (ค.ศ.1979)) และ HRH Princess Madeleine (ประสูติเมื่อปี 2525 (ค.ศ.1982))
2. ประวัติบุคคสำคัญ (ผู้นำรัฐบาล)
2.1 นายกรัฐมนตรี
นาย Frederik Reinfeldt อายุ 41 ปี เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น หัวหน้าพรรค Moderate ตั้งแต่ปี 2546 (ค.ศ. 2003)
2.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
นาย Carl Bildt อายุ 57 ปี เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2492 (ค.ศ. 1949) เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีสวีเดน ระหว่างปี 2534-2537(ค.ศ.1991-1994) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องคาบสมุทรบอลข่าน (Special Envoy of the Secretary-General of the United Nations for Balkans) ระหว่างปี 2542-2544 (ค.ศ. 1999-2001)
2.3 นักการเมืองสำคัญ
- นาย Goran Persson อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน
นาย Goran Persson (เยอราน เพร์สซอน) เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2492 (ค.ศ.1949) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 (ค.ศ.1996) -เดือนกันยายน 2549 (2 สมัยติดต่อกัน) และเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ เช่น รองประธานคณะกรรมาธิการการคลังรัฐสภาสวีเดน ระหว่างปี 2536-2537 (ค.ศ.1993-1994) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างปี 2537-2539 (ค.ศ.1994-1996) ประธานพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party SDP) ตั้งแต่ปี 2539 -ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันพรรค SDP เป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาสวีเดน
สวีเดนเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปโดยมีพื้นที่ 486,601 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรเพียง 8.9 ล้านคน จึงทำให้สวีเดนมีตลาดภายในขนาดเล็กและ มีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการส่งออก สวีเดนมีอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้และเหล็ก และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ อากาศยาน โทรคมนาคม การผลิตอาวุธ และการผลิตเวชภัณฑ์ สาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้สวีเดนมีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เนื่องจากบริษัทของสวีเดนสนับสนุนการลงทุนในด้านการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอัตราที่สูงมาก จึงทำให้บริษัทสวีเดนอยู่ในแนวหน้าของโลก และบริษัทสวีเดนยังมีบทบาทสูงมากในการลงทุนต่างประเทศ ทำให้อัตราการลงทุนต่างประเทศของสวีเดนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรหรือต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจสวีเดน คือ ภาครัฐบาลมีบทบาทมากในเศรษฐกิจภาคบริการ การขยายเศรษฐกิจภาครัฐบาลเป็นการสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งงานสำหรับสตรี จึงส่งผลให้สวีเดนถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของการสำรวจ Global Competitiveness โดย World Economic Forum ตลาดสินค้าออกสำคัญที่สุดของสวีเดนอยู่ในยุโรปตะวันตก มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าออกส่งไปยังสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งประกอบด้วย เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ กลุ่มประเทศดังกล่าวนำเข้าสินค้าจากสวีเดนหนึ่งในห้าของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่ตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อที่สูงในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจ อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่เพื่อกระตุ้นให้มีการออมและการจ้างงานเพิ่มขึ้น นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การที่สวีเดนสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ในปี ค.ศ. 1995 นอกจากนั้นรัฐบาลได้ออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Competition Act) และได้ยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่สนับสนุนการค้าเสรี รวมทั้งปรับปรุงระบบการประกันสังคมและระบบบำนาญใหม่ และนโยบายการคลัง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงของสวีเดนอยู่ ในปี ค.ศ. 1989 ภาครัฐบาลมีรายรับเกินรายจ่ายร้อยละ 5.4 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ ซึ่งจัดว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศ OECD ในปี ค.ศ. 1993 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณถึงร้อยละ 12.3 ของผลผลิมวลรวมในประเทศ ซึ่งจัดว่าสูงสุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD นโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เดิมค่าเงินโครนาสวีเดนถูกกำหนดไว้ตายตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญ ในปี ค.ศ. 1992 ธนาคารชาติสวีเดนจำต้องยกเลิกระบบดังกล่าวและปล่อยให้ค่าเงินโครนาสวีเดนลอยตัว ผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว ทำให้นโยบายทางการเงินของรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ธนาคารชาติในปัจจุบันมีภารกิจหลัก คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 2 ต่อปี
ปัญหาแนวทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน คือ สวีเดนควรเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU) ของสหภาพยุโรปในขั้นตอนของการใช้เงินสกุลเดียว (single currency) ในช่วงเวลาใด ซึ่งสวีเดนได้ตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วม EMU ในกลุ่มประเทศแรก ในปี ค.ศ. 1999 แม้ว่า ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะผ่านเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ(convergence criteria) ที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ก็ตาม
ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.2003 รัฐบาลสวีเดนได้จัดการลงประชามติตัดสินใจว่า สวีเดนจะเข้าร่วมการใช้เงินสกุลเดียว (เงินยูโร euro) หรือไม่ ผลปรากฏว่า มีประชาชนไปลงประชามติร้อยละ 81.2 โดยร้อยละ 56.1 ลงคะแนนเสียง : ไม่เห็นด้วยให้สวีเดนเข้าร่วมการใช้เงิน euro ขณะที่ร้อยละ 41.8 ลงคะแนนเสียง : เห็นด้วย และร้อยละ 1.9 ไม่ตัดสินใจ
ดรรชนีทางเศรษฐกิจ
1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 346.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ GDP ต่อหัว : 38,409 ดอลลาร์สหรัฐ
2 งบประมาณ : เกินดุล 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
3 รายได้/รายจ่าย : 119 และ 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4 International reserve : 178 ล้านโครนสวีเดน
5 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 1.9
6 อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 2.2
7 อัตราการว่างงาน : ร้อยละ 4 (จำนวนแรงงาน 4.4 ล้านคน)
8 ดุลการค้า : ได้ดุล 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
9 ส่งออก/นำเข้า : 160.1 และ 132.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
10 หนี้ต่างประเทศ : 66.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
11 เงินให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ (ODA) : 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
12 ประเทศคู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ฟินแลนด์ นอร์เวย์
13 สินค้าเข้าสำคัญ : น้ำมัน รถยนต์ เครื่องจักร พลังงาน และเสื้อผ้า
14 สินค้าออกสำคัญ : ไม้ เยื่อกระดาษ กระดาษรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์เคมี เหล็กและเหล็กกล้า
15. ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ในปี 2549 อยู่ในลำดับที่ 3 (ปี 2548 ลำดับที่ 7)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรสวีเดน |
1. ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยกับสวีเดนได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ไทยกับสวีเดนได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อปี 2411 (ค.ศ. 1868) และนับตั้งแต่ปี 2425 (ค.ศ. 1882) เป็นต้นมา ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศในยุโรป ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดนด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง อาทิ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดนคนแรก ในปี 2487 (ค.ศ. 1944) ได้มีการเปิดสถานอัครราชทูตฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงสตอกโฮล์มในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมาในปี 2497 (ค.ศ. 1954) ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดน จนกระทั่งปี 2502 (ค.ศ. 1959) ไทยกับสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตฯ โดยที่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ต่อมาในปี 2506 (ค.ศ. 1963) ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตฯ ขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์มและปัจจุบันมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนีย
เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดนคนปัจจุบัน คือ นายอภิชาติ ชินวรรโณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม มีที่อยู่ คือ Royal Thai Embassy,Floragatan 3 , Box 26220, 10040 Stockholmม Tel 46-087917340 Fax 46-087917351
เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นายยูนัส ฮาฟสเตริม (Mr. Jonas Hafstrom) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547
นอกจากนี้ ทางการสวีเดนได้เปิดสถานกงสุลใหญ่สวีเดนประจำจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2548 เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัยชาวสวีเดนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติจากคลื่นยักษ์บริเวณจังหวัดภาคใต้ของไทย โดยนาย Goran Persson นายกรัฐมนตรีสวีเดนได้เป็นประธานในพิธีเปิด ในระหว่างการเยือนไทยเมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2548 และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุมัติบัตรรับรองให้นายคริสเตอร์ อาสป์ (Mr. Christer Asp) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่สวีเดนประจำจังหวัดภูเก็ต โดยมีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดกระบี่และพังงา
ประเทศไทยได้มีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำประเทศสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2431(ค.ศ. 1888) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งนาย Axel Johnson เป็นกงสุลสยามคนแรกประจำประเทศสวีเดนเมื่อปี 2426 (ค.ศ. 1883) และหลังจากนั้นครอบครัว Johnson ได้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยต่อมาเป็นเวลา 4 ชั่วอายุคน ปัจจุบันนาง Viveca Ax:son Johnson ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มคนใหม่สืบแทนนาย Bo Axelson Johnson บิดา ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1997) นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายไทยยังได้แต่งตั้งนาง Frances Broman ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงสตอกโฮล์ม
ปัจจุบันสวีเดนมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย จำนวน 3 แห่ง คือ
1. สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ วันที่ 2 พฤษภาคม 2534 (ค.ศ. 1991) โดยมีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ
10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ โดยมีนายวรกิจ กัณฑะกาลังค์ เลขาธิการสมาคม YMCA จังหวัดเชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ และล่าสุดทางการสวีเดนได้เสนอแต่งตั้ง นางศุภจี นิลอุบล เข้าดำรงตำแหน่งกงสุลกิติมศักดิ์สวีเดนประจำจังหวัดเชียงใหม่คนใหม่
เมื่อปี 2548 สืบแทนนายวรกิจฯ
2. สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำเมืองพัทยา ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2536 (ค.ศ. 1993) มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ปัจจุบันนายแพทย์สัญญา วีระไวทยะ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำเมืองพัทยา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 สืบแทนนายสติก วากต์-แอนเดอร์เซน (Mr. Stig Vagt-Andersen) ชาวเดนมาร์ก ผู้อำนวยการ และหุ้นส่วนของบริษัทท่องเที่ยว Ben Adisti Co. Ltd. ซึ่งได้ขอลาออกจากตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนฯ
3. สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2539 (ค.ศ.1996) โดยมีนายวิจิตร ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ได้มีพิธีเปิดอาคารพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมือง Bispgarden เขต Ragunda มณฑล Jamtland เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนหมู่บ้าน Utanede เมือง Bispgarden เมื่อวันที่19 กรกฎาคม 2440 (The Thai Pavilion as memorial to the 100th anniversary of the Royal Visit to Bispgarden of H.M. King Rama V in 1897) ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในสวีเดนประมาณ 12,000 คน และมีวัดไทย คือ วัดพุทธาราม
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองระหว่างประเทศไทยกับสวีเดนเป็นไปโดยราบรื่น แม้ว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทยกับสวีเดนอยู่ห่างไกลกัน ทั้งสองฝ่ายให้การสนับสนุนและร่วมมือกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วยดีมาโดยตลอด อาทิ ไทยให้การสนับสนุนสวีเดนในการสมัครเป็นสมาชิกประเภทไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ระหว่าง ค.ศ. 1998 - 1999 โดยการเลือกตั้งได้มีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 51 ในปี ค.ศ. 1996 และสวีเดนก็ได้ให้การสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council - ECOSOC) ของไทยสำหรับปี ค.ศ. 1996 - 1998
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและนาง Laila Frievalds รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนได้ลงนามแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และการขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ในภาพรวม การจัดทำแผนฯ เป็นผลมาจากการหารือข้อราชการระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสวีเดน ที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อเดือนกันยายน 2547
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการความร่วมมือสวีเดน-ไทย ครั้งที่ 1 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ภายใต้แผนฯ เพื่อหารือและวางแผนการดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกัน
ความสัมพันธ์ด้านการค้า
ไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 35 ของสวีเดน และลำดับที่ 8 ในสหภาพยุโรป โดยปริมาณการค้าสองฝ่ายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย
ในปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยและสวีเดนมีมูลค่าการค้ารวม 543.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 253.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป หนังและผลิตภัณฑ์ หนังฟอก และหนังอัดอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ
สำหรับการนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าจากสวีเดนมีมูลค่า 299.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้ากระดาษและกระดาษแข็ง เยื่อกระดาษ และเศษกระดาษ เคมีภัณฑ์
สถิติการค้าปี 2548 ปรากฏว่า มีมูลค่า 790.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 346.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 443.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดุลการค้าของทั้งสองประเทศปรากฏว่า ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2537 โดย ในปี 2548 ไทยขาดดุลการค้า 96.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตารางสถิติการค้าไทย-สวีเดน ดังเอกสารแนบ
(ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
1. การขนส่ง ระยะทางไกล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง การส่งสินค้าจำนวนน้อยจึงไม่คุ้มทุน อีกทั้งการส่งมอบสินค้าบางครั้งไม่ตรงเวลาทำให้ผู้นำเข้าเสียหาย
2. ชาวสวีเดนนิยมสินค้าคุณภาพสูง โดยไม่คำนึงถึงราคามากนัก ทำให้สินค้าไทยที่มีคุณภาพรองลงมาและมีราคาถูกจำหน่ายได้ยาก
3. ไทยขาดดุลการค้ากับสวีเดนมาโดยตลอด
แผนการขยายตลาดการส่งออกของไทยไปสวีเดนและภูมิภาคยุโรปเหนือ
1.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดโครงการ Road Show นำนักธุรกิจไทยในสาขาเสื้อผ้า อาหาร การให้บริการทางการแพทย์ และเครื่องประดับของใช้ในบ้าน ประมาณ 12 คน เดินทางไปเยือนสวีเดน เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าส่งออกของไทยและแสวงหาลู่ทางในการเจาะและเปิดตลาดสินค้าของไทยในสวีเดนและภูมิภาคยุโรปเหนือ
2. เมื่อเดือนมีนาคม 2547 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดโครงการนำนักธุรกิจไทยในสาขาวัสดุก่อสร้างไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง \"NORDBYGG 2004\" ที่กรุงสตอกโฮล์ม
3. เมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยได้จัดสัมมนาทางเศรษฐกิจไทย-สวีเดน ทั้งที่จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ในหัวข้อ Export Market Sweden และ \"Profit from Environmental Regulations The Swedish Experience and Business Practice ตามลำดับ การจัดสัมมนาดังกล่าวเป็นกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-สวีเดน โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงกฎระเบียบการค้าของสวีเดนและสหภาพยุโรป รวมทั้ง ลักษณะสภาพตลาดการค้า การบริโภคและการนำเข้าของสวีเดน
ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน
บริษัทสวีเดนประมาณ 50 บริษัท มาลงทุนในไทย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิพิเศษแก่โครงการของนักลงทุนสวีเดนประมาณ 33 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 18,900 ล้านบาท โดยเงินทุนจดทะเบียนของสวีเดนประมาณ 5,790 ล้านบาท สวีเดนถือหุ้นมูลค่า 1,690 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเบา ได้แก่ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ แผ่นเคลือบพลาสติก เหมืองแร่ซีไรท์ หลอดไฟ ของเล่นพลาสติก แผ่นอัด เป็นต้น สำหรับลู่ทางการลงทุนของสวีเดนในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ กิจการปลูกป่า กิจการด้านไบโอเทคโนโลยี กิจการด้านโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอะไหล่ยางรถยนต์เพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมพัสดุภัณฑ์และหีบห่อ
ความร่วมมือและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
ความร่วมมือทางวิชาการ โดยที่ไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงขึ้นจึงไม่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สวีเดนให้ความช่วยเหลือในกรอบการให้ความช่วยเหลือทวิภาคีแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ปัจจุบันกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือของสวีเดนแก่ไทยในกรอบดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความร่วมมือของหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสวีเดน (Swedish International Development Cooperation - SIDA) ได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้น SIDA จึงได้ปรับเปลี่ยนระดับความช่วยเหลือแก่ไทยเป็นการร่วมมือในระดับ Global และมีลักษณะเป็นแบบแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย (cost sharing) ซึ่งไทยจะต้องร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากกิจกรรมหรือโครงการความช่วยเหลือของสวีเดนและความช่วยเหลือที่ได้รับจากสวีเดน โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะให้ในรูปผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติงานภายใต้โครงการ อาทิ การจัดการด้านคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ของกรมควบคุมมลพิษกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การท่องเที่ยว
สถิตินักท่องเที่ยวสวีเดนเดินทางมาไทยในช่วงปี 2549 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 122,371 คน
ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวสวีเดนนิยมเดินทางมาไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 200,000 คน ต่อปี ซึ่งเป็นลำดับที่ 4 ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป (ลำดับแรก อังกฤษ อันดับที่ 2 เยอรมนี และอันดับที่ 3 ฝรั่งเศส) โดยในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวจากสวีเดนจำนวน 222, 932 คน ปี 2547 - 224,761 คน ปี 2546 - 209,444 คน ปี 2545 - 220,866 คน และปี 2544 - 223,040 คน) นักท่องเที่ยวสวีเดนมีวันพักเฉลี่ย 15.13 วัน มีการใช้จ่ายประมาณ 2,586.57 บาท การใช้จ่ายจะมุ่งไปในด้านค่าที่พัก การจับจ่ายซื้อของ ค่าอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชาวสวีเดนในไทยคือ จังหวัดภูเก็ต และ นักท่องเที่ยวสวีเดนไม่มีข้อจำกัดในด้านเวลาในการเดินทางมาท่องเที่ยวโดยจะมีช่วง วันหยุดประมาณ 4-5 สัปดาห์ และได้รับเงินเดือนขณะลาพักผ่อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวสวีเดนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย คือ ความสามารถ
ในสนองตอบต่อความต้องการของชาวสวีเดนในการท่องเที่ยวประเภทแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลของไทย ซึ่งมีความคุ้มค่าเงินในการท่องเที่ยวความสะดวกในด้านการเดินทางคมนาคม
สำหรับสถิติในปี 2549 (ม.ค.-มี.ค.) มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปสวีเดนจำนวน 2,181 คน สำหรับในปี 2548 - 11,681 คน ปี 2547 - 8,191 คน ปี 2546 - 5,322 คน และปี 2545 - 5,348 คน
(ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างไทย-สวีเดน
ฝ่ายสวีเดนเยือนไทย
ระดับราชวงศ์
- 2427 (ค.ศ. 1884 ) เจ้าชายออสการ์แห่งสวีเดน เสด็จฯ เยือนไทย
- 2454 (ค.ศ. 1911) เจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน เสด็จฯ เยือนไทย
- เดือนกุมภาพันธ์ 2508 (ค.ศ. 1965) เจ้าชายเบอร์ทิลแห่งสวีเดน เสด็จฯ เยือนไทย
อย่างเป็นทางการ
- 21-23 เมษายน 2523 (ค.ศ.1980) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ
แห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- 6-10 กุมภาพันธ์ 2532 (ค.ศ.1989) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- 6-9 ตุลาคม 2539 (ค.ศ.1996) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จฯ เยือนไทย (เพื่อร่วมพิธีรับรองสมาชิกใหม่มูลนิธิลูกเสือโลก)
- 6-9 มีนาคม 2540 (ค.ศ. 1997 ) เจ้าหญิงคริสตินา พระเชษฐภคินีของสมเด็จ พระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- 11-13 ตุลาคม 2542 (ค.ศ.1999) และ 18 ตุลาคม 2542 สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- 22-23 กันยายน 2543 (ค.ศ.2000) และ 2-3 ตุลาคม 2543
สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ แวะผ่านไทยเพื่อทรงร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่นครซิดนีย์
- 20 เมษายน และ 23-25 เมษายน 2544 (ค.ศ.2001) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จฯ แวะผ่านไทย (ก่อนและหลังเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นเป็น การส่วนพระองค์)
-28 ธันวาคม 2545 (ค.ศ.2002) - 16 มกราคม 2546 (ค.ศ. 2003) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย พร้อมด้วยพระราชธิดาและพระราชโอรส เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ และในวโรกาสดังกล่าว สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน เสด็จฯ ร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 20 ที่หาดยาว จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2546
- 25 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2546 (ค.ศ.2003) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2547 (ค.ศ.2004) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- 17-20 กุมภาพันธ์ 2548 (ค.ศ.2005) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดนและสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อขอบพระทัยประชาชนชาวไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างดีแก่ผู้ประสบภัยชาวสวีเดนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์
- 12-21 มิถุนายน 2549 (ค.ศ.2006) สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดนและสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อทรงเข้าร่วมงานฉลอง สิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (วันที่ 14-20 มิ.ย. 49 สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน เสด็จฯ จ.ภูเก็ต เป็นการส่วนพระองค์ และวันที่ 20 มิ.ย.49 สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดน เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ Bronze Wolf ซึ่งเป็นเหรียญสำหรับเชิดชู พระเกียรติในฐานะที่ทรงสนับสนุนกิจกรรมลูกเสือ)
ระดับรัฐบาล
- 1-2 มีนาคม 2539 (ค.ศ. 1996) นาง Lena Hjelm-Wallen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน เยือนไทยเพื่อร่วมประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี (นาย Ingvar Carlsson)
- 16-19 กุมภาพันธ์ 2543 (ค.ศ.2000) นาย Leif Pagrotsky รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน (ดูแลด้านการค้าต่างประเทศ) เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมUNCTAD ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 11-19 กุมภาพันธ์ 2543 ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนสวีเดน
- 27-29 กรกฎาคม 2543 (ค.ศ.2000) นาง Anna Lindh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม PMC ระหว่างวันที่ 24-29 กรกฎาคม 2543
- 13-14 สิงหาคม 2544 (ค.ศ.2001) นาง Anna Lindh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน เยือนไทย และพบปะหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- 7-9 มกราคม 2547 (ค.ศ.2004) นาย Goran Persson นายกรัฐมนตรีสวีเดน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (Official Visit) ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- 18-20 พฤศจิกายน 2547 (ค.ศ.2004) Dr. Leni Bjorklund รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสวีเดนเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงกลาโหม
- 29-31 ธันวาคม 2547 (ค.ศ.2004) นาง Laila Freivalds รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน เยือนไทย เพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยชาวสวีเดน และตรวจสภาพพื้นที่ประสบภัยที่จ.ภูเก็ต
-16-17 มกราคม 2548 (ค.ศ.2005) นาย Goran Persson นายกรัฐมนตรีสวีเดน พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีกลุ่มประเทศนอร์ดิก (นอร์เวย์และฟินแลนด์) เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล (Working Visit) เพื่อประเมินสถานการณ์จากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติจากคลื่นยักษ์ที่บริเวณจังหวัดภาคใต้ของไทย และในระหว่างการเยือนไทย นายกรัฐมนตรีกลุ่มประเทศนอร์ดิกทั้งสามประเทศได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือข้อราชการในวันที่ 16 มกราคม 2548 และได้เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ประสบภัยที่จ.ภูเก็ตและพังงานในวันที่ 17 มกราคม 2548
-28-29 มกราคม 2548 (ค.ศ.2005) นาง Lena Sommestad รัฐมนตรีดูแลด้าน สิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาที่ยั่งยืนสวีเดน เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคเกี่ยวกับระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่จ.ภูเก็ต
- 11-13 กุมภาพันธ์ 2548 (ค.ศ.2005) นาง Leni Bjorklund รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสวีเดนเยือนกรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ตเมื่อซึ่งได้พบปะหารือกับ รมว.กห.ไทย
- 6 ธันวาคม 2548 (ค.ศ.2005) นาง Carin Jamtin รัฐมนตรีดูแลกิจการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนเยือนไทยเพื่อมอบเงินจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากรัฐบาลสวีเดนเข้ากองทุน UNESCAP Multi-Donor Voluntary Trust Fund for Tsunami Early Warning Arrangements in the Indian Ocean and Southeast Asia ซึ่งนับว่าสวีเดนเป็นประเทศนอกภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกประเทศแรกที่ได้ให้การสนับสนุนแก่กองทัน ดังกล่าว และยังได้พบหารือกับดร.กันตธีร์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
-23-24 มกราคม 2549 นาง Laila Freivalds รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ในระหว่างการเยือน รัฐมนตรี Freivalds ได้ลงนามในแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สวีเดน (Joint Plan of Action) ร่วมกับนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี
ฝ่ายไทยเยือนสวีเดน
ระดับราชวงศ์
- 13-21 กรกฎาคม 2440 (ค.ศ. 1897 ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสวีเดน
- 21-24 กันยายน 2503 (ค.ศ. 1960) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ
- 7-13 มิถุนายน 2532 (ค.ศ. 1989) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสวีเดน
- 16-19 มีนาคม 2534 (ค.ศ. 1991) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี เสด็จ เยือนสวีเดน
- 1-14 มิถุนายน 2535 (ค.ศ. 1992 ) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี เสด็จ เยือนสวีเดน
- 15-16 กันยายน 2540 (ค.ศ. 1997) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ
- 29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2541 (ค.ศ. 1998) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครรราชกุมารี เสด็จ เยือนสวีเดน
- 9-16 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004) ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนสวีเดนและฟินแลนด์
ระดับรัฐบาล
- 1 กันยายน 2522 (ค.ศ. 1979 ) พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ
- 24-27 กันยายน 2532 (ค.ศ. 1989) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ
- 4-5 ตุลาคม 2534 (ค.ศ. 1994) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะนักธุรกิจไทย เยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ
- 16-17 มิถุนายน 2541 (ค.ศ.1998) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสวีเดน
- 22-23 กุมภาพันธ์ 2542 (ค.ศ.1999) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสวีเดน
- 7-22 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ.2002) นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (TTR) เยือนสวีเดน ฟินแลนด์ และเอสโตเนีย
- 20-28 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ.2003) นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (TTR) พร้อมภาคเอกชนไทย เยือนสวีเดน ในโครงการ Road Show นำนักธุรกิจไทยเยือนสวีเดนเพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยในสวีเดน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้จัดร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสำนักกงานผู้แทนการค้าไทย
- 23-24 กันยายน 2547 (ค.ศ.2004) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ (Official Visit) ตามคำเชิญของนาย Goran Persson นายกรัฐมนตรีสวีเดน ซึ่งนายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (TTR) ได้ร่วมติดตามคณะนายกรัฐมนตรีเยือนสวีเดนด้วย
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสวีเดนที่สามารถค้นหาได้ทาง Internet
1. www.ud.se.
2. www.swedeninfo.com
2549
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|