ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> สวิตเซอร์แลนด์




แผนที่
สมาพันธรัฐสวิส
Swiss Confederation


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง - สมาพันธรัฐสวิสหรือสวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป ล้อมรอบด้วย
เทือกเขาแอลป์ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือ ติดกับสหพันธ์สาธารณรัฐ
เยอรมนี ทิศตะวันออก ติดกับออสเตรีย และลิคเตนสไตน์ ทิศใต้ ติดกับอิตาลี
ทิศตะวันตก ติดกับฝรั่งเศส
พื้นที่ - 41,285 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง - กรุงเบิร์น (Bern)(ประชากร 332,195 คน)
ประชากร - 7.5 ล้านคน (ปี 2549) เป็นชาวสวิสเยอรมันร้อยละ 65 สวิสฝรั่งเศสร้อยละ
18 สวิสอิตาเลียนร้อยละ 10 โรมานช์ร้อยละ 1 อื่น ๆ ร้อยละ 6
ภูมิอากาศ - ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่ ตั้งแต่ภูมิอากาศแบบ
แอลป์จนถึงแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาว อากาศหนาว มีฝน และหิมะ
ฤดูร้อน อบอุ่น เย็นชื้น มีฝนบางครั้ง ทางตอนใต้จะมีฝนชุก
ภาษา - ภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ เยอรมัน (ร้อยละ 64) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 19)
อิตาเลียน (ร้อยละ 8) โรมานช์ (ร้อยละ 1) อื่น ๆ ร้อยละ 8
ศาสนา - ประชาชนร้อยละ 48 นับถือนิกายโรมันคาธอลิก ร้อยละ 44 นับถือนิกาย
โปรเตสแตนท์ ร้อยละ 8 นับถือศาสนาอื่นๆหรือมิได้นับถือศาสนา
วันชาติ - 1 สิงหาคม
หน่วยเงินตรา - 1 ฟรังก์สวิส เท่ากับ 26.98 บาท (20 มีนาคม 2550)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) - 374.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว GDP per capita - 50,737 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รูปแบบการปกครอง - ประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ
(confederation) ประกอบด้วย มณฑล(Canton) 26 มณฑล
ในจำนวนนี้ 3 มณฑลถูกแบ่งออกเป็นกึ่งมณฑล (half-canton)
6 แห่ง ซึ่งมีอำนาจบริหารภายในของแต่ละ มณฑล ส่วนอำนาจ
บริหารส่วนกลางจะอยู่ที่คณะมนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Council) ซึ่งเทียบเท่ากับคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยสมาชิกที่
เรียกว่ามนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Councillor) 7 คน มีวาระ
ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และใน 7 คน จะผลัดกันเป็น
ประธานาธิบดีคนละ 1 ปี
รูปแบบรัฐสภา - ในการปกครองส่วนกลาง มีรัฐสภาแห่งสมาพันธ์
(Federal Assembly) ประกอบด้วยสภา 2 สภา ได้แก่ สภาแห่ง
ชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States)
สมาชิกสภาแห่งชาติ มี 200 คน ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน
สมาชิกสภาแห่งรัฐมี 46 คน ได้รับเลือกตั้งมณฑลละ 2 คน จาก
20 มณฑล และ 1 คนจากกึ่งมณฑล 6 แห่ง สมาชิกทั้งสองสภา
อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี
พรรคการเมืองที่สำคัญ Free Democratic Party (FDP), Christian Democratic
People’s Party (CDP), Social Democratic Party (SP),
Swiss People’s Party (SVP), Liberal Party (LP)

การเมืองการปกครอง
ระบบการเมืองการปกครอง
นับตั้งแต่ ค.ศ.1848 สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่มีลักษณะการรวมตัวของ Canton ต่าง ๆ อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง เรียกว่า สมาพันธรัฐ (Confederation)
สวิตเซอร์แลนด์ประกอบด้วย 26 Canton ดังนี้
1. Zurich 2. Berne
3. Lucerne 4. Uri
5. Schwyz 6. Obwalden
7. Nidwalden 8. Glarus
9. Zug 10. Fribourg
11. Solothurn 12. Basle Town
13. Basle Country 14. Schaffhausen
15. Appenzell Ausser-Rhoden 16. Appenzell Inner-Rhoden
17. St. Gallen 18. Grisons
19. Aargau 20. Thurgau
21. Ticino 22. Vaud
23. Valais 24. Neuchatel
25. Geneva 26. Jura



แต่ละ Canton มีรัฐธรรมนูญและ Cantonal Government ของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการของส่วนกลาง อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯ อยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน
National Council ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละ Canton จะมีจำนวน
ผู้แทนของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละ Canton จะมีผู้แทน 1 คน
Council of States มีจำนวนสมาชิก 46 คน โดยแต่ละ Canton มีผู้แทน 2 คน
การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ กระทำผ่าน standing committees ด้าน
ต่าง ๆ อาทิ การคลัง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การทหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
การคมนาคม พลังงาน ฯลฯ
ในการบริหารราชการส่วนกลาง อำนาจบริหารจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเรียกว่า the Federal Council ซึ่งมีสมาชิกเรียกว่า Federal Councillor (มนตรีแห่งสมาพันธ์) มีทั้งหมด 7 คน ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานในหน่วยงานระดับกระทรวง 7 แห่ง รัฐสภาแห่งสมาพันธ์เป็นผู้เลือกมนตรีแห่งสมาพันธ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และในจำนวนมนตรีแห่งสมาพันธ์ทั้ง 7 คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละหนึ่งคน เพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยมีสถานะเป็น “the first among equals” ดังนั้น ประธานาธิบดีสวิสจึงไม่มีการเยือนต่างประเทศในฐานะ State Visit
นับตั้งแต่ ค.ศ.1959 เป็นต้นมา สวิตเซอร์แลนด์ได้ปกครองและบริหารโดยพรรคการเมืองหลัก
4 พรรค ได้แก่ พรรค Radical Democratic (RDP) พรรค Social Democratic Party (SDP) พรรค Christian Democratic People’s Party (CDP) และพรรค Swiss People’s Party (SVP) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า
แต่ละพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งมนตรีของสมาพันธ์พรรคละ 2 คน ยกเว้น Swiss People’s Party ได้ 1 คน นอกจากนั้น ผู้จะดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งสมาพันธ์จะมาจาก Canton เดียวกันเกิน 1 คนไม่ได้ และเป็น
ธรรมเนียมว่าจะต้องมีผู้แทนจาก 3 Canton หลัก ได้แก่ Zurich, Berne และ Vaud แห่งละ 1 คน
ลักษณะพิเศษของระบบประชาธิปไตยแบบสวิสคือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่สภาแต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตามรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่ม (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ 90 วันเสียก่อน ในระหว่างนั้นประชาชนจะมีสิทธิคัดค้านโดยจะต้องเข้าชื่อร่วมกัน
ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีการจัด referendum ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชนจะสามารถใช้ในการ
แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 100,000 คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ
ด้านอำนาจตุลาการ ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของมณฑล โดยใช้กฎหมาย
สมาพันธ์ร่วมด้วย และประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มี
ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วยผู้พิพากษาประมาณ 30 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐ

เศรษฐกิจการค้า
ภาวะเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กที่ไม่มีทางออกทะเล แต่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง โดยในปี 2548 มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นประเทศผู้ลงทุนสำคัญ เป็นศูนย์กลางการเงินและผู้นำระดับโลกด้านเวชกรรมเภสัชกรรม เครื่องจักรและการทำนาฬิกา โดยมีบริษัทชั้นนำของโลก อาทิ Novartis, Roche, UBS, ABB และ Credit Suisse เป็นต้น ภาคบริการของสวิตเซอร์แลนด์มีการจ้างงานกว่าสองในสามของการจ้างงานทั้งหมด รายได้ประชาชาติสองในสามมาจากภาคบริการ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาคบริการผู้ผลิต (producer services) อาทิ การเงิน ประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการจำหน่าย (distribution services) เช่น การค้า สื่อสารโทรคมนาคม ภาคบริการสังคม (social services) เช่น สุขภาพ การศึกษา และภาคบริการบุคคล (personal services) อาทิ การท่องเที่ยว เป็นต้น สวิตเซอร์แลนด์ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติสูงสุดของโลก ซึ่งเป็นผลจากการทำธุรกรรมด้านบริการ โดยเฉพาะภาคการเงิน อุตสาหกรรมของสวิตเซอร์แลนด์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เครื่องจักรที่ผลิตจากสวิตเซอร์แลนด์ถือว่าดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ในการประชุม World Economic Forum ที่เมือง Davos สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2549
ได้จัดให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วย

นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์
ก่อนปี 2523 นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ยึดหลักการ 4 ประการ คือ ความเป็นกลาง (neutrality) ความมีน้ำหนึ่งใจเดียว (solidarity) ความเป็นสากล (universality) และความเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (availability) ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น สวิตเซอร์แลนด์ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อการเข้ามีส่วนร่วม และการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาค รวมทั้งให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ดี สวิตเซอร์แลนด์ยังคงนโยบายความเป็นกลางอยู่ โดยได้ออกเอกสาร White Paper on Neutrality ในปี 2536 ซึ่งกำหนดแนวทาง ที่เปิดช่องให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับนานาประเทศในเรื่องการต่างประเทศและความมั่นคงได้มากขึ้น โดยไม่ขัดต่อนโยบายความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ สรุปวัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 ได้ ดังนี้
- ส่งเสริมสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
- เคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตย
- รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ในต่างประเทศ
- บรรเทาความยากจนในโลก
- รักษาสิ่งแวดล้อม
ทิศทางนโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญในเรื่อง ดังต่อไปนี้
1 การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
สวิตเซอร์แลนด์เคยจัดการลงประชามติเพื่อหยั่งเสียงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2545 ประชาชนสวิสจึงลงประชามติให้ความเห็นชอบในสัดส่วน ร้อยละ 54.61 และสมาพันธรัฐสวิสได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2545 ภายหลังเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ สวิตเซอร์แลนด์ได้มีบทบาทแข็งขันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การลดอาวุธ ความมั่นคงมนุษย์และการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ
2 การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและการเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรป
โดยที่สวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่ใจกลางยุโรปจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความผูกพันทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์มีความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2515 รวมถึงความตกลงต่างๆ อีกหลายฉบับ รัฐบาลสวิสเคยแจ้งความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก EU แต่ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากผลการลงประชามติเมื่อเดือนมีนาคม 2544 มีคะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 76.7 ในระหว่างนี้ จึงพยายาม
ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการลงประชามติอีกในอนาคต และได้ลงนามในความตกลงเพื่อความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ในสาขาที่สวิตเซอร์แลนด์เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย อาทิ ความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน และบุคคลอย่างเสรี การเข้าเป็นภาคีความตกลง (Schengen Agreement) ที่ประเทศสมาชิกสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศระหว่างกัน โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2550) เป็นต้น
เหตุผลสำคัญที่ชาวสวิสไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป จะอยู่เหนือกฎหมายสวิส อีกทั้งต้องการรักษาระดับความเป็นกลาง ในด้านเศรษฐกิจ ชาวสวิสเห็นว่า อาจส่งผลต่อระบบภาษี และการเงินการคลังของสวิตเซอร์แลนด์
3 ความสัมพันธ์ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศเอเชีย-แปซิฟิก
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเอเชีย -
แปซิฟิก ทั้งในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูแก่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (least developed) ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และประเทศที่ได้รับผลจากสงคราม
แต่เดิมนั้น สวิตเซอร์แลนด์มุ่งให้ความสำคัญโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจกับประเทศยุโรปตะวันตก แม้ต่อมาในช่วงหลังจะเริ่มเข้าไปลงทุนและทำธุรกิจกับประเทศยุโรปตะวันออกมากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับประเทศเหล่านี้กำลังจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตในยุโรปตะวันออกสูงขึ้น ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์จึงเริ่มสนใจเอเชียอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สวิตเซอร์แลนด์
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ความสัมพันธ์ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2440 และปี 2450 โดยภายหลังการเสด็จประพาสครั้งแรก รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสได้เริ่มความพยายามที่จะขอเจรจา เพื่อจัดทำสนธิสัญญาไมตรีและการค้ากับไทย แต่การเจรจายืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากติดขัดประเด็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนกระทั่ง ไทยยกเลิกการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับประเทศต่างๆ การเจรจาจึงสำเร็จลง และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรีและการค้าระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2474 ณ กรุงโตเกียว ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้ง ได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับการลงนามสนธิสัญญาฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2474
ความสัมพันธ์ไทย-สวิส ราบรื่นและใกล้ชิดเป็นพิเศษมาตลอด สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาและเจริญพระชนม์ที่สวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา- กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวลานาน นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน
เยือนสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการในปี 2503 ในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์ในหลายโอกาสอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อปี 2540 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการเสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมกันจัดทำบัตรโทรศัพท์และดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ “ร้อยปีสยาม-สวิตเซอร์แลนด์” (Siam-Swiss Centenary : The growth of a Friendship) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว
ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2549 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ได้จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อฉลองวาระดังกล่าว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงาน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยและการไปรษณีย์สวิตเซอร์แลนด์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ตราไปรษณียากรด้วย
การแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูต
สวิตเซอร์แลนด์ได้ตั้งสถานกงสุลแห่งแรกขึ้นที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2475 โดยมีนาย Otto Adler ผู้จัดการบริษัท Diethelm & Co. จำกัด เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สวิสประจำประเทศไทยคนแรก และรัฐบาลสวิสได้ส่งนาย Alfred Escher จากกระทรวงการต่างประเทศสวิส มาดำรงตำแหน่งนายเวร ประจำสถานกงสุลแห่งนี้ นาย Escher จึงนับเป็นนักการทูตสวิสคนแรกที่ประจำการที่ประเทศไทย และในปี 2502 จึงได้ยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูต ในส่วนของไทย พระบาทสมเด็จ-พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอมรทัต กฤษดากร เป็นอัครราชทูตไทยประจำสวิตเซอร์แลนด์คนแรก (ทรงมอบพระราชสาส์นตราตั้งแก่ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2475) โดยมีถิ่นพำนักที่กรุงปารีส ในปี 2491 จึงได้ตั้ง สถานราชทูตไทยขึ้นที่กรุงเบิร์น และยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูต ในปี 2502 เอกอัครราชทูตไทยประจำสมาพันธรัฐสวิสคนปัจจุบัน คือ นายชัยยงค์ สัจจิพานนท์ นอกจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นแล้ว ไทยยังได้จัดตั้งสำนักงานคณะทูตผู้แทนถาวรของไทยประจำองค์การสหประชาชาติและประจำองค์การการค้าโลก ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่นครเจนีวา นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำนครซูริค เจนีวา และบาเซิลด้วย
1.2 การเมือง
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ และโดยที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจึงไม่มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการปฏิรูปการเมืองของไทยเมื่อเดือนกันยายน 2549 โดยสวิตเซอร์แลนด์มิได้กล่าวประนามหรือวิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปการเมืองของไทย เพียงแต่ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น และแสดงความหวังว่า สิทธิมนุษยชนจะไม่ได้รับการละเมิด ตลอดจนข้อผูกพันระหว่างประเทศจะยังคงได้รับการเคารพปฏิบัติต่อไป และหวังว่าการเมืองไทยจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
นอกจากนี้ ไทยและสวิตเซอร์แลนด์มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น UNESCO UNIDO WHO FAO ILO กาชาดสากล รวมทั้งในด้านการกำจัดทุ่นระเบิด เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network) การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
1.3 ความมั่นคง
ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 และอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา และสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยฝ่ายไทยประสงค์จะให้ร่างพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อนเริ่มเจรจา
นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานมาประจำที่สถานเอกอัครราชทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะในเรื่องปัญหายาเสพติด การลักลอบขนส่งและ
ค้ามนุษย์ รวมทั้งความร่วมมือทางอาญา
1.4 เศรษฐกิจ
1.4.1 การค้า
สวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศ EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนส์ไตน์) ส่วนประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ รองจากสิงคโปร์ในกลุ่มอาเซียน
สวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย โดยยกเว้นและลดหย่อนอากรขาเข้า ตั้งแต่ปี 2525 มีการจัดตั้ง Swiss-Thai Chamber of Commerce ขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อปี 2535 และสวิตเซอร์แลนด์จัดตั้ง South-East Asian Chamber of Commerce ขึ้นที่นครซูริค เมื่อปี 2537 ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-EFTA ซึ่งได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการแล้ว 2 รอบ และมีการเจรจาทางการอีก 2 รอบ ภายหลังการปฏิรูปการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ฝ่ายไทยได้ขอชะลอการเจรจาออกไปก่อน
การค้ารวม การค้าในปี 2549 มีมูลค่า 2,217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออก ในปี 2549 การส่งออกของไทยไปสวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่า 917 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอันดับ 7 รองลงจาก สหรัฐฯ ฮ่องกง อิสราเอล ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม และสหราชอาณาจักร) นาฬิกาและส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสิ่งทออื่นๆ
การนำเข้า ในปี 2549 การนำเข้ามีมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณีเงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ แผงวงจรไฟฟ้า ธุรกรรมพิเศษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์เกือบทั้งหมด รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น รองเท้าสิ่งทอ ได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรหรือถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำตามสิทธิ GSP
นอกจากนี้ ไทยและสวิตเซอร์แลนด์อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลง เขตการค้าเสรี (FTA) ในกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย - สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA : สมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์)
1.4.2 การลงทุน
ชาวสวิสเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2409 และได้ก่อตั้งบริษัท Jucker, Sigg & Co. ขึ้นในปี 2425 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Berli Jucker ปัจจุบันมีบริษัทสวิสกว่า 150 บริษัท เข้ามาลงทุนในไทย โดยมีบริษัทชั้นนำหลายบริษัท อาทิ Diethelm Keller (ธุรกิจท่องเที่ยว), ETA (Swatch Group - ผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา), Nestlé (อุตสาหกรรมอาหาร), Holcim (ปูนซีเมนต์นครหลวง), Roche และ Novartis (ยาและเวชภัณฑ์) ABB (ผลิตเครื่องจักรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) เป็นต้น
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนของสวิตเซอร์แลนด์ในไทย จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของการลงทุนจากกลุ่มประเทศยุโรป (รองลงมาจากสหราชอาณาจักรและเยอรมนี) และเป็นอันดับที่ 10 ของการลงทุนจากต่างประเทศ มีโครงการลงทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 131 โครงการ รวมมูลค่า 27,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา มี 57 โครงการ มูลค่า 14,170.4 ล้านบาท ในปี 2548 สวิสลงทุนในไทย 20 โครงการเป็นมูลค่า 16,124 ล้านบาท สำหรับ 10 เดือนแรกของปี 2549 สวิสลงทุนในไทย 3,663 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเบา การผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง
1.4.3 การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวสวิสที่เดินทางมาไทยมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ยกเว้นในปี 2540 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นักท่องเที่ยวสวิสเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และใช้เวลาพำนักในไทยในระยะยาว นำรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ (ประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท) จำนวนนักท่องเที่ยวสวิสจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรป และในแง่ของการท่องเที่ยวระยะไกลจากสวิตเซอร์แลนด์ (long distance destination) ประเทศไทยได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2548 นักท่องเที่ยวสวิสมีจำนวน 125,694 คน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยไปสวิสมีจำนวน 21,522 คน ทั้งนี้ การบินไทย มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ และซูริคทุกวัน และสายการบิน Swiss International Airlines มีเที่ยวบิน ซูริค-กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์
1.4.4 การบิน
ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2527 เพื่อใช้เป็นความตกลงฉบับแม่บทในความสัมพันธ์ระหว่างกันด้านการบิน โดยทั้งสองฝ่ายได้พบปะหารือเพื่อตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับการบินระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำความตกลงฉบับใหม่ขึ้นทดแทนฉบับเก่า โดยได้มีการเจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาช่วงเวลาเหมาะสมเพื่อลงนามต่อไป
1.5 สังคมและวัฒนธรรม
ปัจจุบัน มีคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ 12,000 คน เป็นหญิง ร้อยละ 80 ชาย ร้อยละ 20 ส่วนใหญ่สมรสกับชาวสวิส เป็นแม่บ้านหรือเปิดร้านอาหารไทย มีวัดไทยในสวิตเซอร์แลนด์ 3 แห่ง สมาคมไทย 12 สมาคม และร้านอาหารและร้านขายสินค้าไทย 100 ร้าน
สวิตเซอร์แลนด์ให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูหมู่บ้าน 3 แห่ง ที่จังหวัดพังงา ที่ประสบธรณีพิบัติภัย โดยบูระโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งจัดหาเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่หมู่บ้านดังกล่าว

2. ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
ความตกลงที่ลงนามแล้ว
2.1 หนังสือสัญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการค้าขายระวางสยามกับสหรัฐสวิสส์
(28 พฤษภาคม 2474)
2.2 สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างประเทศไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ (4 พฤศจิกายน 2480)
2.3 ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ (ฉบับแรก) (13 ตุลาคม 2499)
2.4 ข้อตกลงทางการค้า (30 กันยายน 2507)
2.5 ความตกลงเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ (8 ธันวาคม 2509)
2.6 ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสวิสกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และวิชาการเพื่อโครงการลิกไนท์แม่เมาะในประเทศไทย (7 ตุลาคม 2513)
2.7 Agreement between the Government of the Swiss Confederation and the Government of the Kingdom of Thailand on the Granting of the Mixed Credit (10 เมษายน 2522)
2.8 ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะมนตรีแห่งสหพันธ์สวิส ว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป (22 พฤศจิกายน 2527)
2.9 หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยกับสวิตเซอร์แลนด์เกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจ ลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (30 กรกฎาคม 2533)
2.10 Agreement between the Government of Switzerland and the Government of the Kingdom of Thailand in order to Authorize Swiss and Thai Amateur Radio Operators to Operate Their Amateur Radio Stations in Each Other’s Country (26 ตุลาคม 2536)
2.11 อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (12 กุมภาพันธ์ 2539)
2.12 สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด
(17 พฤศจิกายน 2540)
2.13 ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในลักษณะต่างตอบแทน (17 พฤศจิกายน 2540)
2.14 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-สวิตเซอร์แลนด์ (20 เมษายน 2542)
2.15 พิธีสารว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงาน (2546)
ความตกลงที่เจรจาเสร็จแล้ว รอการลงนาม
2.16 บันทึกความเข้าใจด้านการบริการเดินอากาศ (เดิมไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้จัดทำ และลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการบริการเดินอากาศแล้วตั้งแต่ปี 2541 แต่ได้จัดทำ MOU ฉบับใหม่ขึ้นทดแทนฉบับเก่า เจรจาแล้วเสร็จและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 ขณะนี้ อยู่ระหว่างหาช่วงเวลาเหมาะสมเพื่อลงนาม)
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา
2.17 สนธิสัญญาช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา
2.18 สนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
สถานะล่าสุด ฝ่ายไทยประสงค์จะให้ร่างพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อนเริ่มเจรจา (คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเสนอรัฐสภาพิจารณาต่อไป)

3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ปี 2440 และปี 2450 เสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2503 เสด็จพระราชดำเนินเยือนสมาพันธรัฐสวิส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 18 - 21 พฤษภาคม 2543 เสด็จฯ เยือนนครเจนีวา เพื่อร่วมในงานเฉลิมฉลอง
ครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- วันที่ 18 - 19 เมษายน 2545 เสด็จฯ เยือนนครเจนีวาเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 17 - 20 กันยายน 2545 เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศว่าด้วยการให้การศึกษาหลังประถมศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 1 ณ นครเจนีวา
- วันที่ 17 มีนาคม 2546 เสด็จฯ เยือนเมืองซูริค (เป็นเวลา 14 ชั่วโมง) เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งในวโรกาสเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐแทนซาเนีย
- วันที่ 14 - 17 ธันวาคม 2548 เสด็จฯ ทรงร่วมประชุมประจำปีคณะมนตรีมูลนิธิเพื่อการศึกษาของผู้ลี้ภัย (Refugee Education Trust - RET) ณ นครเจนีวา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 21 - 26 พฤษภาคม 2543 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 22 - 28 กันยายน 2543 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 9 - 15 กันยายน 2544 เสด็จเยือนเมืองโลซานน์ เพื่อทรงเข้าร่วมการสัมมนา Phytochemical Society of Europe ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์
- วันที่ 12 - 20 ธันวาคม 2547 เสด็จทรงงานด้านวิชาการ ณ นครเจนีวา
- วันที่ 6 - 18 กรกฎาคม 2548 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส ตามคำกราบทูลเชิญของประธานบริษัท Novartis และ Roche
- วันที่ 24 พฤษภาคม - 8 มิถุนายน 2549 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on Natural Products: a Chance for the Future of Mankind ครั้งที่ 4 ที่ นครเจนีวา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- วันที่ 4 - 7 ตุลาคม 2543 เสด็จเยือนเมืองโลซานน์ เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 22 - 24 มิถุนายน 2544 เสด็จเยือนเมืองโลซานน์ เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 11 - 14 พฤศจิกายน 2545 เสด็จเยือนนครเจนีวาในโอกาสการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เส้นทาง กรุงเทพฯ-เอเธนส์-เจนีวา
- วันที่ 23 - 30 มิถุนายน 2546 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 16 - 20 กรกฎาคม 2547 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
- วันที่ 11 - 21 พฤษภาคม 2549 เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิสและสาธารณรัฐฝรั่งเศส
เพื่อเข้าร่วมงาน Swiss Red Cross Ball ครั้งที่ 5 ที่นครเจนีวา
รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี
- เดือนมกราคม 2539 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุม World Economic Forum ณ เมือง Davos
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
- เดือนมกราคม 2537 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุม World Economic Forum ณ เมือง Davos
- วันที่ 29 เมษายน 2541 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปเข้าร่วมการประชุม Asian Development Bank Annual Meeting of Board of Governors ครั้งที่ 31 ณ นครเจนีวา
- วันที่ 11 - 12 พฤษภาคม 2543 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม Human Security ณ เมืองลูเซิร์น
- วันที่ 1 - 4 เมษายน 2544 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights) สมัยที่ 57 ณ นครเจนีวา
- วันที่ 25 - 26 มีนาคม 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights) สมัยที่ 58 ณ นครเจนีวา และพบหารือทวิภาคีกับ นาย Joseph Deiss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส
- วันที่ 12 - 15 พฤษภาคม 2547 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม ISC-Symposium ครั้งที่ 34 12 - 15 พฤษภาคม 2547 ณ เมือง St. Gallen
3.2 ฝ่ายสวิส
รัฐบาล
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
- วันที่ 14 ตุลาคม 2539 นาย Jean-Pascal Delamuraz ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส เดินทางเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 นาย Arnold Koller ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสและภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในระดับประธานาธิบดีสวิส และตรงกับวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการเสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2440
- วันที่ 17 - 19 มีนาคม 2547 นาย Joseph Deiss ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 5 - 6 ธันวาคม 2541 นาย Adolf Ogi รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การป้องกันประชาชน และกีฬา เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ
รัฐมนตรี
- วันที่ 2 - 5 สิงหาคม 2541นาย Pascal Couchepin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงพาณิชย์
- วันที่ 8 - 11 ตุลาคม 2543 นาย Joseph Deiss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส เยือนไทยอย่างเป็นทางการโดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม 2545 นาง Ruth Metzler รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและตำรวจสมาพันธรัฐสวิส เดินทางเยือนประเทศไทย และได้พบหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น
- วันที่ 2 - 3 มกราคม 2548 นาง Micheline Calmy-Rey รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเยี่ยมชาวสวิสที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ในภาคใต้ของไทย
บุคคลสำคัญ
- วันที่ 17 - 19 มีนาคม 2546 นาย Adolf Ogi อดีตประธานาธิบดีสวิส ซึ่งดำรงตำแหน่ง
ที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการ สหประชาชาติด้านกีฬาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ เยือนไทย

เรียบเรียงโดย กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : european04@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์