|
แผนที่
|
สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย United Republic of Tanzania
|
|
ที่ตั้ง สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ประกอบด้วย 2 สาธารณรัฐ คือ แทนกานยิกา(Tanganyika) และแซนซิบาร์ (Zanzibar) สาธารณรัฐแทนกานยิกาตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาอาณาเขตทางด้านเหนือและตะวันออกติดกับเคนยาและยูกันดา รวมทั้งทะเลสาบวิคตอเรีย ทิศตะวันตกติดกับรวันดา บุรุนดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (เดิมคือซาอีร์) และทะเลสาบแทนกานยิกา ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับแซมเบียและมาลาวี และทะเลสาบมาลาวี ทิศใต้ติดกับโมซัมบิกทางเหนือมีภูเขาคิลิมันจาโร (Kilimanjaro) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในทวีปแอฟริกา สาธารณรัฐแซนซิบาร์ ประกอบด้วยเกาะแซนซิบาร์และเกาะเพมบา (Pemba) อยู่ห่างจากชายฝั่งของแทนกานยิกา ประมาณ 40 กิโลเมตร
พื้นที่ 945,087 ตารางกิโลเมตร
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น
พ.ย. - พ.ค. เป็นช่วงฤดูฝน อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส
มิ.ย. - ต.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 23 องศาเซลเซียส
ประชากร 39.38 ล้านคน (ประมาณการ ก.ค. 2550) ประกอบด้วยเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 120 เผ่า ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเผ่า Bantu แต่ละเผ่าพันธุ์มีภาษาและสำเนียงเฉพาะของตนเอง และมีไม่เกิน 1 ใน 10 ของประชากร เผ่าที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ Sukuma และNyamwezi ส่วนประชากรในเกาะแซนซิบาร์และเกาะเพมบามีเชื้อสายแอฟริกันผสมอาหรับ
เมืองหลวง กรุงโดโดมา (Dodoma) เป็นที่ตั้งของรัฐบาล ในขณะที่นครดาร์ เอส ซาลาม (Dar es Salaam) เป็นเมืองสำคัญที่สุดในประเทศ
เมืองสำคัญอื่นๆ Zanzibar (ประชากร 270,000 คน) Mwanza (480,000 คน) Tanga (460,000 คน) Arusha (250,000 คน)
ภาษา อังกฤษและ Swahili เป็นภาษาราชการและใช้กันทั่วไปในประเทศ
ศาสนา คริสต์ ร้อยละ 45 อิสลาม ร้อยละ 35 และความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 20 สำหรับแซนซิบาร์ ร้อยละ 99 นับถือศาสนาอิสลาม
วันชาติ : 26 เมษายน 2507 (เป็นวันที่แทนกานยิกาและแซนซิบาร์ รวมเข้าเป็นสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย)
ประวัติศาสตร์
- แทนกานยิกาเป็นอาณานิคมของเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2428 2459 (ค.ศ. 1885 1916)ต่อมาเข้าเป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติจนถึงปี 2489 (ค.ศ. 1946) ก็เข้าเป็นดินแดนในอารักขาของสหประชาชาติจนถึงปี 2504 (ค.ศ. 1961) โดยทั้งสันนิบาตชาติและสหประชาชาติให้อังกฤษดูแลจนแทนกานยิกาได้รับเอกราชสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2504 (ค.ศ. 1961)ภายใต้การนำของ ดร. Julius Nyerere ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น แทนกานยิกามีสถานะเป็นสาธารณรัฐภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ และ ดร. Nyerere ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
- ปี 2433 (ค.ศ. 1890) แซนซิบาร์เป็นรัฐสุลต่านภายใต้การอารักขาของอังกฤษ ได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อ 10 ธันวาคม 2506 (ค.ศ. 1963) แต่ระบบสุลต่านถูกล้ม โดยการปฏิวัติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2507 (ค.ศ. 1964) มีการขับไล่ชาวตะวันตกออกนอกประเทศ และสังหารชาวอาหรับนับพันคน
- เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2507 (ค.ศ. 1964) แทนกานยิกาและแซนซิบาร์รวมตัวกัน และตั้งชื่อเป็นสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ในวันที่ 29 ตุลาคม โดยแซนซิบาร์มีคณะรัฐบาลบริหารกิจการภายในด้านต่าง ๆ ของตนเองเรียกว่า Revolutionary Council of Zanzibar
นโยบายการเมืองและการปกครอง
- แทนซาเนียปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการแก้ไขปรับปรุงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ในปี 2527 และ ปี 2537 เริ่มระบอบการปกครองด้วยระบบหลายพรรคเมื่อเดือนมิถุนายน 2535 และยินยอมให้พรรคฝ่ายค้านจดทะเบียนจัดตั้งพรรคได้ หลังจากปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียวมากว่า 27 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคครั้งแรกในปี 2538 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้สาธารณรัฐแซนซิบาร์เป็นอิสระในการบริหารแซนซิบาร์ทุกประการยกเว้นด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การศาล การราชทัณฑ์ และการตำรวจ
- ประธานาธิบดี Kikwete ได้สร้างฐานอำนาจของตนภายในพรรครัฐบาลให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และกำหนดแนวนโยบายที่เป็นที่นิยมของประชาชน โดยเฉพาะการต่อต้านการทุจริต การปฏิรูประบบเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ต่างมองว่า นาย Kikwete ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองมากเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันจึงยังดำเนินการปฏิรูปต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและระมัดระวัง (will not be rushed into making changes for the sake of change)
- ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม 2548 ส่อให้เห็นว่า พรรค Chama Cha Mapinduzi (CCM) ของนาย Kikwete ได้รับความนิยมอย่างสูงและกว้างขวางในรัฐแทนกานยิกา ซึ่งส่งผลดีให้นาย Kikwete สามารถวางแผนการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ดีในระยะยาว
ฝ่ายบริหาร : ฝ่ายบริหารประกอบด้วยประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดำรงตำแหน่ง คราวละ 5 ปี นาย Jakaya Kikwete ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 ทั้งนี้ หากประธานาธิบดีมาจากแซนซิบาร์ รองประธานาธิบดีต้องมาจากแทนกานยิกา ในทางกลับกันหากประธานาธิบดีมาจากแทนกานยิกา รองประธานาธิบดีต้องมาจากแซนซิบาร์
นายกรัฐมนตรี - นาย Edward N. Lowassa
รัฐมนตรีต่างประเทศ - นาย Bernard Membe
ประธานาธิบดีแซนซิบาร์ - นาย Amani Abeid Karume
รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้า - นาย Basil Mramba
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบรัฐสภาของแทนซาเนียเป็นระบบสภาเดียว เรียกว่า Bunge มีสมาชิกรัฐสภา จำนวน 295 คน โดยสมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งจำนวน 232 คน จัดสรรให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแซนซิบาร์ 5 คน ส่วนที่เหลือเป็นบุคคลที่เสนอโดยประธานาธิบดี
- สำหรับแซนซิบาร์ก็มีรัฐสภาเป็นของตนเองเพื่อออกกฎหมายในการปกครอง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 50 คน จากการเลือกตั้งโดยตรงของชาวแซนซิบาร์ และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง โดย
ผู้พิพากษาจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี
การปกครองส่วนท้องถิ่น : แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 เขต ได้แก่ Arusha, Dar es Salaam, Dodoma, Iringa, Kigoma, Kilimanjaro, Lindi, Mara, Mbeya, Morogoro, Mtwara, Mwanza, Pemba North, Pemba South, Pwani, Rukwa, Ruvuma, Shinyanga, Singida, Tabora, Tanga, Zanzibar Central/South, Zanzibar North, Zanzibar Urban/West, Ziwa Magharibi
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- แทนซาเนียเป็นประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด นาย Julius Nyerere ประธานาธิบดีคนแรกภายหลังประกาศเอกราชเป็นผู้ก่อตั้งสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement NAM) รัฐบาลแทนซาเนียมีนโยบายเป็นกลาง เป็นมิตรกับทั้งประเทศเจ้าของอาณานิคมเดิม (สหราชอาณาจักรและเยอรมนี) ประเทศที่มีนโยบายสังคมนิยม (กลุ่มสแกนดิเนเวียและจีน) รวมทั้งประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ (สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น) แทนซาเนียเป็นประเทศที่ผู้ให้ความช่วยเหลือเห็นว่ามีพัฒนาการดี และเป็นผู้รับรายใหญ่ของเงินทุนเพื่อการพัฒนา
- เป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญของสหภาพแอฟริกา (African Union AU) มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับเคนยาและยูกันดา ซึ่งจัดตั้งประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community EAC) ร่วมกัน และแทนซาเนียยังเป็นสมาชิกประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community SADC) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญกับแอฟริกาใต้และประเทศอื่นๆ ทาง ตอนใต้ของทวีปด้วย
- ข้อห่วงกังวลด้านการต่างประเทศในปัจจุบันคือ ปัญหาผู้อพยพจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน (รวันดา บุรุนดี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ปัจจุบันในสถานการณ์ที่สงบลง แทนซาเนียพยายามส่งผู้อพยพยกลับสู่ประเทศเดิมมากขึ้น ถึงแม้ว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees UNHCR) จะเห็นว่า สถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยพอก็ตาม
- ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลเริ่มต้นการกระตุ้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก IMF และ World Bank ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีความเป็นเสรีมากขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปัจจุบันแทนซาเนียวางนโยบายเศรษฐกิจภายใต้กรอบ Poverty Reduction and Growth Facility (PRGF) ของ IMF นอกจากนี้ แทนซาเนียอยู่ในกลุ่มประเทศ Heavily Indebted Poor Countries (HIPC) ของ IMF และธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งได้รับประโยชน์จากเงินทุนเพื่อการช่วยเหลือและการยกเลิกหนี้ โดยเฉพาะจากการปฏิญาณของกลุ่มประเทศ G8
- แทนซาเนียพึ่งพารายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ กว่า 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่ากว่าร้อยละ 46 ของ GDP (ปี 2548) สินค้าออกของประเทศและการจ้างงานภายในประเทศร้อยละ 90 มาจากภาคการเกษตร ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กาแฟ ชา และฝ้าย ส่วนแซนซิบาร์เป็นแหล่งผลิตกานพลู จำนวน 2 ใน 3 ของความต้องการในตลาดโลก ปัญหาทางเศรษฐกิจของแทนซาเนีย คือ ความผันผวนของราคาพืชผลในตลาดโลก และภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน เช่น ปรากฏการณ์ El Niño และ La Niña การผลิตที่ล้าหลังและการขนส่ง รวมทั้งภาวะความแห้งแล้งที่มีมาตั้งแต่ต้นปี 2548
- นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นความจำเป็นของการกระจายฐานการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรม และดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมในแทนซาเนียยังล้าหลัง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและพลังงาน โดยทั่วไปเป็นอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นของรัฐ และเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
- แทนซาเนียมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณี ทอง นิเกล ผลผลิตจากการทำเหมืองเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวระหว่างปี 2536 2547 (จากร้อยละ 1.5 ของ GDP เป็นร้อยละ 3 ของ GDP) รายได้ส่วนใหญ่มาจากเหมืองเพชรและทองคำ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ : ประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 5.8 (ปี 2549)
รายได้ประชากรต่อหัว : ประมาณ 2992 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
สกุลเงิน : Tanzanian Shilling (TZS) = 100 cents
อัตราแลกเปลี่ยน : 1,251.9 TZS = 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549) หรือ
1 บาทเท่ากับประมาณ 36 TZS
อุตสาหกรรมสำคัญ : ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร อาทิ โรงงานผลิตอ้อย โรงงานเบียร์ ยาสูบ เหมืองเพชรและทองคำ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ซีเมนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปุ๋ยและเกลือ
ผลผลิตทางการเกษตร : กาแฟ ชา ฝ้าย ยาสูบ ข้าวโพด ข้าวสาลี สาคู กล้วย ผักและผลไม้ วัว แกะและแพะ
ประเทศที่แทนซาเนียส่งสินค้าออกสำคัญ : แคนาดา อินเดีย เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น
ประเทศที่แทนซาเนียนำเข้าสินค้าสำคัญ : แอฟริกาใต้ จีน อินเดีย UAE
สินค้าออกสำคัญ : สินค้าออกหลักของแทนซาเนียคือ ทองคำ และผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ กาแฟ ฝ้าย ชา ป่านไซซาล กานพลู เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และยาสูบ
สินค้าเข้าสำคัญ : สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องกลและอุปกรณ์การขนส่ง วัตถุดิบ และน้ำมันดิบ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย |
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย แทนซาเนีย
ด้านการทูต
- ไทยและแทนซาเนียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2523 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีมีเขตอาณาครอบคลุมถึงแทนซาเนีย ในขณะที่แทนซาเนียให้ สถานเอกอัครราชทูตของตนที่กรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมถึงไทย (เอกอัครราชทูตแทนซาเนียประจำไทยคนแรกถวายสาส์นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529)
ด้านการเมือง
- ไทยและแทนซาเนียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะมีรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีด้านความร่วมมือทางวิชาการที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์โดยรวม
- ไทยเริ่มให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่แทนซาเนียตั้งแต่ปี 2529 โดยจัดฝึกอบรมด้านการศึกษาและการจัดระบบสาธารณูปโภคตามคำขอของ UNESCO และ International Civil Aviation Organization (ICAO) ในลักษณะ Third Country Training Programme ให้ทุนฝึกอบรมทางวิชาการแก่แทนซาเนียในสาขาต่างๆ ปีละ 1-2 ทุนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้แทนซาเนียเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายภายใต้ความร่วมมือไตรภาคี ไทย-ญี่ปุ่น- แอฟริกา ในสาขาเกษตรและสาธารณสุขอีกด้วย
- ไทยและแทนซาเนียริเริ่มความร่วมมือด้านการแพทย์เมื่อปี 2545 ผู้เชี่ยวชาญชาวไทย (ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม) ได้ให้ความช่วยเหลือแทนซาเนียในด้านการผลิตยาป้องกันไข้มาลาเรีย ชื่อ Thaitanzunate และยาต้านเอดส์ (Anti Retro-viral drugs ARVs) โดยการสนับสนุนขององค์กร Action Medeor ของเยอรมนี และต่อมา กระทรวงการต่างประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการเพิ่มเติม โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัท Tanzanian Pharmaceutical Organization (TPO) และบริษัทเบอร์ลินฟาร์มาซูติคัลอินดัสตรี จำกัด ยา Thaitanzunate ประสบความ สำเร็จมากในการแก้ปัญหาไข้มาลาเรียในแทนซาเนีย เป็นการช่วยให้ประชาชนทั่วไปที่ยากจนและบรรเทาปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ
- การค้าระหว่างไทยและแทนซาเนียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2549 มีมูลค่าการค้ารวม 2,494 ล้านบาท ไทยส่งออกไปแทนซาเนียมูลค่ารวม 1,848 ล้านบาท ไทยนำเข้าจากแทนซาเนียรวม 647 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 647 ล้านบาท
- สินค้าออกของไทยที่สำคัญไปแทนซาเนีย ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ
- สินค้าเข้าที่สำคัญของไทยจากแทนซาเนีย ได้แก่ ด้ายและเส้นใย สัตว์น้ำแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
- แทนซาเนียมีศักยภาพเป็นตลาดที่สำคัญของไทย เพราะนอกจากเศรษฐกิจภายในประเทศจะมีอัตราการเติบโตที่น่าพอใจแล้วยังมีเสถียรภาพ และแทนซาเนียยังเป็นสมาชิกประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community EAC) ซึ่งได้จัดตั้งสหภาพศุลกากรแล้ว เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2549 ทำให้สามารถเป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคได้ด้วย
ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับประเทศไทย
- ความตกลงด้านการค้า ซึ่งได้เริ่มเจรจาในปี 2546 และขณะนี้ ฝ่ายแทนซาเนียได้เสนอร่างโต้ตอบให้ไทยพิจาณาแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศได้ลงนามระหว่างกันแล้ว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2549
การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- เดือนกันยายน 2537 เสด็จเยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- เดือนมีนาคม 2546 เสด็จฯ เยือนแทนซาเนียตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ UNHCR เพื่อทอดพระเนตรโครงการของ Refugee Education Trust ที่เมือง Kigoma
รัฐบาล
- เดือนมีนาคม 2536 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ
- ระหว่างวันที่ 24 - 26 สิงหาคม 2549 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ
ฝ่ายแทนซาเนีย
- เดือนมีนาคม 2531 นาย Julius Nyerere อดีตประธานาธิบดีแทนซาเนียในฐานะประธาน South Commission และเข้าพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายพงษ์ สารสิน) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนไทย
- เดือนมีนาคม 2537 นาย Joseph F. Mbwiliza รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเหมืองแร่แทนซาเนีย เดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการ Bangkok Gems and Jewelry Fair ตามคำเชิญของกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ)
- ระหว่างวันที่ 15 18 ตุลาคม 2541 นาย Frederick T. Sumaye นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเยือนไทย
- ระหว่างวันที่ 1 4 กันยายน 2549 นาย Edward Lowassa นายกรัฐมนตรีแทนซาเนียเยือนไทย
ปรับปรุงล่าสุด สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|