|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
เติร์กเมนิสถาน Turkmenistan
|
|
ที่ตั้ง อยู่ในเอเชียกลาง ทางด้านตะวันออกของทะเลสาบแคสเบียนและทางตะวันตกของแม่น้ำ Amu-arya ระหว่างอิหร่านและอุซเบกิสถาน
ภาคเหนือ ติดคาซัคสถาน ภาคใต้ ติดอัฟกานิสถาน ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ติดอุซเบกิสถาน ภาคตะวันตก ติดอิหร่าน
พื้นที่ 488, 100 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศ CIS)
เมืองหลวง อาชกาบัต (Ashgabat) ประชากรประมาณ 700,000 คน
ประชากร ประมาณ 5 ล้านคน (2550) แบ่งเป็นชาวเติร์กเมน ร้อยละ 85 อุซเบก ร้อยละ 5 รัสเซีย ร้อยละ 4 อื่นๆ ร้อยละ 6
ภาษา เติร์กเมนเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง
ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 89 คริสต์นิกายออโธดอกซ์ ร้อยละ 9 อื่นๆ ร้อยละ 2
เขตการปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ 1) Ahal Welayaty 2) Balkan Welayaty 3) Dashoguz Welayaty 4) Lebap Welayaty 5) Mary Welayaty และ 1 เขตการปกครองพิเศษ คือเมือง Ashgabat
ภูมิอากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป
เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง (ช้ากว่าเวลาในประเทศไทย 2 ชั่วโมง)
สกุลเงิน มานัท (Manat) (เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) = 5,200.05 TMM (กุมภาพันธ์ 2550)
วันชาติ 27 ตุลาคม
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 (ค.ศ. 1992)
การแบ่งส่วนการปกครอง
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดี เป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบ 2 สภา สภาสูง - Peoples Council (Halk Maslahaty) มีจำนวน 2500 ที่นั่ง สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง และสภาล่าง - National Assembly (Majlis) มีจำนวน 50 ที่นั่ง สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีวาระสมัยละ 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุด (ผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี)
ประธานาธิบดี นาย Gurbanguly BERDYMUKHAMMEDOV (14 กุมภาพันธ์ 2550)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Rashid Meredov
สภานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550 เติร์กเมนิสถานได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอันเนื่องมาจาก การถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันของนาย Saparmurat Niyazov อดีตประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถาน (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2534 2549) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกลางการเลือกตั้งปรากฏว่านาย Gurbanguly Berdymukhammedov ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีตามความคาดหมายด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 89.23 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 99 และได้เข้าพิธีรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2550 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า การเข้ารับตำแหน่งของนาย Berdymukhammedov น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาประเทศของเติร์กเมนิสถาน ดังจะเห็นได้จากการดำเนินนโยบายตามที่ได้เคยประกาศไว้ อาทิ การยึดมั่นตามพันธกิจที่มีต่อประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านพลังงาน การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และยึดมั่นผลประโยชน์ส่วนรวมตามแนวทางของอดีตประธานาธิบดี Saparmurat Niyazov รวมไปถึงการปรับโครงสร้างระบบการศึกษา การปรับปรุงสวัสดิการสังคม การเพิ่มอัตราการจ้างงาน และความเป็นไปได้ที่จะอนุญาตให้มีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เนื่องจากที่ผ่านมา การบริหารประเทศภายใต้การนำของนาย Niyazov เป็นแบบอัตตาธิปไตย ซึ่งพยายามรักษาอำนาจด้วยการดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด และไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสวัสดิการทางสังคม ทำให้การพัฒนาประเทศของเติร์กเมนิสถานเป็นไปด้วยความล่าช้า
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาภายใต้ระบอบเดิม เติร์กเมนิสถานอาศัยความเป็นกลางหลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมองค์กรความร่วมมือใด ๆ ที่มีลักษณะเหนือรัฐ เติร์กเมนิสถานจึงไม่ค่อยมีบทบาทในเวทีนานาชาติมากนัก ประธานาธิบดีสนับสนุนนโยบายแบบ Inward-Looking หลังเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐอเมริกาเมื่อ11 กันยายน ค.ศ. 2001 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้โอกาสนี้ขยายความสัมพันธ์ทางต่างประเทศในภูมิภาคให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น แต่เติร์กเมนิสถานยังเพิกเฉย และอ้างนโยบายความเป็นกลาง เพื่อปฎิเสธการขอใช้สนามบินทางการทหารของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี Berdymukhammedov ท่าทีในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศของเติร์กเมนิสถานได้เปลี่ยนไป เห็นได้จากการสร้างปฏิสัมพันธ์ในระดับผู้นำในรูปแบบของการเยือนเติร์กเมนิสถานของผู้นำประเทศต่างๆ และการเยือนประเทศต่างๆ ของประธานาธิบดี Berdymukhammedov ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา อาทิ รัสเซีย จีน อิหร่าน อัฟกานิสถาน และคาซัคสถาน
นโยบายต่างประเทศ
เติร์กเมนิสถานให้ความสนใจเฉพาะด้านการขนส่งก๊าซและขยายตลาดก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเติร์กเมนิสถานให้ความสำคัญแก่ยูเครนและรัสเซีย โดยยูเครนนั้นเป็นประเทศส่งออกก๊าซที่สำคัญส่วนความสัมพันธ์กับรัสเซีย เติร์กเมนิสถานพึ่งพารัสเซียในเรื่องการขนส่งก๊าซ ในขณะเดียวกันรัสเซียเองก็ต้องพึ่งพาก๊าซจากเติร์กเมนิสถานเพื่อใช้ภายในประเทศ และขายต่อให้ยุโรป ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ประธานาธิบดีรัสเซีย คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน ได้ลงนามความตกลงร่วมกันในการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากคาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถานเข้าสู่รัสเซีย และความตกลงร่วมในการปรับปรุงท่อก๊าซเดิมโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประธานาธิบดีอุซเบกิซสถาน เนื่องจากเส้นทางท่อก๊าซเดิมบางส่วนต้องผ่านอุซเบกิสถาน อย่างไรก็ตาม เติร์กเมนิสถานพยายามจะลดการพึ่งพารัสเซียในเรื่องดังกล่าวและแสวงหาพันธมิตรใหม่กับอีกหลายประเทศ อาทิ จีน สหรัฐฯ และ อิหร่าน เห็นได้จากการที่จะสร้างเครือข่ายท่อขนส่งก๊าซผ่านอิหร่านทางด้านตะวันตก ไปยังตุรกีและยุโรป และทางใต้ไปยังอ่าวเปอร์เซีย แต่ความโดดเดี่ยวทางการเมืองระหว่างประเทศของอิหร่านทำให้เส้นทางขนส่งก๊าซของอิหร่านยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร อีกทั้งทั้งสองประเทศขาดเงินทุนเพื่อมาพัฒนาการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ การเยือนจีนของประธานาธิบดี Berdymukhammedov เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ยังแสดงให้เห็นถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับจีนว่าถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ แต่การสร้างท่อก๊าซจากเติร์กเมนิสถานไปจีนจะยังคงดำเนินต่อไปตามความตกลงระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศเมื่อปี 2549 ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิในการใช้ทะเลสาบแคสเปียนซึ่งดำเนินมานับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อปลายปี 2534 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อประเทศเหล่านี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกจากนี้ กรณีพิพาทเหนือดินแดนที่คาบเกี่ยวกับอาเซอร์ไบจานก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ ถึงแม้ว่าอาเซอร์ไบจานได้เสนอให้มีการหารือความตกลงทวิภาคี แต่เติร์กเมนิสถานก็ยังไม่ได้ตอบรับแต่อย่างใด
ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GDP) 19.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
GDP รายสาขา เกษตรกรรม ร้อยละ 24.4 อุตสาหกรรม ร้อยละ 33.9 ภาคบริการ ร้อยละ 41.7 (2549)
การเจริญเติบโตของ GDP ร้อยละ 6 (2549)
ภาวะเงินเฟ้อ ร้อยละ 11 (2549)
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ฝ้าย เส้นใย
ตลาดส่งออกสำคัญ อิหร่าน, ยูเครน, อาเซอร์ไบจาน
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและชิ้นส่วน , เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์อาหาร
แหล่งนำเข้าสำคัญ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อาเซอร์ไบจาน, ยูเครน, ตุรกี, รัสเซีย, เยอรมนี , อิหร่าน, จีน
อุตสาหกรรมหลัก ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร
สภาวะทางเศรษฐกิจเติร์กเมนิสถาน
เติร์กเมนิสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยทะเลทราย มีการเลี้ยงปศุสัตว์แบบเร่ร่อน ซึ่งม้าพันธุ์ Akhaltekin ของเติร์กเมนิสถานเป็นม้าพันธุ์ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก มีการทำการเกษตรขนาดหนักในพื้นที่ชลประทาน ซึ่งมีการปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 10 ของโลก สินค้าเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ ไหม ขนสัตว์ หนังแกะอ่อน ชะเอม และฟัก นอกจากนี้ เติร์กเมนิสถานยังมีแหล่งน้ำมันและบ่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่มาก ทำให้เติร์กเมนิสถานเป็นผู้ส่งออกน้ำมันกลั่นรายสำคัญ โดยผลิตน้ำมันได้ประมาณปีละ 4 ล้านเมตริกตัน และมีปริมาณน้ำมันสำรอง 700 ล้านเมตริกตัน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกด้วย อีกทั้ง เติร์กเมนิสถานยังเป็นประเทศเดียวของกลุ่ม CIS ที่มีโรงงานแปรรูปน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องบิน และในปัจจุบัน บริษัทต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในด้านการสำรวจน้ำมันแล้ว อาทิ UNICAL ของสหรัฐฯ DELTA ของ ซาอุดิอาระเบีย และ PETRONAS ของมาเลเซีย ทำให้เติร์กเมนิสถานต้องดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของต่างชาติในประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเติร์กเมนิสถาน |
ความสัมพันธ์ทางการทูต
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเติร์กเมนิสถานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 จนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังคงอยู่ในระดับเริ่มต้น ปัจจุบันฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา มีเขตอาณาครอบคลุมเติร์กเมนิสถาน เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของเติร์กเมนิสถาน มีภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมาก
ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่ไทยกับเติร์กเมนิสถานเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันจนถึงปี 2542 ไม่ปรากฎตัวเลขทางการค้าระหว่างกัน ทั้งๆ ที่เติร์กเมนิสถานอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันก๊าซธรรมชาติ และฝ้าย อย่างไรก็ตาม ในปี 2543 ไทยและเติร์กเมนิสถานเริ่มมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2543 มีการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 28.8 ล้านบาท โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 14.5 ล้านบาท และนำเข้าจากเติร์กเมนิสถานเป็นมูลค่า 14.3 ล้านบาท
ฝ่ายไทยอาจพิจารณาหาลู่ทางให้เติร์กเมนิสถานเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบประเภทฝ้าย ไหม และหนังวัว (Pelts) ให้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย หรืออาจลงทุนร่วมในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปป้อนตลาด CIS ทั้งนี้ ฝ่ายเติร์กเมนิสถานเคยเสนอให้ไทยไปลงทุนในด้านอุตสาหกรรมพลังงาน และ
อุตสาหกรรมการเกษตร เช่น การเก็บรักษาผลไม้และการแปรรูปผลไม้ อาหารและนมเด็ก และน้ำมันพืช
การค้า
สินค้าส่งออกของไทยไปเติร์กเมนิสถาน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักร เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ดอกไม้ ใบไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ ของเล่น รองเท้าและชิ้นส่วน หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เซรามิค
สินค้านำเข้าจากเติร์กเมนิสถาน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เส้นใยใช้ในการทอ เคมีภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
การท่องเที่ยว
ไทย-เติร์กเมนิสถานลงนามความตกลงด้านการบินเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1996 โดยสายการบินเติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan Airlines) ได้เปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงอาชกาบัต (Ashgabat) กับกรุงเทพฯ ได้สัปดาห์ละ 3 เที่ยว
จำนวนนักท่องเที่ยวเติร์กเมนปี 2549 (ม.ค.-ธ.ค.) จำนวน 1,208 คน (ปี 2548 มีจำนวน 908 คน)
การแลกเปลี่ยนการเยือน
นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมา ฝ่ายเติร์กเมนิสถานเคยแจ้งผ่านสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อกราบบังคมทูลฯเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนเติร์กเมนิสถานอย่างเป็นทางการ และแจ้งว่าประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถานแสดงท่าทีสนใจที่จะเยือนไทย
- นางสาวสุจิตรา หิรัญพฤกษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เข้าร่วมงานฉลองวันครบรอบเอกราช 3 ปีของเติร์กเมนิสถาน เมื่อเดือนตุลาคม 2537
- ม.ร.ว. เทพ เทวกุล ปลัดกระทรวงฯ ในขณะนั้น นำคณะผู้แทนไทยเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ระหว่างวันที่ 15-27 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากไทยคณะแรกที่ไปเยือนเติร์กเมนิสถาน
ความตกลงทวิภาคี
ความตกลงที่ลงนามแล้ว 1 ฉบับ
ความตกลงว่าด้วยการบินพาณิชย์ (ลงนามแล้วเมื่อ 11 ธ.ค. 2539)
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา
ความตกลงต่างๆ ที่ฝ่ายเติร์กเมนิสถานเสนอไว้เมื่อปี 2536
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า
- บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กลุ่มงานเอเชียกลาง โทร. 0 2643 5000 ต่อ 2655 Fax. 0 2643 5301
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|