|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ The United Arab Emirates
|
|
ที่ตั้ง
ทิศเหนือเป็นทะเลอ่าวเปอร์เซียหรืออ่าวอาหรับ ทิศตะวันออกติดกับโอมานและอ่าวเปอร์เซียบริเวณ ใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) และบริเวณอ่าวโอมาน ทิศใต้และตะวันตกติดกับโอมานและซาอุดีอาระเบีย
พื้นที่ ประมาณ 90,559 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi)
ประชากร 4.9 ล้านคน (ปี 2549) เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 25 ชาวต่างชาติ ร้อยละ 75 ส่วนมากเป็นแรงงานจากอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และจากกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน
ศาสนา ศาสนาอิสลามร้อยละ 96 (สุหนี่ร้อยละ 80 ชีอะต์ ร้อยละ 16) ฮินดู คริสต์ และอื่นๆ ร้อยละ 4
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษมีการใช้อย่างกว้างขวาง และภาษาฟาร์ซี (Farsi) มีการใช้ระหว่างชาวอิหร่านที่พำนักอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภูมิอากาศ มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูหนาว
เดือนพฤษภาคมถึงกันยายนอากาศร้อนจัดและความชื้นสูง อุณหภูมิประมาณ 32-48 องศาเซลเซียส เดือนตุลาคมถึงเมษายนเป็นฤดูหนาวซึ่งอากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ย 15-30 องศาเซลเซียส
หน่วยเงินตรา ดีแรห์ม (Dirham) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 3.6 ดีแรห์ม หรือ 1 ดีแรห์ม เท่ากับประมาณ 10 บาท
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 132.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 22,643 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 11.5 (ปี 2549)
การเมืองการปกครอง
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เกิดจากการรวมตัวของรัฐต่างๆ อย่างหลวมๆ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2514 เป็นต้นมาและได้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2514 ให้เป็นฉบับถาวรเมื่อ ปี 2539 โดยได้มีการลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2539 (ถือเป็นวันชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคง
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสหพันธรัฐ (Federation) ประกอบด้วย 7 รัฐ แต่ละรัฐมีระบบการปกครองท้องถิ่นของตนเอง มีกรุงอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงถาวร โดยมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) ดูแลนโยบายและกิจการที่สำคัญของประเทศ เช่น การต่างประเทศและความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งประกอบด้วย
-- สภาสูงสุด (Federal Supreme Council) ประกอบด้วยเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 7 รัฐ เป็นผู้วางทิศทางของนโยบายทั่วไปและออกกฎหมายของประเทศและเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจากสมาชิกสภาฯ การตัดสินใจใช้คะแนนเสียงอย่างต่ำ 5 คะแนน (โดยต้องมีรัฐอาบูดาบีและรัฐดูไบ) ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ เชคคอลิฟะห์ บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน (H.H. Sheikh Khalifa bin Zayed Al-Nahyan) ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วย อนึ่ง นับจากการก่อตั้งประเทศเป็นที่ตกลงกันโดยปริยายว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะอยู่กับเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบีและตำแหน่งรองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ
-- คณะรัฐมนตรี (Federal Council of Ministers) มีสมาชิก 21 คน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารขึ้นตรงต่อสภาสูงสุด แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
-- สภาแห่งชาติของสหพันธรัฐ (Federation National Council - FNC) มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 40 คน มีวาระ 2 ปี ประกอบด้วยสมาชิก 20 คนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐแต่ละรัฐ และอีก 20 คนมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2549 จากเดิมที่สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง และเริ่มวาระสมาชิกสภาฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาการทางการเมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อให้คนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คุ้นเคยและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง และแสดงให้เห็นบทบาทของสตรีที่มีมากขึ้นทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีสมาชิกเป็นสตรีรวม 9 คน (มาจากการเลือกตั้ง 1 คน) อย่างไรก็ตาม สภาแห่งชาติของสหพันธรัฐยังไม่มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกับรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย แต่ทำหน้าที่คล้ายสภาที่ปรึกษาและกลั่นกรองกฎหมายเพื่อเสนอให้สภาสูงสุดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่างๆ ด้วย โดยคาดว่าในอนาคตจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจสภาฯ และเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มากขึ้น
-- ศาลสูงสุด (Federal Supreme Council)
- แม้ว่าเจ้าผู้ครองรัฐมีอำนาจและมีสิทธิค่อนข้างมากในการกำหนดนโยบายในรัฐตน การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เชคโมฮัมเมด บิน ราชิด อัล มัคทูม (H.H. Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) เจ้าผู้ครองรัฐดูไบและการสนับสนุนที่เข้มแข็งของ เชคโมฮัมเมด บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน (H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan) มกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี มีแนวโน้มจะนำไปสูการมีนโยบายร่วมกันในระดับสหพันธรัฐ
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ที่ผ่านมาการเกิดวิกฤติและความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลางกลับมีผลให้สถานะของประเทศดีขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันมักพุ่งสูงขึ้นทำให้มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น
นโยบายต่างประเทศ
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก และมีนโยบายนิยมตะวันตก มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ ทั้งนี้ โดยรวมแล้วสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักเลือกแสดงท่าทีและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับความมั่งคงร่วมกันในกรอบภูมิภาค มากกว่าจะแสดงจุดยืนโดยลำพัง แต่ในระยะหลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แสดงท่าที ข้อคิดเห็นต่อประเด็นการเมืองในภูมิภาคอย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเป็นหนึ่งในกลุ่ม Arab Quartet (ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย และอียิปต์) ที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานท่าทีระหว่างสมาชิกกลุ่มประเทศอาหรับกับกลุ่ม International Quartet เกี่ยวกับพัฒนาการและสถานการณ์ในภูมิภาค และเพื่อชี้แจงทัศนะและท่าทีของอาหรับ โดยไม่ต้องการให้ International Quartet มีบทบาทนำฝ่ายเดียวในการกำหนดระเบียบวาระ ของกระบวนการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีพันธมิตรทางการทหารในวงกว้าง โดยกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ใช้เป็นฐานขนส่งบำรุงกำลัง (ฐานทัพอากาศที่อาบูดาบี และท่าเรือ Jabel Ali ที่ดูไบ) ร่วมมือกับกองทัพในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และมีการสั่งซื้ออาวุธสงครามที่ทันสมัยจากหลายประเทศ (ไม่ซื้อจากประเทศเดียว) โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีอู่ต่อเรือและซ่อมเรือรบของตนเอง (Abu Dhabi Shipbuilding)
- แม้จะมีการขู่จากกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติการก่อการร้ายเกิดขึ้น ขณะที่รัฐประกาศและให้ความมั่นใจว่าประเทศปลอดภัยจากการก่อการร้าย แต่ก็มีการออกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐมีความกังวลต่อความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศ
เศรษฐกิจและสังคม
เศรษฐกิจ
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรพลังงาน โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค มีน้ำมันดิบสำรองประมาณร้อยละ 10 ของโลก ในปี 2548 มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบถึง 43.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP) และมีก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นลำดับที่ 4 ของโลก โดยที่สภาพที่ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะรัฐดูไบ เป็นศูนย์กลางการค้าในตะวันออกกลางและเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อิหร่าน รวมทั้งส่งออกไปยังตลาดนอกภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา เอเชียกลาง และยุโรป ปัจจุบันมีท่าเรือ 9 แห่ง (รัฐละ 1 แห่ง) ยกเว้นรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบีมีรัฐละ 2 แห่ง ท่าเรือทั้งหมดรองรับสินค้าประมาณ 30 ล้านตันต่อปี (ไม่รวมน้ำมันดิบ) โดยรัฐดูไบพยายามส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในด้านการขนส่ง คมนาคม การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ทำให้รัฐดูไบได้กลายความสำคัญเป็นศูนย์กลางของท่าเรือ รวมทั้งธุรกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการธนาคารของตะวันออกกลางในปัจจุบัน
- รายได้หลักของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขึ้นอยู่กับน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรัฐดูไบ ซึ่งมีมูลค่าการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นในปี 2549 ถึงร้อยละ 9.15 ฉะนั้น รัฐบาลปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ (diversification) เพื่อเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว และพยายามส่งเสริมการค้าการลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเสรี (Economic Free Zone) ทั้งในรูปการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นฐานการกระจายสินค้า
- ยุทธศาสตร์ของรัฐอาบูดาบี เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมปลายน้ำ (downstream) ของกระบวนการผลิตน้ำมัน และอุตสาหกรรมการหลอมอะลูมิเนียม หน่วยงานดูแลการลงทุนในต่างประเทศของรัฐเน้นเลือกการลงทุนในโครงการที่ก่อผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติในโครงการที่มีอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนึ่ง ผู้นำรัฐรุ่นใหม่มีการริเริ่มโครงการเศรษฐกิจใหม่ๆ และสนับสนุนเพื่อสร้างให้รัฐเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศูนย์กลางการศึกษา อาทิ มีโครงการสร้างสาขาของพิพิธภัณฑ์ลุฟของฝรั่งเศส เป็นต้น
- รัฐดูไบได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของดูไบ (Dubai Strategic Plan 2015) เพื่อใช้บริหารรัฐตั้งแต่ปี 2550-2558 เพื่อพัฒนาดูไบทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศโดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ดูไบมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสันทนาการ การบริการ (รายได้คิดเป็นร้อยละ 74 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) รวมทั้งการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับตลาดแรงงาน สิ่งแวดล้อมของธุรกิจ การส่งเสริมการลงทุนและการกระจายรายได้ของประชาชน แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้น โดยรัฐดูไบเป็นรัฐแรกที่นักธุรกิจสามารถถือครองหุ้นได้ทั้งหมด ขณะที่รัฐอาบูดาบีสามารถถือครองได้ทั้งหมดเฉพาะในเขตเศรษฐกิจที่กำหนด แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่ส่งออกหรือส่งออกต่อทั้งหมดเท่านั้น
- นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ รัฐอาบูดาบีและรัฐดูไบมีการแข่งขันกันอยู่ในทีและมีการต่อรองการอยู่ร่วมกันมาโดยตลอด ความสำคัญของอาบูดาบีเกิดจากการมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมแหล่งน้ำมันร้อยละ 94 แหล่งก๊าซธรรมชาติร้อยละ 93 และการเป็นรัฐผู้สนับสนุนงบประมาณของสหพันธรัฐเป็นสัดส่วนสูงสุด ขณะที่ดูไบมีฐานะเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ รวมทั้งการประชุม การจัดการแข่งขันกีฬา และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น Dubai World ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่รวมบริษัทขนาดใหญ่ด้านต่างๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของเข้าไว้ด้วยกัน และเจ้าผู้ครองรัฐซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้เข้าไปมีบทบาทดำเนินการต่างๆ ในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงผู้นำรุ่นที่สองของประเทศขณะนี้ บทบาทที่ขีดเส้นว่าอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงและดูไบเป็นเมืองพาณิชย์เริ่มชัดเจนน้อยลง โดยเชื่อกันว่าผู้นำของรัฐทั้งสองตระหนักว่าแม้จะมีการแข่งขันแต่ก็จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองฝ่าย
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสมาชิกในตลาดร่วมศุลกากร (Customs Union) ของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) และได้มีการกำหนดให้เพิ่มภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าภายในกลุ่ม จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 สำหรับสินค้าทั่วไปและไม่มีภาษีสำหรับสินค้าประเภทอาหาร นอกจากนั้น ยังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีกำไรและภาษีรายได้บุคคล และมีนโยบายให้สามารถนำเงินเข้า-ออกประเทศได้โดยเสรี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้น
สังคม
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เหมือนกับประเทศอ่าวอื่นๆ ที่ให้สวัสดิการกับประชาชนสูงในด้านสาธารณสุข การเคหะ และการดำรงชีพ มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีมาตรฐานการดำรงชีพสูงเป็นอันดับต้นของตะวันออกกลาง มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสตรีมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ สูง เมื่อเทียบกับสังคมประเทศอาหรับทั่วไป
- สำหรับคนชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และชุมชนชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับว่ามีสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่มั่นคง แต่สำหรับแรงงานที่มีรายได้ต่ำจะประสบความยากลำบาก เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการที่ระดับการคุ้มครองของรัฐยังไม่สูงพอ ในกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ |
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ด้านการทูต
ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2518 โดยไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม 2535 และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2541
ด้านการเมือง
ในรอบปี 2549 ที่ผ่านมามีการเยือนที่สำคัญ คือ เชคโมฮัมเมด บิน ไซอิด อัลนะห์ยัน (H.H Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan) มกฎราชกุมารรัฐอาบูดาบีเสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไทยเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2550 และรัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาร่วมประชุม Asian Energy Dialogue ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2550 และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี
ด้านเศรษฐกิจ
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประตูการค้าของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ช่วงปี 2541 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2549 คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกของไทย 1,474.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 7,115.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ เศษโลหะ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินและทองคำแท่ง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
- ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอันดับหนึ่งจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศอื่นๆ ในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 33 ของการนำเข้าทั้งหมด ในปี 2548 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นมูลค่า 5,695.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึงร้อยละ 54.4 ประเทศไทยโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าน้ำมันดิบจาก Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) มากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัญญาการซื้อขายน้ำมันแบบ G to G ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา
- เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 สภาเทศบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มีมติรับรองตราฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการรับรองโรงฆ่าไก่ที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย ซึ่งมติดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไก่ต้มสุกฮาลาลไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ และมติรับรองดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสสำหรับสินค้าฮาลาลไทยในตะวันออกกลาง เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์ส่งออกต่อฮาลาลที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ CIS
- ภาคเอกชนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เช่น รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซ/และน้ำมันในอ่าวไทย ลงทุนร่วมกับบริษัทไทย เช่น บริษัทผลิตพรม (ไทปิง) ขณะที่ภาคเอกชนไทยยังเข้าไปลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์น้อยราย แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคการบริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และภาคการก่อสร้าง เช่น บริษัทอิตัล-ไทย ได้เริ่มเข้าไปลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทสยามซีเมนต์ ได้เข้าไปมีบริษัทตัวแทนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
-ปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจบริการที่เป็นข้อจำกัดของการเข้าสู่ตลาด ได้แก่ (1) มาตรการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติได้ไม่เกินร้อยละ 49 (2) การทำธุรกิจทุกชนิดต้องมีชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้อุปถัมภ์ (local sponsor) กล่าวคือเป็นเจ้าของทะเบียนการค้า (trade license) โดยชาวต่างชาติที่ร่วมดำเนินธุรกิจเป็นเพียงผู้บริหารจัดการ โดยต้องจ่ายค่าอุปถัมภ์ในอัตราที่ตกลงกันทุกปี
-ภาคเอกชนไทยบางส่วนยังรู้สึกไม่คุ้นเคยและขาดข้อมูล อีกทั้งความแตกต่างด้านวัฒนธรรม สังคม ประเพณี และธุรกิจการค้า ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะเข้าไปทำการค้าในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโดยที่ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักปล่อยให้การบริหารจัดการบริษัทเป็นหน้าที่ของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายต่างๆ จึงมักจะยินดีที่จะทำธุรกิจกับบริษัทที่บริหารโดยชนชาติเดียวกับตนเป็นลำดับแรก อาทิ อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ดังนั้น หากฝ่ายไทยไม่สามารถเข้าถึงผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของกิจการที่เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ โอกาสที่ไทยจะเจาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ย่อมมีน้อยลง
- นอกจากนี้ แม้สินค้าของไทยจะมีคุณภาพดี แต่ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในระดับเดียวกับสินค้าจากจีนและอินเดีย ดังนั้น สินค้าไทยที่มีคุณภาพสูงกว่าและราคาสูงกว่า จึงอาจพบข้อจำกัดในการเข้าไปแข่งขันในตลาดของประเทศนี้ สำหรับสินค้าเกษตร คู่แข่งสำคัญคือ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาไทยมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคตะวันออกกลาง (รองจากอิสราเอล) มีจำนวนถึง 82,247 คน ในปี 2549 โดยนักท่องเที่ยวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวนมากนิยมเดินทางมาตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลในไทยทุกปี เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลย่อมเยากว่าประเทศในยุโรป และมักใช้โอกาสเดินทางมาพักผ่อนด้วย โดยสหรัฐอาหรับ- เอมิเรตส์ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยที่รัฐส่งมารับการรักษาพยาบาล สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในตะวันออกกลาง
ด้านแรงงาน ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 4,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ และทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ธุรกิจบริการ และธุรกิจก่อสร้าง ส่วนมากทำงานในรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบี ไม่ปรากฏว่ามีแรงงานไทยอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ดี ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังขยายตัวอย่างมาก ทำให้ความต้องการแรงงานในภาคการก่อสร้างและการบริการเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายสร้างความสมดุลของแรงงานที่เข้าไปในประเทศที่พยายามลดจำนวนแรงงานจากภูมิภาคเอเชียใต้ จะเป็นโอกาสอันดีต่อแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานทางด้านการบริการในการเข้าไปทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย
- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2543
- ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งร่างฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อปี 2547 และอยู่ในระหว่างการเจรจา
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2550
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ที่ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ซึ่ง ฝ่ายไทยเสนอร่างฯ ให้ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พิจารณา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และอยู่ในระหว่างการเจรจา
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอร่างฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
- กรมสุขภาพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเดือนสิงหาคม 2547 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาบริการทางการแพทย์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกรมสุขภาพฯ จะส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน
- The Emirates Securities and Commodities Authority (ESCA) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- วันที่ 11 - 15 มีนาคม 2541 เสด็จฯ เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นการส่วนพระองค์
รัฐบาล
รองนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 20 พฤศจิกายน 2548 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้เข้าเฝ้าและหารือข้อราชการกับ Sheikh Hamdan bin Zayed Al Nahyan รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแห่งรัฐ ด้านการต่างประเทศ
รัฐมนตรี
- เดือนธันวาคม 2523 นายวิศิษฐ์ ตันสัจจา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ คูเวต โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- วันที่ 5 กรกฎาคม 2530 นายเฉลียว วัชรพุกก์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งเยี่ยมคนงานไทย
- วันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2534 ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนดูไบ เพื่อศึกษาแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์
- วันที่ 15 - 19 ตุลาคม 2536 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนและนักธุรกิจเยือนดูไบ เพื่อขยายลู่ทางความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
- วันที่ 6 - 8 มีนาคม 2540 นายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทย นำคณะเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดูงานด้านกิจการไฟฟ้า
- วันที่ 8 - 9 พฤษภาคม 2540 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนำคณะเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อศึกษาดูงานระบบงานศาล
- เดือนมิถุนายน 2541 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ย่างเป็นทางการ
- วันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2547 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 9 - 10 เมษายน 2547 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 25 มิถุนายน 2548 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปศึกษาลู่ทางการค้าการลงทุนของไทย ณ เมืองดูไบ
- วันที่ 27 มิถุนายน 1 กรกฎาคม 2549 นายอนุทิน ชาญวีระกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Humaid Mohamed Al Qutami รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- วันที่ 2 กรกฎาคม 2549 นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Mohammad bin Dhaen Al Hamli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- วันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2550 ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Mohammad bin Dhaen Al Hamli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- วันที่ 22 24 เมษายน 2550 นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan มกุฎราชกุมารแห่งรัฐอาบูดาบี H.H. Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ และ H.H. Sheikh Abdullah bin Zayed Al Nahyan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
พระราชวงศ์
H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan รองมกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี
- ปี 2546 เสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan มกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี และ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- วันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัฐบาล
รัฐมนตรี
- เดือนพฤษภาคม 2520 Sheikh Ahmed Khalifa Al Suweidi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Hamdan bin Rashid Al Maktoum รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรม และนาย Moma Saeed Al Oteiba รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการปิโตรเลียมและทรัพยากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเยือนไทยตามคำเชิญของนายอุปดิศ ปาจรียางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เดือนกุมภาพันธ์ 2543 H.H. Sheikh Fahim bin Sultan Al Qassimi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร่วมการประชุม United Nations Conference on Trade and Development ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ และได้หารือทวิภาคีกับ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 21 - 23 มีนาคม 2549 H.E. Mohammad bin Dhaen Al Hamli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยือนไทยเพื่อร่วมงาน Asian Energy Dialogue
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
Royal Thai Embassy
East 18/1, District 80, Al Murror Road,
4th Street,Oppcrsitc Al Falah Plaza,
P.O, Box,47466, Abu Dhabi
Tel. (971-2) 6421772
Fax. (971-2) 6421773
E-mail : thaiauh@emirates.net.ae
ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
The Embassy of the United Arab Emirates
82 Saeng Thong Thani Bldg., 25th Fl.,
North Sathorn Road,
Bangkok 10500
Tel: 0-2639-9820-4
Fax: 0-2639-9818
Consular Fax: 0-2639-9800
****************
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5051-52 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|