|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐเวเนซุเอลา Republic of Venezuela
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีชายฝั่งติดกับทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และมีเขตแดนติดกับโคลอมเบียและกายอานา
พื้นที่ 912,050 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่เกือบ 2 เท่าของประเทศไทย
เมืองหลวง การากัส (Caracas) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลา
ประชากร 27.30 ล้านคน (2549)
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น (tropical) ถึงบริเวณเทือกเขามีอากาศเย็น
ภาษา สเปนเป็นภาษาทางการ แต่ยังคงใช้ภาษาท้องถิ่นของอินเดียนพื้นเมืองจำนวนอีก 31 ภาษา อาทิ ภาษา วายู (Wayuu) เพโมน (Pemon) วาเรา
(Warao) ยาโนมามิ (Yanomami) และกวาฮิโบ (Guajibo) เป็นต้น
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 96
หน่วยเงินตรา เวเนซุเอลาน โบลิวาร์ (โดย 2,144.60 เวเนซุเอลาน โบลิวาร์ มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 153.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 4,993 ดอลลาร์สหรัฐ (2549)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 10.8 (2549)
ระบอบการปกครอง สหพันธรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ ปัจจุบันคือ นายอูโก ชาเวซ (Mr. Hugo Chavez) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สาม
รูปแบบการปกครอง สหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic) ประกอบด้วย 1 เขตนครหลวง(federal district) 2 federal territories และ 72 federal dependencies
ประมุขของประเทศ ประธานาธิบดี Hugo Chavez Frias
ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร
- สมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 52 คน โดยในจำนวนนี้ 50 มาจากการเลือกตั้ง
ของแต่ละรัฐ และอีก 2 คน มาจากเขตนครหลวง นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งวุฒิสมาชิก
ตลอดชีพ สำหรับอดีตประธานาธิบดีอีกด้วย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนทั้งสิ้น 207 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานรัฐสภาตามลำดับ
ฝ่ายตุลาการ ศาลฎีกา (Supreme Courst) เป็นสถาบันสูงสุดโดยผู้บริหารและนักกฎหมายระดับสูงได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา
1. การเมืองการปกครอง (สถานะล่าสุด)
1.1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธ.ค. 2549 ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาสำหรับวาระปี 2550 2556 โดย ปธน. Hugo Chávez ได้รับชัยชนะได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 62.57 โดย ในการบริหารประเทศในสมัยที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนในชื่อ Plan Bolivar ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคและสังคมเพื่อช่วยเหลือคนยากจนพลเรือน โดยใช้งบประมาณจากการขายน้ำมัน ทั้งนี้ โครงการที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาความ ยากจน การสร้างคลินิกให้บริการทางการแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนยากจนโดยได้รับความร่วมมือจากคิวบา โครงการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย และอาหารแก่คนยากจน
1.2 ในพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซย้ำเจตนารมณ์ที่จะขยาย Bolivarian Revolutionary และเร่งรัดให้ประเทศมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมอย่างแท้จริง และดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากนโยบายเดิม โดยเน้นการก่อตั้งระบอบสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 (Socialism of the XXI Century) ที่มุ่งหวังจะพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมและการเมืองของเวเนซุเอลาเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือชนชั้นกลาง
1.3 รัฐบาลเน้นแผนที่จะปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจพิเศษด้านิติบัญญัติให้แก่ประธานาธิบดี โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถออกกฎหมายโดยใช้ Presidential Decree ได้ และ
ยกเลิกการจำกัดจำนวนวาระการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อให้ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้งในปี 2555
เศรษฐกิจและสังคม
เศรษฐกิจพึ่งพิงการผลิตและส่งออกปิโตรเลียมนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยคิดเป็นร้อยละ 25 ของ GDP (ปี 2548) ทั้งนี้ รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด ในอดีตเวเนซุเอลาเปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 รัฐบาลของประธานาธิบดี Chávez ได้ออกกฎหมาย Hydrocarbons Law ฉบับใหม่ กำหนดให้กิจการการผลิตและการจำหน่ายน้ำมันเป็นของรัฐบาลเวเนซุเอลา และเอกชนไม่สามารถถือหุ้นในกิจการดังกล่าวได้เกินกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ กิจการในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจน้ำมัน Petroleos de Venezuela (PDVSA) ทั้งนี้ เวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง OPEC
สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต (manufacturing) (คิดเป็นร้อยละ 17 ของ GDP ของเวเนซุเอลา) ยังไม่อยู่ในสภาพแข่งขันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเพื่อการส่งออก ยกเว้นอุตสาหกรรมการลงทุนภาครัฐที่ใช้เงินทุนสูง แม้ว่าในปี ค.ศ. 2005 มีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 9 แต่ยังคงขาดแคลนการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ ผลิตผลที่สำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้า อลูมินั่ม สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องดื่ม และอาหาร สำหรับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 5 ของ GDP และร้อยละ 10 ของการจ้างงาน โดยผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าว ยาสูบ ปลา ผลไม้เมืองร้อน (tropical fruits) กาแฟ โกโก้ (ในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970s เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟ และโกโก้รายใหญ่ของโลก แต่ในปัจจุบันเวเนซุเอลาผลิตกาแฟเพียงประมาณร้อยละ 1 ของปริมาณกาแฟโลกและส่วนมากเพื่อการบริโภคภายในประเทศ) ทั้งนี้ เนื่องจากการหันเหความสนใจมายังอุตสาหกรรมน้ำมันที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูการปลูกและผลิตโกโก้ในเวเนซุเอลา (โกโก้ของเวเนซุเอลาบางชนิดได้ชื่อว่าเป็นโกโก้ที่ดีและมีกลิ่นหอมที่สุดในโลก และใช้สำหรับการผลิตช็อคโกแลตแท้ชั้นดีเท่านั้น)
เวเนซุเอลายังไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้พอเพียงกับความต้องการภายในประเทศ ยังคงต้องนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง ฝ้าย ไขมันจากสัตว์ น้ำมันพืช ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ และโคลอมเบีย นอกจากนั้น การพึ่งพาการส่งออกน้ำมันทำให้เวเนซุเอลาได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก หากราคาน้ำมันสูง นโยบายการใช้จ่ายงบประมาณจะมากขึ้นด้วย
รัฐบาลเวเนซุเอลามีนโยบายไม่เห็นด้วยกับการจัดทำ Free Trade Area of the Americas (FTAA) แต่มีนโยบายส่งเสริมบูรณาการภายในภูมิภาคอเมริกาใต้ ทั้งนี้ เวเนซุเอลาได้ลงนามในความตกลง Agreement for the Application of the Bolivarian Alternative for the Peoples of Our America and the Peoples Trade Agreements (ALBA) กับคิวบาและโบลิเวียเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005 และเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2006 ตามลำดับ โดยหวังว่า ความตกลง ALBA จะเป็นแนวทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาคตามแนวความคิดแบบสังคมนิยมและจะเป็นทางเลือกแทนการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของภูมิภาคอเมริกาใต้ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ
นโยบายการต่างประเทศ
ความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน - ประธานาธิบดี Hugo Chávez ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบูรณาการทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้าและการทำความตกลงการค้าทวิภาคี โดยรวมถึงการใช้น้ำมันเป็นกลไกในการส่งเสริมความสัมพันธ์ (oil diplomacy) เช่น การทำความตกลง Oil-for-expertise trade arrangement กับคิวบา การให้การสนับสนุนทางการเงินกับการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติราคาถูกไปขายยังโคลอมเบีย และการทำ barter trade แลกเปลี่ยนน้ำมันกับเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นมจากอาร์เจนตินา นอกจากนี้เวเนซุเอลายังได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือต่างๆ กับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เช่น Petrocaribe (ความร่วมมือระหว่างเวเนซุเอลากับประเทศ CARICOM และคิวบา ซึ่งเวเนซุเอลาให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศภาคีในการซื้อน้ำมันโดยมีเงื่อนไขพิเศษในการชำระเงิน), Petrosur (ความร่วมมือด้านน้ำมันระหว่างเวเนซุเอลากับบางประเทศในอเมริกาใต้ เช่น อาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกวัย) และ Telesur (New Television Station of the South) ตั้งขึ้นตามความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีเวเนซุเอลาเพื่อหักล้างกับการเสนอข่าวและรายงานต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์เอกชนโดยเฉพาะที่ผลิตหรือเป็นเครือข่ายของสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมในอเมริกาใต้ เช่น CNN en Español, Univisión (บริษัทสื่อสารมวลชนที่เผยแพร่รายการโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ เป็นภาษาสเปนในสหรัฐฯ) โดยสถานีโทรทัศน์ Telesur แห่งนี้ตั้งอยู่ที่กรุงการากัส เริ่มออกอากาศเต็มเวลาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2005)
ปัญหาขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ
เวเนซุเอลา-สหรัฐฯ - ประธานาธิบดี Chávez ต่อต้าน neocolonialism และ neoliberalism โดยได้ประณามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอิรัก เฮติ และ การจัดทำเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกา (Free Trade Area of the Americas - FTAA) ประธานาธิบดีเวเนซุเอลายังมักวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง โดยล่าสุดในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยที่ 61 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาได้เรียกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า the devil อย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกน้ำมันที่ทำรายได้ให้เวเนซุเอลาเป็นอย่างมาก
เวเนซุเอลา-เม็กซิโก ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาประณามเม็กซิโกว่า เป็นสุนัขรับใช้ของสหรัฐฯ ในการขยายอำนาจและแทรกแซงกิจการภายในภูมิภาคลาตินฯ โดยใช้ FTAA เป็นเครื่องมือ จนมีการถอนเอกอัครราชทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 เวเนซุเอลา-เปรู ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม มีนาคม ค.ศ. 2006 ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี Alan Garcia ในขณะเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของเปรู และให้การสนับสนุนนาย Ollanta Humala ผู้สมัครที่มีแนวนโยบายชาตินิยมและชื่นชอบผู้นำของประเทศที่มีแนวนโยบายสังคมนิยม อีกทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์การที่เปรูลงนาม FTA กับสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลเปรูได้กล่าวเตือนประธานาธิบดีเวเนซุเอลาไม่ให้แทรกแซงในการเมืองภายในเปรู จนในที่สุดเปรูได้ถอนเอกอัครราชทูตประจำกรุงการากัสเพื่อเป็นการประท้วงต่อการที่ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาแทรกแซงการเมืองภายในเปรูอย่างต่อเนื่องและโจ่งแจ้ง (persistent and flagrant interference) ซึ่งเวเนซุเอลาได้ตอบโต้ด้วยการถอนเอกอัครราชทูตเวเนซุเอลาประจำกรุงลิมาเช่นกัน
เวเนซุเอลา-กลุ่มประเทศแอนเดียน เวเนซุเอลาเคยเป็นสมาชิกประชาคมแอนเดียน (เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และโบลิเวีย) และได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกประชาคมแอนเดียนเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 หลังจากที่สหรัฐฯ ได้บรรลุการเจรจาจัดทำ FTA กับเปรู และโคลอมเบีย โดยให้เหตุผลว่า การทำ FTA กับสหรัฐฯ ของเปรูและโคลอมเบียเป็นการทำลายความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจของประชาคม รวมทั้งกล่าวด้วยว่า เปรูและโคลอมเบียมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากเกินไป อีกทั้งไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทในการรวมกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคอเมริกาใต้ ทั้งนี้ เวเนซุเอลาได้หันไปมีความใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศ Mercosur โดยได้เข้าเป็นสมาชิกสมทบเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 และได้เข้าเป็นสมาชิกถาวรเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2006
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเวเนซุเอลา |
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยและเวเนซุเอลาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2525 ไทยได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย มีอาณาเขตดูแลเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมาส่งผลให้มีการปรับเขตอาณาของประเทศในลาตินอเมริกา ทำให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมาจะดูแลแทน และในปี 2536 ไทยได้เปิดสถานกงสุลกิตติศักดิ์ไทยประจำเวเนซุเอลาขึ้น โดยมีนาย Jean Paul Coupal ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์
ในขณะที่เวเนซุเอลามอบหมายให้สถานเอกอัครราชเวเนซุเอลา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์มีเขตอาณาดูแลไทย ทั้งนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาได้ขอเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำไทย โดยรัฐบาลไทยได้มีมติอนุมัติคำขอดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
เวเนซุเอลาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทยในลาตินอเมริกา โดยในปี 2549 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 84.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 80.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าส่งออก 82.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ไทยส่งออกไปเวเนซุเอลา ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา สิ่งทออื่นๆ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเวเนซุเอลา ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตูพืชและสัตว์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานพาหนะ เคมีภัณฑ์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา ผลิตภัณฑ์โลหะ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้า เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ในปี 2549 มีชาวเวเนซุเอลาเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 1,652 ราย โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งมีชาวเวเนซุเอลาเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 1,556 ราย
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ จะเป็นความตกลงฉบับแรกที่ไทยมีกับโคลอมเบีย
---------------------------------
ปรับปรุงล่าสุด 22 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 3013, 3014, 3016, 3018 หรือ 0-2643-5114 Fax. 0-2643-5115
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|