|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม Socialist Republic of Vietnam
|
|
พื้นที่ 331,033 ตารางกิโลเมตร (0.645 เท่าของประเทศไทย)
เมืองหลวง กรุงฮานอย (Hanoi)
เมืองสำคัญ นครโฮจิมินห์ ดานัง เว้
ประชากร 84.4 ล้านคน (2549)
ศาสนา พุทธ (มหายาน)
ภาษาราชการ ภาษาเวียดนาม
รูปแบบการปกครอง ระบอบสังคมนิยม โดยพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองเดียว
ประมุข นายเหวียน มินห์ เจี๊ยต (Nguyen Minh Triet) ประธานาธิบดี
หัวหน้ารัฐบาล นายเหวียน เติน ซุง นายกรัฐมนตรี (Nguyen Tan Dung)
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ นายหน่ง ดึ๊ก หมั่น (Nong Duc Manh)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายฝ่าม ซา เคียม (Pham Gia Khiem) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งด้วย
รัฐบาล รัฐบาลแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยสภาแห่งชาติ (National Assembly) วาระ 5 ปี
วันชาติ 2 กันยายน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 50.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
อัตราการเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Growth) ร้อยละ 8.17 (ปี 2549)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) 720ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
สกุลเงิน ด่ง อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 461 ด่ง ต่อ 1 บาท (17 ม.ค. 2550)
การค้าระหว่างประเทศ ในปี 2549 มูลค่าการนำเข้าสินค้าของเวียดนามเท่ากับ 44.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกเท่ากับ 39.6
พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามจึงขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำมันดิบ ถ่านหิน สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อาหารทะเล ข้าว ผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา สิ้นค้าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สินค้าอิเลกทรอนิกส์และกาแฟ
สินค้านำเข้าที่สำคัญ วัตถุดิบ วัสดุเพื่อสิ่งทอ เครื่องหนัง เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จักรยานยนต์ รถยนต์
ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สิงค์โปร์ เยอรมนี อินโดนีเซีย อังกฤษ และไต้หวัน
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ จีน ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ไทย ฮ่องกง มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา
การลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น 6,813 โครงการ มีมูลค่ารวม 10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศผู้ลงทุนที่สำคัญ ไต้หวัน สิงค์โปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาะบริติชเวอร์จิน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ตามลำดับ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 12 (153 โครงการ เงินทุนจดทะเบียน 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
การค้าไทย - เวียดนาม ประมาณ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549) (ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของเวียดนาม ส่วนเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย)
สินค้าที่ไทยส่งออก เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก ก๊าซปิโตรเลียมเหลว รถจักรยานยนต์
สินค้าที่ไทยนำเข้า เครื่องจักรไฟฟ้า น้ำมันดิบ ถ่านหิน เมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 6 สิงหาคม 2519 (ค.ศ. 1976)
เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง
เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย นายเหวียน ซุง ฮึง
กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์นายประวิตร์ ชัยมงคล
กงสุลใหญ่ ประจำจังหวัดขอนแก่นนายเหวียน วัน เฝิม
เวียดนามเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีเอกภาพสูง และมีการกระจายอำนาจ ซึ่งในการเปลี่ยนผู้นำครั้งล่าสุดภายหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สมัยที่ 10 เมื่อกลางปี 2549 มีผู้นำที่มาทั้งจากภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและมีภาพลักษณ์ของผู้นำรุ่นใหม่
นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันยังคงรักษาทิศทางเดิม กล่าวคือ เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบาย โด่ย เหมย (Doi Moi) ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 20 และขณะนี้มีการดำเนินการเร่งปรับตัวเข้ากับกระแสเศรษฐกิจและสังคมของโลก ซึ่งในภาพรวมถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ทำให้ปัจจุบันเวียดนามมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.5 ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากจีน ทั้งนี้ พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกวัตถุดิบ (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) สิ่งทอ เครื่องหนังและสินค้าเกษตร ขณะที่การท่องเที่ยวและภาคบริการก็พัฒนาไปมากจากความสนใจของต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO (เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549) มีการปฏิรูปและการปรับปรุงกลไกภาครัฐ อย่างเร่งรีบ พร้อมทั้งได้พยายามศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากหลายประเทศ
ในระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคฯ สมัยที่ 10 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้แถลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปี 2549 - 2553 ซึ่งระบุถึงเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) ดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ (Doi Moi) เพื่อให้อัตราการเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเติบโตร้อยละ 8 หรือมากกว่าภายในปี 2553 (ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 94-98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยมเพื่อก้าวสู่ความเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและทันสมัยภายในปี 2563 (3) พัฒนา knowledge - based economy (4) ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเร่งรัดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ เวียดนามมีนโยบายเน้นหนักเรื่องการส่งเสริมธุรกิจเอกชน เร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และเชิญชวนนัก ลงทุนจากต่างประเทศ
ปัจจุบันมีการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามเมืองสำคัญ ๆ (ที่ จ.บาเรีย วุง เต่า ซึ่งอยู่ใกล้นครโฮจิมินห์) การปรับปรุงท่าเรือน้ำลึก (ดานัง และที่อ่าวคัมรานห์) และท่าอากาศยานนานาชาติให้ทันสมัย ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้า เวียดนามมีแผนการลงทุนโดยใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการสร้างเขื่อนใหม่ที่ จ.เซินลา ทาง
ภาคเหนือซึ่งจะเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งกำลังเตรียมโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีเป้าหมายให้สร้างเสร็จภายในปี 2563 ด้านอุตสาหกรรม เวียดนามกำลังพัฒนาหลายด้านที่สอดคล้องกับสภาพและเงื่อนไข อาทิ อุตสาหกรรมต่อเรือ โดยปัจจุบันเวียดนามสามารถต่อเรือสินค้าขนาดระวาง 53,000 ตันได้ และตั้งเป้าที่จะต่อเรือขนาดระวาง 1 แสนตันในอนาคต โดยได้รับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
เวียดนามยังคงต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ ส่วนหนึ่งได้จากการลงทุนต่างชาติ ซึ่งขณะนี้มีการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นอนุมัติโครงการลงทุนระดับเล็กและกลางได้ นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ อาทิ IDA (International Development Association) ADB JICA และยังมีเงินจากกลุ่มชาวเวียดนามโพ้นทะเล (เวียดเกียว) หลายล้านคนซึ่งส่งเข้าไปพัฒนาระบบเศรษฐกิจของเวียดนามอีกด้วย
ด้วยเสถียรภาพของรัฐบาล นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน และความเชื่อมั่นในเรื่องความเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ กับการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ฯลฯ ได้มีส่วนช่วยดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติเข้าสู่เวียดนามเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จนถึงขณะนี้มีเงินลงทุนต่างชาติเข้าสู่เวียดนามแล้วเป็นจำนวนถึง 56.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนกว่า 6,635โครงการ โดยมีสิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุนลำดับต้น ๆ รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งมองเวียดนามในฐานะอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากจีน โดยเปลี่ยนไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน
อย่างไรก็ดี เวียดนามยังคงมีปัญหาที่ประสบอยู่โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้พยายามวางแผนเพื่อรับมือปัญหาเหล่านี้ โดยเน้นการสร้างความอยู่ดีกินดี มีโครงการส่งเสริมการจ้างงานและจัดอบรมวิชาชีพแก่ประชาชนกว่าล้านคน มีการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยมีไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เป็นตลาดแรงงานสำคัญ นอกจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการลดระดับความยากจน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ โดยได้รับการยอมรับจาก UNDP จากการที่เวียดนามสามารถลดระดับความยากจนจากร้อยละ 60 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 18 ในปี 2547
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม |
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 และ
เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงฮานอย และสถานกงสุลใหญ่ที่นครโฮจิมินห์ เมื่อปี 2521 และ 2535 ตามลำดับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประกอบด้วยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ปัจจุบันนายกิติพงษ์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย (ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2549)
ในส่วนของเวียดนาม ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทยเมื่อปี 2521 มี
นายเหวียน ซุย ฮึง (Nguyen Duy Hung) เป็นเอกอัครราชทูตฯ (ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2549)
สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - เวียดนามในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดี ไม่มีปัญหาสำคัญค้างคา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำความตกลงรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างกันรวมแล้วกว่า 40 ฉบับ
กรอบความร่วมมือ
ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้วางกลไกสำหรับดูแลความสัมพันธ์ในหลายระดับ ในระดับสูงสุดมีกรอบการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ซึ่งในการประชุม JCR ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2547 ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนารมณ์ใน แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยกรอบความร่วมมือไทย - เวียดนาม ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 (Joint Statement on the Thailand - Vietnam Cooperation Framework in the First Decade of the 21st Century) ระบุให้มีการเพิ่มพูนความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน และตกลงให้จัดตั้งกลไกการหารือร่วม (Joint Consultative Mechanism : JCM) เพื่อให้เป็นกลไกในระดับรองจาก JCR และทำหน้าที่ดูแล ประสานความร่วมมือในภาพรวมแทนคณะกรรมาธิการร่วมไทย - เวียดนาม (Joint Commission : JC)
ในด้านการเมืองและความมั่นคง มีความร่วมมือและประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีกรอบการประชุมคณะ ทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation : JWG on PSC) เป็นกลไกสำคัญ
ความร่วมมือด้านการค้า
เป็นสาขาที่มีความก้าวหน้ามาก ดังเห็นได้จากการที่สองฝ่ายตั้งเป้าหมายใน
แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยกรอบความร่วมมือไทย - เวียดนาม ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เมื่อต้นปี 2547 ที่จะให้มูลค่าการค้ารวมเพิ่มจาก 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2553 ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ในปี 2548 เร็วกว่าที่กำหนดถึง 5 ปี ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะเพิ่มมูลค่าการค้ารวมให้ได้ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2553
ไทยมีความร่วมมือกับเวียดนามในด้านการค้าข้าวโดยผ่านสภาความร่วมมือค้าข้าว (Council on Rice Trade Cooperation) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน นอกจากนี้ ไทยแสดงท่าทีสนับสนุนเวียดนามให้เข้าร่วมในความร่วมมือด้านยางพาราสามฝ่าย (ไทย - มาเลเซีย - อินโดนีเซีย) เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้ส่งออกยางพาราที่สำคัญรายหนึ่ง
ไทย - เวียดนามมีกรอบการประชุมคณะอนุกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade
Commission : JTC) จัดตั้งเมื่อปี 2538 มีอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย
ความร่วมมือด้านการลงทุน
ไทยลงทุนในเวียดนามสูงเป็นอันดับที่ 12 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม มีโครงการต่าง ๆ รวม 153 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (กรกฎาคม 2550) แหล่งใหญ่ที่สุดที่เอกชนไทยไปลงทุนคือที่นครโฮจิมินห์และจังหวัดข้างเคียง ในสาขาสำคัญ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลาสติก ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้สาขาการลงทุนที่มีความน่าสนใจได้แก่ ภาคบริการ ซึ่งไทยมีประสบการณ์และเวียดนามมีความต้องการด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกมากเมื่อเข้า WTO และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ด้านวิชาการ สังคม และวัฒนธรรม
ไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับเวียดนามตั้งแต่ปี 2535 ผ่านกรอบการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย - เวียดนาม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนการสอนภาษาระหว่างกัน โดยไทยได้รับความร่วมมือในการเปิดหลักสูตรสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย 5 แห่งของเวียดนาม ขณะที่เวียดนามสนับสนุนงบประมาณ 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงเรียนสอนภาษาเวียดนามที่จังหวัดนครพนม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานสาขาต่างๆ ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
เวียดนามให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาหมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม ที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เคยพำนักในช่วงกอบกู้เอกราช ขณะนี้ไทย - เวียดนามร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านดังกล่าวให้เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของการฉลองครบรอบ 30 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยได้จัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อสร้าง ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ภายในหมู่บ้านดังกล่าวสำหรับเผยแพร่ความรู้ด้านความสัมพันธ์และ
ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของสองประเทศเพื่อเป็นการ ต่อยอด โครงการหมู่บ้านมิตรภาพฯ
ในระดับท้องถิ่นก็มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนซึ่งขณะนี้เครือข่ายเส้นทางคมนาคมสายต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไทย - เวียดนามได้รับการพัฒนาไปมาก เช่น เส้นทางหมายเลข 9 ตามโครงการ EWEC จากมุกดาหารไปสะหวันนะเขตถึงเมืองเว้ในเวียดนาม (สะพานมิตรภาพ 2 เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549) เส้นทางหมายเลข 8 จากจังหวัดนครพนมผ่านแขวงคำม่วนไปยังเมืองวิงห์ในเวียดนาม และเส้นทางด้านใต้ เริ่มจากกรุงเทพฯ - อรัญประเทศ - เสียมราฐ - พนมเปญ - โฮจิมินห์ ซึ่งเส้นทางหลักทั้ง 3 จะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนของไทย - ลาว - กัมพูชา - เวียดนาม ในการติดต่อไปมาหาสู่และค้าขายกัน
การแลกเปลี่ยนการเยือนล่าสุด
นายกรัฐมนตรีได้เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 และต่อมานายเหวียน เติน ซุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 22 ธันวาคม 2549 ภายหลังร่วมพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในการเยือนดังกล่าวมีการหารือในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณาโครงการเพื่อ ต่อยอด โครงการพัฒนาเส้นทาง East - West Economic Corridor (EWEC) ที่มีสะพานมิตรภาพ 2 เป็นตัวเชื่อมโยง การเพิ่มบทบาทไทย - เวียดนามเพื่อร่วมกันพัฒนาอนุภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือด้านข้าวสำหรับประเทศในกลุ่ม ACMECS (ยุทธศาสตร์ความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง : Ayeyawady Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) การขอให้เวียดนามผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนสำหรับเอกชนไทย สำหรับในส่วนของเอกสารสำคัญ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ JSEP (Joint Strategy for Economic Partnership) ซึ่งเป็นเอกสารรายงาน
ผลการศึกษาวิจัย จุดแข็ง และเปรียบเทียบศักยภาพของทั้งสองประเทศ เพื่อเสนอแนะแนวทางและโครงการให้แก่ภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการรับรองเอกสาร Security Outlook ซึ่งเป็นเอกสารแสดงมุมมองด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศเพื่อวางแนวทางการร่วมมือกันรับมือกับปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต
ความตกลงไทย - เวียดนามที่สำคัญ
1. ความตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - เวียดนาม ลงนามเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2534
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ลงนามเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2534
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการผลิตและส่งออกข้าว ลงนามเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2535
4. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535
5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ลงนามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2537
6. ความตกลงทางด้านวัฒนธรรม ลงนามเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539
7. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ และอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา ลงนามเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2540
8. ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยและเวียดนามในอ่าวไทย ลงนามเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2540
9. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านกฎหมายและการศาล ลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541
10. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น ลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541
11. บันทึกความเข้าใจระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือเวียดนามว่าด้วยการลาดตระเวนร่วมและการจัดตั้งโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ลงนามเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2542
12. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2543
13. บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานส่งเสริมการลงทุนกับกระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม ว่าด้วยการลงทุนไทย - เวียดนาม ลงนามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2546
14. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ลงนามเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2546
15. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
16. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
17. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
18. แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยกรอบความร่วมมือไทย - เวียดนามในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
19. ความตกลงว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
20. กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
21. แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งทางถนน ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
22. ความตกลงย่อยว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
23. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับใช้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
การเยือนที่สำคัญ
1. การเยือนของฝ่ายไทย
1.1 การเสด็จเยือนของพระราชวงศ์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนเวียดนามใต้ เมื่อวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502 - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเวียดนามวันที่ 5-9 กันยายน 2540 เสด็จฯ เยือนนครโฮจิมินห์เพื่อทรงฝึกบินเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเวียดนาม ๒ ครั้งเมื่อวันที่ 17-21 มีนาคม 2536 และวันที่ 19-21 เมษายน 2543
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนเวียดนาม ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2546
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเยือนเวียดนาม ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2548 เพื่อทรงแข่งขันแบดมินตัน
1.2 การเยือนของนายกรัฐมนตรี
- พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนเวียดนาม 3 ครั้ง
(1) การเยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2544
(2) วันที่ 20 กุมภาพันธุ์ 2547 เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 1
(3) วันที่ 8-9 ตุลาคม 2547 เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ ASEM ครั้งที่ 5
- พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเวียดนาม 2 ครั้ง
(1) การเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549
(2) การเยือนกรุงฮานอย เพื่อร่วมประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ ๑๔ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2549
2. การเยือนของฝ่ายเวียดนาม
2.1 การเยือนของประธานาธิบดี
- นายเจิ่น ดึ๊ก เลือง (Tran Duc Luong) ประธานาธิบดีเวียดนาม (ในขณะนั้น) เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (State Visit) ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2541
2.2 การเยือนของนายกรัฐมนตรี
- นายฟาน วัน ข่าย (Phan Van Khai) นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เยือนไทย 4 ครั้ง
1) วันที่ 9-12 พฤษภาคม 2540 เพื่อเยือนอย่างเป็นทางการ
2) วันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 ประะชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ
3) วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดนครพนม
4) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 เยือนไทยเพื่อร่วมประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ
- นายเหวียน เติน ซุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคม 2549
เรียบเรียงโดย กองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5200-1Fax. 0-2643-5202 E-mail : eastasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|