|
|
|
|
|
|
|
|
|
ร่องรอยของประชาชนเผ่าพันธุ์แรกที่อาศัยอยู่ในพม่าคือพวกพยู ซึ่งเรื่องราวของคนพวกนี้ไม่เป็นที่ทราบกันดีนัก คนพวกนี้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียมาก ชาวพยูมีชื่อเสียงมากในฐานะที่เป็นผู้สร้างเมืองศรีเกษตรา (Sri Kshetra) ขึ้นมา ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้เมืองโปรเม (Prome) เมืองนี้มีลักษณะเป็นวงกลม มีประตูเป็นทางเข้าเมือง ชาวพยูมีความสนใจที่จะรับการศึกษาจากคนรุ่นใหม่คือพวกอินเดียนี้มาก |
|
ต่อมาก็มีพวกมอญเผ่ามองโกลอยด์ เข้าไปตั้งหลักแหล่งแทนพวกพยูในพม่า โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดทั่วภาคใต้ของพม่าและไทย ชาวมอญ เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และรู้จักการเพาะปลูกข้าวโดยใช้ระบบของการชลประทาน
ประมาณศตวรรษที่ 8 ชาวพม่าอพยพโดยทางแม่น้ำ ยูนนาน (Yunnan River) ไปอยู่ทางภาคกลางทางทิศเหนือของประเทศพม่า ต่อมาก็มีชาวไทยเผ่าหนึ่งซึ่งพม่าเรียกว่าพวกชาน (Shan) อพยพตามชาวพม่าขึ้นไปทางเหนือด้วย |
|
ประชาชนชาวพม่าเรียกชื่อประเทศของตนว่า "แผ่นดินทอง" (Golden Land) ชื่อนี้อาจได้มาจากประเพณีทางพุทธศาสนาของชาวพม่าที่ใช้ทองเปลวปิดองค์พระเจดีย์ องค์เจดีย์ที่ถูกปิดด้วยทองเปลวแล้วเมื่อสัมผัสกับแสงตะวันจะเหลืองอร่ามไปทั้งองค์
หรือการที่ชาวพม่าเรียกชื่อประเทศของตนว่า "แผ่นดินทอง" นั้นอาจจะมาจากแสงทองที่เรืองรองบนไร่นาอันสวยงามของชาวพม่าก็ได้ เพราะรวงข้าวเมื่อก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ยามที่สัมผัสกับแสงตะวันจะส่งสีสรรพ์ราวกับแสงของทองคำที่เป็นเช่นนี้เพราะพม่าปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลักของชาวเอเชียทั่วไปได้มาก พม่าเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยไม้ที่มีค่า และยังมีทรัพยากรประเภทสินแร่ที่สำคัญอยู่มาก |
|
ประเทศพม่ามีอาณาเขตติดต่อกับอินเดีย บังคลาเทศ จีน ลาว และประเทศไทย จากสภาพทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและลักษณะการปกครองทางการเมืองของประเทศทำให้พม่าถูกขัดขวางในการมีบทบาททางการเมืองของโลก พม่าจึงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเป็นประเทศที่เงียบสงบ |
|
สภาพภูมิประเทศทางธรรมชาติของพม่าคล้าย ๆ กับอิตาลีหรือสเปน คือมีเทือกเขาแนวโค้งรูปเกือกม้าโอบรอบพม่าทางด้านตะวันตก ด้านเหนือ และด้านตะวันออก ตามบริเวณที่ราบต่ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ และแยกประเทศพม่าออกจากประเทศเพื่อนบ้าน ประชากรที่อพยบเข้ามาอยู่ได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของพม่าหลายครั้ง และองค์ประกอบของประชากรพม่าไปบ้าง แต่ก็เป็นเวลานานเกือบ 4,000 ปี ที่พม่ามีประวัติศาสตร์เป็นของตนเองสืบต่อเรื่อยมาโดยรับเอาวัฒนธรรมตามหลักของศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท มาใช้ |
|
|
|
สิ่งสำคัญในการกำหนดลักษณะความเป็นอยู่ของประชาชนและประวัติศาสตร์ของพม่า คือ บริเวณลุ่มแม่น้ำโดยเฉพาะแม่น้ำอิรวดี ดินดอนสามเหลี่ยม บริเวณเทือกเขาซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตแดนทางธรรมชาติของประเทศ |
|
สภาพทางภูมิศาสตร์ แบ่งออกได้ดังนี้ |
|
บริเวณเทือกเขา เทือกเขาทางภาคเหนือและเทือกเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาวซึ่งกั้นพรมแดนทางภาคตะวันออกนั้นเป็นเทือกเขาที่ขึ้นตามสภาพทางธรณีวิทยามาตั้งแต่สมัยก่อนยุคเทอเทียรี่ เทือกเขาทางภาคเหนือของประเทศมีความสูงประมาณ20,000 ฟุต ภูเขาโปปา ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกรวยจะเป็นบริเวณจุดศูนย์กลางของประเทศพม่า ภูเขานี้มีความสูง 4,980 ฟุต |
|
บริเวณที่ราบ ที่ราบทางภาคใต้ของพม่าและดินดอนสามเหลี่ยมที่ขยายกว้างออกไปนั้นเป็นบริเวณที่ค่อย ๆ สูงกว่าระดับน้ำทะเล เพราะบริเวณที่เป็นน้ำทะเลจะค่อย ๆ แคบเข้าทีละน้อยเป็นระยะทางหลายไมล์ตลอดเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ และแม่น้ำสายใหญ่ ของพม่าได้พัดพาเอาตะกอนจำนวนมากจากเทือกเขาลงสู่ปากอ่าว |
|
บริเวณลุ่มแม่น้ำแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใช้ในการเดินเรือได้ตลอด มีความยาว 900 ไมล์ (275 กิโลเมตร) เป็นเส้นทางสำคัญของการคมนาคม การชลประทานและให้ความอุดมสมบูรณ์ต่อบริเวณที่ราบต่ำตอนกลางของประเทศ แม่น้ำอิรวดีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำ จินด์วินที่ใกล้ภูเขาโปปา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไหลมาจากทิวเขาทางภาคตะวันตก ส่วนทางภาคตะวันออกของพม่ามีแม่น้ำสาละวิน ซึ่งไหลออกไปทางทิเบต และไหลขนานไปกับลำแม่น้ำโขงก่อนที่จะผ่านรัฐชาน
แม่น้ำสายต่าง ๆ ในพม่าโดยเฉพาะแม่น้ำอิรวดี มีความสำคัญมากในเรื่องการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของฤดูฝนและฤดูแล้ง ฤดูแล้งผืนดินจะไม่มีการเพาะปลูก ทั้ง ๆ ที่เป็นผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกมาก |
|
ทรัพยากรธรรมชาติ ผืนดินบนดินดอนสามเหลี่ยมคือทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่า เพราะเป็นบริเวณที่มีการปลูกข้าว และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในบริเวณที่ราบภาคเหนือและภาคกลางของพม่ามีการปลูกข้าวก่อนบริเวณดินดอนสามเหลี่ยม เพราะอยู่ในแนวทางของการชลประทาน แต่พื้นดินในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพระดับกลางถึงระดับต่ำเท่านั้น พื้นดินที่อยู่ในบริเวณทิวเขาเป็นดินที่ไม่มีคุณภาพ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูเขา ทำไร่เลื่อนลอยไปตามภูเขาต่าง ๆ จึงมีการโค่นป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยกันมาก จนในที่สุดพื้นดินก็แห้งแล้งและสึกกร่อนมากขึ้น
ทรัพยากรประเภทสินแร่ของพม่าก็มีน้ำมันปิโตรเลียม ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี วุลแฟรม ถ่านหิน และอัญมนี ส่วนอัญมณีที่มีชื่อเสียงและมีค่าของพม่าคือ พลอยรูบี้ (Ruby) |
|
Top |
|
|
|
พม่ามี 3 ฤดูเช่นเดียวกับไทย แต่ฝนตกชุกกว่าประเทศไทยและอากาศชื้นมาก นักท่องเที่ยวจึงไม่นิยมเดินทางไปเที่ยวพม่าในฤดูฝน ในฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย ทางเหนือของประเทศอากาศหนาว เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมาก ส่วนฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อน โดยเฉพาะในเขตพม่าตอนบนที่เมืองพุกามและมัณฑะเลย์
|
|
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศพม่าตั้งอยู่ในเขตร้อน ฤดูฝนจะเริ่มต้นจากกลางเดือน "พฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม" บริเวณริมฝั่งทะเลของอาระกัน (Arakan) และเทนาสเซริม (Tenasserim) และเทือกเขาทางเหนือสุดของประเทศมีอัตราฝนตกประมาณ 200 นิ้ว (5,080 มิลลิเมตร) ต่อปี ที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำอิรวดี มีอัตราฝนตกประมาณ 100 นิ้ว (2,540 มิลลิเมตร) ทิวเขาทางภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศมีอัตราฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ 80 นิ้ว (2,032 มิลลิเมตร) ที่ราบตอนกลางของประเทศ เป็นบริเวณแห้งแล้ง มีอัตราฝนตกต่อปีเพียง 25-45 นิ้ว (635-1,143 มิลลิเมตร) เท่านั้นอาจจะเป็นเพราะว่าการทำลายป่าในบริเวณที่ราบตอนกลาง ทำให้ปริมาณฝนที่ตกลดลง |
|
ฤดูที่ร้อนจัดที่สุดของพม่าเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิในฤดูนี้สูงขึ้นถึง ประมาณ38 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์) อุณหภูมิต่ำสุดในภาคใต้ของพม่าตั้งแต่เดือนธันวาคม - มกราคม ประมาณ 16 องศาเซลเซียส (60 องศาฟาเรนไฮต์) ในภาคเหนือประมาณ 13 องศาเซลเซียส (55 องศาฟาเรนไฮต์) บริเวณดินดอนสามเหลี่ยม และบริเวณริมฝั่ง ทะเลจะมีอากาศชื้นตลอดปี |
|
Top |
|
|
|
ระบบทางสังคมของชาวพม่าแท้ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศจะเป็นแบบอย่างของกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเต็มใจรับหรือไม่ก็ตาม เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้วการดำเนินชีวิตของชาวพม่าก็เปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมของพม่าไม่มีข้อแตกต่างในเรื่องชนชั้นเพศ สังคมในชนบทของพม่าจะไม่มีการเคร่งครัดตายตัวเหมือนในชนบทของอืนเดียส่วนสังคมที่มีอิสระมากได้แก่สังคมชั้นต่ำของพม่าที่เป็นเช่นนี้เพราะพม่าไม่ได้วางโครงสร้างของสังคมไว้เข้มงวดนั่นเอง อย่างไรก็ดีตระกูลของคนชั้นสูงในพม่าก็ยังยึดถือเรื่องความแตกต่างระหว่างชนชั้นเป็นเรื่องสำคัญ เช่นข้าราชการชั้นสูงที่เคยรับใช้อยู่ในราชสำนักสมัยเดิมถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้นำของประชาชนอีกต่อไปก็ยังมีคนให้ความเคารพอยู่ ในกลุ่มของชาวชานนั้นพวกเจ้าและพวกขุนนางในตระกูลเก่าแก่ยังคงได้รับความเชื่อถือจากชาวชานด้วยกัน ส่วนชนชาวเขาก็ยังยึดถือความแตกต่างระหว่างชนชั้นหัวหน้ากับสามัญชนอยู่ |
|
ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวพม่าส่วนมากนั้น ยังคงยึดมั่นอยู่กับคุณค่าทางวัฒนธรรมและจารีพประเพณี เช่นในชนบทและในตัวเมือง ชาวพม่าจะนิยมการแต่งกายแบบเดิมของตนมากกว่าที่จะตามแบบชาวยุโรป ภายในบ้านที่เป็นครอบครัวสมัยใหม่จะมีเครื่องใช้ที่ทันสมัย
ความเป็นอยู่ในพม่า มีความสะดวกเฉพาะอยู่ในกรุงย่างกุ้งและเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ในกรุงย่างกุ้งมีโรงแรมชั้นดีได้มาตรฐานหลายแห่ง สำหรับผู้ที่จะไปอยู่เพื่อทำงานหรือประกอบธุรกิจมีที่พักให้เลือกทั้งบ้านเช่า หรือ Serviced apartment การอยู่อพาร์ทเมนท์มีข้อดีในแง่ที่ผู้เช่าไม่ต้องกังวลปัญหาไฟฟ้าและน้ำประปา แต่ค่าเช่าค่อนข้างสูง ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคในกรุงย่างกุ้งหาซื้อได้ทั่วไป โดยมีสินค้าที่นำเข้าจากไทยหลายอย่างและในกรุงย่างกุ้งมีร้านอาหารไทยหลายร้าน
ผู้ที่จะเข้าไปเขตวัดหรือพุทธเจดีย์ จะต้องถอดรองเท้าและถุงเท้า บางแห่งเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมสถานที่ด้วย
|
|
Top |
|
|
|
ถึงแม้ว่าพม่าจะพยายามาเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วในการที่จะเปลี่ยนสังคมของพม่าให้เป็นสังคมของฆราวาสล้วน ๆ แต่ก็ปรากฏว่าประชาชนชาวพม่ายังคงเลื่อมใสพระสงฆ์ในศาสนาพุทธอยู่มากพระสงฆ์ในพม่ามีจำนวนไม่แน่นอนราว 110,000 รูป ประมาณ 33,000 รูป เป็นเณร ที่เหลือเป็นพระสงฆ์ |
|
จุดรวมของชีวิตทางศาสนาค่อย ๆ เผยแพร่จากบริเวณตอนบน มายังตอนล่างของพม่าบริเวณที่มีวัดทางพุทธศาสนามากที่สุดในพม่า ก็คือ บริเวณรอบ ๆ เมืองมัณฑเลย์ (Mandalay) และเมือง สะเกง (Sagaing) พ.ศ.2497-2505 มีการจัดตั้งสภาทางศาสนา ทำให้ ทำให้กิจกรรมทางศาสนาในเมืองย่างกุ้งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการตั้งศูนย์กลางทางพุทธศาสนาขึ้นรอบเมืองย่างกุ้งเพื่อการศึกษาชั้นสูง |
|
เมื่อเปรียบเทียบองค์กรทางศาสนาอื่นกับศาสนาของพม่าแล้วองค์กรทางศาสนาของพม่ายังไม่รัดกุมพอจะเห็นได้จากมีศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท ซึ่งแพร่หลายมากในพม่าแต่ก็ยังมีการแบ่งแยกออกไปอีกเป็นหลายนิกายด้วยกันเช่น นิกาย ธุดธามา (THUDDAMA) เป็นนิกายที่แพร่หลายมากที่สุด นิกาย ชเวกยิน (Shwegyin) เป็นนิกายที่สำคัญ แต่แพร่หลายน้อยกว่าแต่องค์กรทางศาสนาในนิกายต่าง ๆ ส่วนมากแล้วจะปฏิบัติไปตามข้อบังคับของแต่ละวัด วัดสำคัญจะเป็นวัดขนาดใหญ่มีจำนวนพระสงฆ์ประมาณ 100 รูป แต่ก็มีวัดขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยที่มีพระสงฆ์อยู่เพียง 10 กว่ารูปหรือน้อยกว่า มาตรฐานของพระสงฆ์และการศึกษาทางพุทธศาสตร์ ของแต่ละวัดแตกต่างกัน แล้วแต่กฏข้อบังคับที่สมภารวัดหรือพระที่อาวุโสของวัดนั้น ๆ จะกำหนดไว้
|
|
Top |
|
|
|
เหตุการณ์ในพม่าระหว่างสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พม่าต้องร่วมกันหาทางแก้ไข ความเสียหายจากสงครามและฟื้นฟูความเจริญทางเศรษฐกิจในสมัยเดิมของตนขึ้นมาใหม่ |
|
เศรษฐกิจ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่ามีธุรกิจการค้าส่งออกกับอินเดีย ยุโรป และญี่ปุ่นอย่างเจริญ จำนวนเงินที่ได้จากการส่งออกทั้งหมดประมาณครึ่งหนึ่งได้มาจากการส่งข้าวออกนอกประเทศ ประมาณ 1 ใน 4 เป็นเงินที่ได้จากการส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม สินแร่ส่งออกได้ประมาณ 12-14 % ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนไม้ของพม่าส่งออกคิดเป็นมูลค่า 7 % พม่าเป็นประเทศที่ส่งข้าวเป็นสินค้าออกมากที่สุดในเอเชีย คือส่งออกประมาณ 54 % ของทุกประเทศในเอเชียรวมกัน ซึ่งอินเดียเพียงประเทศเดียวสั่งข้าวจากพม่าประมาณ 90 % ของการสั่งข้าวเป็นสินค้าเข้าทั้งหมดของอินเดีย นอกจากนั้นพม่ายังส่งข้าวไปศรีลังกา และมาเลเซียอีกด้วย |
|
รายได้ที่มาจากการส่งออกของพม่า ส่วนมากใช้เพื่อการนำเข้าประเภทอุปโภคบริโภค เพราะว่าพม่าสามารถผลิตสิ่งทอ น้ำตาล และซีเมนต์ ส่วนสินค้าประเภทอุปโภค บริโภคชนิดอื่น ๆ พม่าผลิตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กิจกรรมอุตสาหกรรมสำคัญของพม่า ก็คือ บริษัท เบอร์มาออยล์ (Burmah oil Company) |
|
พม่าได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในระหว่างที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ถอนตัวออกไปจากประเทศเมื่อปี พ.ศ.2485 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้โจมตีอู่ต่อเรือเมืองย่างกุ้งและเส้นทางรถไฟของพม่าอย่างหนักตลอดเวลา 2 ปี 6 เดือน พม่าต้องหยุดการส่งสินค้าออกทั้งหมด หลังจากพม่าได้รับเอกราชแล้ว พม่าจึงต้องสั่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รางรถไฟอุปกรณ์ที่ใช้ในบ่อน้ำมันและต้องฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นมาแม้ในสมัยก่อนที่จะได้รับเอกราชพรรคการเมืองชั้นนำของพม่าก็ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินนโยบายทางการเมืองตามอุดมการของฝ่ายซ้าย ธุรกิจของต่างประเทศจึงลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศพม่าใหม่อีก
หลังจากปี พ.ศ.2491 เกิดการปฏิวัติขึ้นภายในประเทศพม่า รถไฟและเรือกลไฟในน่านน้ำถูกโจมตีตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ฝ่ายกบฎอนุโลมไม่ขัดขวางในเรื่องของการขนส่งข้าวเจ้าไปยังเมืองย่างกุ้งเพราะพวกกบฎได้เก็บเงินค่าผ่านถนน ดังนั้น เศรษฐกิจของพม่าจึงรอดพ้นจากความวิบัติไปได้ |
|
พม่าก่อนสงคราม เป็นประเทศที่มีความเจริญค่อนข้างสูงแต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศพม่าอยู่ในฐานะที่เรียกว่า เป็นเศรษฐกิจเพื่อการเลี้ยงตัวเองไม่ใช้เศรษฐกิจเพื่อการค้าแบบสมัยก่อนปี พ.ศ.2508 ผลผลิตของประเทศทั้งหมด (GNP) คิดเฉลี่ยต่อคน ต่อปีมีเพียง 92 เหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ซึ่งจะมี 202 เหรียญสหรัฐ และมาเลเซียจะมี 280 เหรียญสหรํฐ บรรดาประเทศในเอเชียอาคเนย์ด้วยกันทั้งหมดมีเพียงประเทศลาวเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มี GNP ต่ำกว่าพม่าแม้ว่าอินโดนีเชียจะเคยเป็นประเทศที่ยากจนกว่าพม่ามาก่อนก็ตาม สภาพทางเศรษฐกิจที่พม่าพึงพอใจมากมีอยู่ประการเดียว คือพม่ามีอาหารเพียงพอเลี้ยงประชากรส่วนมาก มีอยู่เพียงไม่กี่เมืองเท่านั้นที่มีอาหารไม่เพียงพอ |
|
Top |
|
|
|
เมืองย่างกุ้ง (Rangoon) ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของพม่า ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำย่างกุ้ง (Rangoon River) ห่างจากบริเวณปากอ่าวเมาะตะมะ (Gulf of Martaban) 21 ไมล์ เมืองย่างกุ้งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นเมืองท่าสำคัญของพม่า เป็นศูนย์กลางของการรถไฟ และการคมนาคมทางน้ำ อุตสาหกรรมภายในเมืองย่างกุ้ง ได้แก่อู่ต่อเรือ โรงทอผ้า โรงสีข้าว และโรงเลื่อยไม้ |
|
ภูเขาเตี้ย ๆที่ตั้งอยู่เบื้องหลังของตัวเมืองย่างกุ้ง สูงกว่าระดับน้ำทะเล 168 ฟุต เป็นจุดที่สูงสุดในเมืองย่างกุ้ง เมื่อขึ้นไปบนภูเขาลูกนี้จะมองเห็นทิวทัศน์ข้างหน้าได้ไกลเป็นระยะทางหลายไมล์ นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาแล้วที่นี้กลายเป็นจุดที่สำคัญของพม่า นอกจากนี้สถานที่น่าสนใจในเมืองย่างกุ้งคือ พระเจดีย์เวดากอง (Shwe Dagon Pagoda) อันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษแรก ๆ |
|
ในสมัยที่อังกฤษเข้าครอบครองพม่า เมืองย่างกุ้งได้ขยายออกไปกว้างขวางอย่างรวดเร็วและเป็นศูนย์กลางการบริหารของอังกฤษด้วย ใน พ.ศ. 2414 กษัตริย์ของพม่าซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่มัณทะเลย์ได้จัดส่งฉัตรทองจากมัณฑะเลย์ มาปักบนยอดองค์เจดีย์ ชเวดากอง ทำให้องค์เจดีย์มีความสูงนับจากฐานขึ้นไป 326 ฟุต นับว่าเจดีย์เวดากองเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของพม่า |
|
เมืองมัณทะเลย์ (Mandalay)เมืองมัณทะเลย์ ตั้งอยู่บนริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำอิรวดีห่างจากทางเหนือของย่างกุ้ง 386 ไมล์ เมืองมัณทะเลย์ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของพม่า เป็นเมืองที่มีการสัญจรทางน้ำชุกชุม นอกจากนั้นยังเป็นเมืองชุมทางของรถไฟซึ่งเชื่อมต่อทางใต้ของย่างกุ้งกับทางเหนือของเมืองลาเชียว(Lashio) และเมือง มยีทกยีน่า (Myitkyina) เมืองมัณฑะเลย์ซึ่งมีความสำคัญคือเป็นศูนย์กลางของการปกครอง การค้าและวัฒนธรรมได้เจริญอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ.2491 เป็นต้นมา งานหัตกรรมที่มีชื่อเสียงของมัณฑะเลย์ได้แก่ การทอผ้าไหม การประดิษฐ์เครื่องเงินและทองคำ
งานฝีมือในการตัดหยก และการแกะสลักไม้ในเมืองมัณฑะเลย์ มีโรงเบียร์ และโรงเหล้า ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ในบริเวณตลาดใหญ่ เซเกียว (Zegyo Bazaar) ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองมัณฑะเลย์ รวมทั้งตลาดเล็กแห่งอื่น ๆ จะมองเห็นผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ จากตอนเหนือของพม่าวางขายปะปนอยู่กับสินค้าที่สั่งมาจากต่างประเทศ พ.ศ.2500 ได้ตั้งมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นสถาบันบุกเบิกงานด้านเกษตร ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นเพียง วิทยาลัยมัณฑะเลย์ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง |
|
เมืองมะละแหม่ง(Moulmein)เป็นเมืองหลวงของเขต แอมเฮอร์ส (Amherst) และเขตตะนาวศรี (Tenasserim) ในตอนล่างของพม่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวเมาะตะมะ ตรงบริเวณปากแม่น้ำสาละวินและตรงจุดบรรจบของแม่น้ำคเยง (Gyaing) และแม่น้ำอทารัน (Ataran) อยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 100 ไมล์ เมืองมะละแหม่งมีความสำคัญขึ้นมา เพราะเป็นศูนย์กลางการปกครองของอังกฤษ เมื่อครั้งที่อังกฤษรบชนะเขตมะละแหม่งยังเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับเมืองยีและเมืองย่างกุ้ง และเป็นเมืองที่ส่งสินค้าออกจำพวกไม้สัก ข้าว และฝ้าย อุตสาหกรรมภายในเมืองนี้ได้แก่โรงเหล้า อู่ต่อเรือการผลิตทองคำและเงิน |
|
Home |
|
|
|
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือสารบรรณโลกและเงินตรานานาชาติ (ทวีปเอเชีย ตอน 2เล่ม 6) |