|
ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหา ยาเสพติด มาเป็นเวลาช้านาน รัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักรโดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ใช้ชื่อย่อว่า ปปส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ |
ต่อมาในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 |
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยก็ได้ดำเนินไปอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบที่ดีขึ้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรม กรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ |
ผลจากปัญหายาเสพติด ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก เพื่อเน้นถึงความสำคัญของการต่อสู้กับปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบค้ายาเสพติดและเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด ที่ประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and llicit Trafficking ICDAIT) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่าง วันที่ 17-26 มิถุนายน 2530 ที่ประชุมได้เสนอเป็นข้อมติต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติขอให้กำหนดวันที่26มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านยาเสพติดซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมเมื่อ วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2530 |
ประเทศไทย สำนักงาน ป.ป.ส.ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศมาโดยตลอด ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531เป็นต้นมา |
|
สำนักงาน
ป.ป.ส. ร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ
และศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร
จะจัดกิจกรรมรณรงค์พิเศษ "มหกรรมภาคีพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด"
ขึ้นโดยระดมพลังครั้งยิ่งใหญ่จากทุกภาคส่วนของสังคม
และประชาชนทุกหมู่เหล่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ บริเวณลานคนเมือง
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 26 มิถุนายน 2547 ตั้งแต่เวลา 06.30 - 14.00
น. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี
พิธีในช่วงเช้าเริ่มด้วยการใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้ง
การกล่าวคำปฏิญาณตนและการแสดงเจตนารมณ์เป็น "พลังแผ่นดิน"
ร่วมเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด
และการแสดงผลงานของภาคีพลังแผ่นดินที่จะร่วมต่อสู้เอาชนะยาเสพติดอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างยั่งยืน
เช่นพลังเยาวชน พลังครอบครัว พลังชมรม To Be Number One
พลังผู้ประสานพลังแผ่นดิน พลังลูกเสือชาวบ้าน พลังภาคเอกชนและธุรกิจเอกชน
พลังชุมชน เป็นต้น |
โดยในส่วนภูมิภาคจะมีการจัดงานและกิจกรรมรณรงค์พิเศษขึ้นในลักษณะเดียวกันพร้อมกันทุกพื้นที่
จังหวัด อำเภอ/กิ่งอำเภอ ณ จุดนัดหมายบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
และที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอทุกแห่ง |
คำขวัญวันต่อต้านยาเสพติดประจำปี 2548
"พลังไทย ต้านภัยยาเสพติด"
|