|
|
|
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในวงกว้าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้การใช้ทรัพยากรมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง และทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม เกินความสามารถที่จะพัฒนาให้ฟื้นตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังเกิดปัญหามลพิษจากชุมชนเมือง และย่านอุตสาหกรรม ตามมาด้วย |
|
ปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอยู่ลดลงอย่างรวดเร็ว น่าใจหาย อาทิเช่น พื้นที่ป่าไม้ที่เคยมีอยู่ราว 171 ล้านไร่ หรือ 53.3 % เมื่อปี 2540 ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 25 % สัตว์ป่า 562 ชนิดถูกคุกคาม จนใกล้สูญพันธุ์ ปริมาณน้ำต่อหัวของประชากร 3,877 ลบ.ม./คน/ปี และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ทรัพยากรดินมีอยู่ 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรมากกว่าครึ่ง และอัตราการพังทลายของดินมีสูงถึง 108 ล้านไร่ ต่อปี ปัญหามลพิษ เช่นน้ำเสียพบว่า มีน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานถึงร้อยละ 37 ปัญหามลพิษทางอากาศ มีมากในเขตเมืองบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ปัญหาขยะมูลฝอยจากชุมชนทั้งประเทศมีมากถึง 37,879 ตันต่อวัน ทั้งยังพบปัญหาของเสียอันตรายที่เกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย |
|
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ให้ความสนใจ และให้การสนับสนุน อย่าง จริงจัง ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะท่านก็คือหนึ่งพลังที่จะช่วยพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมไทยให้ยั่งยืนต่อไป |
|
|
|
จากปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ตลอดจนปัญหาภาวะมลพิษที่รุนแรง จนถึงขั้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัยพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีใจความเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดกับโลกและในประเทศ และได้ตรัสเตือนให้พสกนิกร ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อม อย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อ ประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย |
|
จากพระราชดำรัสดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มของการ เคลื่อนไหวในการดำเนินงาน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชน ในการสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม เพื่อสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาครัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับแรก โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมและรณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง สำหรับภาคเอกชนได้เริ่ม ให้ความสำคัญ เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยมีการคำนึงถึงเรื่องผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนกระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยมีการริเริ่มโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมส่วนรวม ของประเทศตลอดจนได้มี การจัดตั้งองค์กรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในรูปของมูลนิธิ ชมรม สมาคม เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินงานการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อันแสดงให้เห็นถึงการรวมพลัง ของประเทศเพื่อร่วมกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ |
|
ดังนั้น คณะรัฐมนตรี ได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 มีมติเห็นชอบให้ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือ ในการดำเนินการด้วย |
|
|
|
กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการเสริมสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันดูแลอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การเสวนาและเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดนิทรรศการ การประกวดภาพวาด และโครงการอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างต่อเนื่องกันมาโดยตลอดใน10 ปีที่ผ่านมา |
|
|
|
|
|
ปิยะนาถ กลิ่นภักดี เรียบเรียง
แหล่งอ้างอิง
- 4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมไทย. มติชน. : ( 4 ธ.ค. 43) หน้า 16
- http://www.deqp.go.th/king/index.shtml
|