|
|
องค์กรสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 8
มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากลและเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองและรำลึกถึงการต่อสู้ของสตรี
เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค การพัฒนา และสันติภาพ
รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและการนำไปสู่การทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันของหญิงและชายในทางเศรษฐกิจ
สังคม การเมืองการปกครอง ตลอดจนสิทธิมนุษยชนของสตรี และในปี 2553 นี้
เป็นวาระครบรอบเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์คือ |
1. ครบรอบ
100 ปี นับแต่ได้มีการประกาศวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล ตามข้อเสนอของ
คลาร่า เซ็ทกิ้น (Clara Zetkin) ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวเยอรมัน
เมื่อปี 2453 คลาร่า เซ็ทกิ้น ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าและเหล่ากรรมกรสตรี ณ
เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา พากันลุกขึ้นสู้ ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8
มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ.2450) โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ
12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง
พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง |
ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม
แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก
และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน อีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8
มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ. 2453)
ข้อเรียนร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จเมื่อตัวแทนสตรีจาก 18
ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน
ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี
โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง
พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย
อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้น
ในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของคลาร่า เซ็ทกิ้น
ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล |
2. ครบรอบ
15 ปี ของการรับรองปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี
เมื่อปี 2538 ปฏิญญาดังกล่าวได้เน้นประเด็นที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับสตรี ทั้งหมด
12 ประเด็นได้แก่ สตรีกับความยากจน สตรีและเศรษฐกิจ สตรีกับสิ่งแวดล้อม
การศึกษาและฝึกอบรมของสตรี สตรีและสุขภาพอนามัย ความรุนแรงต่อสตรี
สตรีและความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ สตรีในอำนาจและการตัดสินใจ
กลไกเชิงสถาบันเพื่อความก้าวหน้าของสตรี สิทธิมนุษยชนของสตรี สตรีกับสื่อมวลชน
และเด็กผู้หญิง |
รวมทั้งผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ สมัยที่ 23 หัวข้อ "สตรีในยุค
2000 : ความเสมอภาคระหว่างเพศการพัฒนาและสันติภาพสำหรับศตวรรษที่ 21" เมื่อปี
2543 ได้พิจารณาถึงประเด็นห่วงใยเพิ่มเติม
ซึ่งเป็นปัจจัยในการดำเนินการให้บรรลุตามปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งใน 7
ประเด็น คือ โลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาวะประชากรสูงอายุ การแพร่ระบาดของโรคเอดส์
ภัยพิบัติธรรมชาติ และการแบ่งภาระความรับผิดชอบระหว่างหญิงชาย |
ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีแห่งสหประชาชาติ (Commission on
the Status of Women - CSW) สมัยที่ 54 ในเดือนมีนาคม 2553 ณ นครนิวยอร์ก
ได้กำหนดหัวข้อการประชุมให้ทบทวนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปักกิ่งและผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ
ปี 2543 |
3.
ครบวาระ 10 ปี ของการประกาศเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ
(Millennium Development Goals - MDGs) เมื่อปี 2543
ในการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อปี 2543
ประเทศต่างๆ 189 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ (Millennium
Declaration)
ปฏิญญานี้ยืนยันหลักสากลเรื่องการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goal's - MDGs)
ที่ทุกประเทศจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2558 ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 8 ข้อ
คือ 1) ขจัดความยากจนและหิวโหย 2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา
3) ส่งเสริมบทบาทสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศ 4)ลดอัตราการตายของเด็ก 5)
พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ 6) ต่อสู้โรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ 7)
รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ 8)
ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก |
จาก 3
เหตุการณ์ดังกล่าว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจึงได้ร่วมฉลองและระลึกถึงการต่อสู้ของสตรีเพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค
ภายใต้ชื่อ "100 ปี วันสตรีสากล : จากพันธกรณีสู่สิทธิและศักดิ์ศรีสตรีไทย"
เพื่อร่วมทบทวนและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาสตรีของประเทศไทย |
|
|
เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานหญิงที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและการถูกเลือกปฏิบัติที่มีต่อชนชั้นแรงงาน
จึงเป็นกำเนิดของวันสตรีสากล ดังนั้น ใน
วันที่
8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงหลายประเทศทั่วโลกได้มีการจัดงานวันสตรีสากลขึ้น
เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิง และเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล
รวมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ
|
|
กลุ่มผู้หญิงและองค์กรแรงงานหญิงได้เคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี
เพื่อนำเสนอสภาพปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานหญิง ซึ่งต้องทำงานโดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนเรียกร้องความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ วันสตรีสากล 8 มีนาจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของแรงงานหญิงและกลุ่มผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคในสังคม
|
ปัจจุบันแม้สิทธิของแรงงานหญิงและสิทธิผู้หญิงจะได้รับการพูดถึงและรับรองเพิ่มมากขึ้น
แต่สภาพความเป็นจริง แรงงานหญิงทั้งในระบบและนอกระบบยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ
ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน
ผู้นำแรงงานหญิงถูกคุกคามเมื่อออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ฯลฯ ขณะเดียวกันผู้หญิงทั่วไปก็ยังขาดความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต
แม้แต่สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง
|
|
เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ 8 มีนา เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง
และมูลนิธิเพื่อนหญิง ขอประกาศเชิดชู สนับสนุนการต่อสู้ของขบวนการแรงงานหญิงและองค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างหลักประกันเพื่อความเสมอภาคของผู้หญิงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เช่น สิทธิลาคลอด 90 วันโดยได้รับค่าจ้างเต็ม
สิทธิในการเลือกใช้นามสกุล ฯลฯ ซึ่งคนทุกกลุ่มในสังคมได้รับประโยชน์จากการต่อสู้นี้อย่างเสมอกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้เพื่อให้รับรองสิทธิความเสมอภาคและการคุ้มครองผู้หญิงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
|
เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง
และมูลนิธิเพื่อนหญิง ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
- ให้พิจารณา
ข้อเสนอแนะคณะกรรมการจัดงาน 8 มีนา
วันสตรีสากล 2547 และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้หญิงในทุกภาคส่วน
เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานหญิงและผู้หญิง
- ให้เร่งออกกฎหมายและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อส่งเสริมสิทธิผู้หญิงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
อาทิเช่น กฎหมายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาค กฎหมายเพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัว
ฯลฯ
|
ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงและเปิดโอกาสให้องค์กร
กลุ่มผู้หญิง ที่มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด
ท่ามกลางความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย และสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้หญิงหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน โดยเฉพาะการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน ที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริม
คุ้มครองสิทธิผู้หญิง สร้างหลักประกันในการทำงานขององค์กรและนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิผู้หญิงให้ปลอดจากการคุกคามทุกรูปแบบ
โดยเฉพาะจากกลไกและอำนาจรัฐ
|
|
โดยเฉพาะในปี 2547 นี้ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา นับเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มพลังสตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน
ซึ่งเปรียบเสมือนทรงเป็นแม่แบบของสตรีไทย ประกอบกับปีนี้เป็นวาระครบรอบทศวรรษปีครอบครัวสากลขององค์การสหประชาชาติ เราจึงหวังว่าพี่น้องคนไทยจะได้ร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
ด้วยการยกย่องเชิดชูสตรี สร้างความรักความอบอุ่นให้แก่ครอบครัว และให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว
เพื่อสร้างให้ครอบครัวเป็นสถาบันที่เข้มแข็งและเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของชุมชนและประเทศชาติ
|
|
สำหรับประเทศไทยเรา
ผู้หญิงก็มีโอกาสทำงาน และดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน, ผู้อำนวยการ,
อธิบดี,ปลัดกระทรวง,
รัฐมนตรี หรือแม้แต่เป็นส.ส. ส.ว. ผู้หญิงก็สามารถเป็นได้
และทำงานได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย
นอกเหนือไปจากเรื่องการบ้านการเมืองแล้ว
ในด้านงานศิลปะเราก็มีผู้หญิงที่เก่งในด้านนี้ไม่น้อย ซึ่งในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างศิลปินสตรีบางท่าน
ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ในปัจจุบันเรามีศิลปินแห่งชาติรวม
155 คน ในจำนวนนี้เป็นศิลปินสตรีอยู่ 39 คน แบ่งเป็น 4 สาขา
ได้แก่วรรณศิลป์ 5 คน, สาขาทัศนศิลป์ 2 คน,
สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม 1 คน และสาขาศิลปะการแสดง 31 คน
|
สาขาวรรณศิลป์
ได้แก่ นางกัณหา เคียงศิริ
หรือ ก.สุรางคนางค์ (ถึงแก่กรรมแล้ว), นางสุกัญญา ชลศึกษ์หรือกฤษณา อโศกสิน,
นางประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา(อุชเชนี), ม.ล.ศรีฟ้า ลดาวัลย์
และนางสุภา สิริสิง หรือโบตั๋น แต่ละท่านต่างก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ผลงานเขียนของท่านเหล่านี้ ที่นอกจากจะสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคม
ให้ความข้อคิด หลักธรรม ในการดำเนินชีวิต
และแฝงด้วยความรู้ในด้านต่างๆ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน เยาวชนคนอ่านแล้ว หลายๆ
เรื่องยังใช้ภาษาที่งดงาม เป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาไทยอีกด้วย
|
สาขาทัศนศิลป์ มี 2 คนคือ
นางแสงดา บัณสิทธิ์ ด้านการทอผ้า และนางพยอม ลีนะวัฒน์ (ศิลปะงานผ้า) ทั้งสองท่าน ต่างก็มีชื่อเสียงในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านผ้าของไทย
อย่างนางแสงดา บัณสิทธิ์ ท่านเก่งมากในเรื่องการทอผ้า และย้อมผ้าด้วยสมุนไพรล้วนๆ
ไม่มีสารเคมีเจือปน สามารถประดิษฐ์คิดลวดลายผ้าได้อย่างล้ำเลิศ
ยากจะหาผู้ใดเทียบ กล่าวกันว่าผ้าหนึ่งหมื่นพับของท่านก็มีถึงหนึ่งหมื่นลาย
ท่านเป็นที่รู้จักดีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ แม้ปัจจุบันท่านจะถึงแก่กรรมไปแล้ว
แต่ทายาทของท่านก็ยังดำเนินรอยตามท่านอยู่ ส่วนนางพยอม ลีนะวัฒน์
นั้น ท่านก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเลิศในการทอผ้ายก และทำผ้ามัดหมี่
เป็นผู้ที่สามารถเอาลวดลายแบบประเพณีอีสาน มาปรับปรุงให้เหมาะกับยุคปัจจุบัน
โดยยังรักษาของเดิมไว้ได้ ผลงานของท่านถือเป็นการอนุรักษ์ศิลปะงานผ้าแบบประเพณีที่ประณีต
และสวยงามเป็นพิเศษ จนได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้ ท่านยังได้เผยแพร่ความรู้แก่อนุชนรุ่นหลัง
ทั้งที่ต้องการศึกษา และฝึกฝนศิลปะในงานผ้าเป็นอาชีพอีกด้วย
|
สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม
มี 1 คนคือนางสาววนิดา พึ่งสุนทร ท่านเป็นทั้งอาจารย์
และสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ด้านประเพณีเป็นอย่างมาก
มีผลงานสร้างสรรค์มากมายล้วนเป็นที่ยอมรับ ในเอกลักษณ์อันโดดเด่นและมีคุณค่า
ท่านสามารถพัฒนาผลงาน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาผสมผสานจนมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ปัจจุบันแม้จะเกษียณแล้ว ก็ยังเป็นอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ด้านสถาปัตยกรรมแก่ศิษย์
และยังสร้างผลงานออกแบบอย่างสม่ำเสมอ
|
สาขาศิลปะการแสดง
สตรีที่เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปะการแสดงมีอยู่ถึง 31 คน
ซึ่งแต่ละท่านก็จะมีความรู้ ความสามารถเฉพาะตัวอย่างน่าทึ่ง
แม้หลายท่านจะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ผลงานและชื่อเสียงของท่านก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึง
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงท่านที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นแบบอย่าง สัก 2-3 ท่าน ได้แก่
- นางสุดจิตต์
อนันตกุล (ดุริยประณีต)
ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้
และประสบการณ์ทางด้านดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง สามารถเล่นดนตรีไทยได้รอบวงตั้งแต่อายุเพียง
8 ขวบ เป็นผู้มีน้ำเสียงในการขับร้องเพลงไทยที่แจ่มใสและไพเราะ และยังมีความสามารถในด้านต่างๆ อีก เช่น
เป็นครูสอน และขับร้องและดนตรีไทยแก่สถาบันการศึกษา เป็นผู้จัดรายการเพลงไทย
ฯลฯ และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการดนตรีไทยอย่างมากมาย
ที่จะเป็นสมบัติสืบต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง
- นางประยูร
ยมเยี่ยม เป็นศิลปินที่มีความสามารถโดดเด่นมากด้านศิลปะพื้นบ้าน
โดยเฉพาะความชำนาญด้านลำตัด นอกจากนี้
ยังเก่งเรื่องเพลงพื้นบ้านอื่นๆ อีก เช่นเพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฯลฯ เป็นผู้ที่มีความสามารถรอบตัว
และมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้ยืนยาวมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ทั้งยังได้ใช้ลำตัดในการประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ
เคยไปแสดงต่างประเทศหลายครั้ง สามารถด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างคมคายเหมาะสมกับสถานการณ์
และยังเป็นครูถ่ายทอดศิลปะวิชาแก่บุคคลและสถาบันต่างๆอยู่เสมอ
- นางจุรี
โอศิริ เป็นทั้งนักแสดง และนักพากย์ที่มีความสามารถรอบตัว
เป็นผู้มีศิลปะการใช้เสียงพากย์ได้ทุกบทบาท และสมจริงเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ชมทั้งในบทนางเอก
นางรอง ผู้ร้าย และย่า ยายพี่ป้าน้าอา
เคยได้รับพระราชทานตุ๊กตาทองจากการพากย์ยอดเยี่ยม และได้รับตุ๊กตาทองจากการแสดงภาพยนตร์อีกเป็นจำนวนมาก
|
นอกจากทั้งสามท่านที่กล่าวมาแล้ว
เรายังมีศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงในด้านต่างๆ อีกหลายท่าน เช่น นางชูศรี สกุลแก้วหรือครูชื้น ที่เก่งเรื่องหุ่นกระบอก, นางเจริญใจ สุนทรวาทิน ด้านคีตศิลป์, นางบัวผัน
จันทร์ศรี ด้านเพลงพื้นบ้าน, นางผ่องศรี วรนุช ด้านนักร้องลูกทุ่ง,นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์ และส่องชาติ
ชื่นศิริ ด้านละครรำ, นางฉวีวรรณ พันธุ ด้านหมอลำ, นางขวัญจิต
ศรีประจันต์ ด้านเพลงอีแซว, คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช
ด้านดนตรีสากล, นางสวลี
ผกาพันธุ์ และนางรวงทอง ทองลั่นธม ด้านขับร้องเพลงไทยสากล เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าศิลปินแห่งชาติที่เป็นสตรีแต่ละท่าน ต่างก็อุทิศตนทำงานตามความรู้
ความสามารถ และทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้านศิลปะได้อย่างมากมาย
อีกทั้งยังช่วยสืบทอดงานวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติของชาติให้เป็นมรดกตกทอดต่อไปยังลูกหลานได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
|