ยังมีคนอีกมากที่ไม่ทราบว่าประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของในชีวิตของเรานั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่คิดริเริ่มในการจัดตั้งสมาคมอาเซียน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในขณะนั้น (2510) คือ น.อ. (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ ตรงกับสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะนำผู้นำจากประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์ เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดตั้งสมาคมอาเซียนขึ้น โดยใช้สถานที่บ้านพักตากอากาศที่แหลมแท่น ต. บางแสน อ. เมือง จ. ชลบุรี เป็นที่ดำเนินการประชุม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2510 และมีได้การจัดทำเอกสารข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่า “Spirit of Bangsaen” หรือ จิตวิญญาณแห่งบางแสน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ได้มีการลงนามในปฏิญญาก่อตั้งอาเซียน ซึ่งเรียกว่า “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) หรือปฎิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration)
อาเซียน (ASEAN) เกิด เวลา 10:50 น. เช้าวันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 ที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย
ผู้ตั้งชื่อสมาคมนี้ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซี่ยน (ASEAN มาจากคำเต็มว่า Association of Southeast Asain Nations) ก็คือ นายอาคัม มาลิค รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เหตุผลการจัดตั้งสมาคมอาเซียน ในสมัยนั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขาดความสมัครสมานสามัคคีกัน กล่าวคือมาเลเซียกับฟิลิปปินส์มีความหวาดระแวงกันในเรื่องของพรมแดนที่เป็นเกาะและกรรมสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อน อินโดนีเซียก็ยังระส่ำระสายในเรื่องการเมืองภายใน ส่วนสิงคโปร์ก็เป็นเกาะเล็กๆ ที่รู้สึกไม่มั่นใจในการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ สำหรับไทยเองก็ไม่มั่นใจจากภัยการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ลามมาจากประเทศเวียตนาม เขมร และลาว
ข้อขอบคุณข้อมูล http://www.lib.ru.ac.th/