เมืองหลวงของประเทศกัมพูชาชื่อว่า “กรุงพนมเปญ” เมืองที่สงบๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า “แมกอง (Makong)” และแม่น้ำโทแนวแซบ(Tonle sap river) ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างโตนเลสาปกับแม่น้ำโขง แม่น้ำที่มาจากโตนเลสาบจะไหลลงแม่น้ำโขงที่พนมเปญ ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลไปลงทะเลที่เวียดนามอีกที ทำให้กรุงพนมเปญเป็นเมืองที่สวยงามริมแม่น้ำ มีพระราชวังที่สวยงาม เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่จะเที่ยวต่อเนื่องมาจากนครวัดที่เทียบชั้นพีระมิดอียิปต์
สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงพนมเปญจุดหลัก อันดับหนึ่งคือพระราชวังของกรุงพนมเปญ (Royal palace) ที่เป็นวังของเจ้าสีหนุ อันดับสองที่คนไปเที่ยวกันคือทุ่งสังหาร(Killing field) สถานที่ประวัติศาสตร์ที่เขมรแดงฆ่าคนไปนับล้านๆ อันดับที่สามคือวัดพนม ดูแผนที่ท่องเที่ยวกรุงพนมเป็นด้านล่าง หรือจะคลิกที่พิกัด GPS บนรูปก็ได้ ส่วนที่ท่องเที่ยวอื่นๆที่นักท่องเที่ยวนิยมคือเดินเล่นริมน้ำ Tonle sap และแม่น้ำโขง นอกจากนั้นคือการเดินตลาดสดของพนมเปญที่น่าสนใจมากๆ ปลาเยอะ และเดินเล่นแถวสวนหน้าวังติดต่อกับอนุสาวรีย์อิสรภาพของกัมพูชากลางกรุงพนมเปญที่พักที่กรุง
พนมเปญเป็นเมืองหลวงคึกคักสดใสของกัมพูชา เมืองที่เป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของประเทศ กัมพูชา. คุณสามารถสัมผัสถึงสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจทั้งสถานที่, กิจกรรมต่างๆ และ งานเทศกาล. แม้เป็นการเดินทางครั้งแรกมาที่ พนมเปญ แต่เราเชื่อว่าคุณจะเพลิดเพลินกับการค้นหาและสำรวจ พนมเปญ
ข้อควรระวังการท่องเที่ยวกรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา เมืองพนมเปญเป็นเมืองท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเที่ยว การระวังไม่ต้องเกินเหตุเพียงใช้กฎทั่วไปที่ใช้ในเที่ยวเมืองต่างๆเช่น ไม่ออกไปเที่ยวที่อโคจร ที่เปลี่ยว การกดเงินหาตู้ที่คนสัญจรเยอะ หากมีคนป้วนเปี้ยนหน้าตู้ก็ไม่ควรกด หากจะไปเที่ยวกลางคืนแนะนำว่าไปกับคนเขมรที่อาจทำงานที่โรงแรม หรือเรียกตุ๊กๆ หน้าโรงแรมให้พาไปดีกว่า (หมายถึงที่จอดประจำหน้าโรงแรมเพราะเขาจะยึดเราเป็นแขกโรงแรมต้องบริการดีไม่งั้นเขาอาจมีปัญหากะโรงแรมได้) เพราะว่าบางส่วนของร้านโลคอลของคนท้องถิ่นไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษครับ และอีกอย่างค่าตุ๊กๆ มอไซค์ก็ไม่แพง
การเดินทางมายังกรุงพนมเปญ หากมีงบเยอะก็นั่งเครื่องบินมาลงที่พนมเปญได้เลย แต่ถ้างบจำกัดก็นั่งรถมาทางอรัญประเทศ ข้ามแดนที่ด่านโรงเกลือปอยเปต แล้วนั่งรถบัสจากปอยเปตไปพนมเปญ อีกทางหนึ่งคือ Share Taxi ซึ่งออกเร็วเมื่อคนเต็มก็น่าสนใจแต่ต้องทนเบียดกันกับชาวเขมร สำหรับที่นั่งข้างคนขับปกตินั่งสองคน หากนั่งคนเดียวต้องเสียเงินเพิ่ม ส่วนข้างหลังนั่ง 4 คน ขอแนะนำให้นั่งรถบัสประจำทางครับ นั่งสบายไม่อึดอัด ถูกกว่า
หรือหากเดินทางเที่ยวนครวัดที่จังหวัดเสียมเรียบมาก่อน แล้วค่อยเดินทางจากเสียมเรียบมาพนมเปญก็ได้ จะได้ชมบรรยากาศของจังหวัดกำปงธมที่ธรรมชาติยังคงอยู่มากๆแถวเขมรเหนือ
ประวัติศาสตร์พนมเปญ
พนมเปญไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นถิ่นฐานที่ตั้งหลัก จนกระทั่งเข้าสู่ยุคเมืองพระนคร หลังจากนครวัดและเมืองอื่นๆ ใกล้เคียงเริ่มมีชื่อเสียงโดดเด่นประจักษ์สู่สายตาประชาคมโลก ช่วงกลางศตวรรษที่ 15 เจ้าพระยาญาติย้ายราชธานีจากเมืองพระนครหนีสยามมาตั้งอยู่ที่นครวัดและสร้างพระราชวัง ณ พื้นที่ที่เป็นกรุงพนมเปญในปัจจุบัน ต่อมาภายหลังมีการสร้างเจดีย์ขึ้นซึ่งในขณะนั้นเมืองยังไม่ได้เป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1866 ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระนโรดมที่ 1 จึงได้แต่งตั้งกรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของประเทศ
อย่างไรก็ตามสามปีก่อนตั้งกรุงพนมเปญเป็นราชธานี กัมพูชาลงนามในสนธิสัญญายอมเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศสแถบอินโดจีนที่รวมถึงเวียดนามและลาว ภายใต้อำนาจการปกครองแบบเต็มรูปแบบของปารีส ทำให้พนมเปญมีศักยภาพและเติบโตแบบก้าวกระโดด จากเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าหมู่บ้าน ก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองท่าริมน้ำที่ทันสมัยของฝรั่งเศส
แม้จะมีความวุ่นวายในส่วนอื่นๆ ของประเทศทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่พนมเปญยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสจนกระทั่งปี 1953 ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดมสีหนุและคลื่นมวลชนชาวเขมรที่ออกมาเรียกร้องเอกราช จนได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ ซึ่งช่วงต้นของปี 1970 พนมเปญค่อนข้างมีความสงบท่ามกลางทะเลสงครามในประเทศกัมพูชา
ในปี 1975 กองกำลังเขมรแดงภายใต้การนำของพอลพตบุกโจมตีพนมเปญ หลังจากเข้ายึดครองไม่กี่วันจึงเริ่มกวาดล้างประชากรกว่าสองล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยเนรเทศออกไปสู่ชนบท ภายใน 4 ปีพนมเปญแทบร้างผู้คน ยกเว้นเขตพื้นที่กักกัน เช่น S-21 และพื้นที่บางส่วนที่ชาวเขมรแดงอาศัยอยู่
เมื่อเขมรแดงถูกขับไล่ออกไปจากกรุงพนมเปญในปี ค.ศ. 1979 ผู้คนจึงค่อยๆ ทยอยกลับเข้ามาอาศัยในเมืองอีกครั้ง แต่เนื่องจากสภาพบ้านเมืองที่ถูกทำลายและทรุดโทรมอย่างมาก รวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นน้อย องค์การระหว่างประเทศจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบ้านเมือง หลังจากการลงนามในความตกลงทางการเมืองสมบูรณ์แบบในความขัดแย้งกัมพูชา หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Agreement) ในปี 1991 ซึ่งคืนเสถียรภาพเต็มที่แก่ประชาชนชาวกัมพูชา
ในปี 1999 กัมพูชาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งสนับสนุนและดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นในทางที่ดีสำหรับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศ
สภาพอากาศในพนมเปญ
พนมเปญมีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นคือ ฤดูมรสุมของที่นี่เริ่มต้นประมาณต้นเดือนเมษายนเรื่อยไปถึงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีฝนตกหนักก่อนค่อยๆ หายไปในที่สุด ในช่วงเวลาของปีนี้นักท่องเที่ยวมักต้องเผชิญกับอากาศร้อนชื้นอบอ้าวตลอดทั้งวัน ซึ่งสามารถบรรเทาความร้อนได้ด้วย เครื่องปรับอากาศ และ พัดลมเท่านั้น แนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบาเพื่อความสบายตัว
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการแวะมาท่องเที่ยวพนมเปญได้แก่ เดือนธันวาคมและเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศเย็นที่สุดของกัมพูชา อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส แต่ลดต่ำลงเล็กน้อยในเวลากลางคืน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่อากาศยังคงหนาวอยู่ แต่ช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ซึ่งเป็นหน้าร้อนอุณหภูมิสามารถพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียสในบางคราว
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพนมเปญ
สำหรับผู้ที่คาดว่าจะได้พบเห็นเพียงร่องรอยครั้งที่เขมรแดงเรืองอำนาจเมื่อมาท่องเที่ยวที่พนมเปญอาจต้องพบความรู้สึกประหลาดใจมากขึ้น แม้ว่าหลายพื้นที่ เช่น สถานที่กักกัน S-21 และทุ่งสังหารจะยังตรึงใจนักท่องเที่ยว แต่เมืองหลวงของกัมพูชาแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงในเรื่องอาหารการกิน ผับและบาร์หลายแห่ง รวมไปถึงอาคารสิ่งปลูกสร้างที่สวยงามดึงดูดใจสมัยยุคอาณานิคมซึ่งพบเห็นค่อนข้างยากในแถบภูมิภาคนี้ หรือลองจินตนาการถึงการนั่งพักผ่อนจิบเครื่องดื่มในบรรยากาศสบายๆ ร้านตกแต่งโทนสีพาสเทล ประดับด้วยพัดลมเพดานสูง เช่นที่พบเห็นที่ Sisowath Quay สถานที่ยอดนิยมของพนมเปญซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโตนเลสาป
แท้จริงแล้วพนมเปญถือได้ว่ามีการพัฒนาประเทศมาไกลมาก หากนับย้อนไปถึงช่วงที่ตกอยู่ในยุคมืดช่วงปี ค.ศ. 1975 ถึง ค.ศ. 1979 เมื่อเขมรแดงครองอำนาจและเปลี่ยนให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองร้างผู้คน พนมเปญค่อยๆ พัฒนาตัวเองเพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างช้าๆ ใช้เวลาในการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นปี ในปัจจุบันสามารถพบเห็นร้านให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ และตู้บริการเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในพื้นที่อีกต่อไป พนมเปญค่อยๆ เติบโตเป็นรูปเป็นร่างโดยได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ และมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส
ในอดีตพนมเปญต้องทนทุกข์ทรมานกับชื่อเสียงที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองป่าเถื่อน ไม่มีความปลอดภัย รอบด้านเต็มไปด้วยเสียงปืนและปัญหาทางการเมืองที่พร้อมปะทุกลายเป็นสงครามขนาดย่อยได้ทุกเมื่อ แต่ช่วงเวลาเลวร้ายเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วแม้เพียงบางส่วนก็ตาม แม้อาชญกรรมที่นี่จะร้ายแรงกว่าเวียงจันทน์หรือเชียงใหม่ แต่ปัญหาเหล่านี้มักไม่ค่อยเกิดกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากเท่าใด
ขอบคุณข้อมูล www.hoteltravel.com