โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ประชากรอินโดนีเซียประกอบด้วยหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ แต่ละเผ่าพันธุ์ต่างก็มีมรดกทางวัฒนธรรมและลักษณะทางสังคมของตนสืบทอดกันมา ชนเหล่านี้เมื่อถูกรวมกันเข้าภายใต้ระบบการเมืองเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศร่วมกัน
จากการที่สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศอินโดนีเซียมีลักษณะแยกกันเป็นหมู่เกาะมากมาย และมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลประชากรติดต่อกันได้ยาก ทำให้แต่ละภูมิภาคมีรูปแบบวัฒนธรรมของตนเอง จึงปรากฎลักษณะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาที่ใช้ผิดแผก แตกต่างกันไป
ขนบธรรมเนียมประเพณี ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตแตกต่างกันไป ในแต่ละกลุ่มชนชาวชนบทที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ยังยึดมั่นอยู่กับประเพณีเดิมอยู่มากส่วนกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง และได้รับการศึกษาแบบตะวันตกจะมีวิถีชีวิตแตกต่างกันออกไป การแบ่งกลุ่มชนตามขนบธรรมเนียมประเพณี และพื้นที่ตั้งสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเกาะชวา และบาหลีผู้คนที่อยู่ในแถบนี้จะยึดมั่นอยู่ในแนวทางของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธมีวัฒนธรรมเน้นหนักในเรื่องคุณค่าของจิตใจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาศิลปอย่างมากมายโดยเฉพาะนาฎศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ในการดำเนินชีวิตประจำวันประชากรจะประพฤติตามหลักจริยธรรม มีการเคารพต่อบุคคลตามฐานะของบุคคลนั้น ๆ
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณริมฝั่งทะเลของเกาะต่าง ๆ ดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบการค้าขาย
มีชีวิตทางวัฒนธรรมตามหลักของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดและเป็นนักธุรกิจของสังคมอินโดนีเซียยุคใหม่ และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา และกฎหมาย
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มีความล้าหลังมากอาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาในส่วนลึกของประเทศ ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และการเพาะปลูก รัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชนกลุ่มนี้แล้ว
ในประเทศอินโดนีเซีย มีการกำหนดกฎหมายประเพณีในสังคม ตามความเชื่อในศาสนาซึ่งจะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด และสืบทอดกันมานานแล้ว มีสาระที่สำคัญคือ ความผูกพันระหว่างสามีกับภรรยาพ่อแม่กับลูก และพลเมืองต่อสังคมที่ตนอยู่ โดยยึดหลักการปฎิบัติที่เรียกเป็นภาษาอินโดนีเซียว่าโกตองโรยอง คือการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันในงานต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูกการเก็บเกี่ยว การแต่งงาน การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย การใช้ที่ดินร่วมกันภายใต้ข้อตกลงและข้อแม้พิเศษ
การแต่งกาย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามการแต่งกายจึงโน้มน้าวไปตามประเพณีของศาสนา
ผู้ชาย จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอปิด แขนยาว สวมหมวกรูปกลม หรือหมวกหนีบทำด้วยสักหลาดสีดำ บางครั้งจะนุ่งโสร่งทับกางเกง ประมาณครึ่งตัวโดยปล่อยให้เห็นขากางเกง ในกรณีที่ต้องเข้าพิธี อาจจะมีการเหน็บกริชด้วยปัจจุบันผู้ชายอินโดนีเซียส่วนใหญ่นิยม แต่งกายแบบสากล แต่ยังคงสวมหมวกแบบเดิม
ผู้หญิง จะใช้ผ้าไคน์ พันรอบตัว และใช้นุ่งอยู่กับบ้านเท่านั้น ผ้าไคน์จะมีลวดลายสวยงามมากเนื้อดีและราคาแพง ซึ่งเป็นที่นิยมเรียกกันอีกชื่อว่า ผ้าปาติค (Patik) เวลานุ่งจะต้องให้ยาวกรอมเท้า สวมเสื้อ เรียกว่า เคบาจา (Kebaja) เป็นเสื้อที่รัดติดกับตัว แขนยาว สำหรับผู้หญิงชาวเกาะสุมาตรา นิยมสวมเสื้อหลวม ลำตัวยาวเกือบถึงเข่า เรียกว่า บัตยูกรุง และใช้ผ้าห่มพาดไหล่ข้างหนึ่งด้วย ผู้หญิงอินโดนีเซียไว้ผมยาว แล้วเกล้าเป็นมวย และใช้เครื่องประดับ เช่น พลอย หรือดอกไม้ประดับศีรษะ รองเท้าที่ใช้เดิมเป็นรองเท้าแตะ แต่ปัจจุบันเป็นรองเท้ามีส้น และทาสี แกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ สายคาดทำด้วยหนังทาสีเงิน หรือสีทอง สตรีที่นับถือศาสนาอิสลามจะใช้ผ้าคลุมศีรษะ แต่ไม่ปิดหน้า ปัจจุบันนิยมแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น การแต่งกายแบบดังกล่าวจะใช้ในโอกาสพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น
ศิลปและวรรณคดี ชาวอินเดียเป็นผู้รักศิลป และวรรณคดีมาช้านานแล้วสังเกตได้จากลวดลายของเครื่องแต่งกาย บ้านที่พักอาศัย ศาสนสถาน และนาฎศิลป์ต่าง ๆศิลปในประเทศอินโดนีเซีย มิได้ยึดถือตามที่สืบทอดกันมาแต่ในอดีตเท่านั้น แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างได้พัฒนาเปลี่ยนไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัยที่มีอิทธิพลต่อประเทศอินโดนีเซีย ในขณะนั้น
ศิลปกรรมการปั้น และการแกะสลัก การทำงานแบบธรรมชาติ โดยใช้ฝีมืออย่างแท้จริงประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบแกะสลักไม้ แกะสลักวัตถุโลหะ เครื่องปั้นดินเผาและงานแกะสลักหินเป็นรูปต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมฮินดูเพราะศาสนาพราหมณ์ฮินดู เคยเข้ามามีอิทธิพลในอินโดนีเซียนักแกะสลักที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวบาหลี
สถาปัตยกรรม มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของภูมิประเทศและอิทธิพลของศาสนาแต่ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับประเทศต่าง ๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาคารบ้านเรือนของประชาชนโดยทั่ว ๆไปจะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ส่วนเทวสถานบางแห่ง เช่นสถูปโบโรพุทโธ ซึ่งมีชื่อเสียงมากได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดู
นาฏศิลป์ มีรูปแบบแตกต่างกันไปเป็นสองลักษณะเนื่องจากในอดีตอินโดนีเซียถูกฮอลันดาบีบบังคับให้แบ่งอาณาจักร Matanamออกเป็นสองส่วนคืออาณาจักรสมาการ์ตา (Sumakarta) และอาณาจักรยอกยาการ์ตา (Yogyakarta)
จึงทำให้นาฏศิลป์ชวามีรูปแบบแตกต่างกันออกไปดังกล่าว
แบบสมาการ์ตา (Samakarta) การแต่งกายจะใช้ผ้าแพรพาดบ่า ท่วงทำนองของวงมโหรีจะนุ่มนวลราบเรียบ มีเส้นแบ่งจังหวะน้อย
แบบยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) การแต่งกายจะใช้ผ้าแพรพันเอว ท่วงทำนองของวงมโหรีจะมีเสียงไม่นุ่มนวล เพราะมีเส้นแบ่งจังหวะมาก
ถึงแม้นาฏศิลป์ทั้งสองแบบจะแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม แต่ก็สะท้อนปรัชญาของชวาจากท่าทางการเคลื่อนไหวมือ – แขน แม้กระทั่งการแสดงออกทางสีหน้า เช่น ตัวละครที่แสดงเป็นธรรมะจะหลบตาลงต่ำเสมอ และจะร่ายรำด้วยลีลาอ่อนช้อย ผสมกลมกลืนอย่างสง่างาม แสดงถึงจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์ ในทางตรงกันข้าม ตัวละครที่แสดงเป็นอธรรม หรือชั่วร้ายจะแสดง ลักษณะท่วงท่าวางอำนาจ กลอกตาแข็งกร้าวแสดงถึงจิตใจชั่วร้ายหยาบคาย
ปรัชญาของชวามุ่งใฝ่สันติความสงบสุข สุภาพ ถ่อมตัวในการติดต่อกับผู้อื่น เช่นเดียวกับตัวละครที่แสดงเป็นฝ่ายธรรมะ
ดนตรี ในสมัยโบราณ อินโดนีเซียมีวงดนตรีพื้นเมืองมีชื่อเสียงมากเรียกว่า ตมิลาน ประกอบด้วย เครื่องดนตรีคล้ายระนาด กลอง ฆ้อง ซอสองสาย และขลุ่ย ซึ่งนอกจากเป็นดนตรีประจำราชสำนักของสุลต่านต่าง ๆ บนเกาะชวาแล้ว ดนตรีดังกล่าวยังทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วย แต่ปัจจุบันวงดนตรีตมิลานได้กลายเป็นวงดนตรีสำหรับการฟ้อนรำ การแสดงนาฏศิลป์ และการแสดงหนังตะลุง นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีวงดนตรีอังกะลุงด้วย
ศิลปะการแสดง การมหรสพของอินโดนีเซียได้แก่ ละครและภาพยนตร์ เค้าโครงเรื่องของละครที่นำมาแสดงส่วนใหญ่คือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเทพนิยายในศาสนาฮินดู ตัวละครจะแต่งกายด้วยผ้าปาติก ไม่สวมเสื้อชั้นนอก ใช้สีทาตัวเป็นสีต่าง ๆ ประดับด้วยสร้อยสังวาลย์ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีการละเล่นอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า วายัง หรือหนังตะลุง เป็นที่นิยมกันมาก เค้าโครงเรื่องส่วนใหญ่เป็นนิยายเกี่ยวกับเรื่องสงครามในศาสนาฮินดู
วรรณคดี ในสมัยที่ศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาได้เข้าไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย วรรณคดีของอินโดนีเซียมีความเจริญอย่างรวดเร็ว หนังสือที่มีชื่อเสียงในระยะนั้นได้แก่เรื่องเนการาเกอร์ตากามา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ และอำนาจของอาณาจักรมัดยาปาหิต นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ได้รับความนิยมกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องปาราราตันเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกษัตริย์อินโดนีเซียในสมัยนั้น เขียนเป็นภาษาชวาโบราณ
ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่เข้าไปในอินโดนีเซียก็ได้มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาอิสลาม และตำราหมอดูไว้หลายเล่มโดยเขียนเป็นภาษาชวา