การขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ
– ทางถนน ถนนในพม่าส่วนใหญ่ ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำ ทอดไปตามความยาวของประเทศ เช่นเดียวกับทางรถไฟ ถนนสายต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้
ถนนสายพม่า เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตพม่าถึงเมืองมูเซ ประมาณ ๑,๑๖๐ กิโลเมตร และมีความยาวในเขตจีนจากมูเซถึงคุนหมิง ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่าง ๆ คือ พะโค – ตองอู – ปยิมมะนา – เมตติลา – มัณฑะเลย์ – เมเบียงกอดเต็ก – สีป๊อ – ลาเฉียว – แสนหวี – มูเซ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๒,๑๔๐ กิโลเมตร ใช้การทุกฤดูกาล
ถนนสาย ย่างกุ้ง – มัณฑะเลย์ ยาวประมาณ ๗๓๐ กิโลเมตร ขนานไปตามแม่น้ำอิระวดี ผ่านเมืองสำคัญคือ เมืองแปร แมดเว ปาเดาว์ ตัดขนานกับทางรถไฟ
ถนนสาย เมตติลา – ท่าขี้เหล็ก ยาวประมาณ ๙๐๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินของไทย ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นถนนสายสำคัญที่ผ่านเมืองเชียงตุง ในรัฐฉาน ไปเชื่อมต่อกับถนนเข้าสู่ประเทศจีนที่เมืองลา
ถนนสาย พะโค – มะริด ยาวประมาณ ๖๘๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อภาคกลางตอนใต้ ไปยังภาคใต้สุดของพม่า ผ่านเมืองท่าตอน – มะละแหม่ง – เย – ทะวาย – มะริด
ถนนสาย ตองอู – สีป๊อ ยาวประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองตองอู ผ่านเมืองดอยก่อ – ดอยแหลม – ตองยี – จ๊อกแบ – สีป๊อ
ถนนสาย สะโกร์ – อิมพัล ยาวประมาณ ๔๖๐ กิโลเมตร ผ่านเมืองฉ่อยโบ – กาเลวา ถึงเมืองอิมพัลในอินเดีย
ถนนสาย ลิโด หรือสติลเวลล์ ยาวประมาณ ๓๗๐ กิโลเมตร เป็นถนนเชื่อมต่อพม่ากับอินเดีย เริ่มจากเมืองลิโดแคว้นอัสสัม ของอินเดีย ผ่านลงไปทางใต้ ด้านหุบเขาฮูกวง ข้างแม่น้ำอิระวดี ที่มิตจินา ผ่านมาโมมิจินา ไปบรรจบกับถนนสายพม่าที่มูเซ
ถนนสาย ฮากา – อ.มาตูยุ ยาวประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างรัฐชินกับภาคใต้
ถนนสาย จองโต – เมเนียว ยาวประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนสายตาก – แม่สอด ของไทย ในเขตอำเภอแม่สอด ถนนสายนี้แยกจากถนนสายพะโค – มะริด ที่จองโต ผ่านเมืองผาอัน – ท่าตอน – เหล่งบ่วย – กอการิต – เมียวดี
ถนนสาย เมืองลา – บ้านท่าเดื่อ ยาวประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร เป็นถนนเลียบพรมแดนพม่ากับจีน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงตุง ในรัฐฉาน
– ทางรถไฟ ทางรถไฟของพม่าได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๑ ที่สำคัญได้แก่
สายย่างกุ้ง – มัณฑะเลย์ มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร สร้างขนานกับแม่น้ำสะโตงที่มัณฑะเลย์ เป็นชุมทางแยกไปยังมิตจินาและลาเฉียว
สายย่างกุ้ง – แปร มีความยาวประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร สร้างขนานกับแม่น้ำอิระวดี ท่าข้ามที่เฮนซาด่ำ มีทางแยกไปยังพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี
สายย่างกุ้ง – เมาะตะมะ มีความยาวประมาณ ๒๗๐ กิโลเมต แยกจากสายย่างกุ้ง – มัณฑะเลย์ ที่เมืองพะโค แล้วข้ามแม่น้ำสะโตง ไปสู่เมืองเมาะตะมะ
สายมะละแหม่ง – เมืองงาย มีความยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร ทางสายนี้มีทางแยกที่บ้านตันบ่วยซายัด ผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่ประเทศไทย
สายมัณฑะเลย์ – มิตจินา มีความยาวประมาณ ๖๔๐ กิโลเมตร
การขนส่งทางน้ำ
การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวะดี มีทางน้ำอยู่มากมาย และเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด
– แม่น้ำที่สำคัญ ที่ใช้ในการคมนาคมมีอยู่สี่สายด้วยกันคือ
แม่น้ำอิรวะดี ใช้ในการเดินทางทุกฤดูกาล ตั้งแต่ปากแม่น้ำอิรวะดี ถึงเมืองบาโม เป็นระยะทางประมาณ ๑,๔๕๐ กิโลเมตร ถ้าเรือกินน้ำลึกเพียง ๑ เมตร จะเดินได้ถึงเมืองมิตจินา ซึ่งจะเป็นระยะทางประมาณ ๑,๕๐๐ กิโลเมตร
แม่น้ำซินด์วิน ใช้ในการเดินเรือได้ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ตั้งแต่ปากน้ำถึงเมืองแกนดี
แม่น้ำสาละวิน แม้ว่าแม่น้ำสายนี้จะยาวถึงประมาณ ๑,๑๐๐ กิโลเมตร แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์ในการเดินเรือมากนัก เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวมีโขดหิน เกาะแก่งจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใชัในการล่องซุงลงมาจากรัฐฉาน มีระยะทางที่ใช้ในการเดินเรือได้ทุกฤดูกาล ยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร
แม่น้ำสะโตง มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ระยะทางที่ใช้ในการเดินเรือได้ทุกฤดูกาล ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ต่อมาได้มีการพัฒนาแม่น้ำสายนี้ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร พลังงานน้ำผลิตไฟฟ้า และการเดินเรือ
ทางน้ำบริเวณปากแม่น้ำอิรวะดี มีทางน้ำที่ใช้ในการเดินเรือได้ยาวประมาณ ๓,๒๐๐ กิโลเมตร
– การคมนาคมขนส่งทางทะเล ได้แก่ การเดินเรือเลียบชายฝั่ง เพื่อรับส่งสินค้า และผู้โดยสารตามเมืองชายฝั่งทะเล และการเดินเรือระหว่างประเทศ มีเส้นทางเดินเรือไปยังยุโรป ที่ประเทศอังกฤษ สำหรับในเอเชีย มีเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ศรีลังกา และอินเดีย เป็นต้น
ท่าเรือที่สำคัญ มีกระจายอยู่ตามเมืองที่อยู่ชายทะเล และอยู่บนลำน้ำที่เรือเดินทะเลเข้าถึง
ท่าเรือย่างกุ้ง ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำย่างกุ้ง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำย่างกุ้งประมาณ ๓๕ กิโลเมตร เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด เรือเดินทะเลมีระวางขับน้ำ ๑,๕๐๐ ตัน สามารถใช้ท่าเรือนี้ได้
ท่าเรืออัคยับ เป็นท่าเรือเก่าแก่ มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจทางด้านตะวันตก เรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้าจอดเทียบท่าได้สะดวก
ท่าเรือมะละแหม่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำมะละแหม่ง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ ๔๕ กิโลเมตร เป็นท่าเรือสำคัญทางด้านตะวันออกของประเทศ
ท่าเรือพะสิม อยู่บนฝั่งแม่น้ำพะสิม ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ใช้สำหรับเรือขนาดเล็กเท่านั้น เพราะร่องน้ำบางตอนคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดใหญ่
ท่าเรือทะวาย เป็นท่าเรือขนาดเล็ก ต้องใช้เรือเล็กขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ที่จอดอยู่ที่ปากอ่าวทะวาย
ท่าเรือมะริด ตั้งอยู่ที่ปากน้ำตะนาวศรี เป็นท่าเรือชายฝั่งที่สำคัญ ใช้ประโยชน์ในกาประมง และการค้าขายกับประเทศไทย และหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย