ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน ตั้งแต่ที่มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่ชนเผ่าแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เมื่อราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล และได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิ อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณใกล้เมืองท่าตอน (Thaton) ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของพม่า
ประชาชนพม่าหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ จากที่ได้กล่าวมาเผ่าพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏได้แก่มอญ เมื่อครอบครองดินแดนตอนใต้ของพม่าแล้ว ชาวมอญ-พม่าได้อพยพลงมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบตเข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา ความซับซ้อนของประวัติศาสตร์พม่ามิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอันได้แก่ จีน อินเดียบังกลาเทศ ลาว และไทยอีกด้วย
ยุคทองของมอญเริ่มที่ หงสาวดี หรือที่เรียกว่า พะโค (เมียนมาร์ออกเสียงแบ่กู) โดยพระเจ้าปยาอู ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่หงสาวดีในปี พ.ศ. 1908 และเมืองนี้ได้เจริญรุ่งเรืองติดต่อกันมาเกือบ 300 ปี พระมหากษัตริย์ของมอญที่ไทยเราคุ้นเคยพระนาม ได้แก่ พระเจ้าราชาดีริด (พระเจ้าราชาธิราช) พระนางชินส่อปุ๊ (พระนางเช็งสอบู) และพระเจ้าธรรมเจดีย์ เป็นต้น อาณาจักรมอญได้รบพุ่งกับชาวพม่ามาเป็นเวลานาน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา จนใน พ.ศ. 2084 พระเจ้า ตะเบงเชวตี้ ได้บุกตีเมืองหงสาวดีและยึดเมืองได้ ทรงสถาปนาหงสาวดีเป็นราชธานีของอาณาจักรพุกามที่ 2 อาณาจักรมอญได้ฟื้นขึ้นอีกใน พ.ศ. 2283 แต่อยู่ได้เพียง 17 ปี ก็ถูกพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์โคบองของพม่า กรีฑาทัพมาปราบปรามและรวมอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจของพม่าเรื่อยมา ชาวมอญที่หนีรอดได้มาพึ่งไทย บางส่วนที่เหลืออยู่ก็ถูกกลืนโดยการแต่งงานกับชาวพม่า และถูกผนวกเป็นรัฐหนึ่งในประเทศเมียนมาร์มาจนปัจจุบันนี้ แต่ชาวมอญยังมีความพยายามกู้ชาติมาจนทุกวันนี้เช่นกัน
ชาวปยูหรือพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย
จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง และชาวพยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าพยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวพยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี
นครรัฐของชาวพยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองหะลินคยี อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวพยูอีก