อาณาจักรต่างๆ ของพม่า

0

อาณาจักรพุกาม

ชาวพม่าเป็นชนเผ่าจากทางตอนเหนือที่ค่อย ๆ อพยพแทรกซึมเข้ามาสั่งสมอิทธิพลในดินแดนประเทศพม่าทีละน้อย กระทั่งปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง “พุกาม” (Pagan) โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวพยู อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587–1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองท่าตอนของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจานสิตา (พ.ศ. 1624–1655) และพระเจ้าอลองสิธู (พ.ศ. 1655–1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่ง คือเขมรและพุกาม

pukam

อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อย ๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาสองกยัน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านรสีหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832

อังวะและหงสาวดี

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรพุกามได้ถูกสถาปนาขึ้นที่เมืองอังวะในปีพุทธศักราช 1907 ศิลปะและวรรณกรรมของพุกามได้ถูกฟื้นฟูจนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากต่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่เข้าครอบครองได้ในปีพุทธศักราช 2070

hongsa22

สำหรับดินแดนทางใต้ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่หงสาวดี โดยกษัตริย์ธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2035 – 2070) เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา

อาณาจักรตองอู

พระเจ้าบุเรงนอง “ผู้ชนะสิบทิศ”
พระเจ้าบุเรงนอง “ผู้ชนะสิบทิศ”

หลังจากถูกรุกรานจากไทใหญ่ ชาวอังวะได้อพยพลงมาสถาปนาอาณาจักรแห่งใหม่โดยมีศูนย์กลางที่เมืองตองอูในปีพุทธศักราช 2074 ภายใต้การนำของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (ครองราชย์ พ.ศ. 2074–2093) ซึ่งสามารถรวบรวมพม่าเกือบทั้งหมดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง

ในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค ชาวไทใหญ่มีกำลังเข้มแข็งเป็นอย่างมากทางตอนเหนือ การเมืองภายในอาณาจักรอยุธยาเกิดความไม่มั่นคง ในขณะที่โปรตุเกสได้เริ่มมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสามารถเข้าครอบครองมะละกาได้ เกี่ยวกับการเข้ามาของบรรดาพ่อค้าชาวยุโรป พม่ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง การที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยทำเลทางการค้า พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2094–2124) ซึ่งเป็นพระเทวัน (พี่เขย) ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และสามารถเข้าครอบครองอาณาจักรต่าง ๆ รายรอบได้ อาทิ มณีปุระ (พ.ศ. 2103) อยุธยา (พ.ศ. 2112) ราชการสงครามของพระองค์ทำให้พม่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งมณีปุระและอยุธยา ต่างก็สามารถประกาศตนเป็นอิสระได้ภายในเวลาต่อมาไม่นาน

เมื่อต้องเผชิญกับการก่อกบฏจากเมืองขึ้นหลายแห่ง ประกอบกับการรุกรานของโปรตุเกส กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูจำเป็นต้องถอนตัวจากการครอบครองดินแดนทางตอนใต้ โดยย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ พระเจ้าอะนอกะเพตลุน (Anaukpetlun) พระนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งในพุทธศักราช 2156 พระองค์ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าต่อต้านการรุกรานของโปรตุเกส พระเจ้าทาลุน (Thalun) ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ได้ฟื้นฟูหลักธรรมศาสตร์ของอาณาจักรพุกามเก่า แต่พระองค์ทรงใช้เวลากับเรื่องศาสนามากเกินไป จนละเลยที่จะใส่ใจต่ออาณาเขตทางตอนใต้ ท้ายที่สุด หงสาวดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสซึ่งตั้งมั่นอยู่ในอินเดีย ก็ได้ทำการประกาศเอกราชจากอังวะ จากนั้นอาณาจักรของชาวพม่าก็ค่อย ๆ อ่อนแอลงและล่มสลายไปในปีพุทธศักราช 2295 จากการรุกรานของชาวมอญ

ราชวงศ์อลองพญา

ราชวงศ์อลองพญาได้รับการสถาปนาขึ้นและสร้างความเข้มแข็งจนถึงขีดสุดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว พระเจ้าอลองพญาซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่า ได้ขับไล่ชาวมอญที่เข้ามาครอบครองดินแดนของชาวพม่าได้ในปี พ.ศ. 2296 จากนั้นก็สามารถเข้ายึดครองอาณาจักรมอญได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2302 ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองกรุงมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน พระองค์สถาปนาให้เมืองย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2315 หลังจากเข้ายึดครองตะนาวศรี(Tenasserim)

along

พระองค์ได้ยาตราทัพเข้ารุกรานอยุธยา แต่ต้องประสบความล้มเหลวเมื่อพระองค์สวรรคตระหว่างการสู้รบ พระเจ้าเซงพะยูเชง (Hsinbyushin, ครองราชย์ พ.ศ. 2306 – 2319) พระราชโอรส ได้โปรดให้ส่งทัพเข้ารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2309 ซึ่งประสบความสำเร็จในปีถัดมา ในรัชสมัยนี้ แม้จีนจะพยายามขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนพม่า แต่พระองค์ก็สามารถยับยั้งการรุกรานของจีนได้ทั้งสี่ครั้ง (ในช่วงปี พ.ศ. 2309–2312) ทำให้ความพยายามในการขยายพรมแดนของจีนทางด้านนี้ต้องยุติลง ในรัชสมัยของพระเจ้าโบดอพญา (Bodawpaya, ครองราชย์ พ.ศ. 2324–2362) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอลองพญา พม่าต้องสูญเสียอำนาจที่มีเหนืออยุธยาไป แต่ก็สามารถผนวกดินแดนยะไข่ (Arakan) และตะนาวศรี (Tenasserim) เข้ามาไว้ได้ในปี พ.ศ. 2327 และ 2336 ตามลำดับ ในช่วงเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2366 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าบาคยีดอว์ (Bagyidaw, ครองราชย์ พ.ศ. 2362–2383) ขุนนางชื่อมหาพันธุละ (Maha Bandula) นำทัพเข้ารุกรานแคว้นอัสสัมได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับอังกฤษที่ครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น

ขอขอบคุณ th.wikipedia.org

เชิญแสดงความคิดเห็น