ระบบการศึกษาของประเทศฟิลิปปินส์มีทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยการศึกษาแบบที่เป็นทางการนั้นมีลำดับขั้นตอนของการเรียนอยู่สามระดับนั่นคือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ในระดับประถมศึกษานั้นจะใช้เวลาศึกษาภาคบังคับหกปีที่โรงเรียนของรัฐบาลหรือเจ็ดปีในโรงเรียนของเอกชนนอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ โดยการศึกษาระดับนี้รวมไปถึงการเรียนชั้นอนุบาลและอาจเป็นหลักสูตรเตรียมประถมศึกษาก็ได้ นักเรียนที่มีอายุระหว่างสามหรือสี่ปีจะเข้าเรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนจนกระทั่งมีอายุครบ 5-6 ปี จึงจะเลื่อนขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง
การศึกษาระดับมัธยมศึกษาใช้เวลาสี่ปีโดยนักเรียนต้องเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลายก่อน นักเรียนส่วนใหญ่ที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาจะมีอายุ 12 ปีและเรียนจบเมื่ออายุ 15 ปี ส่วนระดับอุดมศึกษานั้น นักเรียนส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 16 ปี การศึกษาระดับนี้แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกในหลากหลายสาขาวิชา นอกจากนั้น การศึกษาระดับหลังมัธยมศึกษายังรวมไปถึงหลักสูตรอาชีวศึกษาแบบสองหรือสามปีที่อาจไม่มีการมอบปริญญาก็ได้
ระบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ใกล้เคียงกับระบบการศึกษาแบบเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียมักจะได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเนเธอร์แลนด์
การศึกษาแบบไม่เป็นทางการซึ่งรวมถึงการรับความรู้นอกโรงเรียนนั้นมีวัตถุประสงค์หลักสำหรับผู้เรียนกลุ่มเฉพาะ เช่น เยาวชนหรือผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้ ตัวอย่างได้แก่หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือซึ่งบูรณาการการเขียนและการอ่านเบื้องต้นเข้ากับทักษะในชีวิตประจำวัน
หน้าที่ในการบริหาร ควบคุม และดำเนินการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ระดับประถมและมัธยมศึกษา) นั้นจะเป็นของแผนกการศึกษา วัฒนธรรมและกีฬา ในขณะที่คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาจะรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูง ส่วนการศึกษาด้านเทคนิคหลังมัธยมศึกษานั้นจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาทักษะและการศึกษาด้านเทคนิคซึ่งยังมีหน้าที่ปฐมนิเทศ ให้การฝึกอบรมและการพัฒนาด้านทักษะอาชีพแก่เยาวชนที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนและผู้ใหญ่ที่ว่างงาน
นอกจากนี้ประเทศฟิลิปปินส์ใช้การเรียนการสอนแบบทวิภาษา บางวิชาจะส่วนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่นๆ จะสอนเป็นภาษาฟิลิปปินส์
นโยบายด้านการศึกษา/จุดเน้นด้านการศึกษา
1. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการพัฒนาและการดูแลเด็กปฐมวัย โดยฟิลิปปินส์จะจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการศึกษาปฐมวัยเพื่อแบ่งปันในภูมิภาค
2. การจัดการศึกษาในสภาวะวิกฤต (Education in Emergencies) เพื่อเตรียมรับภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น ไต้ฝุ่น สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น
3. การใช้ ICT ในการจัดการศึกษา เพื่อให้นักเรียนในอาเซียนสามารถเรียนรู้โดยผ่านสื่อการศึกษาทางเว็บไซต์ หรือสื่อการสอนโดยใช้เทคโนโลยีแบบต่างๆ
4. โครงการภาษาแม่ – ทวิภาษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยฟิลิปปินส์ได้ดำเนินยุทธศาสตร์เรื่องดังกล่าวในโรงเรียนระดับประถมศึกษา
5. การเรียนการสอนแบบคละชั้น เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับการเรียนคละชั้น วิธีการสอน และการดำเนินด้านนโยบายเป็นต้น
6. การดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้ด้อยโอกาส Reaching the Unreached Children ภายใต้กรอบการดำเนินงานของซีมีโอ
7. การดำเนินงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายนักเรียนและการเทียบโอนคุณวุฒิ
ความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค
ฟิลิปปินส์มีความร่วมมือด้านการศึกษาโดยเฉพาะกับองค์การซีมีโอ โดยรับเป็นประเทศนำในการดำเนินโครงการ 3 โครงการ ได้แก่
1) การศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2) การจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส
3) การพัฒนาและการดูแลเด็กปฐมวัย
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ได้ให้การสนับสนุนการบูรณาการการศึกษาในภูมิภาคโดยการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของอาเซียนในเวทีโลก โดยได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้
• โครงการภาษาแม่ : ทวิภาษา
• การศึกษาแบบเรียนคละชั้น
• การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาปฐมวัย การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน
• การเสริมสร้างความแข็งแกร่งการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา
• การบูรณาการ ICT ในหลักสูตรการศึกษา
• การศึกษา Madrasah Education
• การสอนภาษาฝรั่งเศสและสเปนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
• โครงการจัดการศึกษาสำหรับ ผู้ด้อยโอกาส
• การจัดทำมาตรฐานสมรรถนะครูแห่งชาติ (National Competency-Based Teacher Standards : NCBTS)
• การจัดทำระบบการจัดการด้านคุณภาพการศึกษา
• การฝึกอบรมและพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์
โครงการภายใต้การจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ประกอบด้วย
1. การจัดระบบการติดตามนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนกลางคันและประชากรกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการศึกษา
2. การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติและสภาวการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ร่วมดำเนินการกับอินโดนีเซีย
ขอขอบคุณ www.bic.moe.go.th