ประเทศเวียดนามเป็นอย่างไร

0

Vietnamประเทศเวียดนาม (Việt Nam) มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยู่ในกลุ่มอาเซียน ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน มีเมืองฮานอยเป็นเมืองหลวงของประเทศ มีพรมแดนติดกับประเทศจีน ทางทิศเหนือ ประเทศลาว และประเทศกัมพูชาทางทิศตะวันตก และอ่าวตังเกี๋ย ทะเลจีนใต้ ทางทิศตะวันออกและใต้ หรือในภาษาเวียดนามเรียกเฉพาะทะเลทางทิศตะวันออกว่า ทะเลตะวันออก (เวียดนาม: Biển Đông, เบี๋ยน ดง) เวียดนามมีประชากรมากกว่า 89 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 13 ของโลก

HalongBayVietnam-300x219

เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ
1. กรุงโฮจิมินห์ หรือชื่อเดิม ไซ่ง่อน เป็นเมืองซึ่งอยู่ทางตอนใต้ โดยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ปัจจุบันเป็นเมืองท่าและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่บนแม่น้ำไซ่ง่อน มีพลเมืองประมาณ 5.8 ล้านคน
2. ไฮฟอง เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีพลเมืองประมาณ 1.8 ล้านคน สินค้าที่จะเข้าสู่ฮานอยจะผ่านจากไฮฟอง
3. ดานัง เมืองท่าที่อยู่ตอนกลางของประเทศ มีพลเมือง 1 ล้านคน
วัฒนธรรม
เวียตนามมีการผสมผสานด้านวัฒนธรรม จากหลายชนชาติ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 432 เวียตนามได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากจักรพรรดิจีนนานกว่าพันปี ดังนั้น สิ่งก่อสร้าง อาหารการกิน จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของจีนมาก และยังมีความหลากหลายของผู้คนของชาวเขาหลากหลายชนเผ่าทางภาคเหนือของเวียตนาม และเมื่อสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง เวียตนามก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมฝรั่งเศสด้วย ได้แก่ ตึกที่อยู่อาศัยที่ดูทันสมัย เป็นตึกสีเหลืองสไตล์โคโลเนียลที่มีให้พบเห็นมากมาย ดังนั้นวัฒนธรรมต่างๆ ของเวียตนามจึงมีการผสมผสานกันเป็นอย่างมาก ทั้งด้านที่อยู่อาศัย เทศกาล อาหาร เป็นต้น

เทศกาลเต็ด (Tet)
โดยปกติแล้ว ชาวเวียตนามจะเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ อย่างน้อย 3-7 วัน ติดต่อกัน โดยมีเทศกาลทางศาสนาที่สำคัญที่สุด คือ “เต็ดเหวียนดาน” (Tet Nguyen Dan) มีความหมายว่าเทศกาลแห่งรุ่งอรุณแรกของปี ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า เทศกาลเต็ด เทสกาลจะเริ่มต้นขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนจะมีวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติ คือ ระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดในฤดูหนาว กับวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ในฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองในภาพรวมทั้งหมดของความเชื่อในเทพเจ้า ลัทธิเต๋า ขงจื๊อ และศาสนาพุทธ รวมถึงการเคารพบรรพบุรุษ
เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง
สำหรับเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง นับตามจันทรคติตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวบ้านจัดประกวด “ขนมบันตรังทู” หรือ ขนมเปี๊ยะโก๋ญวน ทีมีรูปร่างกลม มีไส้ถั่วและไส้ผลไม้ พร้อมทั้งจัดขบวนแห่เชิดมังกร เพื่อแสดงความเคารพต่อพระจันทร์ ซึ่งในบางหมู่บ้านอาจประดับโคมไฟพร้อมทั้งจัดงานขับร้องเพลงพื้นบ้าน
ศาสนา
เวียดนามไม่มีศาสนาประจำชาติ โดยรัฐธรรมนูญให้อิสระในการเลือกนับถือศาสนา โดยปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ อีก 3 เปอร์เซ็นต์
ภาษา
ภาษาทางการคือ ภาษาเวียตนาม ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน
อากาศ
กรุงฮานอยและบริเวณตอนเหนือของเวียดนามมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น และชื้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวควรเตรียมเสื้อกันหนาวไปด้วย
ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม อากาศค่อนข้างร้อน
สกุลเงิน และการใช้เงิน(บัตรเครดิต)
สกุลเงินของเวียตนามคือ ดอง อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 420-460 ดอง ต่อ 1 บาทและ 1 ดอลล่า เท่ากับ 15,900 ด่อง ควรมีเงินด่องติดตัวไว้บ้างเล็กน้อย เงินสกุลดอลล่าสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ ส่วนเงินบาทสามารถใช้ได้ตามร้านค้าทั่วไปได้เลย การใช้บัตรเครดิตไม่เป็นที่นิยมในเวียดนาม หรือสามารถใช้ได้เฉพาะร้านค้าหรือโรงแรมที่ใหญ่ๆเท่านั้น
ระบบไฟฟ้า
220 โวลต์ ส่วนใหญ่เป็นปลั๊กสองขากลม
เวลา
เวลาที่ประเทศเวียดนาม เท่ากับเวลาในประเทศไทย ( ไม่ต้องตั้งเวลาใหม่ )
อาหารและน้ำดื่ม
กรุงฮานอยมีตลาดสดหลายแห่ง ซึ่งสามารถหาซื้อเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้สดได้ทุกวัน ในลักษณะใกล้เคียงกับตลาดสดในประเทศไทย มี Supermaket และ”mini mart” อยู่หลายแห่งคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถหาซื้อเครื่องกระป๋องและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
เครื่องปรุงอาหารไทย ส่วนใหญ่สามารถหาได้ในกรุงฮานอย หรือประยุกต์จากผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น (สิงคโปร์ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น )
การบริโภคอาหารและน้ำดื่มในเวียดนามต้องระมัดระวัง ควรซื้อน้ำดื่มที่บรรจุเป็นขวดหรือกรองน้ำแล้วต้มก่อนจะดื่ม การบริโภคอาหารประเภทผักผลไม้ต้องล้างให้สะอาดก่อน
โทรศัพท์และวิธีการหมุนหมายเลขกลับประเทศไทย
กรุงเทพฯ :001-010-662-หมายเลขโทรศัพท์เจ็ดหลัก
ต่างจังหวัด :001-010-66 ตามด้วยรหัสเมืองโดยตัดศูนย์ออก-หมายเลข โทรศัพท์หกหลัก
มือถือ :001-010-66ตามด้วยรหัสมือถือโดยตัดศูนย์ออก-หมายเลขโทรศัพท์
หกหลักสำหรับการโทรศัพท์แบบเงินปลายทาง จะหมุนหมายเลข 005-39-66 ตามด้วย รหัสเมืองโดยตัดศูนย์ออก-หมายเลขโทรศัพท์หกหลัก แล้วจะมีพนักงานที่พูดภาษาไทยเป็นผู้ต่อสายกับปลายทางที่โทร แล้วสอบถามว่าจะรับสายจากผู้โทรหรือไม่ หากปลายทางปฏิเสธการรับสาย สายจะตัดไปทันที

เวลาทำการขององค์กรรัฐและเอกชน
1.หน่วยงานราชการ สำนักงาน และองค์กรให้บริการสาธารณสุข 8.00 – 16.30 น. ซึ่งจะเปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้บริการวันเสาร์อีกครึ่งวัน
2.ร้านค้าเอกชนทั่วไปให้บริการระหว่าง 6.00 – 18.30 น.
3.ธนาคารพาณิชย์ ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 8.00 – 16.00 น. (หยุดพักเวลา 12.00 – 13.00 น.)
4.สำนักงานไปรษณีย์โทรเลข ให้บริการ ตั้งแต่ 7.00 – 20.00 น.
5.โรงงานอุตสาหกรรม ทำงานวันจันทร์ – วันศุกร์ และวันเสาร์อีกครึ่งวัน โดยเวลาทำงานรวมไม่เกิน 48 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หากเกินจากนี้ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม 2 เท่า และวันหยุดนักขัตฤกษ์จ่ายเพิ่ม 3 เท่า

 

เชิญแสดงความคิดเห็น