ซุ้มประตู
ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด
ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร
เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้น ๆ
เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่า บนแท่น สูงประมาณ 1 เมตร
สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นใน
สมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม
วิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า
"วิหารหลวง" เป็นวิหารหลัง ใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน
และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า
ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2466 วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล
และประกอบศาสนากิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่ ก่ออิฐถือปูน
ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธ
ปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์
พระบรมธาตุหริภุญไชย เป็นพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ
ประดิษฐานในพระเจดีย์ (ตั้งอยู่ หลังวิหารหลวง) เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ
ที่ลงตัวสวยงาม ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ
ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม
บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะ
ใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12
วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ- บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น
สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์
และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ
นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ในวันเพ็ญ เดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวเมื่อ
พ. ศ. 1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนคร
ลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลาย
สมัยต่อมาในปี พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช
กษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะ
เสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่
การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา
ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
ทั้งนี้เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีความสัมพันธ์กับลังกาอยู่มาก
พระสุวรรณเจดีย์
สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้น
โดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังเมื่อสร้างพระธาตุฯ
เสร็จแล้วได้ 4 ปี พระ สุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นรูปแบบพระปรางค์ 4 เหลี่ยม
ฝีมือช่างละโว้มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือและแบบขอมหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง
ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม
ซึ่งเป็นพระเครื่องชนิดหนึ่ง