วัดพระยืน
พระยืน
ตั้งอยู่เลขที่ ๑
บ้านพระยืน หมู่ที่ ๑ ตำบลเวียงยอง
อำเภอเมือง
จังหวัดลำพูน
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมีเนื้อที่ประมาณ ๒๙ ไร่ ๒
งาน
อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง
ชื่อ
วัดพระยืน
เรียกตามปูชนียวัตถุสำคัญที่อยู่ในวัด
คือพระยืน ( พระพุทธรูปยืน )
ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับพระยืนนี้ ได้มีการกล่าวไว้ในหนังสือตำนานหลายเล่ม อาทิ
ในหนังสือ
ตำนานมูลศาสนา
ได้กล่าวถึงตอนที่พระญากือนาได้อาราธนานิมนต์พระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย
เพื่อมาเชียงใหม่
โดยได้พักที่วัดพระยืน ในเมืองหริภุญชัย ราว พ . ศ . ๑๙๑๒
ซึ่งขณะนั้นได้มีพระยืน ๑ องค์อยู่ก่อนแล้ว แต่บริเวณนั้นเป็นป่า
พระญากือนาจึงให้คนไปแผ้วถาง
แล้วสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มอีก ๓ องค์
โดยองค์หนึ่งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ
และอีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ และสร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปยืนทั้ง ๔
องค์นี้ไว้
ต่อมามณฑปที่ได้สร้างไว้นั้นทรุดโทรมและปรักหักพังลง
โดยเฉพาะที่ส่วนยอดพังลงมาจนถึงซุ้ม
ส่วนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในมณฑปคงเหลือที่สมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันออกองค์เดียวเท่านั้น
ดังนั้นในสมัยของ
เจ้าหลวงอินทยงยศ จึงได้ให้ หนานปัญญาเมือง
ชาวบ้านหนองเส้งซึ่งเป็นช่างประจำคุ้มหลวงเป็นผู้ออกแบบ
และควบคุมการก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างครอบของเดิมที่ปรักหักพังไป
แล้วให้นำเอาอิฐ
หิน และดินที่พังลงมานั้น
ใส่ถมพระมณฑปองค์เดิมที่มีพระพุทธรูปยืนเหลือเพียงองค์เดียวนั้นจนหมดสิ้น
มณฑปองค์ใหม่นี้ทำจากศิลาแลงและอิฐบางส่วน และประดับลวดลายปูนปั้น
ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงกว่าเดิมมาก
มีบันไดที่ตกแต่งด้วยเหงาทอดขึ้นสู่มณฑปทั้ง
๔ ด้าน
บนมณฑปมีลานทักษิณล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ
หรือเจดีย์บริวาร
ถัดจากฐานมีเรือนธาตุย่อเก็จ และซุ้มจระนำ ๔ ด้าน
โดยยึดรูปแบบคล้ายกับองค์เดิมที่สร้างในสมัยของพระญากือนา
แต่ละซุ้มประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปยืน เหนือขึ้นไปเป็นมาลัยเถาสี่เหลี่ยมซ้อนกัน
๓
ชั้น และมีมุมประดับด้วยสถูปิกะ
ส่วนยอดประดับด้วยฉัตร นอกจากนั้นยังมียอดเล็ก ๆ
ที่ประดับรอบยอดใหญ่อีก ๔ ยอด อย่างไรก็ตาม
กล่าวกันว่ารูปลักษณะของมณฑปวัดพระยืนนี้
คล้ายกับมณฑปสัพพัญญูในเมืองพุกามประเทศพม่า
ทั้งนี้คงเนื่องมาจากชาวพม่าเข้ามาอาศัยในล้านนาและได้มีส่วนสร้างหรือสนับสนุนในการบูรณะมณฑปพระยืนแก่หนานปัญญาเมือง
ความสูงของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้
เมื่อเทียบกับระดับของพระพุทธรูปเดิมที่ถูกถมอยู่ข้างในแล้ว
ระดับของพระนลาฏของพระองค์เดิมจะอยู่ในระดับเดียวกับระดับพระบาทของพระยืนองค์ที่เห็นในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการห้ามสตรีขึ้นไปบนเจดีย์
การก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่เริ่มขึ้นในปี พ . ศ . ๒๔๔๔ และสำเร็จลงในปี พ . ศ .
๒๔๕๐