ไม่ว่าท่าจะเดินทางเข้ามาอินโดนีเซียในฐานะใดก็ตาม ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางมาราชการ ในประเทศนี้ สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนเดินทางมาคงมีเรื่องทั่วๆ ไปที่จะต้องเตรียมตัว ให้เรียบร้อย ก่อนวันเดินทาง รวมทั้ง ควรศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับประเทศอินโดนีเซียไว้ด้วยเช่นกัน <รายละเอียดตาม link ด้านบนซ้าย> ในส่วนที่จะต้องเตรียมการ ก่อนเดินทางได้แก่ การจัดทำ Passport สำหรับการขอวีซ่า เข้าประเทศอินโดนีเซียนั้น สำหรับบุคคลสัญชาติไทย ได้รับอนุญาตให้พำนัก อยู่ในอินโดนีเซียได้ 30 วัน โดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่หนังสือเดินทาง (Passport) ต้องมีอายุอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับบุคคลที่มีแผน ที่จะอยู่นานกว่านั้น ควรดำเนินการ ทำเรื่องขอวีซ่า ที่สถานทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย ไว้แต่เนิ่น ก่อนกำหนดวันเดินทาง ตามรายละเอียดท่จะกล่าวต่อไป
ที่ตั้งสถานทูตอินโดนีเซีย ที่อยู่: 600-602 ถ.เพชรบุรี กทม.10400 โทรศัพท์: 02-2523135-40 (ใกล้ๆ กับ ตึกพันธ์ทิพย์ พลาซา) วันเวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 น – 16.00 น. สำหรับวันและเวลาการยื่นวีซ่า: จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 น.-12.00 น. ส่วนวันและเวลาการรับวีซ่า: จันทร์ – ศุกร์ เวลา 14.30 น.-15.00 น.
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอวีซ่าประเทศอินโดนีเซีย
1. หนังสือเดินทาง/ทั้งเล่มเก่าและเล่มใหม่ (ถ้ามี)/(พร้อมสำเนา)
2. รูปสีพื้นหลังขาว 2 นิ้ว/2 รูป (รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่นถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
3. จดหมายรับรองการทำงาน (ภาษาอังกฤษ) ระบุ ตำแหน่ง เงินเดือน และ วันเดือนปี ที่เริ่มเข้าทำงาน (ฉบับจริง)
4. Work Permit (ตัวจริงพร้อมสำเนา)
5. หนังสือเชิญจากต่างประเทศ (ธุรกิจ)
6. Booking ตั๋วเครื่องบิน
7. เบอร์โทรศัพท์บ้าน และ มือถือ (ของผู้เดินทาง)
*** อัตราค่าธรรมเนียมในการยื่นขอวีซ่าประเทศอินโดนีเซีย แบบเข้าออกครั้งเดียว 1,800 บาท รวมอัตราค่าบริการยื่นวีซ่าเล่มละ 500 บาท (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กรุณาตรวจสอบเพื่อความทันสมัย) โดยระยะเวลาเร็วสุดตามขั้นตอนปกติ จะใช้เวลาดำเนินการ 3 วันทำการ ***
เมื่อเอสารและหลักฐานพร้อมที่จะเดินทาง คำถามต่อไปของผู้ที่ะเดินทางก็คงหนีไม่พ้นว่า สถานที่พักที่ท่านจะเข้าพักมีสภาพเป็นเช่นไร สภาพอากาศในห้วงเวลานั้นเป็นอย่างไร เรื่องอาหารการกินคล้ายหรือเหมือน อาหารไทย มากน้อยเพียงใด ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก มีรองรับมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้แก่ตระกูลเงินตราที่ใช้ และการแลกเปลี่ยนเงิน ระบบและเครื่องใช้ไฟฟ้า SIM โทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญคือ นิสัยใจคอและขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ควรพึงตระหนักไว้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดจนนำไปสู่ การบาดหมางกันโดยไม่จำเป็น
เครื่องใช้ไฟฟ้า สามารถนำไปใช้ได้เลย ระบบเหมือนเมืองไทย แต่ควรซื้อปลั๊กไฟ ไปด้วยเพราะเบ้าเสียบ จะเป็นหลุมลงไป เป็นแบบปลั๊กขากลมสองขา ตามภาพ บางครั้งปลั๊กตัวผู้จากบ้านเราจะเป็นแบบขากลมก็จริง แต่อาจเสียบเข้าไปในเบ้าปลั๊กตัวเมียไม่ได้ เพื่อความชัวร์หาซื้อจากบ้านเราติดตัวไปเลย โทรศัพท์มือถือ นำไปใช้ได้เลย โดยขอให้ นตต. ช่วยหาซื้อ SIM แบบเติมเงินให้ ซึ่งวิธีการกดหมายเลขโทรกลับเมืองไทย จะมีบอกไว้ให้ ที่บัตรเติมเงินอยู่แล้ว ส่วนราคาโทรกลับเมืองไทยก็ประมาณนาทีละไม่เกิน 4 บาท สำหรับการประพฤติตัวนั้น ใช้หลักการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วไป ตามวัฒนธรรมและธรรมเนียมไทยๆ เช่น ไม่ควรจับหัวคนอื่น การให้เกียรติสตรี และผู้ทีมีอาวุโสกว่า การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์สามารถดื่มได้ ตามร้านอาหาร ที่มีเครื่องดื่มประเภทนี้ขายอยู่ หรือตามสถานที่เที่ยวยามราตี สำหรับเรื่องบุหรี่นั้น คนอินโดนีเซีย มักจะสูบบุหรี่กันจัดอยู่แล้ว ยังไม่ค่อยมีสถานที่จำกัดการสูบบุหรี่ เหมือนประเทศอื่นๆ
การให้ทิป : โดยปกติไม่จำเป็นเนื่องจากโรงแรมและร้านอาหารขนาดใหญ่ มักจะรวมค่าบริการและภาษีไว้แล้ว ส่วนการให้ทิปค่ายกกระเป๋าอาจให้ 1 – 2 พัน รูเปียร์ ต่อกระเป๋า 1 ใบ
อาหาร : อาหารพื้นเมืองของชาวอินโดนีเซียปรุงด้วยเครื่องเทศ และมักมีกะทิเป็นส่วนประกอบ อาหารที่น่าสนใจ เช่น นะซี โกเรง (ข้าวผัด) บะบี้ กุลิง (หมูหัน) เบอเบตู เบเบค (เป็ดย่างห่อใบตอง) โอปอร์ อะยัม (ไก่เคี่ยวในน้ำกะทิ) โสโต อะยัม (ก๋วยเตี๋ยวไก่น้ำข้น) บัคโส (ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใส) ซะเต (หมู ไก่ สะเต๊ะ) กาโด กาโด (ผักนึ่ง พร้อมน้ำจิ้ม) เซมบัล (น้ำพริก)
เครื่องดื่ม : กาแฟ (Kopi) นม (ซูซู) ชา (เตห์) น้ำ (อาอีร) น้ำเย็น (อาอีร ดิงงิ้น) น้ำผลไม้สด หรือปั่นมีให้เลือกมากมาย และราคาถูก เบียร์อินโดนีเซียยี่ห้อ บินตังรสชาติแบบสากล
ข้อสังเกตอื่นๆ หากเดินทางไปในเมืองที่หน้าบ้านมีเครื่องเซ่นไหว้ อย่าเดินเหยียบเครื่องบูชาที่วางอยู่กับพื้น ไม่ควรใช้มือซ้ายส่ง หรือรับสิ่งของจากผู้อื่น ไม่ยืนค้ำคนที่ไหว้พระอยู่ในวัด ควรหลีกเลี่ยงการใช้แฟลชในวัด ก่อนเข้าบ้าน วัด ควรถอดรองเท้า การต่อรองราคาสินค้าเป็นเรื่องปกติ (พกเครื่องคิดเลขจะช่วยได้ดี) แต่อย่าต่อรองเล่นๆ หากไม่คิดจะซื้อ (ถามราคาได้) พยามยามหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วชี้ทำการชี้ไปที่คนและสิ่งของ อาจใช้นิ้วโป้ง หรือชี้ไปทั้งมือ แทนการชี้ด้วยนิ้วชี้นิ้วเดียว
ขอขอบคุณ rta2indonesia.com