รวมอาหารยอดนิยมของประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสมาชิกอาเซียน อาหารของชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นพวกผักและธัญพืช เช่น มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก ถั่วเขียว เสริมโปรตีนด้วยเต้าหู้และไข่ต้ม ที่นี้เค้าเป็นมุสลิมกันมาก จึงมีเมนูประเภทผักเด่นๆ อยู่ด้วยครับ
กาโดกาโด (อินโดนีเซีย: gado gado) อาหารยอดนิยมของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วยผัก และธัญพืชหลากหลายชนิด ทั้งแครอท มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก ถั่วเขียว นอกจากนี้ยังมีเต้าหู้ และไข่ต้มสุกด้วย กาโดกาโดจะนำมารับประทานกับซอสถั่วที่คล้ายกับซอสสะเต๊ะ อย่างไรก็ตาม ด้วยเครื่องสมุนไพรในซอส อาทิ รากผักชี หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ทำให้เมื่อรับประทานแล้วจะไม่รู้สึกเลี่ยนกะทิมากจนเกินไปนั่นเอง
แกงกะหรี่เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลจากแกงแบบมัสล่าหรือแกงกุรุหม่าของอินเดียใต้ ซึ่งมีน้ำมากกว่าแกงกุรุหม่าทางอินเดียเหนือ เครื่องเทศหลักที่ใช้ในแกงกะหรี่แบบอินเดีย-ปากีสถาน ได้แก่ ลูกผักชี ยี่หร่า พริกป่นอินเดีย พริกไทยป่น ขมิ้น ลูกกระวานเทศ กานพลู อบเชย นิยมโรยหน้าด้วยใบสำมาหลุย ถ้าเป็นกะหรี่ไก่เพิ่มลูกซัด แกงกะหรี่ปูเพิ่มโป๊ยกั้ก
แกงมัสมั่น เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น แกงมัสมั่นแบบไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน
แกงมัสมั่นแบบชาวมุสลิมปักษ์ใต้ ต่างจากการปรุงแกงมัสมั่นของชาวไทยภาคกลางคือ จะไม่ทำเป็นน้ำพริกแกงมัสมั่น แต่จะผสมลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกป่นอินเดียและพริกไทยป่นไว้เป็นผงเครื่องแกง จากนั้นจึงนำลงไปผัดกับน้ำมันที่เจียวหัวหอมแล้ว ส่วนแกงมัสมั่นแบบมลายู-ชวา จะใส่กานพลู อบเชย ลงไปผัดกับน้ำมันและหอมแดงจนหอม แล้วจึงใส่พริกป่นอินเดีย ลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกไทยป่นลงไปผัดให้เข้ากัน นอกจากนั้นยังใส่มะพร้าวคั่ว ผงขมิ้นดอกไม้จีนและหน่อไม้จีนด้วย
เว็บไซต์ CNNGO ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก
ข้าวยำ หรือ ข้าวยำบูดู เป็นอาหารไทยภาคใต้ โดยถือกันว่าเป็นอาหารที่ครบโภชนาการมากที่สุด และมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างโดยเป็นอาหารจานเดียวที่มีน้ำปรุงราด
ฆูไล (Gulai) เป็นแกงรสเผ็ด มักปรุงกับเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ ปลา อาหารทะเล หรือผักเช่น ใบมันสำปะหลังและขนุนอ่อน น้ำแกงมักเป็นสีเหลืองเพราะเติมผงขมิ้น เครื่องแกงที่ใช้ ได้แก่ ขมิ้น ผักชี พริกไทยดำ ขิง ข่า พริกขี้หนู หัวหอม กระเทียม ยี่หร่า ตะไคร้ อบเชย ลูกผักชี ซึ่งตำให้ละเอียด และนำไปปรุงกับกะทิ พร้อมกับส่วนผสมหลัก
ซีโอมาย หรือ โซมาย (Siomay, Somay) เป็นขนมจีบหรือเกี๊ยวปลาแบบอินโดนีเซีย ปรุงด้วยการนึ่ง ได้รับอิทธิพลจากติ่มซำในอาหารจีน ทำจากปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล หรือกุ้ง นำมายัดไส้ใส่ในกะหล่ำปลี มันฝรั่ง มะระ และเต้าหู้ ทำเป็นชิ้นใหญ่ ด้านบนใส่ซอสถั่วลิสง ซีอิ๊วหวาน ซอสพริก และน้ำมะนาว
ซีโอมายเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารของชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ต่างกันที่ซีโอมายกินกับซอสถั่วลิสงด้วย แต่ของชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนจะกินกับซีอิ๊วหวานและซอสพริกเท่านั้น ซีโอมายที่มีชื่อเสียงคือที่บันดุง และพบซีโอมายมากในอาหารของชาวซุนดาและผู้ขายซีโอมายก็มักเป็นชาวซุนดา ซีโอมายมีลักษณะใกล้เคียงกับบาตาฆอร์ เพียงแต่เบตาฆอร์ทำให้สุกด้วยการทอด ส่วนซีโอมายนั้นนำไปนึ่ง
ตีนูตวน (Tinutuan) หรือ บูบุร มานาโด เป็นโจ๊กของชาวมานาโด กินกับผักเช่นผักโขม ผักบุ้ง ข้าวโพด ฟักทองมันเทศ หรือมันสำปะหลัง ตีนูตวนเป็นอาหารที่มีจุดกำเนิดที่มานาโด จังหวัดสุลาเวสีเหนือ แต่บางคนก็บอกว่ามาจากมีนาฮาซา จังหวัดสุลาเวสีเหนือ ไม่ทราบที่มาของคำว่าตีนูตวน และไม่ทราบจุดกำเนิดแต่เริ่มเป็นที่นิยมระหว่างช่วง พ.ศ. 2513 – 2524 รัฐบาลท้องถิ่นของมานาโดกำหนดให้ตีนูตวนเป็นสัญลักษณ์ของเมือง นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า กินกับปลาเค็ม ซัมบัล หัวหอมทอด ในมานาโดจะรับประทานตีนูตวนกับปลารมควัน ซัมบัล และกะปิ
เทมเปะห์หรือเทมเป้ (Tempeh; /ˈtɛmpeɪ/; ภาษาชวา: témpé, ออกเสียง:tempe), เป็นผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองแบบพื้นบ้านของอินโดนีเซีย เป็นอาหารที่เตรียมด้วยการหมักจนถั่วเหลืองกลายเป็นแท่งคล้ายเค้ก เป็นอาหารหมักจากถั่วเหลืองเพียงชนิดเดียวที่อยู่นอกอิทธิพลของจีน
จุดกำเนิดของเทมเปะห์อยู่ที่บริเวณที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน และเป็นที่นิยมในเกาะชวา เป็นแหล่งของโปรตีนเช่นเดียวกับเต้าหู้ แต่มีลักษณะ สารอาหารและคุณภาพของเนื้อสัมผัสต่างไป กระบวนการหมักเทมเปะห์และการที่ยังคงรูปถั่วเหลืองไว้ทำให้ยังมีปริมาณโปรตีน เส้นใย และวิตามินสูง เมื่อเก็บไว้นานจะมีกลิ่นเหมือนดินแรงขึ้น เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง เทมเปะห์จึงเป็นที่นิยมในบรรดาผู้ที่รับประทานมังสวิรัตน์ โดยใช้แทนเนื้อสัตว์
นาซิกูนิง (ภาษาอินโดนีเซีย:Nasi Kuning) หรือนาซิกุนยิต เป็นอาหารประเภทข้าวของอินโดนีเซีย ปรุงกับกะทิและขมิ้น คำว่านาซิกูนิงแปลตรงตัวว่าข้าวสีเหลือง บางครั้งจะจัดเป็นรูปกรวยแหลมเรียกตุมเปง ใช้ในโอกาสพิเศษเป็นเครื่องหมายของโชคดี และความมั่งคั่ง เครื่องเคียงที่นิยมรับประทานด้วยคือ ไข่เจียวฝอย มะพร้าวขูดผสมเครื่องเทศ อูรับ ปลาร้าผัดถั่วลิสง เทมเป้ผัดกับซัมบัลและมันฝรั่ง ไก่ทอดแบบชวา ซัมบัลกุ้ง ปอดวัวทอด เนื้อวัวหรืออาหารทะเล บางครั้งกินกับข้าวเกรียบกุ้ง และแตงกวาหั่น
นาซิอูดุก (Nasi uduk) เป็นข้าวนึ่งแบบอินโดนีเซีย หุงกับกะทิ ที่มีจุดเริ่มต้นจากจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วทั้งประเทศ นาซิอูดุกเป็นอาหารที่นิยมในชุมชนเร่งด่วนในจาการ์ตา พบได้ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน
นาซิอูดุกในภาษาอินโดนีเซียแปลว่า “ข้าวผสม” เพราะการเตรียมอาหารต้องการส่วนผสมมากกว่าการหุงข้าวธรรมดา และมีเครื่องเคียงที่ต่างกันไป
นาซิอูลัม (Nasi ulam)เป็นข้าวนึ่งที่ผสมสมุนไพรหลายอย่าง เช่น บัวบก หรือแมงลัก ผัก และเครื่องเคียงอื่นๆ อาหารนี้เป็นอาหารของชาวมาเลย์ที่มีความแตกต่างไปบ้างระหว่างในมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ในอินโดนีเซีย นาซิอูลัมเป็นอาหารของชาวเบตาวีและชาวมาเลย์ในสุมาตรา รวมทั้งชาวบาหลี ในจาการ์ตามีนาซิอูลัมสองชนิดคีอแบบน้ำของทางเหนือและตอนกลางของจาการร์ตา และแบบแห้งของทางใต้ ในอินโดนีเซีย นาซิอูลัมปรุงรสเผ็ดด้วยพริก ใส่ถั่วลิสงและมะพร้าวคั่ว อาหารที่นิยมรับประทานกับนาซิอูลัม ได้แก่ เดนเดง ออมเล็ต มันฝรั่งทอดเต้าหู้ทอด เทมเปะห์ และข้าวเกรียบ
นาซิอูลัมในมาเลเซียประกอบด้วยข้าวใส่สมุนไพรเช่น ใบพริก ใบมะม่วงหิมพานต์ หัวหอม มะพร้าวคั่ว บางครั้งใส่ปลาทอด พบได้ทั่วไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมาเลย์ ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือจะนิยมรับประทานข้าวยำหรือนาซิกราบูแทน
ปานีกี (Paniki) เป็นอาหารจานแปลกของมีนาฮาซา จังหวัดสุลาเวสีเหนือ ทำจากเนื้อค้างคาว ซึ่งในมีนาฮาซาเรียกว่าปานีกี ค้างคาวจะถูกเผาเพื่อกำจัดขน ก่อนจะนำไปปรุงกับกะทิ สมุนไพร และเครื่องเทศ ถ้าไม่นำไปแกงกับกะทิจะนำมาผัดใส่พริกและเครื่องเทศ
โรตี จาไน (Roti canai) หรือโรตี จาเน (roti cane) เป็นขนมปังแบนที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียพบได้ทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย พบได้ในภัตตาคารที่ขายอาหารมินังกาเบาหรืออาหารอาเจะห์ ในสิงคโปร์และมาเลเซียทางใต้เรียกโรตี ปราตา ซึ่งคล้ายกับอาหารอินเดียที่เรียกปาโรตตาแบบของรัฐเกระละ
อาซีนัน (Asinan) เป็นผักดองในน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชู ทำจากผักหรือผลไม้ ที่เป็นที่นิยมทั่วอินโดนีเซีย คำว่าอาซีนันในภาษาอินโดนีเซียหมายถึงเค็ม ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำที่นำผักลงแช่ในน้ำเกลือ อาซีนันมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรยักเพียงแต่โรยักนั้นรับประทานสด ส่วนอาซีนันเป็นการถนอมอาหาร ในอินโดนีเซียมีอาซีนันหลายแบบที่เป็นที่นิยมได้แก่
- อาซีนัน เบตาวี เป็นสูตรของชาวเบตาวีในจาการ์ตา ผักที่ใช้ดองได้แก่กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วงอก เต้าหู้ และผักกาดหอม ในซอสถั่วลิสงในน้ำส้มสายชู โรยด้านบนด้วยถั่วลิสง และข้าวเกรียบกุ้ง
- อาซีนัน โบฆอร์ เป็นผลไม้ดองในเมืองโบฆอร์ ชวาตะวันตก ผลไม้ที่นำมาดองได้แก่ มะม่วง มะละกอ สับปะรด ชมพู่มะกอกฝรั่ง มันแกว ลูกจันทน์เทศ ในน้ำส้มสายชูร้อนและใส่น้ำตาล พริก ถั่วลิสง
อูรับ (Urap) หรืออูรับ-อูรับ (urap-urap) หรือยำมะพร้าว เป็นยำผักสุกตามฤดูกาลและใส่มะพร้าวแห้ง[1]เป็นอาหารอินโดนีเซียที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในอาหารชวา สามารถกินเดี๋ยวๆในรูปของอาหารมังสวิรัตน์ได้[2] หรือเป็นเครื่องเคียงของอาหารจานเนื้อ เช่นในอาหารชวาใช้กินกับตุมเป็ง (tumpeng; ข้าวพูนสูงเป็นรูปกรวย) หรือนาซีกูนิง(nasi kuning; ข้าวหุงกับกะทิ ใส่ขมิ้น)
ขอขอบคุณ th.wikipedia.org