ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ ติดกับรัฐฉิ่น เขตมะกวย เขตหงสาวดี และเขตอิระวดี นอกจากนี้ยังมีพรมแดนติดกับอ่าวเบงกอลและบังคลาเทศ อีกด้วย รัฐยะไข่เป็นเขตมรสุม เนื่องจากเป็นรัฐที่มีฝนตกชุก มีประชากร ราว 2.6 ล้านคน ส่วนใหญ่นิยมอาศัยบริเวณหุบเขาและทะเล ประชากร ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม รัฐยะไข่มีพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองที่สำคัญ คือพระมหามุนี พระพุทธรูปองค์แรกของพุทธศาสนา ซึ่งตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าทรงประทับเป็นแบบให้ช่างหล่อก่อนจะอัญเชิญองค์พระพุทธรูปที่หล่อเสร็จแล้วไปประดิษฐาน ณ วัดมหามุนี เมืองมัณฑเลย์ (ปัจจุบันคือพระมหามุนี พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่มที่เป็นที่รู้จักกันดี) ส่วนพระมหามุนีองค์ต้นแบบนั้น ยังคงประดิษฐานอยู่ที่ยะไข่ตราบถึงปัจจุบัน
• ภูมิประเทศ : อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศพม่ามีเทือกเขาโยมะ( Yoma) กั้นรัฐอาระกันกับส่วนอื่น ๆ ของประเทศพม่า มีพื้นที่ติดอ่าวเบงกอลและติดกับประเทศบังคลาเทศทางทิศตะวันตก โดยมีแม่น้ำนาฟ( Naf) กั้น มีถนนเข้าไปเพียงเส้นเดียวเท่านั้น เพราะการพัฒนาทางหลวงนั้นถูกจำกัดฝนที่ตกหนักในฤดูมรสุมมักจะทำให้ถนนเสียหายจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จึงต้องอาศัยการเดินทางทางน้ำ มีชายฝั่งเป็นแหล่งของป่าโกงกาง
• ประวัติศาสตร์ : ครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง ชาวโรฮิงยาได้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนอาระกันก่อนที่ประเทศอังกฤษจะมาครอบครองมาเป็นระยะเวลานานมาก มีประวัติศาสตร์มีภาษา จารีตประเพณี วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมานานมากกว่าพันปี มีการปกครองมาหลายยุคโดยคนมุสลิม พุทธ และฮินดู โดยปกครองโดยชาวมุสลิมกว่า 350 ปี จากนั้นถูกกษัตริย์พม่าบุกรุกและยึดครอง หลังจากที่ประเทศพม่าถูกอังกฤษยึดครองเป็นอาณานิคม รัฐอาระกันถูกผนวกเข้าไปด้วยท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน
• สภาพเศรษฐกิจและสังคม : ประชากรมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีอาชีพทำนา เคยผลิตข้าวจำนวนมากแต่ก็ลดลงเรื่อย ๆ เพราะชาวโรฮิงยาที่มีอาชีพทำนาถูกขับไล่ออกจากดินแดน มีแรงงานใช้ฝีมือในการต่อเรือ และทำการประมง ซึ่งส่วนมากจะเป็นชาวโรฮิงยา มีทรัพยากรล้นหลามแต่ไม่มีโรงงานที่ทันสมัย มีโรงสี โรงน้ำแข็งในบางที่ มีโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไวน์ในเมือง Kyauktaw
• สถานการณ์ทั่วไป : การขาดการพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภค และการบริการที่ผิดพลาดมีผลต่อเศรษฐกิจของรัฐอาระกัน รัฐบาลมักจะบังคับให้ชาวนาขายผลผลิตบางส่วนที่เก็บเกี่ยวได้ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เกณฑ์ชาวบ้านไปบังคับใช้แรงงานในโครงการก่อสร้างต่างๆ ส่วนมากจะเป็นชาวมุสลิมโรฮิงยา รัฐบาลมีโครงการที่จะสร้าง หมู่บ้านตัวอย่าง (Model Village) ไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกษียณอายุแล้ว โดยที่รัฐบาลได้ยึดที่ดินมาจากชาวมุสลิมโรฮิงยาและให้ชาวบ้านที่พลัดถิ่นเข้ามาสร้างหมู่บ้านดังกล่าว
มรัคอู เมืองแห่งประวัติศาสตร์
มรัคอู หรือ เมียวอู (Mrauk U) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมรัคอู ก่อตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 และรุ่งเรืองต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 355 ปี ในสมัยนั้น มรัคอู เป็นที่เลื่องลือในเรื่องความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมตะวันออกเป็นอย่างมาก
วัดพระเก้าหมื่น เมือง มรัคอู
ปัจจุบัน มรัคอู มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลานแห่ง อาทิ วัดพระเก้าหมื่น หรือ วัดโกตองพญา วัดที่ใหญ่ที่สุดในเมือง มรัคอู เชื่อกันว่าเป็นสถานแห่งการป้องกันสิ่งชั่วร้าย ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปแกะสลัก 90,000 องค์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด
วัดพระแปดหมื่น แห่ง มรัคอู
อีกหนึ่งอารามแห่ง มรัคอู คือ วัดพระแปดหมื่น หรือ ซิตตวงเจดีย์ เป็นที่รู้จักกันในความหมายของ วัดแห่งชัยชนะ สร้างขึ้นใน ปี 1535-1536 เพื่อรำลึกถึงชัยชนะในเบงกอล ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยนานาเจดีย์เล็กเหมือนเขาวงกต และภายนอกรอบบริเวณวัด ยังเป็นสถานที่ตั้งของหมู่บ้านชาวท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงวิถีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายและดั้งเดิม
วัดทุกขันเต่ง เมือง มรัคอู
ใกล้กันกับ ซิตตวงเจดีย์ อีกหนึ่งสถานน่ายลของ มรัคอู คือ วัดทุกขันเต่ง วัดบนเนินเขาสูง 30 ฟุต ภายในมากมายด้วยรูปปั้นแกะสลักผู้หญิงกำลังบูชาพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ตามช่องผนัง เล่ากันว่า เธอเหล่านี้คือภรรยาของเหล่าขุนนางที่มีทรงผมแตกต่างกันไปถึง 64 แบบ
การเดินทางไป มรัคอู นั้น ต้องเริ่มต้นที่ เมืองซิตตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่ โดยขึ้นเรือที่ปากแม่น้ำสัตจาโร และล่องไปตาม แม่น้ำกาลาดาน ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ก็จะถึงดินแดน มรัคอู ปลายทางแห่งประวัติศาสตร์
ข้อมูล : travel.thaiza.com ภาพ Rolandito / Andrzej Olszewskiเรียบเรียง : travel.mthai.com