ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหภาพพม่า มีชายแดนติดกับอินเดียทางเหนือ และ ด้านตะวันออกติดกับรัฐคะฉิ่น รัฐฉานและมณฑลมัณฑะเลย์ ด้านใต้ติดกับมณฑลมัณฑะเลย์และมณฑลมะเกว ด้านตะวันตกติดกับรัฐชินและอินเดีย โดยมณฑลสะกายมีพื้นที่ 36,535 ตารางไมล์ สภาพภูมิอากาศในฤดูหนาวถึงจุดเยือกแข็ง ทางเหนือของมณฑลมีอุณหภูมิอยู่ที่ 40 °F(4.4 °C ) ทางด้านใต้อยู่ในเขตแห้งแล้งและมีอากาศร้อน ซึ่งในฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูงถึง 110 °F(43.3 °C ) และในฤดูหนาวต่ำลงถึง 50 °F(10 °C ) ทางเหนือของมณฑลจะมีปริมาณฝนในระดับที่สูงกว่าทางด้านใต้
เขตการปกครอง
แบ่ง พื้นที่ปกครองเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสะกาย (Sagaing) อำเภอชเวโบ (Shwebo) อำเภอโมง-ยวา (Monywa) อำเภอกะตา (Katha) อำเภอกะเล (Kale) อำเภอตะมู (Tamu) หม่อไล่ก์ (Mawlaik) และคำตี่ (Hkamti) ทั้งมณฑลมี 38 ตำบล กับ 198 หมู่บ้าน สะกายเป็นเมืองหลักของมณฑล
ประชากร,ภาษาและศาสนา
มณฑล สะกายมีประชากรกว่า 5 แสนคน ความหนาแน่นของประชากรประมาณ 139 คนต่อตารางไมล์ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากทางตอนล่างบริเวณแม่น้ำซิดวิน (Chindwin) กับแม่น้ำมู (Mu) ชาวพม่าเป็นชนส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่แห้งแล้งและตลอดเส้นทางรถไฟจาก มัณฑะเลย์ถึงมิจจีนา พวกไทใหญ่อาศัยแถบแม่น้ำชิดวินตอนบน และในตำบลกอลีง (Kawlin) วุนโต่ (Wuntho) และปีงแหล่บู (Pinlebu) พวกนาคาอาศัยตามเทือกเขาด้านเหนือ พวกฉิ่นอาศัยทางตอนล่างของมณฑล ส่วนพวกกะดู (Kadu) และกะนาง (Ganang) พบอาศัยตามลุ่มแม่น้ำมูและเมซา (Meza)
วัฒนธรรมและประเพณี
ประเพณีสำคัญในมณฑลสะกายได้แก่ประเพณีถวายข้าวที่เจดีย์ปะดะมยา (Padamya Pagoda)
ป่าไม้ และพื้นที่เพาะปลูก
พื้นที่ป่าไม้ ประกอบด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็ง มีแหล่งที่สำคัญคืออำเภอโมง – ยวา (Monywa) อำเภอกะตา (Katha) นอกจากนี้ยังพบไม้ Thanakha , Eaglewood , Catechu, น้ำผึ้ง , หวาย และไม้ไผ่อีกด้วย ส่วนพื้นที่เพาะปลูกในมณฑลสะกายมีมากกว่า 3 ล้านเอเคอร์ โดยพื้นที่ประมาณ 1.4 ล้านเอเคอร์สำหรับปลูกข้าว อีก 1.5 ล้านเอเคอร์สำหรับปลูกพืชชนิดอื่น และที่เหลืออีกเพียงเล็กน้อยจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ส่วนการจัดสรรน้ำนั้นจะจัดส่งทางคลอง ทะเลสาบ และท่อส่งน้ำ ซึ่งเขตพื้นที่ชลประทานจะมีอยู่ที่อำเภอชเวโบ นอกจากนี้ยังมีโครงการนำน้ำจากแม่น้ำมูมาจัดสรรอีกด้วย มณฑลสะกายมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีการทำปศุสัตว์และการขยายพันธุ์ร่วมด้วย สำหรับพืชหลักที่สำคัญของมณฑลนี้คือข้าว ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวโพด งา ถั่วลิสง ทานตะวัน ฝ้าย อ้อย และถั่ว นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชอื่นๆเช่นใบยาสูบ มันฝรั่ง ปาล์ม และผักต่างๆ ตามภูเขาทางเหนือของมณฑลสามารถปลูกชาเขียวได้
แร่ธาตุ
สินแร่ที่สำคัญของมณฑลนี้คือ ทองซึ่งพบที่เขต Kyaukpahto ถ่านหินพบที่เขต Kalewa(Thitchauk)และMonywa ส่วนน้ำมันมีปริมาณเล็กน้อยที่เขต Pantha และ Inndaw นอกจากนี้ยังมีการผลิตเกลือที่ Wetlet และ Sagaing อีกด้วย
อุตสาหกรรมที่สำคัญ
อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ที่ Ywathitgyi) ผลิตน้ำมันดีเซล(ที่ Ywahtaung) โรงงานสกัดทองแดง(ที่ Salingyi) โรงงานหลอมทอง(ที่ Kyaukpahto ใน Kawlin) มณฑลนี้ยังมีโรงสีข้าว โรงงานผลิตน้ำมันพืช โรงเลื่อย และโรงปั่นฝ้าย เป็นต้น ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่อีกหลายโรงงานอยู่ในอำเภอโมง-ยวา (Monywa) พบการผลิตหม้อดินเผาที่ Kyaukmyaung และ Sagaing การผลิตเครื่องเงินที่ Ywahtaung การผลิตเครื่องทองสัมฤทธิ์และเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กที่ Monywekyemon การผลิตเครื่องใช้เคลือบแลคเกอร์ที่ Kyaukka