หากมาประเทศเมียนมาร์แล้ว สิ่งที่ต้องไม่พลาดคือการได้ใช้เวลาอยู่ใน อาณาจักรพุกาม ดินแดนในฝันที่เงียบสงบมากว่าพันปี มหาอาณาจักรที่ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความรุ่งเรือง และศรัทธาของคนที่มีต่อพุทธศาสนาในสมัยนั้น ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และซาบซึ้งไปกับแรงศรัทธาของคนในอดีตกาล ในอดีตมีการก่อสร้างพระเจดีย์ในอาณาจักรแห่งนี้ถึงสี่ล้านกว่าองค์ แต่เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง ทำให้พระเจดีย์ได้รับความกระทบกระเทือน พังทลายเสียหายไปมากมาย ปัจจุบันจึงคงเหลือพระเจดีย์ที่ยังคงสภาพดี ราวสี่พันองค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ ๆ และควรไปเยี่ยมชมได้แก่ พระเจดีย์ชะเวซิกอง พระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรพุกาม พระเจดีย์อานันดา ที่ได้ชื่อว่าสง่างามที่สุดในพุกาม วัดมนูฮา วัดของกษัตริย์มอญที่ถูกพระเจ้าอโนรธานำตัวมาไว้ที่พุกาม และได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อแสดงความรู้สึกของพระองค์ให้ผู้คนรับรู้ เมี่ยเจดีย์ ซึ่งมีจารึกราชกุมารสี่ภาษา พระเจดีย์ธรรมยางจีซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในพุกาม
พระพุทธรูปอะโลว์ตอว์ปิ๊ต พระพุทธรูปที่ถูกค้นพบโดยพระสงฆ์พม่ารูปหนึ่ง ซึ่งนั่งสมาธิ ณ พระเจดีย์ร้างองค์นี้มากว่าสิบปี วันหนึ่งท่านได้เกิดนิมิตว่ามีพระพุทธรูปอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ จึงขอให้กรมศิลปากรลองขุดดู ปรากฏว่าพบพระพุทธรูปจริงๆ พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้รับการขนานนามจากชาวบ้านว่า พระพุทธรูปสมปรารถนา นอกจากนี้ในระหว่างรอทำการสมโภชน์ พระพุทธรูปได้แสดงปาฏิหาริย์ เกิดแสงสีแดงขึ้นรอบองค์พระเป็นเวลานานเจ็ดคืน พระเจดีย์ยัวฮองยี ที่ซึ่งเป็นจุดชมทุ่งเจดีย์ยามพระอาทิตย์อัสดงค์
สถานที่ท่องเที่ยวพุกามประเทศพม่า
วัดอนันดา(Ananda temple)
ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกำแพงเมือง เป็นวัดสีขาว เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบมอญที่งดงามมาก สร้างเสร็จเมื่อปี 1091 พงศาวดาร ฉบับหอแก้ว เล่าถึงการสร้างวัดอนันดาว่า วันหนึ่ง มีพระสงฆ์อินเดียแปดรูปมาบิณฑบาตที่พระราชวังพระเจ้าญาณสิทธา และได้กราบทูลพระองค์ว่าพวกท่านเคยอาศัยอยู่ที่วัดถ้ำนันทมูลในเทือกเขาหิมาลัย พระเจ้าญาณสิทธาทรงชื่นชอบชาดกทางพุทธศาสนามาก จึงนิมนต์พระสงฆ์เหล่านี้ให้มารับบาตรที่พระราชวังทุกวันตลอดช่วงฤดูฝน พระองค์จะได้สดับรับฟังเรื่องราวของดินแดนแถบนั้นให้เต็มอิ่ม
พระสงฆ์เหล่านี้ได้ใช้ฌานวิเศษบันดาลให้พระเจ้าญาณสิทธาทอดพระเนตรเห็นภาพวัดถ้ำนันทมูล ที่มีหิมะปกคลุมอยู่ทั่วไป ทำให้พระองค์ปลื้มปิติมาก ถึงขั้นมีบัญชาให้จำลองวัดนี้ขึ้นบนที่ราบอันร้อนและแห้งแล้งของพม่าภาคกลาง
เมื่อสร้างเสร็จ ก็งามเสียจนพระเจ้าญาณสิทธาเกรงว่าจะมีใครสร้างซ้ำ จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตนายช่างทั้งหมด ตามพิธีกรรมของพวกพราหมณ์ โครงสร้างของวัดอนันดา มีระเบียงทางเดินที่ไม่ซับซ้อน มีซุ้มประตูใหญ่สี่ซุ้มขนาดเท่ากัน ทุกด้านเปิดจากแนวกึ่งกลางกำแพงไปสู่ห้องคูหากลางวิหาร ด้านบนก่อเป็นแกนทึบสี่เหลี่ยมขึ้นไปรับกับส่วนยอด ที่แกนทึบแต่ละด้านทำรวงข้าวไปเป็นซุ้มพระขนาดใหญ่ ผนังแต่ละด้านยาว 53 เมตร โครงสร้างวิหารมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในซุ้มพระมีพระพุทธรูปยืน จำหลักจากไม้สัก สูง 9.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ซุ้ม แทนองค์พระอดีตพุทธเจ้าทั้งสี่ในกัปนี้ ที่หลังคาเจาะเป็นช่องเล็กๆ ให้ส่องแสงลงมาต้ององค์พระ พระพุทธรูปทางทิศเหนือ และใต้เป็นของที่มีอยู่แต่เดิม แต่ทางทิศตะวันออกกับตะวันตกเป็นองค์จำลองขึ้นแทนของเดิมที่ถูกพวกขโมยทำเสียหาย
วัดตั้ดปยิ่นยูพยา(Thatbyinnyu temple)
ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถัดจากวัดอนันดา มาทางตะวันตกเฉียงใต้ 500 เมตร เป็นที่รู้จักกันในนาม “ วัดสัพพัญญูู” จัดเป็นวัดที่สูงที่สุดในเมืองปะกั่น (61 เมตร) ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมือง ถือเป็นแม่แบบของสถาปัตยกรรมพม่า
พระเจ้าอลองสิทธูทรงสร้างวัดนี้ขึ้นในกลางศตวรรษที่ 12 รูป ทรงคล้ายวัดอนันดา แต่แผนผัง ยาวกว่าด้านอื่นๆ ตัววิหารชั้นบนนั้นสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ขนาดเล็ก ด้านใน “กลวง” ซ้อนอยู่ บนวิหารชั้นล่างที่มีขนาดใหญ่กว่า นับเป็นเอกลักษณ์ ของวัดพม่าโดยเฉพาะ ต่างจากวัดมอญที่นิยมสร้างเป็นวิหารชั้นเดียว แกนกลางชั้นล่างนั้นก่อเป็นแกนทึบ เพื่อเป็นฐานรากรองรับโครงสร้างของวิหารชั้นบนซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน องค์พระหันหน้าไปทางทิศตะวันออกวิหารแต่ละชั้นมีหน้าต่างสองแถวซ้อนกัน ทำเป็นซุ้มจระนำ ภายในจึงสว่าง และมีลมพัดผ่าน เข้ามาได้
วิหารสองชั้นแรกเคยเป็นที่พำนัก ของบรรดาพระภิกษุ ชั้นสามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นสี่ทำเป็นหอพระไตรปิฏก ส่วนยอดที่ทำเป็นสถูปองค์ปรางค์นั้นใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าต้องการขึ้นไปชั้นบน ต้องใช้บันไดด้านในขึ้นไปยังลานทักษิณชั้นบนสุดสามชั้นที่รองรับปรางค์ยอดสิงขรและองค์สถูป มองออกไปจะเห็นวัดอนันดาและ ทิวทัศน์อันงดงามตระการตา
วัดธรรมยางจี “ดัมมะหยั่นจี”(Dhammayangyi temple )
เป็นวัดที่พระเจ้านะระตู่ได้สร้างขึ้นด้วยทรงปริวิตกว่าผลกรรมจากการกระทำปิตุฆาตจะติดตามพระองค์ไปในชาติภพหน้า พระองค์จึงสร้างวัด แห่งนี้ขึ้นเพื่อล้างบาป ปัจจุบัน วัดดัมมะหยั่นจี เป็นวัดที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ดีที่สุดในปะกั่น มีแผนผังคล้ายวัดอนันดา แต่ความประณีตกลมกลืนเทียบวัดอนันดาไม่ได้สะท้อนถึงบรรยากาศอันดำมืดมัวหม่นในยุคนั้น แต่ฝีมือการก่อศิลาต้องนับว่าเป็นเอกกล่าวกันว่าพระเจ้านะระตู่ทรงควบคุมดูแลการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ถ้าช่างวางเรียงศิลา ให้มีช่องพอให้สอดเข็มเข้าไปได้ แม้สักเล่มหนึ่ง ก็จะมีรับสั่งให้ประหารช่างผู้นั้นทันทีแต่วัดสร้างยังไม่ทันเสร็จ พระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ลงเสียก่อน เหตุเพราะทรงรับเอาสนมในรัชกาลก่อน มาเป็นนางห้ามของพระองค์เองอีกต่อหนึ่ง แต่ไม่โปรดฯ พิธีแบบฮินดู ของชายาองค์หนึ่งซึ่งเป็นธิดามหาราชาแห่งแคว้นปะแทกกะยาในอินเดีย จึงสั่งประหารนางเสีย
พระราชบิดาของนางทรงแค้นเคืองนักจึงส่งทหารมือดีแปดนายปลอมตัวเป็นพราหมณ์เดินทางไปเฝ้าพระเจ้านะระตู่ แล้วใช้ดาบปลงพระชนม์ขณะเข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ก่อนฆ่าตัวตายเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด
วัดติโลมินโล (Htilo Minlo Temple)
ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ 1.5 กม. บนถนนที่ตัดไปเมืองหย่าวน์อู สร้างขึ้นเมื่อปี 1211 ตามบัญชา พระเจ้านันต่าว-มยา บันทึก พงศาวดารฉบับหอแก้ว กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นโอรสในพระเจ้านรปติสิทธู ซึ่งเกิดแต่นางห้ามผู้หนึ่ง และได้รับเลือกเป็นรัชทายาท หลังทำการเสี่ยงทายตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์พระองค์ใหม่กับพระอนุชาทั้งสี่ได้จัดตั้งสภาเสนาบดีขึ้นบริหาร ราชการแผ่นดิน เรียกว่า สภาลู้ตต่อ และใช้เป็นชื่อรัฐสภาพม่าสืบมาจนถึงทุกวันนี้
เจดีย์มิงกะลาเชดี (Mingala Zedi)
เป็นพระเจดีย์หลวงองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในยุคการสร้างวัด โดยสร้างขึ้นในปี 1284 ตามบัญชาของพระเจ้านราธิหะปติ ใช้เวลาสร้างหกปีเต็ม ถือเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมในหมวดเจดีย์แบบบะหม่า องค์สถูปนั้นตั้งอยู่บนฐานทักษิณ สามชั้นที่ซ้อนกัน อยู่เหนือฐานไพฑีทรงสี่เหลี่ยม จัตุรัสอีกต่อหนึ่ง กึ่งกลางฐานแต่ละด้านมีบันไดทอดขึ้นไปยังชั้นที่อยู่สูงขึ้นไป และมรสถูปบริวารทรงหม้อน้ำตั้งประจำอยู่ที่มุมทั้งสี่ ของฐานแต่ละชั้น สถูปบริวารของฐานชั้นบนสุดมีขนาดใหญ่กว่าสถูป ของฐานชั้นล่างๆ และมีการทำแผ่นกระเบื้องดินเผา เล่าเรื่องชาดกต่างๆประดับเอาไว้ ตามฐานแต่ละชั้นด้วย แต่ส่วนใหญ่จะแตกหักเสียหายไปนานปีแล้ว ประตูทางขึ้นสู่องค์พระเจดีย์จะปิดล็อคกุญแจเอาไว้ตลอดเวลา
เจดีย์บูพยา (ฺีBupaya pagoda)
สร้างในสมัยพระเจ้าปยูซอตี (ค.ศ.162-243) กษัตริย์องค์ที่สามแห่งปะกั่น ตามตำนานาเล่าว่า พระองค์ทรงค้นพบวิธีกำจัดไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับน้ำเต้า มักขึ้นรกอยู่ตามริมฝั่งน้ำ พระเจ้าตะมุดะริด ปฐมกษัตริย์ แห่งปะกั่น จึงพระราชทานพระธิดาให้และยังแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นรัชทายาทอีกด้วย พระเจ้าปยูซอตี จึงสร้างเจดีย์บูพยาขึ้นเป็นอนุสรณ์ด้วยเหตุนี้ และเจดีย์องค์นี้ก็ได้กลายเป็นแม่แบบของเจดีย์อื่นๆที่สร้างขึ้นในสมัยหลังอีกมากมาย องค์สถูปนั้นสร้างเป็นทรงน้ำเต้า คล้ายเจดีย์ทิเบต ฐานทำเป็นแนวกำแพงซ้อนกันหลายแถว ตระหง่านอยู่บนฝั่งเหนือลำน้ำอันกว้างใหญ่
เจดีย์ชเวซีโข่ง (ฺีShwezigon pagoda)
เป็นสถูปรูปแบบดั้งเดิมของพม่าสร้างขึ้นหลังพระเจ้าอโนรธา ขึ้นครองราชย์ เพื่อใช้่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นทั้งที่ประชุมสวดมนต์และศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทในปะกั่น
พระเจ้าอโนรธา ทรงเชื่อว่าตนเองเป็น “พระมหาจักรพรรดิราช” จึงพยายามรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ มาไว้ด้วยกัน ทั้งพระรากขวัญ กับพระนลาต จากเมืองปยี่ พระเขี้ยวแก้วจำลองจากเมืองแคนดี และพระแก้วมรกตจากหยุนหนาน จากนั้น ทรงปล่อยช้างเผือกที่อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาจากลังกาออกไปเพื่อเสี่ยงทาย พญาช้างเผือกหยุดพำนักที่ตรงไหน ก็สร้างเจดีย์ชเวซีโข่งขึ้น ณ ตำแหน่งนั้น แต่สร้างฐานไปได้ แค่สามชั้น พระเจ้าอโนรธาก็สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อนในปี 1077 พระเจ้าญาณสิทธาจึงสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในปี 1089
พระเจดีย์นี้ประกอบด้วยองค์ระฆังบนฐานทักษิณสามชั้น มีบันไดทอดขึ้นมาจากสี่ทิศ ถัดจากปล้องไฉนขึ้นไปเป็นฉัตรยอด มีเจดีย์บริวารตั้งอยู่ที่สี่มุมของฐานแต่ละชั้น มีแผ่นชาดกประดับอยู่โดยรอบ พระเจดีย์ประธานทำซุ้มสี่เหลี่ยม เป็นวิหารเล็กๆ เอาไว้ทั้งสี่ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนแบบคุปตะ เบื้องซ้าย-ขวา ของซุ้มประตูทางเข้า ด้านทิศตะวันออกมีเสาหินสองต้น แต่ละต้นมีคำจารึกอยู่ทั้งสี่ด้าน บันทึกเรื่องราวการสร้างเจดีย์ในสมัยพระเจ้าญานสิทธา ทุกๆปีช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม จะมีการจัดงานบุญฉลองพระเจดีย์
วัดมนูหะ(ฺีManuha temple)
ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของหมู่บ้านมยินกะบา พระเจ้ามนูหะทรงมีพระประสงค์จะสั่งสมบุญไว้สำหรับชาติภพหน้า จึงนำอัญมณีบางส่วนไปขายเอาเงินมาสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 1059 แต่โครงสร้างวิหารค่อนข้างคับแคบ มีพระนอนหนึ่งองค์กับพระพุทธรูปนั่งอีกสามองค์เบียดเสียดกันอยู่ภายใน สะท้อนความคับแค้นพระทัยของกษัตริย์ชเลยพระองค์นี้ได้เป็นอย่างดี วัดมนูหะแตกต่างจากวัดมอญส่วนใหญ่ตรงที่วิหารสร้างซ้อนกันเป็นสองชั้น แต่ชั้นบนพังลง มาทับพระพุทธรูปในชั้นล่างเพราะแผ่นดินไหวในปี 1975 และเพิ่งมาบูรณะ แล้วเสร็จในปี 1981 ที่มุมด้านหนึ่งของวัดได้ตั้งศาลบูชามหาคีรีนัตเอาไว้ด้วย
ร้านอาหารในเขตพุกาม
No. | RESTAURANT NAME | ADDRESS |
1. | AROMA (Indian Food) RESTAURANT | Tel : 061-60146 Yarkhin Thar Hotel Road, Thiripissaya Toechet (5), Nyaung Oo |
2. | THE BEACH | Tel: 061 60126/ 60456 New Bagan, Myanmar |
3. | SUN SET GARDEN RESTAURANT | Tel : 061-60224/061-60404 New Bagan, Myanmar. |
4. | SI THU RESTAURANT | Tel: 02-67173 New Bagan, Myanmar. |
5. | THARABAR 2 RESTAURANT | Tel : 061-60055 Old Bagan, Myanmar. |
6. | EDEN BBB RESTAURANT | Tel : 061-60068-67 Bagan Nyaung U Main Road, Wet-Gyi-Inn village, Bagan, Myanmar. |
7. | NANDA RESTAURANT | Tel : 061-60096/60790 Bagan Nyaung U Main Road, Wet-Gyi-Inn village, Bagan, Myanmar. |
8. | KEINNAYEE RESTAURANT | Tel : 02-44354 |
9. | AYE YEIK THA YA RESTAURANT | Tel : 061-60422 Bagan – Nyaung U Main Road, Nyaung U, Myanmar. |
10. | AMATA BOUTIQUE HOUSE | Tel : 061 65099 No-25, Thiripyitsaya Quarter , Bagan – Chauk Main Road, New Bagan |
อ้างอิง:วิกีพีเดียสารานุกรมเสรีี์ ,myanmartravelinformation.com,หนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง