อุทยาน แห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ไม่มาก แต่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นและธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา และถ้ำธารลอด ที่นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากการยุบตัวของหินปูน ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำทำให้เขาหินปูนกลายเป็นสะพานธรรมชาติขนาดมหึมา และมีหลักฐานแสดงถึงด้านประวัติ-ศาสตร์เป็นทางเดินทัพของพม่าและกองทัพ ญี่ปุ่น มีเนื้อที่ประมาณ 59 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,875 ไร่ ในปี 2516 กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กส 0708/8531 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2516 ถึงจังหวัดกาญจนบุรี ให้ความเห็นชอบในการสำรวจป่าโครงการทำไม้กระยาเลยหนองรี-ห้วยแม่พลูฝั่งซ้าย (กจ.6) เพื่อกำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2517 กรมป่าไม้ได้จัดตั้งวนอุทยานถ้ำธารลอดขึ้น ต่อมากองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กส 0808/656 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519 ให้นายช่อ พงษ์รุ่งทรัพย์ หัวหน้าวนอุทยานถ้ำธารลอด ทำการสำรวจป่าถ้ำธารลอดเพื่อยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีจุดเด่นและมีธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำธารลอดมีลำห้วยไหลผ่านทะลุภูเขา เกิดเป็นถ้ำที่มีเพดานเป็นรูปโดมขนาดใหญ่สวยงาม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เด่นเป็นพิเศษ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0808 (ถล)/14 ลงวันที่ 7 เมษายน 2519 ตลอดจนมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นทางเดินทัพของพม่าและกองทัพญี่ปุ่น กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2519 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2519 ให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินป่าหนองรีในท้องที่ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 97 ตอนที่ 20 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2523 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 17 ของประเทศ โดยให้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด ต่อมาคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่า ในวาระการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ และการที่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ในอดีตได้ใช้เป็นเส้นทางในการรบ พุ่งกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพพม่า ซึ่งมีหลักฐานปรากฏ เช่น ซากอาวุธโบราณ โครงกระดูกและเครื่องรางของขลังต่างๆ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เคยประทับในสมัยที่มีการรบทัพ จับศึกกับพม่าในเขตจังหวัดกาญจนบุรีอยู่บ่อยครั้ง จึงได้มีมติเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 4/2524 วันที่ 22 ธันวาคม 2524 ว่า สมควรที่จะขอพระราชทานพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ และเป็นสิริมงคลแก่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้สืบไป ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือ ที่ รล 0002/6924 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 ว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอดใหม่ว่า อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์อยู่ในเขตเทือกเขาภาคตะวันตก ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 240-1,257 เมตร ประกอบด้วยเขากำแพง เขาไม้หอม เขาพุช้างหมอบ จุดสูงสุดคือ ยอดเขากำแพงมีความสูงประมาณ 1,260 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของห้วยแม่พลู ห้วยตะกวด ห้วยแม่กระพร้อย และห้วยกระพร้อย
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพ ภูมิอากาศในพื้นที่แห่งนี้ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ทำให้ช่วงนี้มีความชื้นในอากาศสูง มีเมฆมาก ฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,700 มม./ปี ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือน กุมภาพันธ์ สภาพอากาศช่วงนี้หนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ฤดูร้อนจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวัน ออกเฉียงเหนือ มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน
พรรณไม้และสัตว์ป่า
อุทยาน แห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่คงความ สมบูรณ์ตามธรรมชาติ สามารถจำแนกประเภทแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ในบริเวณที่เป็นสังคมพืชป่าดิบเขา พบบริเวณแนวเขาและยอดเขากำแพงที่ระดับความสูงประมาณ 1,000-1,257 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ทะโล้ มะแฟน อบเชย กำยาน พญาไม้ หว้าเขา มะไฟ ตอง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หนามเค็ด เจ็ดช้างสาร เข็ม เร่ว กระวาน ผักกูด กูดห้อม หญ้าข้าวป่า และหญ้าคมบางเขา เป็นต้น ไม้เถาได้แก่ กระจับเขา จิงจ้อน้อย เมื่อย ข้าวเย็นเหนือ หวาย เป็นต้น และพืชอิงอาศัยที่พบได้แก่ กะเรกะร่อน เอื้องเข็ม ช้าง เอื้องกุหลาบ เป็นต้น สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ประจำได้แก่ ลิงกัง หมีหมา หมาไม้ พญากระรอกดำ เลียงผา นกแก๊ก นกกก และนกพญาไฟ ในบริเวณหุบเขาที่มีหน้าดินลึก มีความชื้นสูง เช่น หุบเขาริมห้วยแม่พลู ห้วยแม่กระพร้อย ห้วยกระพร้อย และรอบยอดเขากำแพง ถัดจากป่าดิบเขาลงมาตั้งแต่ระดับความสูง 200 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถูกปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ซึ่งมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางนา ยางแดง พระเจ้าห้าพระองค์ ปออีเก้ง ตาเสือ ข่อยหนาม ชมพูป่า ตาว ตะเคียนทอง ยมหิน ฯลฯ พืชอิงอาศัยเป็นกล้วยไม้ในสกุลหวาย สกุลช้าง กระแตไต่ไม้ นมเมีย ไข่มุก ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา และจุก โหรินี เป็นต้น ไม้เถาได้แก่ กระไดลิง สะบ้าลิง หวายขม สะแกเครือ หนามขี้แรด และสะแกวัลย์ เป็นต้น และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ เข็มดอกใหญ่ หัสคุณ กะตังใบ กระดูกค่าง เปราะหอม เร่ว ผักหนาม กล้วยป่า โจด แขม และหญ้าเทียน เป็นต้น เนื่องจากสภาพเรือนยอดของป่าประเภทนี้เรียงตัวต่อเนื่องชิดกัน ทำให้มีความชุ่มชื้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ชะนีมือขาว ลิงกัง พญากระรอกดำ นกกก นกเขาใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า บริเวณพื้นป่าซึ่งเป็นที่ลุ่มหรือใกล้ร่องน้ำ หมูป่า และกวางป่า ใช้เป็นแหล่งปลักโคลนสำหรับนอนแช่ปลัก สังคมพืชป่าเบญจพรรณพบปกคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุด ตั้งแต่ระดับความสูง 300-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ระหว่างป่าดิบแล้งกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เสลา รกฟ้า แดง ชิงชัน กระบก ประดูป่า แคทราย งิ้วป่า เปล้าหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่ซาง ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่ผาก เข็ม กระตังใบ หนามเค็ด หัวกลัก เปราะป่า หนวดฤาษี เป็นต้น เถาวัลย์และพืชอิงอาศัยที่พบได้แก่ หนามขี้แรด หนามเกี่ยวไก่ กล้วยไม้สกุลเข็ม กะเรกะร่อน หวาย และช้าง เป็นต้น สัตว์ป่าที่ใช้ประโยชน์ป่าเบญจพรรณเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารได้แก่ ช้างป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง เม่นเล็กหางพอง เม่นใหญ่ กระต่ายป่า ไก่ป่า ไกฟ้าหลังเทา และนกหัวขวานชนิดต่างๆ เป็นต้น สังคมพืชป่าเต็งรังมีพื้นที่น้อยที่สุดในอุทยานแห่งชาติ ปรากฏกระจายเป็นหย่อมๆ ตามบริเวณยอดเขาล้อมรอบด้วยป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 600-1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พะยอม เหียง พลวง มะขามป้อม พืชพื้นล่างได้แก่ ติ้วขาว เป้ง ปรง กระเจียว เปราะ ตาเป็ดตาไก่ เครือออน หญ้าเพ็ก และหญ้าคมบางเขา เป็นต้น ในบริเวณถ้ำธารลอดน้อยและถ้ำธารลอดใหญ่มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ เช่น นกเอี้ยงถ้ำ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ จงโคร่ง งูทางมะพร้าวลายขีด ผึ้งหลวง และลำธารที่ไหลลอดผ่านถ้ำมีปลาในกลุ่มปลาสร้อยเช่น ปลาซิว ปลาจาด ปลาซิวควายแถบดำ รวมไปถึงกุ้ง อาศัยอยู่อย่างชุกชุม ในบริเวณพื้นที่ส่วนที่เปิดโล่งติดกับป่าจะพบนกกระแตแต้แว้ด นกกระปูดใหญ่ และกบหนอง ส่วนในบริเวณพื้นที่ที่ใกล้กับหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรกรรมจะพบ กวางป่า เก้ง หมูป่า นกปรอดหัวสีเขม่า นกอีเสือสีน้ำตาล นกตะขาบทุ่ง กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน คางคกบ้าน เป็นต้น
จาก ตัวเมืองออกไปทางถนนสายกาญจนบุรี-เขื่อนศรีนครินทร์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3199) เป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่ตลาดอำเภอลาดหญ้าไปทางอำเภอบ่อพลอย ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3086 (ถนนสายกาญจนบุรี-บ่อพลอย-ด่านช้าง) อีกประมาณ 68 กิโลเมตร ถึงหนองปรือ แล้วเลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ถ้ำธารลอดอีก 22 กิโลเมตร รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 234 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ใน พีนที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสิทร์ มีหลักฐานที่น่าสนใจกล่าวคือ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้อยู่ในเส้นทางที่กองทัพพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยา พบซากอาวุธโบราณ โครงกระดูก เครื่องรางของขลังอยู่กระจายทั่วไป และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นก็ได้เดินทัพผ่านบริเวณนี้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจดังนี้
ถ้ำธารลอดน้อย อยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 100 เมตร ตัวถ้ำจะมีความยาวประมาณ 300 เมตร ปากถ้ำกว้างประมาณ 25 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร มีธารน้ำไหลลอดใต้ถ้ำ ทำให้บรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย อุทยานแห่งชาติได้จัดทำระบบไฟฟ้าสำหรับส่องสว่างและทางเดินลัดเลาะไปตาม ลำห้วยในถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยปรากฏเป็นรูปต่างๆ ยามเมื่อกระทบกับแสงไฟจะส่องประกายระยิบระยับงามจับตามาก โดยเฉพาะบริเวณกลางโถงถ้ำ ผนังถ้ำด้านขวามือเป็นหินปูนฉาบลักษณะคล้ายน้ำตก สวยงามมาก ภายในถ้ำยังมี หมาน้ำ หรือเขียดว้าก ซึ่งส่งเสียงร้องคล้ายสุนัข เมื่อเดินทะลุถ้ำธารลอดน้อยแล้ว จะพบกับสภาพป่าที่ร่มรื่น และมีทางเดินต่อไปถ้ำธารลอดใหญ่ ซึ่งมีระยะทางอีกประมาณ 2,200 เมตร
ถ้ำธารลอดใหญ่ ถ้ำ ธารลอดใหญ่มีลักษณะคล้ายสะพานหินธรรมชาติ มีความกว้าง 60 เมตร ตัวถ้ำด้านล่างยาว 60 เมตร กว้าง 40 เมตร และสูง 40 เมตร บนเพดานถ้ำมีโพรงขนาดใหญ่ที่แสงแดดส่องลอดเข้ามาในถ้ำได้ ทำให้ภายในถ้ำสว่างและมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ตามพื้นถ้ำ ที่ฟากหนึ่งของผนังถ้ำมีภาพเขียนสีรูปพญานาค ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพญานาค นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานปรากฏว่าบริเวณนี้เป็นที่ฝังศพของมนุษย์โบราณ จากการค้นพบโครงกระดูกเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนำไปจัดไว้ให้ชมที่พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณ โครงการพระราชดำริห้วยองคต อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี การเดินทางไปถ้ำธารลอดใหญ่ สามารถเดินเท้าจากถ้ำธารลอดน้อย ซึ่งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ไปตามทางเดินก็จะถึงถ้ำธารลอดใหญ่ ระยะทางประมาณ 2,200 เมตร เส้นทางบางช่วงต้องไต่เขาสูงชัน โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านน้ำตกไตรตรึงษ์ นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปถ้ำธารลอดใหญ่โดยทางรถยนต์ จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางบ้านท่าลำไย ประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวไปวัดถ้ำธารลอดใหญ่อีก 18 กิโลเมตร เป็นเส้นทางขึ้นเขาคดเคี้ยว นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยเส้นทางควรขับรถด้วยความระมัดระวัง
น้ำตกไตรตรึงษ์ อยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดินสู่ถ้ำธารลอดใหญ่ซึ่งจะผ่านป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ไปจนถึงน้ำตกไตรตรึงษ์ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น จากน้ำตกชั้นล่างต้องเดินไต่ลัดเลาะไปตามหน้าผาริมน้ำตกจนถึงชั้นบนสุด
น้ำตกธารเงิน-ธารทอง เป็น สองน้ำตกที่อยู่ใกล้กัน มีน้ำมากเฉพาะในช่วงหน้าฝน ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร น้ำตกธารเงินเป็นน้ำตกสูงถึง 7 ชั้น ที่สวยงามมาก แต่ละชั้นจะมีชื่อต่างกัน เช่น เกล็ดเงิน ประกายเงิน อ่างเงิน เป็นต้น
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
เวทีกลางแจ้ง