อุทยาน แห่งชาติดอยภูคามีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ 8 อำเภอของจังหวัดน่าน ได้แก่ อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และ อำเภอแม่จริม ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 1,704 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,065,000 ไร่ จึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่าอันจะเห็นได้จากการพบพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน โดยมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจคือ ดอกชมพูภูคาซึ่งเป็นพันธ์ไม้หายากและมีที่แห่งนี้ที่เดียวในประเทศไทย ต้นเต่าร้างยักษ์ ป่าดึกดำบรรพ์ น้ำตกภูฟ้า พิชิตยอดดอยภูแว ชมถ้ำยอดวิมาน และถ้ำผาฆ้อง ความเป็นมา : ด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน (นายสมชาย โลหะโซติ ) ได้มีหนังสือ ที่ 13/2526 ลงวันที่ 24 กันยายน 2526 เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายณรงค์ วงศ์วรรณ) ว่าได้รับการร้องขอจากราษฎร ขอให้กำหนดป่าดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากยอดดอยภูคาเป็นยอดเขาสูงสุด ของจังหวัดน่านอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด โดยมีความสูงถึง 1,980 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน มีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการเล่าขานกันมาแต่ครั้งโบราณและเชื่อมั่นว่าเมืองเก่าของ บรรพบุรุษคนเมืองน่านอยู่ในเขตบนเทือกเขาดอยภูคา ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้มีหนังสือ ที่ กห 0483 (สน)/95 ลงวันที่ 27 มกราคม 2527 แจ้งว่าได้พบสภาพพื้นที่ป่าบริเวณบ้านปู จังหวัดน่าน พิกัดเส้นตรง 18-35 และเส้นราบ 07-70 ตามแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มีความอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม และพื้นที่บริเวณพิกัด คิว เอ 2686 มีน้ำตกที่มีความสวยงามขนาดใหญ่สมควรที่จะได้มีการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ (เดิม) ได้มีคำสั่งที่ 1786/2526 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 ให้นายปัญญา ปรีดีสนิท นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นดังกล่าว ปรากฏว่าสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และมีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่ง ที่ 1641/2528 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2528 ให้ นายวันชัย ปานเกษม เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 มาดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(ภค)/28 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2530 ปรากฏว่าป่าพื้นที่ดอยภูคาและบริเวณใกล้เคียงมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้นำเรื่องการจัดการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาเสนอในการ ประชุมผู้อำนวยการกองในสังกัดกรมป่าไม้ ครั้งที่ 12/2531 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2531 ได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติดอยภูคาต่อไป กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2531 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2531 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดอยภูคาเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีพระ ราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าดอยภูคา ป่าผาแดง ป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ ป่าน้ำว้า และป่าแม่จริม ในท้องที่ตำบลห้วยโก๋น ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตำบลปอน ตำบลงอบ และตำบลทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง ตำบลภูคา ตำบลศิลาเพชร ตำบลอวน อำเภอปัว ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ ตำบลยม อำเภอท่าวังผา ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข และตำบลแม่จริม ตำบลหนองแดง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48ก ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2542 มีเนื้อที่ประมาณ 1,065,000 ไร่ หรือ 1,704 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน พื้นที่ราบอยู่ตามบริเวณโดยรอบ มียอดดอยภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน จังหวัดน่าน โดยมีความสูง 1,980 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ปัจจุบันยอดดอยภูคา มีความสูง 1,910 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะทั่วไปเป็นภูเขาหิน และหินปนทราย โดยในพื้นที่ป่าแห่งนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารชั้น 1 A อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่านและแม่น้ำลำธารสาขาหลายสาย
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีสภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพ ป่าอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และยังมีป่าสนเขากลุ่มเล็กๆ อยู่บริเวณทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ใกล้กับดอยภูหวด นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าปกคลุมบนภูเขาเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นผลจากการแผ้วถางป่าของชาวบ้านเมื่อก่อนที่จะมีการประกาศให้ดอยภูคา เป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ ยาง ตะเคียน จำปีป่า ประดู่ แดง สัก เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม รวมทั้งปาล์มขนาดใหญ่ หวาย ผักกูด ไผ่ และหญ้าเพ็ก เป็นต้น พันธุ์ไม้หายาก เช่น ชมพูภูคา ก่วมภูคา จำปีป่า ไข่นกคุ้ม ค้อเชียงดาว โลดทะนงเหลือง ขาวละมุน เทียนดอย เสี้ยวเครือ มะลิหลวง สาสี่หนุ่ม เหลืองละมุน ประทัดน้อยภูคา กระโถนพระฤาษี กุหลาบแดง กุหลาบขาวเชียงดาว พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่น ได้แก่ เต่าร้างยักษ์ หมักอินทร์ คัดเค้าภูคา ประดับหินดาว หญ้าแพรกหิน นมตำเลีย และรางจืดต้นภูคา สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่มีอย่างชุกชุม ได้แก่ ช้างป่า วัวแดง กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า เลียงผา ลิง ชะนี ค่าง หมี อีเห็น กระจง นาก ไก่ป่า ไก่ฟ้า เหยี่ยวรุ้ง นกมูม นกพญาไฟใหญ่ ฯลฯ มีนกหายาก 2 ชนิด ซึ่งพบที่ดอยภูคา ได้แก่ นกมุ่นรกคอแดง (Rufous-throated Fulvetta) และนกพงใหญ่พันธุ์อินเดีย (Clamorous Reed-Warbler)
จาก อำเภอเมืองน่านอำเภอปัว ใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 1080 เป็นถนนลาดยาง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากอำเภอปัว - ที่ทำการอุทายานแห่งชาติดอยภูคา ตามทางหลวงหมายเลข 1256 (เส้นทางสายอำเภอปัว - อำเภอบ่อเกลือ) สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยาง ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ระยะทางโดยส่วนใหญ่จะโค้งลาดชันเพราะสภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเป็นภูเขา สูง นักท่องเที่ยวควรใช้ความระมัดระวังในการขับขี่รถยนต์
โดยสารรถประจำทางสายปัว-บ่อเกลือ
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
อุทยาน แห่งชาติดอยภูคา มีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งมีทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะยอดดอยภูคา มีเมฆปกคลุมตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก มีน้ำตกที่น่าสนใจมากมาย เช่น น้ำตกต้นตอง น้ำตกภูฟ้า น้ำตกตาดหลวง น้ำตกวังเปียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวและจุดเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้
ชมต้นชมพูภูคา จุด ที่สามารถชมต้นชมพูภูคาได้สะดวกที่สุดอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 (บัว-บ่อเกลือ) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาประมาณ 4 กิโลเมตร โดยทางอุทยานแห่งชาติจัดทำเป็นระเบียงไม้ยื่นออกไปให้ยืนชมต้นชมพูภูคาที่ ยืนต้นสูงขึ้นมาจากหุบเขา ต้นชมพูภูคาต้นนี้เป็นต้นเดียวกับที่ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤษศาสตร์ พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532 ฤดูกาลที่เหมาะสมแก่การมาชมต้นชมพูภูคา คือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งต้นชมพูภูคาจะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่ง
ดอยภูแว เป็น ดอยสูงชัน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าและมีลานหินกระจายอยู่หลายแห่ง เช่น ผาแอ่น ผาผึ้ง เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวเป็นที่นิยมเดินขึ้นยอดดอยภูแวเพื่อชมบรรยากาศยามดวง อาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่ปกคลุมไปทั่วหุบเขา ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 3 วัน 2 คืน จุดเริ่มต้นการเดินเท้าอยู่ที่บ้านด่าน อำเภอบ่อเกลือ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 50 กิโลเมตร ผู้สนใจต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทางที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ถ้ำผาฆ้อง เป็น ถ้ำขนาดกลางซึ่งประกอบด้วยคูหาถ้ำจำนวนมากที่ต่อเนื่องถึงกัน แต่ละคูหามีหินงอกหินย้อยรูปลักษณ์ต่างๆ สวยงาม ในช่วงฤดูฝนถ้ำผาฆ้องจะมีสายน้ำไหลผ่าน จึงไม่สามารถเข้าไปเที่ยวได้ ผู้สนใจชมถ้ำผาฆ้องต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทางและเตรียมไฟฉายไปด้วย จุดเริ่มต้นเดินเท้าไปถ้ำผาฆ้องอยู่ที่บ้านป่าไร่ ซึ่งอยู่ในอำเภอปัว ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 บริเวณ กม. ที่ 18 ระยะทางเดินประมาณ 3.5 กิโลเมตร
ธารน้ำลอด ชาว บ้านเรียกว่า น้ำออกรู เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มหัศจรรย์มาก ภายในถ้ำใต้ภูเขาจะมีลำธารน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ภูเขา แล้วไหลออกปากถ้ำไป มีเสียงดังสนั่นเสมือนเสียงน้ำตก และผนังถ้ำจะมีรูเข้าไปมีลักษณะเป็นห้วยลำธารมีน้ำไหลออกมา ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
น้ำตกต้นตอง เป็น น้ำตกหินปูนที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น มีความสูงรวมกันประมาณ 60 เมตร สภาพรอบน้ำตกรุ่นรื่นเหมาะแก่การเล่นน้ำและเที่ยวพักผ่อน น้ำตกตั้งอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทางเดินจากถนนเข้าไปถึงตัวน้ำตกระยะทางเพียง 400 เมตร
น้ำตกตาดหลวง น้ำตกตาดหลวงอยู่ในพื้นที่ อำเภอปัว ตำบลอวน ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ภค. 7 (น้ำอวน) ประมาณ 3 กิโลเมตร
น้ำตกภูฟ้า เป็น น้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 140 เมตร สายน้ำไหลลดหลั่นลงมาอย่างงดงามเป็นจำนวนถึง 12 ชั้น น้ำตกตั้งอยู่ท่ามกลางป่าดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตลอดปี แม้ว่าจะเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในพื้นที่ แต่ต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 3 วัน ผู้สนใจการเดินป่าตามเส้นทางสายนี้ ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
น้ำตกวังเปียน น้ำตก วังเปียน อยู่ในพื้นที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตำบลห้วยโก๋น ห่างจากหน่วพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติ ที่ ภค.1 (ห้วยโก๋น) ประมาณ 7 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าไปอีก 5 เมตร
น้ำตกศิลาเพชร เป็น น้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ทางตอนกลางของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา น้ำตกมี 3 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 ถึงหมู่บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว แล้วแยกจากทางหลวงเข้าสู่น้ำตก ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สภาพทางสะดวก
ป่าปาล์มดึกดำบรรพ์ เป็น ป่าปาล์มขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีพื้นที่เฉพาะรอบๆ ดอยภูแว ไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ ลักษณะเป็นป่าปาล์มธรรมชาติดงดิบ แทบจะไม่มีพันธุ์ไม้อื่นใดปะปน ชาวเขาเผ่าแม้วเรียก ปาล์มชนิดนี้ว่า ต้นจิ๊ก ไส้ในของลำต้นที่อ่อนใช้ประกอบอาหารรับประทานแทนข้าวได้
สุสานหอย 218 ล้านปี เป็นสุสานหอยแครงซึ่งเป็นหอยทะเล อายุเก่าแก่ถึง 218 ล้านปี
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะ ทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติและบริเวณที่กางเต็นท์ เส้นทางจะขึ้นเขา ผ่านป่าที่กำลังฟื้นสภาพจากการถูกบุกรุกทำลายในอดีต จากนั้นจึงเข้าสู่ป่าดิบเขาที่มีไม้ใหญ่ร่มครึ้มและสภาพป่าชุ่มชื้น เมื่อผ่านดงกล้วยป่าแล้วจะพบทางเดินลงไปชมจุดเด่นของเส้นทางนี้คือ ต้นชมพูภูคา ไม่ไกลจากต้นชมพูภูคาจะพบต้นเต่าร้างยักษ์ (Caryota sp.) ซึ่งเป็นปาล์มหายากและใกล้สูญพันธุ์ ลำต้นมีขนาดสูงใหญ่กว่าต้นเต่าร้างทั่วไป เมื่อโตเต็มที่จะสูง 8-12 เมตร ต้นเต่าร้างยักษ์มักขึ้นตามไหล่เขา ที่ลาดชัน และตามหน้าผาในป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,500-1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดอยภูคาเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่พบต้นเต่าร้างยักษ์สำหรับใน พื้นที่อื่น คาดว่าจะมีต้นเต่าร้างยักษ์อยู่ในป่าดิบเขาบนทิวเขาหลวงพระบางในฝั่งประเทศ ลาว
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.