ลักษณะภูมิประเทศ
ประกอบ ด้วยพื้นที่ภาคพื้นดินบนชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเขาอ่าวน้ำเมา และป่าอ่าวนาง-หางนาค และหมู่เกาะต่างๆ ธรณีสัณฐานของพื้นที่เป็นเทือกเขามีความสูงชันเรียงตัวยาวไปตามแนวทิศตะวัน ตกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณชายฝั่งเป็นเขาสูงชัน ทางด้านตะวันตกมีความลาดชันมากกว่าตะวันออก ธรณีสัณฐานของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากแนวการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เรียกว่า Indosenia Teotonic Movement และในบริเวณป่าชายเลนเขาหางนาค ริมฝั่งทะเลมีลำคลองเขากลม ได้รับน้ำจืดที่ระบายมาจากบึงขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า "หนองทะเล" ทำให้เกิดสภาพป่าชายเลน และที่ราบต่ำป่าเสม็ดบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ที่เรียกว่า "คลองแห้ง" (หาดนพรัตน์ธารา)
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยาน แห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้รับอิทธิพลลมมรสุมเขตร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนตุลาคม มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน ลักษณะภูมิอากาศจึงแบ่งออกเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝน จากต้นเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม และฤดูร้อนจากต้นเดือนมกราคม-เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 17-37 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนในรอบปีเฉลี่ยประมาณ 2,231 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม และน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สำหรับพรรณไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติสามารถจำแนกออกได้เป็น ป่าดงดิบ ปรากฏพบบริเวณที่เป็นเขาสูงชัน บริเวณเขาหางนาค บริเวณเขาอ่าวนาง บริเวณทิศตะวันตกของเกาะพีพีดอน และบริเวณเกาะพีพีเลส่วนใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร เป็นไม้แคระแกร็นเนื่องจากพื้นที่เป็นเขาหินปูนซึ่งมีชั้นดินบางและรับลมแรง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง ยาง พะยอม และพืชชั้นล่างพวกจันทน์ผา หวาย ไทร และเถาวัลย์ชนิดต่างๆ ป่าชายเลน มีอยู่ในบริเวณคลองแห้ง ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาหางนาค และบริเวณคลองย่านสะบ้า ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบริเวณสุลานหอย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โกงกาง แสม ตะบูน ถั่วดำ ถั่วขาว ป่าพรุ เป็นสังคมพืชเด่นที่พบต้นเสม็ดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นสมบูรณ์ ปรากฏอยู่เฉพาะบริเวณหาดนพรัตน์ธาราเป็นบริเวณแคบๆ ประมาณ 0.32 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นหาดทรายผสมดินร่วนได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหรือเป็น พื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึงมาก่อน พันธุ์พืชที่พบนอกจากเสม็ดขาวที่ขึ้นอยู่หนาแน่นแล้วได้แก่ พะยอม หว้าหิน นน เนียน และหญ้าคา นอกจากนี้ในบริเวณอ่าวนางยังสำรวจพบหญ้าทะเล 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบสั้นสีน้ำตาล หญ้าผมนาง หญ้าใบมะกรูด และหญ้าเต่า จากสภาพภูมิอากาศและสังคมพืชที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติทำให้เป็น ถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมแก่สัตว์บางประเภท สามารถจำแนกออกได้ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า กระจง ลิง ค่าง โลมาหัวขวด โลมาหัวขวดมลายู โลมาหัวบาตร โลมาจุด และโลมาขาว นก ประกอบด้วย นกโจรสลัด เหยี่ยวแดง นกออก นกนางแอ่นกินรัง นกนางนวล สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าตนุ เต่ากระ เต่าสังกะสี ตะพาบหัวกบ ตุ๊กแก จิ้งจก จิ้งเหลน กิ้งก่า งูชนิดต่างๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ คางคก อึ่งอ่าง กบ เขียด และปาด นอกจากนี้ทรัพยากรในท้องทะเลยังประกอบด้วย ปลากระเบน ปลากระโทงแทง ปลาเก๋า ปลากะรังลายขนนก ปลากะพง ปลามง ปลาไหลทะเล ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลานกขุนทอง หอยมือหมี หอยนางรม กุ้ง ปลิงทะเล ดาวทะเล หอยเม่น แมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล และปะการัง เช่น ปะการังหนาม ปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกไม้ ปะการังเขากวาง ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังผิวถ้วยเคลือบ ปะการังดอกไม้แปลง ปะการังเห็ด ปะการังผักกาด ปะการังอ่อน เป็นต้น
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ รวมระยะทางประมาณ 946 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถึงจังหวัดชุมพร ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอไชยา เข้าอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4035 ผ่านอำเภออ่าวลึก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 อีกครั้ง เข้าสู่จังหวัดกระบี่ รวมระยะทางประมาณ 814 กิโลเมตร จากจังหวัดกระบี่ ไปตามถนนสายในเมือง-ในสระ ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตรจากตัวเมืองกระบี่ถึงหาดนพรัตน์ธาราฯ จากนั้นใช้เส้นทางเลียบชายทะเลที่เชื่อมระหว่างหาดนพรัตน์ธาราฯ และหาดบ้านอ่าวนางไปทางทิศใต้ ระยะทาง 6 กิโลเมตร สำหรับไปชมอ่าวพระนางต้องนั่งเรือประมาณ 20 นาที และจากหาดนพรัตน์ธาราฯ มีทางแยกไปสุสานหอย 75 ล้านปี ระยะทาง 11 กิโลเมตร
จาก ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ มาลงที่สนามบินจังหวัดกระบี่ จะมีแท็กซี่หรือรถประจำทางให้บริการ แต่ต้องมาขึ้นรถที่หน้าสนามบิน โดยแท็กซี่จะส่งถึงที่ ส่วนราคาก็แล้วแต่จะตกลงราคากัน สำหรับรถประจำทางต้องมาลงที่ในเมืองก่อน จากนั้นจึงต่อรถประจำทางสายกระบี่ - อ่าวนาง ก็จะถึงที่ทำการและที่พักอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่บริเวณหาดนพรัตน์ธารา-หมู่ เกาะพีพี (ผ่านอ่าวนาง)
จาก จังหวัดกระบี่ มีเรือโดยสารที่ท่าเรือเจ้าฟ้า หรือที่ท่าเรืออ่าวพระนาง ระยะทาง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 - 2.00 ชั่วโมง การเดินทางโดยเรือจากจังหวัดภูเก็ต ก็มีระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร หรือจะโดยสารเรือที่ท่าเรือฉลอง อ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 - 2.00 ชั่วโมง ก็ได้เช่นกัน สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปตามเกาะต่างๆ มีเรือของภาคเอกชนให้บริการดังนี้ 1. เดินทางไปเกาะพีพี ขึ้นเรือที่ท่าเรือคลองแห้ง ซึ่งอยู่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีบริการวันละ 1 เที่ยว ออกเวลา 09.00 น. กลับเวลา 15.00 น. ซึ่งมีเรือให้เลือก 2 แบบ คือ 1) แบบเรือทัวร์ ค่าโดยสาร คนละ 1,200 บาท มีอาหารมื้อเที่ยง น้ำ ผลไม้ ให้บริการ มีกิจกรรมเล่นน้ำ ดูปะการังด้วย และ 2) แบบเรือโดยสาร ค่าโดยสาร คนละ 700 บาท ไม่มีบริการอะไร 2. เดินทางไปท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง จะมีเรือหางยาวบริการ ซึ่งจอดอยู่ทั่วไปบริเวณอ่าวนาง คิดราคาค่าบริการแบบเหมา 1) เหมาเต็มวันคิดราคา 2,000 บาท เหมาครึ่งวันคิดราคา 1,500 บาท เรือลำหนึ่งสามารถนั่งได้ไม่เกิน 8 คน มีเสื้อชูชีพให้ใส่ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ข้อมูลราคาค่าโดยสาร : เดือนกันยายน 2549
จาก สถานีรถไฟกรุงเทพฯ มาลงได้ทั้งที่สถานีรถไฟ จังหวัดตรัง สถานีรถไฟพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือสถานีรถไฟทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นต่อรถโดยสารเข้าจังหวัดกระบี่ ต่อรถประจำทางสายกระบี่ - อ่าวนาง ก็จะถึงที่ทำการและที่พักอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่บริเวณหาดนพรัตน์ธารา-หมู่ เกาะพีพี (ผ่านอ่าวนาง)
การ เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สามารถติดต่อซื้อตั๋วได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ มีบริษัทเดินรถ 2 บริษัท คือบริษัทขนส่ง จำกัด และบริษัทลิกไนท์ทัวร์ ลงที่ตัวตัวหวัดกระบี่ จากนั้นจึงต่อรถประจำทางสายกระบี่ - อ่าวนาง ก็จะถึงที่ทำการและที่พักอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่บริเวณหาดนพรัตน์ธารา-หมู่ เกาะพีพี (ผ่านอ่าวนาง)
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ถ้ำไวกิ้ง อยู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะพีพีเล ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสถ้ำแห่งนี้ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า ถ้ำพญานาค ตามรูปร่างหินก้อนหนึ่งที่คล้ายเศียรพญานาค อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านที่เก็บรังนกนางแอ่นบนเกาะแห่งนี้ ภายในถ้ำทางทิศตะวันออกและทิศใต้พบภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์ เป็นรูปช้าง และรูปเรือชนิดต่างๆ
เกาะพีพีดอน มี พื้นที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร ทางเหนือของเกาะคือ แหลมตง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวเล ประมาณ 15-20 ครอบครัว ส่วนใหญ่อพยพมาจากเกาะลิเป๊ะ จังหวัดสตูล บริเวณแหลมตงนี้ธรรมชาติใต้ทะเลสวยงามมาก เหมาะแก่การดำน้ำเช่นเดียวกันกับที่บริเวณปลายแหลมหัวระเกด หาดยาว และหินแพ นอกจากนี้ยังมีเวิ้งอ่าวคู่ที่มีความสวยงาม ติดอันดับโลกของอ่าวต้นไทร และอ่าวโละดาลัม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่พักจำนวนมาก บริการแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป
เกาะพีพีเล มี พื้นที่เพียง 6.6 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะเขาหินปูน มีหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับพื้นผิวทะเลโดยรอบเกือบทั้งเกาะ มีพื้นน้ำลึกเฉลี่ยประมาณ 20 เมตร เกาะแห่งนี้มีเวิ้งอ่าวสวยงาม อาทิ อ่าวปิเละ อ่าวมาหยา และอ่าวโละซะมะ
เกาะไม้ไผ่ ตั้ง อยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอนไม่ไกลจากเกาะยูงเท่าใดนัก ด้านทิศเหนือและ ทิศตะวันออก มีหาดทรายสวยงามและแนวปะการัง ซึ่งส่วนมากเป็นแนวปะการังเขากวางทอดยาวไปถึงทางทิศใต้ของตัวเกาะ
เกาะยูง ตั้ง อยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอน มีชายหาดซึ่งเป็นหาดหินอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และมีหาดทรายเล็กน้อยตามหลืบเขา นอกจากนี้ยังมีแนวปะการังสวยงามชนิดต่างๆ ที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์
สุสานหอย บริเวณ ชายทะเลบ้านแหลมโพธิ์ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีซากดึกดำบรรพ์ของหอยน้ำจืดชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหอยขม มีขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซากหอยเหล่านี้ได้ทับถมกันโดยมีน้ำประสานธาตุปูนจับตัวให้กลายเป็นหินแข็ง ทับอยู่ชั้นหินลิกไนท์ และหินดินดาน นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก ช่วงแรกประมาณกันว่าสุสานหอยแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 75 ล้านปีมาแล้ว ต่อมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการค้นพบหลักฐานด้านธรณีวิทยามีมากขึ้น จึงกำหนดอายุของสุสานหอยใหม่เหลือประมาณ 40-20 ล้านปี
หมู่เกาะปอดะ อยู่ ทางทิศใต้ของอ่าวพระนาง ห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมไม่มากนัก เมื่อมองจากชายฝั่งจะเห็นทรายขาวได้แต่ไกล บริเวณรอบๆ เกาะจะมีแนวปะการังหลากหลายชนิด น้ำทะเลใสสะอาด ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่น่าสนใจที่สามารถแวะมาเที่ยวชมเกือบ ตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปรากฎการณ์ในช่วงน้ำลงบริเวณเกาะทับ เกาะหม้อ และเกาะไก่ จะเชื่อมต่อกันโดยแนวทราย ทำให้เกิดทัศนยภาพที่สวยงาม ดูแปลกตา เรียกว่า ทะเลแหวก ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
หาดนพรัตน์ธารา เดิม ชาวบ้านเรียกว่า "หาดคลองแห้ง" เพราะช่วงน้ำลง น้ำคลองที่ไหลมาจากภูเขาทางด้านเหนือจะแห้งขอด กลายเป็นหาดทรายขาวเหยียดทอดลงไปในทะเลบรรจบกับเกาะเขาปากคลอง บริเวณหาดเป็นทรายละเอียดปะปนด้วยเปลือกหอยเล็กๆ ประดับด้วยทิวสนเรียงรายตามชายหาดทะเล มองออกไปในพื้นน้ำมีทิวทัศน์ของเกาะแก่ง ช่วงน้ำลงจนแห้งสามารถเดินไปยังเกาะเล็กๆ บริเวณหน้าชายหาดได้ เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หาดนพรัตน์ธารายังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยชักตีนที่ใหญ่ที่สุด แห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากจังหวัดกระบี่ เพียง 17 กิโลเมตร เท่านั้น
อ่าวนาง ใน บริเวณอ่าวเต็มไปด้วยเกาะแก่งมีทิวทัศน์โดยรอบสวยงามแปลกตากว่าหาดอื่นๆ เพราะด้านหนึ่งของอ่าวเป็นภูเขา มีถ้ำหินงอก หินย้อย เรียกว่า ถ้ำพระนาง ภายในถ้ำจะเป็นหินงอก หินย้อย สลับซับซ้อนเป็นชั้นๆ และมีหาดทรายที่สวยงาม ได้แก่ หาดไร่เลย์ หาดถ้ำพระนาง หาดน้ำเมา ซึ่งหาดทั้ง 3 แห่งนี้ ไม่สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้เนื่องจากมีภูเขากั้น การเดินทางเข้าถึงต้องเช่าเรือจากอ่าวนาง นอกจากนี้บริเวณหน้าอ่าวนางยังมีเกาะน้อยใหญ่ คือ เกาะไก่ เกาะหม้อ และเกาะปอดะ ซึ่งมีรูปร่างแตกต่างกันไป แล้วแต่มุมมองหรือจินตนาการของผู้พบเห็น ที่ผ่านมาบางคนก็เห็นว่าเหมือนหัวไก่ รองเท้าบู๊ท และเรือสำเภา แล้วท่านจะไม่ลองใช้จินตนาการของท่านบ้างหรือ ?
เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหงอนนาค เขา หงอนนาค เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 3,700 เมตร ซึ่งมีปลายทางเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม คือ จุดชมทิวทัศน์หงอนนาค บริเวณนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้กว้างไกล เหมาะสมสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติอย่างแท้จริง
ที่พักแรม/บ้านพัก อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมบ้านพักไว้ให้บริการในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหาดนพรัตน์ธารา 2 แห่ง รองรับได้ 600 คน และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พพ.3 (เกาะไม้ไผ่) 1 แห่ง การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง หากต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ อัตราค่าบริการสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์เพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายของที่ระลึก จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริเวณหาดอ่าวนาง อ่าวไร่เลย์ หาดนพรัตน์ธารา สุสานหอย และเกาะพีพีดอน
ท่าเรือ/ท่าเทียบเรือ ท่าเทียบเรือ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บริเวณอ่าวพระนาง อ่าวไร่เลย์ เกาะกวาง คลองยิงเสือ คลองสน หาดคลองม่วง และอ่าวน้ำเมา
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยาน แห่งชาติได้จัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งให้บริการข้อมูลข่าวสาร มีการจัดนิทรรศการสำหรับนักท่องเที่ยว ที่นอกจากจะได้สัมผัสกับธรรมชาติในวันหยุดแล้วยังได้รับความรู้อีกด้วย 4 แห่งในบริเวณ