อุทยาน แห่งชาติหาดวนกร ชายหาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ทอดตัวเป็นแนวยาวลงไปในทะเล ทิวทัศน์ที่เงียบสงบ หาดทรายขาวสะอาด บนฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวขนานกับทะเล มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 23,750 ไร่ หรือ 38 ตารางกิโลเมตร ในเขตตำบลห้วยทราย ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ปลูกขึ้นใหม่ได้แก่ สนทะเล สนประดิพัทธ์ สะเดา เป็นต้น อุทยานแห่งชาติหาดวนกร แต่เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง เป็นที่ตั้งของสวนป่าห้วยทราย ท้องที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สวนป่าห้วยยาง สวนรุกขชาติห้วยยาง และสถานีวนกรรมห้วยยาง ท้องที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาสถานีวนกรรมห้วยยางได้ถูกยกเลิกไป เมื่อทางกรมป่าไม้มีนโยบายที่จะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จึงได้โอนพื้นที่แห่งนี้มาให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2532 เป็นต้นมา และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังด้วน ป่าห้วยยาง และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ 38 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 76 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาติหาดวนกร ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทางรถไฟสายใต้ผ่านตอนกลางของพื้นที่ มีอาณาเขตทิศเหนือติดที่ดินกรรมสิทธิ์บ้านวังด้วน และค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ทิศใต้จดห้วยคอกม้า และสถานีฝึกนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทิศตะวันออกจดทะเลอ่าวไทย และทิศตะวันตกจดถนนเพชรเกษม โดยทั่วไปอุทยานแห่งชาติหาดวนกรเป็นที่ราบหลังชายหาด มีเกาะเล็กๆ 2 เกาะ คือ เกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ห้วยคลองหินจวง ซึ่งไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำมีน้อย ในฤดูแล้งขาดเป็นช่วงๆ
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่ อุทยานแห่งชาติหาดวนกรตั้งอยู่ในเขตภาคใต้ของประเทศไทย และมีพื้นที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะในแต่ละฤดูกาลจึงไม่แตกต่างกันมากนัก สภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มต้นเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และยังมีร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่านภาคใต้เป็นระยะๆ ต่อจากนั้นถึงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นระยะแรกที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีมากกว่า 1,100 มิลลิเมตร ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไป และมีอากาศหนาวเย็นเป็นครั้งคราว โดยอุณหภูมิจะลดลงต่ำสุดในเดือนธันวาคมและมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม 20 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ระยะนี้เป็นช่องว่างของลมมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น อากาศจะเริ่มร้อนโดยเฉพาะในเดือนมีมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายนประมาณ 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส
พรรณไม้และสัตว์ป่า
อุทยาน แห่งชาติหาดวนกรเดิมเป็นพื้นที่สวนป่าเก่า ความหลากหลายทางพืชพันธุ์ธรรมชาติจึงมีให้เห็นไม่มากนัก สภาพป่าที่พบในปัจจุบันจึงค่อนข้างโปร่งประกอบด้วย ป่าชายหาด ขึ้นเป็นบริเวณแคบตามแนวชายหาดและโขดหินที่ได้รับอิทธิพลจากทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สนทะเล หูกวาง โพทะเล ปอทะเล สารภีทะเล ขลู่และผักบุ้งทะเล ป่าเบญจพรรณ พบบริเวณทั่วไป มีสภาพเป็นป่ารุ่นที่สอง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง เกด ประดู่ มะค่าแต้ มะค่าโมง พะยอม ตะเคียนทอง หว้า ดำดง ตะแบก ตะแบกกราย ขนาน ฝาง สะเดา ติ้ว อ้อยช้าง พืชพื้นล่างได้แก่ เข็มป่า ข่อย กระไดลิง เถาย่านาง ไผ่นวล ไผ่ป่า สาบเสือ หนามเล็บเหยี่ยว นมวัว หนามคณทา เปล้าน้อย หนามเกี่ยวไก่ ตะขบ ฯลฯ และ ป่าเขาหินปูน พบบริเวณเกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ พันธุ์ไม้ที่พบเป็นไม้ขนาดเล็กและเจริญเติบโตช้า ได้แก่ สลัดได เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้ที่ปลูกในพื้นที่สวนป่าเก่า ได้แก่ สนทะเล สะเดา งิ้ว นนทรี มะฮอกกานี กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส คูณ แสมสาร จามจุรี สัก และสีเสียดแก่น เป็นต้น ด้วยสภาพพื้นที่ขนาดเล็กและเป็นป่าโปร่ง สัตว์ป่าที่พบมีจำนวนน้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นนกชนิดต่างๆ ได้แก่ ไก่ป่า นกเอี้ยงสาริกา นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกยางทะเล นกยางกรอก นกแซงแซวหางปลา นกแซงแซวหางบ่วง นกดุเหว่า นกตะขาบทุ่ง นกกระแตแต้แว้ด นกเอี้ยงสาริกา อีกา นกกางเขนบ้าน นกจาบคาเล็ก นกจาบคาหัวสีส้ม นกเขาใหญ่ นกเขาเปล้า นกปรอดสวน นกบั้งรอก นกกะปูด นกกระรางหัวหงอก นกเค้าแมว นกแอ่นบ้าน นกนางแอ่นกินรัง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระแต กระรอก อีเห็น กระต่ายป่า พังพอน ชะมดเช็ด สุนัขจิ้งจอก และเม่น สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ ตะกวด แย้ งูเห่า งูกะปะ งูเหลือม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบ อึ่งอ่าง และเขียด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบตามแนวชายหาด เช่น ปูลม ปูเสฉวน หอยทับทิม หอยเวียน หอยเจดีย์ เป็นต้น อุทยานแห่งชาติหาดวนกรครอบคลุมพื้นน้ำประมาณ 15.36 ตารางกิโลเมตร สัตว์น้ำที่พบเป็นจำพวกปลาน้ำจืดได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาขาว ปลาหมอ ปลานิล และในส่วนของทรัพยากรใต้ทะเลจะพบปลากระบอก ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาสีกุน ปลาสลิดหิน ฯลฯ ปะการัง กัลปังหา พบในบริเวณเกาะจานและเกาะท้ายทรีย์
เดิน ทางจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ประมาณ 345-346 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าอุทยานแห่งชาติ จากทางแยกเดินทางต่อไปอีก 3 กิโลเมตร จะพบที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดวนกร
สามารถลงได้ที่สถานีรถไฟวังด้วน หรือสถานีรถไฟห้วยยาง แล้วเดินทางไปโดยรถยนต์หรือ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง
รถโดยสารธรรมดาจากกรุงเทพฯถึงอุทยานแห่งชาติ ราคา 150 บาท รถโดยสารปรับอากาศจาก กรุงเทพฯ ถึงอุทยานแห่งชาติ ราคา 210 บาท
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ มี ชายหาดทรายที่ขาวละเอียดยาวประมาณ 100 เมตร และมีแนวปะการังบริเวณท้ายเกาะ บนเกาะทั้งสองมีถ้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกแอ่นกินรังนับแสนตัว
ดูดอกไม้
หาดวนกร เป็น หาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหาดทรายขาวสะอาด ทอดตัวเป็นแนวยาวสลับกับหัวกรังโขดหินที่ยื่นลงไปในทะเล เหนือขึ้นมาบนชายฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวยาวขนานไปกับทะเล
อ่าวมะค่า เป็น บริเวณคุ้งน้ำชายฝั่งทะเลจากบ้านวังด้วนถึงปากคลองน้ำจืด ลักษณะเป็นหน้าผาริมทะเล มีโขดหิน ตลิ่งชัน เสียงคลื่นกระทบฝั่งประสานกับเสียงสนลู่ลม อากาศเย็นสบาย เหมาะสำหรับเป็นจุดชมวิว
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มี บ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ลักษณะเป็นบ้านเรือนแถว มี 2 หลังๆ ละ 4 ห้อง พักได้ห้องละ 2 คน อยู่ห่างจากบ้านพักกลุ่มที่ 1 ประมาณ 800 เมตร
ที่พักแรม/บ้านพัก มี บ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ลักษณะเป็นบ้านพักเดี่ยว พักได้ตั้งแต่หลังละ 4 คน จนถึงหลังละ 12 คน อยู่ห่างจากบ้านพักกลุ่มที่ 2 ประมาณ 800 เมตร
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ ขนาดประมาณ 20,000 ตารางเมตร และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหาดวนกร การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการ บริเวณร้านอาหาร ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และบ้านพักนักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
ร้านขายของที่ระลึก มี ร้านขายของที่ระลึก อยู่ใกล้ลานจอดรถ เป็นร้านที่นำสินค้าพื้นบ้านมาจัดจำหน่าย (OTOP) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
เต็นท์ มีเต็นท์ไว้ให้บริการ