อุทยาน แห่งชาติแก่งตะนะ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร ความเป็นมา: ด้วยกรมป่าไม้ มีหนังสือที่ กส 0706/2967 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2517 เรื่องการเลือกพื้นที่เพื่อจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ให้ป่าไม้เขตทุกเขตดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ในท้องที่แต่ละเขต ว่ามีบริเวณใดบ้างเหมาะสมที่จะจัดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่ง ชาติ จากการสำรวจของจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือ ที่ อบ 09/24531 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2517 ถึงป่าไม้เขตอุบลราชธานี เห็นว่าป่าดงหินกอง ท้องที่ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม มีสภาพพื้นที่เหมาะสมเพื่อจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ สำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานีจึงมีหนังสือที่ กส 0809 (อบ)/1799 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2518 รายงานให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจพบว่า ป่าดงหินกองมีสภาพป่าสมบูรณ์ และมีธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง แต่เป็นป่าโครงการเพื่อการใช้สอยเอนกประสงค์ของราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี และป่าไม้เขตอุบลราชธานี จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่ป่าดงหินกองเฉพาะบางส่วนบริเวณรอบๆ แก่งตะนะ และน้ำตกตาดโตน เนื้อที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นวนอุทยาน กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 710/2521 ลงวันที่ 25 เมษายน 2521 ให้นายนพพร แสงสีดา นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จากรายงานการสำรวจตามหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี ที่ กส 0809/(อบ.)/2730 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2521 ป่าดงหินกองเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำมูล มีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ในชั้นต้นกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 2428/2522 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2522 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานป่าดงหินกอง ต่อมาวนอุทยานดงหินกองได้มีหนังสือที่ กส 0708(ดก)/11 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2523 ว่า ได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าดงหินกองโดยรอบพบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ดีมาก มีธรรมชาติและทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับป่าโครงการเพื่อการใช้สอยแบบเอนกประสงค์ป่าดงหินกองถูกประกาศให้ เป็นป่าปิด ห้ามการทำไม้ทุกชนิด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 กรมป่าไม้จึงเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงหินกอง ในท้องที่ตำบลโขงเจียม และตำบลเขื่อนแก่ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 908 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ซึ่งเป็นชื่อตามธรรมชาติของลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นจุดเด่นใหญ่ที่ประชาชน ทั่วไปรู้จักกันดี นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 33 ของประเทศ คำว่า ตะนะ จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เดิมมาจากคำว่า มรณะ เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า แก่งมรณะ ตามแรงบันดาลจากสภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านแก่งนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า แก่งตะนะ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ เป็นเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง ไหลผ่าน ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาบรรทัด สูงประมาณ 543 เมตร สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง จะมีป่าดิบเฉพาะบริเวณริมห้วยใหญ่เท่านั้น สภาพพื้นที่ส่วนมากเป็นหินทรายและพื้นที่ศิลา ส่วนดินเป็นดินลูกรัง ดินบรบือ และดินตะกอน
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะ ภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตลมมรสุม แต่เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำสำคัญสายใหญ่ 2 สาย คือ แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง อากาศจึงแตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป คือ ฤดูร้อน อากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป อยู่ในราว 25-29 องซาเซลเซียส ฤดูหนาว ไม่หนาวจัด ส่วนฤดูฝน ฝนตกค่อนข้างชุก สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะมีผู้มาเที่ยวชมแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงและน้ำตกต่างๆ ส่วนในปลายฤดูหนาวและฤดูร้อน นิยมมาเที่ยวชมแก่งต่างๆ
พรรณไม้และสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ สามารถสำแนกประเภทของสังคมพืชออกได้เป็น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบแล้งในบริเวณอุทยานแห่งชาติมีอยู่เพียงเล็กน้อย ประมาณ 6.96 ตารางกิโลเมตร หรือ 8.354 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด โดยขึ้นปกคลุมอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ของอุทยานแห่งชาติบริเวณห้วยกระดิน และห้วยหัวเจ้า ป่าชนิดนี้มีลักษณะโครงสร้างทางด้านตั้งประกอบด้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ 4 ชั้นระดับด้วยกัน โดยชั้นสูงสุด ประกอบด้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่มีความสูงตั้งแต่ 21 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางนา ตะเคียนหิน กะบก ตะแบก และชนิดอื่นๆ ไม้ชั้นกลาง ซึ่งมีเรือนยอดปกคลุมต่อเนื่อง ประกอบด้วยไม้ขนาดกลางที่มีความสูงตั้งแต่ 15-20 เมตร ไม้ที่พบเห็นโดยทั่วไป ได้แก่ ติ้ว ประดู่ และมะค่าโมง ไม้ชั้นล่าง ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กที่มีความสูงระหว่าง 4-14 เมตร ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เหมือด ตีนนก และหว้า ป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังในบริเวณอุทยานแห่งชาติปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง กล่าวคือ ครอบคลุมเนื้อที่ 69.97 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 84 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด โดยขึ้นปกคลุมพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติอยู่ทั่วๆ ไป โครงสร้างตามแนวดิ่ง ประกอบด้วยไม้สามชั้น ชั้นบนสุด (Upper Layer) ประกอบด้วย ไม้ที่มีความสูงตั้งแต่ 16 เมตรขึ้นไป เป็นไม้ขนาดใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปล่าตรงขึ้นกระจัดกระจายห่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ รกฟ้า ประดู่ ไม้ชั้นกลาง ประกอบดด้วยไม้ขนาดกลางที่มีความสูงระหว่าง 15-20 เมตร ขึ้นรวมกันหนาแน่นกว่าชนิดอื่นๆ ไม่ที่เด่นและพบเห็นทั่วไป ได้แก่ เต็ง รัง พลวง แดง เป็นต้น ส่วนไม้ล่าง เป็นไม้ขนาดเล็กที่มีความสูงต่ำกว่า 5 เมตร ลงมา ประกอบด้วย รักทะนง ยอป่า เหมือด เป็นต้น ส่วนไม้พื้นล่าง เป็นพวกลูกไม้ต่างๆ ปรงป่า
สัตว์ป่าที่พบในเขตอุทยานแห่งชิแก่งตะนะ สามารถจำแนกเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็กมีอยู่ชุกชุมทางด้านทิศตะวันออกของ อุทยานแห่งชาติบริเวณเทือกเขาบรรทัด เช่น กวาง หมีหมาหรือหมีคน อีเก้งหรือฟาน หมูป่า กระต่ายป่า กระแต ลิ่มหรือนิ่ม เป็นต้น สัตว์ปีก จากการสำรวจของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับอุทยาแห่งชาติแก่งตะนะ เมื่อเดือนธันวาคม 2531 พบนกในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ มีจำนวน 48 ชนิด ประกอบด้วย เหยี่ยวแดง นกกระปูดใหญ่ นกเค้าโมง นกนางแอ่น นกแซงแซวหงอกขน นกแซงแซวสีเทา นกกระจี๊ดธรรมดา นกกระจี๊ดสีคล้ำ นกจับแมลงหัวเทา นกจับแมลงคอแดง นกอุ้มบาตร์ นกเด้าดินสวน นกกินปลี นกปรอดทอง นกพญาไฟสีกุหลาบ เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน ที่พบโดยทั่วไป ตะกวดหรือแลน ตุ๊กแก แย้ งูจงอาง งูเห่า และงูอื่นๆ ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษอีกหลายชนิด ตลอดจนดพบพวกจิ้งจก จิ้งเหลน และกิ้งก่าอีก หลายชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เท่าที่พบได้แก่ กบ คางคก อึ่งอ่าง ปาด และเขียดหลายชนิดแต่ยังมิได้มีการสำรวจแจกแจงชนิดอย่างละเอียด ปลา เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะมีอาณาติดต่อกับแม่น้ำใหญ่ถึง 2 สาย คือแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล จึงมีพันธ์ปลาจำนานมากอาศัยอยู่เท่าที่สำรวจพบรวบรวมได้ 139 ชนิด จัดอยู่ใน 23 วงศ์ 10 อันดับ เป็นวงศ์ปลาตะเพียน 68 ชนิด วงศ์ปลาสวาย 10 ชนิด วงศ์ปลาเนื้ออ่อน 9 ชนิด วงศ์ปลากด 9 ชนิด และวงศ์ปลาอื่นๆอีก 43 ชนิด ปลาส่วนใหญ่เหมือนกับปลาที่มีอยู่ในภาคอื่นๆ เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลากระสูบ ปลาเทโพ ปลากราย ปลายี่สก ปลากระโห้ ปลาโกก แต่มีปลาหลายชนิดที่ไม่พบในแหล่งน้ำอื่น เช่น ปลาหมากยางหรือปลามงโกรย และปลาบึก เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 90 กิโลเมตร และสามารถเดินทางมาได้ 2 เส้นทาง คือ จากจังหวัดอุบลราชธานีไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 ผ่านอำเภอวารินชำราบ กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ ถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร แยกเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2173 ผ่านอำเภอสิรินธร ถึงสามแยกตลาดนิคม 2 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2296 สุดทางจะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จากจังหวัดอุบลราชธานีไปตามเส้นทางเดียวกับเส้นทางแรก เมื่อถึงอำเภอพิบูลมังสาหารเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพิบูลมังสาหาร 200 ปี เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2222 (ถนนพิบูลมังสาหาร-โขงเจียม) ผ่านอำเภอโขงเจียม ข้ามสะพานโขงเจียมไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2173 ถึงบ้านหนองชาด ซึ่งห่างจากอำเภอโขงเจียม 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2296 สุดเส้นทางถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ถ้ำพระหรือถ้ำภูหมาไน อยู่ ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นชะง่อนผายื่นออกจากฝั่งแม่น้ำมูล ถ้ำกว้าง 45 เมตร ลึก 10 เมตร ภายในถ้ำพบศิลาจารึกและแผ่นศิวลึงค์ (ฐานโยนี) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) ส่วนศิลาจารึกตัวจริงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี และกรมศิลปากรได้จำลองแท่นศิลาจารึกประดิษฐานไว้แทน
แก่งตะนะ ลำ น้ำมูลเมื่อไหลมาพบดอนตะนะแล้วสายน้ำจะแยกเป็นสองสาย ไหลโอบทั้งสองด้านของดอนตะนะแล้วมารวมกันอีกครั้ง จากนั้นจึงไหลลงมาทางแก่งตะนะ ซึ่งมีโขดหินขนาดมหึมาเป็นเกาะกลางลำน้ำมูล กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากจะกัดเซาะลงในแนวโขดหินสูงราว 1 เมตร บ้างก็ไหลซอกซอนไปตามร่องหินและลานหินริมฝั่งมูล ถ้าสังเกตเกาะกลางแก่งตะนะจะเห็นสิ่งก่อสร้างรูปสี่เหลี่ยมซึ่งสร้างขึ้นใน สมัยฝรั่งเศสยังล่าอาณานิคม เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้ร่องน้ำในการเดินเรือ บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก ทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำอีกหลายแห่ง จึงทำให้ปลาบริเวณแก่งตะนะชุกชุม บริเวณริมแก่งตะนะมีโต๊ะฮ่องเต้ ซึ่งเป็นโต๊ะหินทรายที่มีขนาดใหญ่ กว้าง 2.25 เมตร ยาว 6.80 เมตร เป็นแผ่นหินธรรมชาติที่นำมาจากลำน้ำมูล เป็นจุดนั่งชมทิวทัศน์ของแก่งตะนะ ทางอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไว้ 2 เส้นทาง จากแก่งตะนะไปลานผาผึ้ง และจากแก่งตะนะไปดอนตะนะ
ดอนตะนะ เป็น ดอนดินหรือเกาะที่เกิดขึ้นขวางแม่น้ำมูล และแบ่งแม่น้ำมูลออกเป็นสองสาย มีความกว้างประมาณ 450 เมตร ยาวประมาณ 700 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 225 ไร่ หรือ 0.36 ตารางกิโลเมตร ทางตอนเหนือของดอนตะนะมีหาดทรายเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง บนดอนตะนะยังมีป่าอยู่ทั่วไป สภาพเป็นป่าดิบแล้ง มีไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นและมีป่าสักตามธรรมชาติ มีสะพานแขวนที่เชื่อมจากฝั่งแม่น้ำมูล โครงสร้างของสะพานเป็นเหล็กยึดโยงด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ พื้นปูด้วยไม้กระดาน กว้าง 2 เมตร ยาว 295 เมตร ซึ่งเป็นสะพานแขวนคนเดินข้ามที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นจุดชมวิวสองฟากฝั่งของแม่น้ำมูลเหนือแก่งตะนะ
น้ำตกตาดโตน เป็น น้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดโตน เป็นน้ำตกที่ตกจากชั้นหินที่มีแนวโค้งคล้ายจอภาพยนตร์ ด้านบนน้ำตกเป็นพลาญหินกว้างมีน้ำไหลผ่าน เหมาะแก่การลงเล่นน้ำทั้งด้านบนและด้านล่างของน้ำตก ฤดูกาลท่องเที่ยว เดือนมิถุนายน-ธันวาคมของทุกปี
น้ำตกรากไทร เป็นน้ำตกไหลลงมาตามหน้าผาผ่านรากไทรริมฝั่งแม่น้ำมูล มองดูคล้ายม่านมู่ลี่
น้ำตกและบึงห้วยหมาก อยู่บริเวณเหนือบ้านห้วยหมาก เป็นบึงใหญ่มีน้ำนิ่ง และไหลตกเป็นทางยาวลงมาบนชั้นหินที่ซ้อนเหลื่อมล้ำเป็นแนวทอดต่ำลงมา
น้ำตกห้วยกว้าง อยู่ใกล้เขตสุขาภิบาลอำเภอโขงเจียม มีน้ำตกลงไปตามซอกหินเป็นชั้นลดหลั่นลงมา
ลานผาผึ้ง เป็น พลาญหินทรายและหน้าผาชันยาว 50 เมตร ส่วนหน้าผาจะหันหน้าสู่ทิศตะวันออก เหมาะแก่การชมวิวในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และสามารถชมทัศนียภาพได้ไกลถึงประเทศลาว
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพัก 4 หลัง และค่ายพักแรม 2 หลัง ไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง หากต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ อัตราค่าบริการสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์เพิ่มเติม คลิกที่นี่
ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.