อุทยาน แห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีสภาพพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ป่าเขาลำปี ซึ่งมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก ยอดเขาขนิม เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นทะเลอันดามัน และทิวทัศน์ของลำน้ำที่ไหลคดเคี้ยวจนออกสู่ทะเลอันดามัน อีกส่วนหนึ่งคือ ชายหาดท้ายเหมืองเป็นหาดทรายขาวสะอาดกว้างและยาว มีความเงียบสงบ รวมเนื้อที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมดประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 72 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาตินี้ เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามของ " น้ำตกลำปี " และกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติได้มีบันทึกกรมป่าไม้ที่ กส 0711/973 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2523 เสนอร่างกฎกระทรวงให้ป่าเขาลำปี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และ ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบันทึกลงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 ถึงกรมป่าไม้ ความว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นโยบายว่า ป่าที่จะสงวนนั้น ถ้าการดำเนินการล่าช้า มีผู้บุกรุกหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วมากรายขอให้พิจารณาใช้ประโยชน์ใน ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ส่วนที่ยังเหลืออยู่และไม่มีปัญหาให้พิจารณาว่า ให้มีประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่ ให้กองอุทยานแห่งชาติเสนอความคิดเห็นด้วย กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งที่ 1617/2523 ลงวันที่ 15 กันยายน 2523 ให้ นายธีระศักดิ์ บุญชูดวง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ป่าเขาลำปีเป็นป่าซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 ให้รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรของชาติ มีน้ำตกร่มรื่นสวยงามตามธรรมชาติ คือ น้ำตกลำปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เคยมาเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้ด้วย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าชุกชุม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจที่ กส 0708(อพ)/12 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 ซึ่งมีมติให้กรมป่าไม้พิจารณาประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติไปพลางก่อน และขณะเดียวกันก็ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดการให้เป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติจึงได้เสนอกรมป่าไม้ มีคำสั่งที่ 894/2526 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2526 ให้ นายไชโย ยิ่งเภตรา เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานเขาลำปี ต่อมา วนอุทยานเขาลำปีได้มีหนังสือที่ กษ 0712(ลป)/17 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2526 ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นป่าเขาลำปีและหาดทรายชายทะเลท้ายเหมืองเพื่อจัด ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวนอกจากจะมีน้ำตกลำปี ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีความร่มรื่นสวยงามตามธรรมชาติ ยังสำรวจพบน้ำตกโตนย่านไทร (น้ำตกโตนไพร) จุดชมวิวบนยอดเขาขนิม และในบริเวณใกล้เคียงมีชายหาดที่สวยงาม กว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นหาดทรายขาวสะอาด เงียบสงบ มีป่าทุ่งเสม็ดขาว และพันธุ์ไม้ชายทะเลนานาชนิดขึ้นอยู่ ตลอดจนเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลและที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก ซึ่งกรมป่าไม้ได้ดำเนินการประกาศป่าเขาลำปีเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,023 (พ.ศ. 2526) ออกตามความพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 192 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2526 และกองอุทยานแห่งชาติได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ซึ่งได้มีมติเห็นควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณป่าเขาลำปี และหาดท้ายเหมือง ในท้องที่ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง และตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็น อุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 59 ลงวันที่ 14 เมษายน 2529 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 52 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็นสองส่วนโดยมีถนนเพชรเกษมเป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันที่มีความยาวของชายหาด ประมาณ 13.6 กิโลเมตร และ เทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ รวมเนื้อทั้งหมด ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลนาเตย ตำบลบางทอง ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 8 องศา 23 ลิบดา-8 องศา 33 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 12 ลิบดา-98 องศา 20 ลิบดา ตะวันออก โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งมีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตที่ดินทหารเรือ ทิศใต้จดคลองหินลาด ทิศตะวันออกจดที่ดินสาธารณประโยชน์อำเภอท้ายเหมือง และทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ส่วนบริเวณเทือกเขาลำปีมีอาณาเขตทิศเหนือจดบ้านเขากล้วยและบ้านอินทนิน ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง ทิศใต้จดบ้านนาตาคำ และบ้านกลาง ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง ทิศตะวันออกจดบ้านห้วยทราย ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง และทิศตะวันตกจดบ้านบ่อหิน บ้านลำปี ตำบลท้ายเหมือง และบ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร มีส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 1.6 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 350 เมตร ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด ซึ่งน้ำส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี และบริเวณเทือกเขาลำปีเป็นภูเขาสลับซับซ้อนเรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วย เขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูงประมาณ 622 เมตรจากระดับน้ำทะเล เทือกเขาส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี ประเภทหินแกรนิต ในยุคไทรแอสสิค-ครีเตเชียส มีอายุอยู่ในช่วง 60-140 ล้านปี หินเหล่านี้มีความคงทนต่อการกัดกร่อนสูง มีลำน้ำหลายสายที่เกิดจากเทือกเขาลำปี เช่น คลองขนิม คลองลำปี คลองบางปอ คลองลำหลัง คลองพลุ คลองคำนึง และคลองอินทนิน เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพ ภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม พัดพาความชุ่มชื่นจากมหาสมุทรอินเดียมายังแผ่นดิน ทำให้เกิดฝนตกชุกในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้เป็นแนวกั้น ทำให้ลมมีกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ก็สามารถส่งผลให้เกิดฝนตกได้บ้างแต่มีปริมาณไม่มากนัก ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูแล้ง ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมน้อย อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณฝนจะมีน้อย โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส.ในเดือนเมษายน และต่ำสุดเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงประมาณ 2,800-3,000 มิลลิเมตร
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าในบริเวณเทือกเขาลำปีเป็น ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว กระบาก เทพทาโร ยมหอม สุเหรียน ทุ้งฟ้า พลอง ฉก ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ปุด เร่วดง หวายขม หวายขริง หวายกำพวน ไผ่ หมากผู้หมากเมีย คล้า กล้วยป่า และบริเวณที่ใกล้ลำธารจะเป็นเฟินตีนตะขาบ โปรงทอง ลำเพ็ง ผักกูด และกูดขน เป็นต้น เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวรุ้ง ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า นกแสกแดง นกเค้าป่าสีน้ำตาล นกโพระดก นกพญาไฟ ชะนีมือขาว ลิงเสน ลิงกัง ค่าง สมเสร็จ เก้ง และเลียงผา เป็นต้น บริเวณหาดท้ายเหมืองเป็นที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกจรด ป่าชายเลน ที่ขึ้นอยู่ริมคลอง พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ถั่วดำ ถั่วขาว แสมขาว และแสมดำ บางส่วนเป็นป่าจากล้วน ป่าชายเลนนี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และสถานที่วางไข่ของสัตว์บกและสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ จึงเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น นกกาน้ำเล็ก นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกแต้วแล้วป่าโกงกาง ลิงแสม พังพอนกินปู เหี้ย งูปากกว้างน้ำเค็ม งูสามเหลี่ยม งูแสมรัง และปลาซิวข้าวสารชวา เป็นต้น บริเวณชายหาดจะเป็น ป่าชายหาด มี สนทะเล จิกเล หูกวาง หยีทะเล ปอทะเล เมา มะนาวผี และรักทะเล ส่วนพืชพื้นล่างได้แก่ สังหยู สาบเสือ ลำเท็ง ปรงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล และถั่วทะเล ขึ้นอยู่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิด เช่น เหยี่ยวขาว นกออก ไก่ป่า นกกวัก นกหัวโตทรายเล็ก นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกบั้งรอกใหญ่ นกกะเต็นอกลาย นกตะขาบดง นกแซงแซวหางปลา ลิ่นชวา กระแตใต้ ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ชะมดแผงสันหางดำ พังพอนเล็ก แย้ จิ้งเหลนบ้านเป็นต้น บริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองประมาณ 1,000 ไร่ มีสภาพเป็น ป่าพรุ ที่มีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี สภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล สังคมพืชที่เด่นชัดในสภาพป่านี้คือ เสม็ดขาว บริเวณที่ดอนจะมีเสม็ดแดง ชะมวงป่า มะพลับพรุ ตีนเป็ด และหว้าน้ำ ขึ้นปะปน พืชอิงอาศัยที่ขึ้นรอบลำต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น กระแตไต่ไม้ สไบสีดา เกล็ดนาคราช เฟินก้ามปู และเฟินข้าหลวง โดยมี กระดุมเงิน โคลงเคลง ปลาไหลเผือก เข็มป่า รามใหญ่ กะทือ ย่านาง มันเทียน หวายลิง และเอื้องหมายนา เป็นพืชพื้นล่าง สัตว์ป่าที่สำคัญและสำรวจพบในป่านี้ได้แก่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกอีลุ้ม นกกระแตแต้แว้ด นกตบยุงหางยาว นกกะเต็นอกขาว หมูหริ่ง นากใหญ่ขนเรียบ หมีขอ หมูป่า กระรอกลายท้องแดง เต่านา ตะกวด งูหลามปากเป็ด งูเหลือม กบนา ปลาดุกลำพัน และปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น ในบริเวณแหล่งน้ำ ห้วย และลำคลองต่างๆ สำรวจพบปลาน้ำจืด 31 ชนิด ได้แก่ ปลาสลาด ปลาซิวใบไผ่ ปลาแขยงหิน ปลาดุกลำพัน ปลาซิวข้าวสารแคระ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาก้าง ปลานิล เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบบริเวณชายฝั่งหาดท้ายเหมืองได้แก่ ปลาทราย ปลากระบอก เต่ากระ เต่าหญ้า ปูลม ปูแสม หอยมวนพลู หอยตลับลาย กุ้งฝอย กุ้งตะกาด แมงกะพรุน ฯลฯ
เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินซึ่งจะมีสายหลักๆ 3 สาย คือ
เนื่อง จากขณะนี้ อุทยานแห่งชาติมีการก่อสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยวใหม่ บริเวณใกล้เคียงบ้านพักนักท่องเที่ยวเดิม จึงปิดการจองที่พักทางอินเตอร์เน็ตเป็นการชั่วคราว โดยเปลี่ยนเป็นการจองที่พักโดยตรงกับทางอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสภาพที่พักก่อนการตัดสินจองที่พัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ โทร 08 4059 7879, 0 7641 7206
ซากเรือขุดแร่โบราณ อนุสรณ์สถานแห่งความรุ่งเรืองยุคเหมืองแร่เครื่องจักรไอน้ำ
เขาหน้ายักษ์ ความงามของทิวทัศน์ ความสงบของเวิ้งอ่าว และชีวิตใต้น้ำ
น้ำตกโตนไพร สูงประมาณ 50 เมตร ด้านล่างเป็นแอ่งขนาดใหญ่เหมาะสำหรับเล่นน้ำ ต้นน้ำเกิดจากเขาโตนย่านไทร สภาพป่าโดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ดี
น้ำตกลำปี ต้น น้ำเกิดจากเทือกเขาลำปี มีจำนวน 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นอ่างน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมตรงข้ามบ้านลำปีตามทางลาดยาง ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 14 กิโลเมตร
หาดท้ายเหมือง เป็น หาดที่มีลักษณะค่อนข้างตรงและยาวจากอำเภอท้ายเหมืองไปจนถึงเขาหน้ายักษ์ ในช่วงไม่มีมรสุมสามารถเล่นน้ำได้ แต่ไม่เหมาะเล่นน้ำในช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรงเนื่องจากชายฝั่งมีความลาดชัน มาก บริเวณหาดท้ายเหมืองจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี ทางอำเภอท้ายเหมืองจึงจัดให้มีงานประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล ระหว่างวันที่ 1-9 มีนาคมทุกปีโดยกำหนดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมทำกิจกรรม คือ การปล่อยเต่าทะเล การดูเต่าทะเลวางไข่ นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต้องปฏิบัติตามที่อุทยานแห่งชาติกำหนด มิฉะนั้น จะเป็นการรบกวนเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติปาง เส้น ทางศึกษาธรรมชาติปาง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง ไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร ในบริเวณที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ปาง) เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองเรือขุดแร่ดีบุก และปัจจุบันยังหลงเหลือซากเรือขุดแร่ดีบุกทำด้วยคอนกรีตลอยอยู่ในบึงน้ำแสดง ให้เห็นอดีตของเหมืองแห่งนี้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติปาง ครอบคลุมระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ 3 ประเภท คือ ป่าชายหาด ป่าพรุ และป่าชายเลน
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องน้ำ-ห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติด้วย
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลป.2 (น้ำตกลำปี)
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น. ภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์, จัดประชุม ,ฝึกอบรม และนิทรรศการ