ลักษณะภูมิประเทศ
ใน ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ตำบลท่าดี ตำบลกำโลน ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง ตำบลยางค้อม ตำบลพิปูน ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน ตำบลทอนหงส์ ตำบลบ้านเกราะ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี ตำบลช้างกลาง ตำบลสวนขัน กิ่งอำเภอช้างกลาง และตำบลกรุงชิง ตำบลนบพิตำ ตำบลนาเหรง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือระหว่างเส้นรุ้งที่ 08 องศา 22 ลิบดา - 08 องศา 45 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 37 ลิบดา - 99 องศา 51 ลิบดา ตะวันออก พื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนกลาง ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวเหนือจรดใต้ขนานไปกับชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออก มีที่ราบตามหุบเขาเล็กน้อย ดินบนภูเขาเป็นดินที่เกิดจากการผุสลายของหินแกรนิต มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,835 เมตร เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง คลองกรุงชิง คลองเขาแก้ว คลองท่าแพ คลองระแนะ และคลองละอาย อันเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วย เหตุที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ตั้งอยู่บนคาบสมุทร จึงได้รับลมมรสุมที่พัดผ่านทะเลทั้งสองด้าน ทำให้ฝนตกเกือบตลอดปีและมีอากาศค่อนข้างเย็น มีเมฆปกคลุมถึงร้อยละ 14-15 ทำให้เกิดฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม ปริมาณฝนตกมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 3,500-4,000 มิลลิเมตร และฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม และอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายน
พรรณไม้และสัตว์ป่า
อุทยาน แห่งชาติเขาหลวง มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองด้าน ทำให้มีสภาพชื้นและปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง พืชพรรณไม้ส่วนใหญ่จึงเป็นสังคมพืชป่าดงดิบ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ป่าดิบเขา เป็นป่าที่ขึ้นอยู่เหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1000 เมตรขึ้นไปจนถึงยอดเขาที่มีเมฆหมอกคลุม พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เหมือด กำยาน แดงเขา ก่อเขา บุญนาคเขา จำปูนช้าง ฯลฯ พืชคลุมดินส่วนใหญ่คล้ายป่าดิบเขาระดับต่ำแต่จะมีพืชหญ้าขึ้นมาก ได้แก่ บัวแฉกใบใหญ่ บัวแฉกใบมน หวายเหิง หวายแซ่ม้า หวายเขา เป็นต้น ป่าดงดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเกือบทั้งหมด พืชประจำถิ่นและไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียว ตะเคียนทราย สยาขาว กระบากดำ กระบากขาว พันจำ หลุมพอ เอียน เชียด อบเชย เทพทาโร จำปาป่า ก่อ แดงคาน แดงเขา ยมป่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกุหลาบพันปี กุหลาบเขาหลวง เต่าร้างยักษ์ หวายหอม หวายไม้เท้า ไผ่เกรียบ ก้ามกุ้งหลายชนิด และมหาสดำซึ่งเป็นเฟินต้นประจำถิ่นของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นต้น พืชอิงอาศัยซึ่งเกาะตามลำต้นและกิ่งไม้ นอกจากมอสและเฟินแล้ว ยังพบพืชที่น่าสนใจโดยเป็นพืชหายากหลายชนิด เช่น ระย้าหยก และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่มากกว่า 300 ชนิด บางชนิดเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นที่พบเพียงแห่งเดียวในโลก เช่น สิงโตพัดเหลือง สิงโตอาจารย์เต็ม ขนตาสิงโต เอื้องสายเสริตสั้น เอื้องแดงหิน กล้วยปลอก เอื้องคีรีวง เป็นต้น ผลของการสำรวจชนิดและประชากรสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เมื่อปี 2534 พบว่า อุทยานแห่งชาติเขาหลวงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 327 ชนิด สัตว์ป่าที่พบเห็น เช่น สมเสร็จ เลียงผา ลิงกัง ลิงเสน ค่างดำ ค่างแว่นถิ่นใต้ ชะนีธรรมดา เสือลายเมฆ เสือดำ เสือโคร่ง หมีหมา เก้ง กวางป่า เม่นหางพวง สัตว์จำพวกนก เช่น นกอินทรีดำ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกหว้า นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกกก นกชนหิน นกโพระดกหลากสี นกพญาปากกว้างท้องแดง และนกกินปลี ฯลฯ นอกจากนี้ ในบริเวณเขาหลวงยังพบสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่หายากหลาย ชนิด เช่น งูลายสายมลายู เต่าจักร งูหลามปากเป็ด งูสามเหลี่ยมหัวหางแดง จิ้งจกนิ้วยาวกำพล ตุ๊กแกป่าโคนนิ้วติด จิ้งเหลนเรียวปักษ์ใต้ งูเขียวดงลาย กบเขาท้องลาย กบตะนาวศรี เขียดงูศุภชัย เป็นต้น ในบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธารของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จะพบสัตว์น้ำในปริมาณน้อย เนื่องจากมีกระแสน้ำไหลแรง ปริมาณสารอาหารในน้ำมีน้อย พื้นน้ำเป็นหินและทรายไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ที่พบได้แก่ ปลาพลวง ปลาแฮะ ปลาไส้ขม ปลาซิวน้ำตก ปลาอีกอง ปลาติดหิน ปูน้ำตก เป็นต้น
จาก ตัวเมืองนครศรีธรรมราชห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 800 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ ส่วนการเดินทางไปอุทยานแห่งชาติเขาหลวงนั้นเริ่มจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4015 ไปทางอำเภอลานสกา ประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีป้ายขนาดใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ทางขวามือ เดินทางต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรเศษก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (น้ำตกกะโรม) สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล.4 (น้ำตกกรุงชิง) ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4016 ผ่านทางเข้าน้ำตกพรหมโลก น้ำตกอ้ายเขียว น้ำตกยอดเหลือง ถึงทางแยกนาเหรงเลี้ยวซ้าย ถึงบ้านห้วยพาน เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4188 รวมระยะทางประมาณ 62 กิโลเมตร มีถนนแยกเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 8 กิโลเมตร
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
จุดชมทิวทัศน์ยอดเขาหลวง เป็น ยอดเขาที่สูงที่สุดของภาคใต้คือ สูงประมาณ 1,835 เมตร อยู่ในท้องที่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช (ไปตามเส้นทางเดียวกับน้ำตกกะโรมแต่ถึงก่อน) ประมาณ 20 กิโลเมตร มีแยกขวามือเข้าหมู่บ้านคีรีวงระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินขึ้นถึงยอดเขาไปกลับ 3 วัน กับ 2 คืน บนยอดเขาหลวงปกคลุมด้วยป่าดิบเขาแน่นทึบจนได้รับการขนานนามว่าเป็น หลังคาสีเขียวแห่งภาคใต้ ผืนป่าที่มีความชุ่มชื้นจึงทำให้พบมอส เฟิน และไลเคนนานาชนิด ปกคลุมทั่วไปตามต้นไม้ ก้อนหิน และพื้นป่า ยอดเขาหลวงเป็นแหล่งรวมของพันธุ์พืชบนที่สูง เช่น ก่อชนิดต่างๆ กุหลาบป่าแดงเขา โดยเฉพาะพืชหายาก เช่น บัวแฉก ซึ่งเป็นเฟินที่หากยากมาก รวมทั้งกล้วยไม้หลากหลายชนิด ยอดเขาหลวงจึงจัดเป็นบริเวณที่มีความเปราะบาง ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ
ถ้ำแก้วสุรกานต์ อยู่ ในท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นถ้ำหินปูนที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก บนผนังถ้ำเป็นรูปปั้นลักษณะต่าง ๆ และมีน้ำหยดตามเพดานถ้ำ ความลึกของถ้ำแก้วสุรกานต์แห่งนี้ ประมาณ 700 เมตร ทางเดินเข้าไปภายในถ้ำจะเป็นทรายและเป็นทางน้ำไหลในช่วงฤดูน้ำหลาก
น้ำตกกรุงชิง กรุง ชิง เป็นชื่อสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อกันว่าเคยเป็นชุมชนมาแต่สมัยโบราณ เป็นพื้นที่ที่มีประวัติการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งในด้านความคิด ในการปกครอง พื้นที่ผืนป่ากรุงชิง โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2517 ต่อมาฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดพื้นที่ได้ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ที่กรุงชิงแตกในปี 2524 คำว่า ชิง เป็นชื่อของ ต้นชิง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่มีมากในเขตนี้ ป่ากรุงชิงอยู่ในท้องที่ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4016 แล้วเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4186 จนถึงบ้านห้วยพานจึงเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4188 (ห้วยพาน-กรุงชิง) รวมระยะทางประมาณ 62 กิโลเมตร จะพบทางแยกซ้ายมือเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล.4 (น้ำตกกรุงชิง) เข้าไปอีก 8 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ของกรุงชิงเป็นพื้นที่ราบสูงและมีภูเขาล้อมรอบ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า อ่าวกรุงชิง น้ำตกกรุงชิงเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากคลองกรุงชิงซึ่งไหลตัดผ่านหุบผาหินแกรนิต ลดระดับตามความลาดเอียงของภูเขา ก่อเกิดเป็นชั้นน้ำตกอันงดงาม น้ำตกกรุงชิงเปิดให้เที่ยวชมจำนวน 7 ชั้น คือ หนานมัดแพ หนานปลิว หนานจน หนานโจน หนานต้นตอ หนานวังเรือบิน และหนานฝนเสน่หา ซึ่งเป็นชั้นที่งดงามที่สุด นอกจากการเที่ยวชมน้ำตกและศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว น้ำตกกรุงชิงยังมีแหล่งธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่สวยงาม มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เข้าค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ ศึกษาพันธุ์ไม้ และชมนกอีกด้วย
น้ำตกกะโรม เป็น ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติอยู่ในท้องที่ หมู่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง น้ำตกกะโรมมีชั้นน้ำตกทั้งหมด 19 ชั้น เปิดบริการให้ท่องเที่ยวชมความหลากหลายของธรรมชาติ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและรื่นรมย์เพียง 7 ชั้น คือ หนานทุเรียน หนานช่องไทร หนานไผ่ หนานน้ำราง หนานผึ้ง หนานเตย และหนานดาดฟ้าซึ่งเป็นชั้นที่สวยงามที่สุด แลเห็นสายน้ำไหลพรั่งพรูลงจากหน้าผาสูงและลาดชัน 45 องศา ลดหลั่นลงมาตามโขดหินกว้างจนถึงแอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่างที่สามารถลงเล่นน้ำได้ ตามปกติสายน้ำจะไหลแยกเป็น 2 สาย พอถึงช่วงหน้าฝนสายน้ำจะไหลหลากแผ่เต็มหน้าผาน่าชมมาก ในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์ ได้เสด็จประทับทอดพระเนตรพื้นที่หนานดาดฟ้า ในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประทับทอดพระเนตรและทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร.2460 ที่หน้าผาหนานดาดฟ้า
น้ำตกท่าแพ เรียก ชื่อตามลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้านท่าแพ อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 14 ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง ห่างจากน้ำตกกะโรมไปประมาณ 6 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4016 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะถึงสามแยกบ้านตาลจากนั้นแยกไปทางซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4015 ไปอีกประมาณ 29 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าน้ำตกท่าแพ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำตกท่าแพมีชั้นน้ำตก 10 ชั้น ได้แก่ หนานแพน้อย หนานนางครวญ หนานเตย หนานอ้ายซวย หนานปู หนานไผ่ และหนานน้ำราง ทางอุทยานแห่งชาติเปิดให้ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเพียง 3 ชั้น สำหรับผู้สนใจศึกษาธรรมชาติทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ถึงน้ำตกชั้นที่ 7 แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่
น้ำตกป่ายอดเหลือง คำ ว่า ยอดเหลือง มีที่มาจากความเหลืองของดอกต้นโยทะกาเพลิง หรือ ชงโคป่า ซึ่งขึ้นปกคลุมยอดไม้บนภูเขา ซึ่งจะออกดอกสีเหลืองในช่วงฤดูแล้ง น้ำตกป่ายอดเหลืองตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 6 ตำบลนาเหรง กิ่งอำเภอนบพิตำ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 40 กิโลเมตร การเดินทางสู่น้ำตกป่ายอดเหลืองสามารถเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4016 (นครศรีธรรมราช-พรหมคีรี) ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 40 จะมีป้ายบอกทางเข้าสู่น้ำตก น้ำตกป่ายอดเหลืองมีชั้นน้ำตกจำนวน 4 ชั้น ได้แก่ หนานเตย หนานกระโดด หนานหญ้าคา และหนานปลิว
น้ำตกพรหมโลก อยู่ ในท้องที่หมู่ 5 ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี สามารถเดินทางไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4016 (นครศรีธรรมราช-พรหมคีรี) ประมาณ 18 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4132 (พรหมคีรี-พรหมโลก) อีกประมาณ 4 กิโลเมตร น้ำตกพรหมโลกเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีชั้นน้ำตกประมาณ 50 ชั้น เปิดบริการให้ท่องเที่ยวได้เพียง 4 ชั้น คือ หนานวังน้ำวน หนานวังไม้ปัก หนานวังหัวบัว และหนานวังอ้ายแล ในปี พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระ บรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้ และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. และ ส.ก. ไว้ที่หน้าผาน้ำตกชั้นที่ 1 (หนานวังน้ำวน)
น้ำตกระแนะ อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลพิปูน อำเภอพิปูน มีแหล่งธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงาม ประมาณ 10 ชั้น
น้ำตกสวนขัน ตั้ง อยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 3 ตำบลสวนขัน กิ่งอำเภอช้างกลาง อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 66 กิโลเมตร การเดินทางสู่น้ำตกสวนขันสามารถเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราชไปตามทางหลวง จังหวัดหมายเลข 4016 ประมาณ 9 กิโลเมตร จนถึงบริเวณสามแยกบ้านตาล จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4015 (ลานสกา-จันดี-พิปูน) อีกประมาณ 57 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือ มีป้ายบอกทางเข้าสู่น้ำตก เดินทางตามเส้นทางดังกล่าวเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร น้ำตกสวนขันเปิดให้เข้าเที่ยวชมความงามจำนวน 3 ชั้น นอกจากนี้บริเวณโดยรอบน้ำตกยังมีธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การเดินป่าเพื่อ ชมธรรมชาติและศึกษาพันธุ์ไม้
น้ำตกสวนอาย เป็น น้ำตกที่มีความงามแต่ไม่ใหญ่นัก ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 5 ตำบลคลองละอาย อำเภอฉวางห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 60 กิโลเมตรไปทางเส้นทางน้ำตกกะโรม น้ำตกสวนอาย มีชั้นน้ำตก 5 ชั้น เปิดบริการให้ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเพียง 3 ชั้น คือ หนานช่องส้มหลอด หนานต้นเหรียง และหนานเลากา
น้ำตกเหนือฟ้า อยู่ ในท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลพิปูน อำเภอพิปูน การเดินทางสู่น้ำตกเหนือฟ้า สามารถเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4015 เป็นระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4194 (จันดี-พิปูน) ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอพิปูนประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือและมีป้ายบอกทางเข้าสู่น้ำตก เดินทางตามเส้นทางดังกล่าวเป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงน้ำตกเหนือฟ้า ซึ่งมีชั้นน้ำตกที่มีความสวยงามประมาณ 10 ชั้น นอกจากนี้น้ำตกเหนือฟ้ายังเป็นแหล่งรวมประวัติศาสตร์ อันเกิดจากการขัดแย้งในความคิดด้านการปกครองระหว่างผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ (ผกค.) กับฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากพื้นที่น้ำตกเหนือฟ้ามีเขตติดต่อกับพื้นที่น้ำตกกรุงชิง
น้ำตกอ้ายเขียว น้ำตก อ้ายเขียว หรือเรียกอีชื่อหนึ่งว่า น้ำตกในเขียว ตั้งอยู่เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกพรหมโลก ในท้องที่หมู่ที่ 5 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี น้ำตกอ้ายเขียวมีที่มาจากทุเรียนบ้านในละแวกนั้นที่มีชื่อว่า อ้ายเขียว ชาวบ้านจึงให้ชื่อน้ำตกแห่งนี้ว่า น้ำตกอ้ายเขียว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีธรรมชาติงดงาม เกิดจากคลองในเขียวซึ่งมีความยาวของลำน้ำประมาณ 35 กิโลเมตร มีชั้นน้ำตกไหลลดหลั่นกันประมาณ 100 ชั้น ไหลลงมาจากหน้าผาสูงลดระดับตามความลาดเอียงของภูเขา ทางอุทยานแห่งชาติอนุญาตให้ท่องเที่ยวได้เพียง 9 ชั้น หนานช่องไทร หนานบังใบ หนานไม้ไผ่ หนานเสือผ่าน หนานบุปผาสวรรค์ หนานหินกอง หนานหัวช้าง หนานไทรกวาดลาน และหนานฝาแฝด
ผาเหยียบเมฆ ตั้ง อยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 6 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี การเดินทางสู่ผาเหยียบเมฆสามารถเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4016 (นครศรีธรรมราช-พรหมคีรี) ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตรที่ 40 เลี้ยวซ้ายสี่แยกบ้านดอนคาเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4141 (บ้านวังลุง) ถึงน้ำตกสองรัก จากนั้นเดินเท้าประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงผาเหยียบเมฆ ความสูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณหน้าผาเป็นสันแหลมสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้ง 2 ด้าน ดูดวงอาทิตย์ขึ้นปลายแหลมตะลุมพุก ชมพันธุ์พืชที่หายาก เช่น ก้ามกุ้ง กุหลาบเขาหลวง เฟิน และปาล์ม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง เส้น ทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ระยะเดินเท้าจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวน้ำตกกรุงชิง ถึงตัวน้ำตกประมาณ 3.8 กิโลเมตร เส้นทางผ่านป่าดิบชื้นแน่นทึบ เต็มไปด้วยพืชพรรณแปลกตาน่าสนใจมากมาย ระหว่างทางยังมีศาลาที่พัก พร้อมป้ายสื่อความหมายธรรมชาติและร่องรอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ เช่น มหาสดำ ดงชก หลุมขวาก บันไดสามขั้น ศาลาประตูชัย หลุมพอยักษ์ ถ้ำประตูชัย-สนามบาส ป่าชิง-ศาลาดงชิง ช้างร้องไห้ ป่ามังคุด ศาลาฝนแสนห่า และน้ำตกกรุงชิง เส้นทางนี้ยังเหมาะสำหรับดูนกด้วย ตลอดเส้นทางจะพบนกป่าทางใต้มากมาย เช่น นกโพระดกเคราเหลือง นกบั้งรอกปากแดง นกหัวขวานลายคอแถบขาว นกปรอดอกลายเกล็ด นกเขียวปากงุ้ม ฯลฯ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกะโรม เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกะโรม โดยมีสถานีสื่อความหมายเกี่ยวกับมอส ไลเคนส์ มหาสดำ ไทร ปลวก-รา เห็ด การทดแทนสังคมพืช และพูพอน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดเขาหลวง เส้น ทางศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีเส้นทางเดินป่าระยะสั้น และเส้นทางเดินป่าระยะไกล สามารถสอบถามรายละเอียดการเดินป่าและติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ศูนย์ บริการนักท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดเขาหลวง ต้องไต่ขึ้นสู่เขาสูงชันไปเรื่อยๆ ซึ่งบางช่วงชันมาก ระหว่างทางจะมีจุดน่าสนใจให้แวะเที่ยวชมเป็นระยะๆ ได้แก่ หัวเหว สวนสมรม น้ำตกวังอ้ายยางล่าง น้ำตกวังอ้ายยางบน กระท่อมสุดท้ายสวนใสใน ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของสวนสมรม และเป็นจุดพักค้างแรมคืนแรก สันลุงพร้าม-ดงทาก ลานไทร ดินถล่ม-สันไม้แดง ลาน ฮ.-หุบผา ดงมหาสดำและสามร้อยยอด ดงหวายเหิง-ลาน ดร.ชวลิต และป่าเมฆ-ยอดเขาหลวง
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (น้ำตกกรุงชิง)
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (น้ำตกกรุงชิง) การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ค่ายเยาวชน มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (น้ำตกกรุงชิง)
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร มีร้านอาหารให้บริการ ตั้งอยู่ริมน้ำตกกระโรม
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.