ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 9 องศา 31 ลิบดา-9 องศา 43 ลิบดา เหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 39 ลิบดา - 99 องศา 44 ลิบดา ตะวันออก ประกอบด้วยเกาะ 42 เกาะ ลักษณะเกาะเป็นเขาหินปูนและมีหน้าผาสูงชันเกือบทั้งหมด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 10-396 เมตรจากระดับน้ำทะเล เรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ เกาะที่มีขนาดใหญ่ เช่น เกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะหินดับ และเกาะท้ายเพลา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองเป็นพื้นน้ำ มีพื้นป่าประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ สภาพป่าโดยทั่วไปมีไม้ขนาดใหญ่น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากเกาะที่เป็นเขาหินปูนมีเนื้อดินเป็นชั้นบาง
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและจะมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายน ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมทำให้มีฝนตกทั่วไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัด ปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนักและจะมีฝนตกโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สำหรับช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 องศาเซลเซียส สำหรับช่วงเวลาระพว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี เป็นช่วงฤดูมรสุม ทะเลจะมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดปิดการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้ ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 23 ธันวาคม ของทุกปี เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี
พรรณไม้และสัตว์ป่า
ลักษณะพรรณพืชตามธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง แบ่งตามลักษณะของสภาพป่าและถิ่นที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ป่าดงดิบแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะขนาดใหญ่ คือ เกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะสามเส้า ในบริเวณไหล่เขาและตามร่องลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น พลองใบมน จิกเขา รักเขา หัวค่าง พลองกินลูก เกด ไหม้ ไม้พุ่มชั้นล่างได้แก่ ข่อยหนาม กระจายอยู่ทั่วไป พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ เต่าร้าง หวาย ข้าหลวงหลังลาย เปราะ บุก และกล้วยไม้นารีช่องอ่างทอง ฯลฯ ป่าชายหาด เป็นป่าโปร่งขึ้นบริเวณแคบๆ ตามชายหาดและเชิงเขาชายทะเลทั่วไปของเกาะต่างๆ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ หูกวาง โพทะเล กระทิง ปอทะเล จิกทะเล สนทะเล รักทะเล มะเดื่อป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เตยทะเล พลับพลึง กะทกรก และผักบุ้งทะเล เป็นต้น ป่าเขาหินปูน พบในบริเวณเขาหินปูนที่มีชั้นดินน้อย พืชที่ขึ้นเป็นพืชขนาดเล็ก เช่น จันทน์ผา เป้ง สลัดได พลับพลึง บุก ปอทะเล เกด เชียด และยอป่า เป็นต้น ป่าชายเลน พบอยู่น้อยมากบริเวณซอกหินที่มีหาดทรายหรือหาดเลนในวงรอบของทะเลในของเกาะ แม่เกาะ และทางทิศตะวันออกของเกาะพะลวยในบางอ่าวที่เว้าเข้าไปในแผ่นดิน พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นโกงกางใบเล็ก
ด้วย สภาพที่เป็นเกาะขนาดเล็กกลางทะเล มีที่ราบ และที่ลาดชันปานกลางถึงน้อย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะที่เป็นเขาหินปูนสูงชัน จึงทำให้เป็นข้อจำกัดในเรื่องของการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ สัตว์ที่พบเห็นโดยทั่วไปสามารถจำแนกออกได้เป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 16 ชนิด ได้แก่ นากใหญ่หัวปลาดุก ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงแสม หมูป่า พญากระรอกดำ หนูเกาะ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ โลมา และวาฬ เป็นต้น นก พบไม่น้อยกว่า 54 ชนิด ได้แก่ นกยางเขียว เหยี่ยวแดง นกออก นกเด้าดิน นกแอ่นกินรัง นกแก๊ก นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ และนกขุนทอง ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน พบ 14 ชนิด ได้แก่ แย้ เหี้ย เต่าตนุ เต่ากระ งูเหลือม และงูจงอาง เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบน้อยมากเพียง 5 ชนิด ได้แก่ คางคกบ้าน กบบัว กบนา กบหนอง และปาด นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ที่สำคัญคือ ปลาทู และยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ เช่น ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากระเบนทอง ปลาฉลามหูดำ ปลาเม่นลายเสือ ปลากะพง ปลาเก๋า ปลิงทะเล ปูม้า กัลปังหา แส้ทะเล หอยมือเสือ หอยนางรม และปะการังที่สวยงามซึ่งได้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่จำนวนมาก
กรุงเทพฯ -สุราษฎร์ธานี ใช้เส้นทางสายธนบุรีปากท่อ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 แล้วใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ถึงสุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 644 กิโลเมตร และรถยนต์โดยสารปรับอากาศ (กรุงเทพฯ-เกาะสมุย ป.1 ) ราคา 745 บาท ถึงท่าเรือเฟอร์รี่หน้าทอน อ.เกาะสมุย
โดย สายการบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จากกรุงเทพฯสุราษฎร์ธานี ราคา 2,055 บาท และของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด เปิดบริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯเกาะสมุย ราคา 3,180 บาทไปกลับทุกวันใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที
ขึ้น เรือจากอำเภอดอนสัก เช่น ท่าเรือซีทรานเฟอร์รี่ , ท่าเรือสมุยทัวร์ และซื้อตั๋วข้ามฝั่งไปยังท่าเรือหน้าทอน อ.เกาะ สมุย เรือโดยสารออกเดินทางเวลาประมาณ 8.30 น. เพียงวันละ 1 เที่ยว การนั่งเรือไปยังอุทยานแห่งชาติ มีท่าเรือหน้าทอน จะเป็นเรือทัวร์ขนาดใหญ่ 70-100 คน ราคาค่าโดยสารประมาณ 950-1,100 บาท (เป็นแพ็คเก็จรวมอาหารกลางวัน) ใช้เวลา 2 ชม 30 นาที และท่าเรือบางรักษ์ เเป็นเรือสปีคราคาค่าโดยสารประมาณ 1,400 บาท (เป็นแพ็คเก็จรวมอาหารกลางวัน) ใช้เวลา 45 นาที ระยะทางจากอ.เกาะสมุยไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประมาณ 35 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยทางเรือโดยสาร (เรือทัวร์) ราคา 1,100 บาท (เป็นราคาแพ็กเก็จไปกลับ รวมอาหารกลางวัน)เรือโดยสารออกเดินทางเวลาประมาณ 8.30 น. เพียงวันละ 1 เที่ยว
จาก สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีบริการเดินรถทุกวัน ผู้โดยสารต้องเดินทางไปลงที่สถานีรถไฟพุนพิน แล้วต่อรถยนต์หรือรถโดยสารเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเดินทางต่อโดยรถโดยสารประจำทางสายสุราษฎร์ธานี - เกาะสมุย
การ เดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าสู่อำเภอเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 84 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสารสำหรับรถโดยสารปรับอากาศ ราคา 210 บ าท งและเรือธรรมดา (เรือนอน) ออกจากท่าเรือบ้านดอน สุราษฎร์ธานี เวลา 23.00 น. ถึงเกาะสมุยเวลา 05.00 น. เที่ยวกลับออกจากเกาะสมุยเวลา 21.00 น. ถึงสุราษฎร์ธานี เวลา 04.00 น.
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองปิดการท่องเที่ยว ประจำปีในช่วงฤดูฝน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว กำหนดปิดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน-23 ธันวาคม ของทุกปี
อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นหมู่เกาะในอ่าวไทยท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากเกาะสมุยและเกาะพะงันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ประมาณ 40 เกาะ ตามเกาะต่างๆ จะมีหาดทรายอยู่เกือบทุกเกาะ บางเกาะหาดทรายมีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บางเกาะมีปะการังตามชายทะเลหลายชนิด สีสวยงามหลากสี อยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
เกาะท้ายเพลาและเกาะวัวกันตัง เกาะท้ายเพลาและเกาะวัวกันตัง เป็นจุดที่มีแนวปะการังและหาดทรายขาวสะอาด
เกาะวัวตาหลับ เกาะ วัวตาหลับอยู่บริเวณอ่าวคาเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ด้านหน้าของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เป็นหาดทรายขาวสะอาดเหมาะแก่การเล่นน้ำ นอนเล่นพักผ่อนริมหาด เมื่อขึ้นไปจุดชมทิวทัศน์บนยอดเขา ระยะทางประมาณ 500 เมตร จะมองเห็นหมู่เกาะอ่างทองทั้งหมดที่ทอดตัวเรียงรายเป็นแนวยาวด้วยรูปร่าง ต่างๆ แปลกตา นอกจากนี้ยังมี ถ้ำบัวโบก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่มีความแปลกและเด่นทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะหินงอกหินย้อยรูปร่างสวยงามดูคล้ายดอกบัวบาน
เกาะสามเส้า เกาะ สามเส้า ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะแม่เกาะ เป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม และมีสะพานหินธรรมชาติที่ยื่นโค้งออกไปในทะเล มีหาดทรายขาวสะอาดเหมาะแก่การตั้งแค็มป์พักแรมและว่ายน้ำชมปะการัง
เกาะหินดับ เป็นเกาะที่มีหาดทรายที่สวยงามและชายหาดที่ยาวที่สุดในอุทยานแห่งชาติ สภาพภูมิประเทศและทัศนียภาพรอบเกาะสวยงามน่าชม
ทะเลใน ทะเล ใน หรือทะเลสาบกลางภูเขา อยู่บนเกาะแม่เกาะ เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยเทือกเขาหินปูนที่สูงสลับ ซับซ้อนแต่มีอุโมงค์ใต้น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล การกำเนิดของทะเลสาบน้ำเค็มนี้ได้มีการสันนิษฐานว่า เกิดจากการยุบตัวของหินชั้นล่างทำให้เกิดบ่อยุบ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับหมู่เกาะ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในกระบวนการเดียวกับการเกิดถ้ำ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทางเดินศึกษาธรรมชาติทางบก จำนวน 1 เส้น ชื่อ เส้นทางศึกษาธรรมชาติจุดชมวิว อยู่ที่อ่าวคา เกาะวัวตาหลับ ระยะทาง 500 เมตร ทางเรือ จำนวน 2 เส้น ชื่อ เส้นทางศึกษาธรรมชาติทางน้ำ โดยเรือแคนู บริเวณรอบเกาะผี ระยะทางประมาณ 600 เมตร และบริเวณระหว่างชายหาดอ่าวคาชายหาดหน้าทับ ระยะทางประมาณ 2,200 เมตร และเส้นทางดำน้ำแบบดำผิวน้ำ จำนวน 3 เส้นชื่อ เส้นทางศึกษาธรรมชาติสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ บริเวณเกาะท้ายเพลา ระยะทางประมาณ 200 เมตร บริเวณเกาะสามเส้า ระยะทางประมาณ 150 เมตร บริเวณอ่าวคา เกาะวัวตาหลับ ระยะทางประมาณ 150 เมตร
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง หากต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ อัตราค่าบริการสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์เพิ่มเติม คลิกที่นี่
บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บนเกาะวัวตาหลับ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 แห่ง อยู่บริเวณ อ่าวคา เกาะวัวตาหลับ มีการจัดนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้และให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว