อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอขุนยวมและอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพพื้นที่เป็นป่าเขา เรียงรายสลับซับซ้อน มีภูเขาหินและหน้าผาน้อยใหญ่สูงชันในลักษณะที่แตกต่างกันและคล้ายกันที่สวย งามหลายแห่ง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่สุรินทร์ ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่เคียงคู่กับทุ่งบัวตอง รวมทั้งลำน้ำปาย ซึ่งมีหาดทรายสวยงาม อุทยานแห่งชาติมีเนื้อที่ประมาณ 247,875 ไร่ หรือ 396.60 ตารางกิโลเมตร กรมป่าไม้ได้รับหนังสือจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ มส 09/71 ลงวันที่ 3 มกราคม 2523 แจ้งว่า จังหวัดได้รับหนังสืออำเภอขุนยวมที่ มส 0953/3338 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2522 ขอให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ เพื่ออนุรักษ์บริเวณน้ำตกแม่สุรินทร์ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามไว้เป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจ ตามที่นายสกุล อนันตกุลกำเนิด เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 เสนอโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ประกอบกับ ดร. เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บินตรวจป่าพบว่าบริเวณป่าของอำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะเด่นตามธรรมชาติ และมีน้ำตกสวยงามหลายแห่ง จึงให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการสำรวจ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กส 0708/1140 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2523 เสนอกรมป่าไม้ ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียงทำการสำรวจ ซึ่งสำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียงได้มีคำสั่ง ที่ 180/2523 ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ให้ นายอุดม ธัมทะมาลา เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ทำการสำรวจ พบว่า ป่าน้ำตกแม่สุรินทร์เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำหลายสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดอยปุยมีลักษณะเป็นยอดเขาสูง มีรูปร่างคล้ายฝาชี ข้างบนยอดแบนเป็นที่ราบ อากาศหนาวจัด ทั้งมีน้ำตกสวยงาม 2 แห่ง คือ น้ำตกแม่สุรินทร์ และน้ำตกผาบ่อง เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามรายงานผลการสำรวจหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียง ที่ กส 0709(มร)/2360 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2523 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 เห็นชอบให้กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่น้ำปายฝั่งซ้ายและป่าแม่สุรินทร์ในท้อง ที่ตำบลปางหมู ตำบลผาบ่อง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และตำบลขุนยวม ตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 180 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 37 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพ ภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์เป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับ ซับซ้อน ทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือจดทิศใต้ ทิศตะวันออกจะเป็นภูเขาสูงชันลาดไปทางทิศตะวันตก มีภูเขาหินและหน้าผาสูงชันในลักษณะที่แตกต่างกันและคล้ายกัน มีความสูงต่ำจากระดับน้ำทะเลอยู่ในช่วง 300-1,752 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยปุย รองลงมาคือ ดอยต้นห้วยผาคอ สูง 1,601 ดอยห้วยมีสะมาด สูง 1,465 เมตร ดอยห้วยไม้คอง สูง 1,474 เมตร ดอยบ้านไมโครเวฟ สูง 1,474 เมตร ดอยปลายห้วยแม่จ๋ายำ สูง 1,407 เมตร ดอยผาคอ สูง 1,352 เมตร ดอยบ้านห้วยฮะ สูง 1,359 เมตร และดอยต้นห้วยตองจิง สูง 1,310 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเป็นต้นกำเนิดของลำธารต่างๆ หลายสาย ลำน้ำส่วนใหญ่จะไหลจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ลำธารและลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำปาย ลำน้ำแม่สะมาด ห้วยปงกุน น้ำแม่สะกึด ห้วยม่อนตะแลง น้ำแม่ฮ่องสอน ห้วยโป่ง น้ำแม่สุรินทร์ ห้วยนาอ่อน ห้วยเฮี้ย ห้วยอูคอน้อย และห้วยอูคอหลวง ซึ่งลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่ แม่น้ำปายและแม่น้ำยวม
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยาน แห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี มีอากาศเย็นสบายตลอดปี โดยเฉพาะฤดูหนาวบนยอดเขาอากาศเย็นมาก ฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะมีฝนตกชุกมาก ทำให้การเดินทางไม่สะดวก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมตลอดปี 1,282 มิลลิเมตร ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส และฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวและฤดูร้อนเป็นช่วงที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด
พรรณไม้และสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์มีสภาพป่าที่แตกต่างกันไปหลายชนิด ประกอบด้วย ป่าดิบเขา พบขึ้นเป็นแถบยาวไปตามแนวสันเขา หรือขึ้นปกคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป ชนิดของไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อแป้น ก่อใบเหลื่อม ก่อเดือย มะก่อ ทะโล้ มะมุ่นดง ไก๋แดง กล้วยฤาษี เหมือดคนตัวผู้ ไคร้มด ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ โชนใหญ่ กูดดอย ตองกง สาบหมา ยาแก้ เอ็นอ้าดอย หนาดเขา บัวตอง เป็นต้น สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ เสือดาว ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ เม่นใหญ่ บ่าง กระรอกดินแก้มแดง อ้นใหญ่ นกหกเล็กปากแดง นกคัดคูมรกต นกพญาปากกว้างหางยาว นกพญาไฟแม่สะเรียง กิ้งก่าเขาเล็ก จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง งูลายสาบคอแดง งูแม่ตะง่าว กระท่าง อึ่งกรายหนังปุ่ม กบชะง่อนหินเมืองเหนือ ปาดตีนเหลือง ปาดแคระ ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน ผีเสื้อหางมังกรขาว และผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นปกคลุมในพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่สูงมากนักตามหุบเขาของร่องห้วย ต่างๆ เช่น บริเวณหุบเขาของร่องห้วยแม่สะกึด ห้วยโป่งกาน ห้วยไม้ซางหนามห้วยแม่จ๋า ห้วยน้ำแม่สุรินทร์ เป็นต้น ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 350-600 เมตร ชนิดของไม้และพืชพื้นล่างที่สำคัญได้แก่ เสลา สมอพิเภก ยมหอม มะแฟน ตะแบกเปลือกบาง มะเกลือ กระโดนสร้อย ชิงชัน เปล้าหลวง หมีเหม็น เพกา ไผ่ซางนวล ไผ่บงดำ ไผ่ป่า ว่านมหาเมฆ ขมิ้นแดง กระทือ บอนเต่า หนามคนทา สะแกเครือ หนอนตายหยาก ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ พบเป็นจำนวนมากที่ถ้ำห้วยสลอย ค้างคาวมงกุฎเล็ก กวางป่า อีเห็นข้างลาย อ้นกลาง หนูผีหางหมู ไก่ป่า นกกระทาป่าไผ่ นกตีทอง นกแซงแซวหางปลา นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง นกปรอดหัวสีเขม่า ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนหลากหลาย งูเห่า งูเขียวหัวจิ้งจก อึ่งกรายลายเลอะ กบหลังตาพับ กบกา กบอ่อง ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพ ผีเสื้อหนอนคูณหนวดดำ และผีเสื้อหัวแหลมกระบอง เป็นต้น ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่มีพื้นที่ปกคลุมมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติ สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับความสูงของน้ำทะเลประมาณ 350-1,400 เมตร ชนิดไม้และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ พลวง เต็ง เหียง รัง สนสองใบ รักใหญ่ รกฟ้า ส้านใหญ่ ตับเต่าต้น แคทราย ครามป่า เป้งดอย หญ้าหนวดฤาษี หญ้ากาย หญ้าแขมน้อย หญ้าดอกคำ ฯลฯ สัตวป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ เหยี่ยวนกเขาหงอน นกเค้าแคระ นกจาบคาหัวสีส้ม นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกเด้าดินสวน นกกาแวน กระเล็นขนปลายหูสั้น กระจ้อน กระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาวกลาง แย้ กิ้งก่าแก้ว จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ ผีเสื้อจ่าพม่า และผีเสื้อเณรธรรมดา เป็นต้น ป่าสนเขา จะอยู่ในบริเวณสันเขาสูง ชนิดไม้ที่พบ เช่น สนสองใบและสนสามใบ นอกจากนี้ยังสามารถพบกล้วยไม้อีกหลายชนิดที่สวยงาม ได้แก่ รองเท้านารี เอื้องแซะ ฟ้ามุ่ย พวงมาลัย หางกระรอก ช้างกระ เอื้องคำ เป็นต้น ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาไหลหูดำ ที่พบค่อนข้างมากในแม่น้ำปาย ปลาหลด ปลากระทิง ปลาซิวใบไผ่ ปลาหัวตะกั่ว ปลาก้าง ปลาพลวง นกเป็ดผีเล็ก นกยางโทนน้อย และนกยางเขียว
การ เดินทางไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จากอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1095 สายแม่ฮ่องสอน - อำเภอปาย (ไปทางอำเภอปาย) ถึงบริเวณบ้านปางหมู (ก่อนถึงแม่น้ำปาย) จะพบสามแยก ให้เลี้ยวขวา ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นไปทางอำเภอปางมะผ้า ประมาณ 10 กิโลเมตร บ้านพักนักท่องเที่ยวตั้งอยู่โซนนี้ สำหรับการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติ คือ น้ำตกแม่สุรินทร์ ทุ่งบัวตอง และดอยแม่อุคอ จากอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สายแม่ฮ่องสอน - อำเภอขุนยวม (ไปทางอำเภอขุนยวม) เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จะถึงอำเภอขุนยวม จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1263 อีกประมาณ 40 กิโลเมตร เข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.1 (น้ำตกแม่สุรินทร์) ซึ่งเป็นที่ตั้งของน้ำตกแม่สุรินทร์ แต่ก่อนเข้าน้ำตกจะผ่านทุ่งบัวตอง และดอยแม่อุคอก่อน โซนนี้ไม่มีบ้านพักนักท่องเท่องเที่ยวเปิดให้บริการ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สำรองที่พักของอุทยานแห่งชาติ น้ำตกแม่สุรินทร์ แต่จัดตารางการเดินทางท่องเที่ยวบริเวณน้ำตกแม่สุรินทร์ ทุ่งบัวตอง และดอยแม่อุคอก่อนเดินทางเข้าพักบ้านพักอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ริมลำน้ำปาย ควรเผื่อเวลาในการเดินทางด้วย เนื่องจากเส้นทางการเดินทางไปบ้านพักเป็นทางขึ้นเขา ลงเขา มีความลาดชัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.30 - 3 ชั่วโมง
ล่องแก่งจากแม่น้ำของลงมาจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก ดูคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ถ้ำน้ำฮู้หายใจ ตั้ง อยู่ติดถนนสายบ้านหัวน้ำแม่สะกึ๊ด-บ้านห้วยปูลิง บริเวณด่านตรวจถ้ำน้ำฮู้หายใจ ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.3 (แม่สะกึ๊ด) ไปตามถนนสายบ้านหัวน้ำแม่สะกึ๊ด-บ้านห้วยปูลิง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถ้ำน้ำฮู้หายใจ เป็นถ้ำขนาดกลางที่มีน้ำไหลซึมออกมาจากภายในถ้ำ ไหลลงสู่ลำธารหน้าถ้ำ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปลกคือ ทุกๆ ประมาณ 25 นาที จะมีสายน้ำผุดออกมาจากผนังภายในถ้ำ และมีเสียงเกิดขึ้นเหมือนคนกำลังหายใจ ซึ่งสันนิษฐานว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากแรงดันของน้ำในชั้นหินตามรอยร้าวของเปลือกโลก และจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่มาของชื่อ ถ้ำน้ำฮู้หายใจ
ถ้ำสะหรอย อยู่ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.6 (บ้านแม่สุรินทร์) ห่างจากบ้านแม่สุรินทร์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ประมาณ 3 กิโลเมตร และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถ้ำสะหรอยเป็นถ้ำขนาดกลาง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ผนังด้านบนของถ้ำจะมีช่องว่างเป็นรูโพรง ทำให้แสงสว่างส่องเข้ามาในถ้ำได้ เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง
น้ำตกผาบ่อง มี ชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำตกดำข่อน เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากห้วยดำข่อน ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชันเป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงมาถึง 3 ชั้น มีความสูงประมาณ 40 เมตร และด้านซ้ายของน้ำตกนี้ยังแยกเป็นน้ำตกเล็กๆ มีระยะห่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 12 กิโลเมตร เดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
น้ำตกแม่สุรินทร์ เป็น ต้นน้ำตกชั้นเดียวที่สวยงามมากมีน้ำไหลตลอดทั้งปี นับว่าเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เกิดจากแม่น้ำสุรินทร์ มีธรรมชาติรอบด้านเป็นภูเขาสูงชันไหลลงมาเป็นสายยาวจากหน้าผาสู่หุบเขา สูงประมาณ 180-200 เมตร การเดินทางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งและฤดูหนาว ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอขุนยวม ประมาณ 38 กิโลเมตร ตั้งอยู่บ้านแม่สุริน ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม โดยเดินลงไปตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติประมาณ 1,350 เมตร
แม่น้ำปาย มี ชายหาดที่สวยงามเหมาะสำหรับตั้งค่ายพักแรมพักผ่อนหย่อนใจ บริเวณ ปายกีด เป็นแก่งหินน้อยใหญ่เรียงรายสลับซับซ้อนอยุ่ตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปาย มีหน้าผาที่สูงตระหง่านอยู่ติดกับแม่น้ำปาย เหมาะในการล่องแก่งโดยเรือยางหรือล่องแพไม้ไผ่ โดยเริ่มต้นจากแม่น้ำของบริเวณหมู่บ้านห้วยซ้าน ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ล่องไปตามสายน้ำของ ก่อนจะถึงจุดที่น้ำไหลไปบรรจบกับน้ำปาย กลายเป็นแม่น้ำปายสายใหญ่ขึ้น ตามสองฝั่งแม่น้ำปายมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ภูเขาที่สลับซับซ้อน สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ นกน้อยใหญ่ที่บินไปมา ก่อนจะถึงบริเวณปายกีดมีแก่งมากมายที่รอการท้าทายจากผู้ที่นิยมการผจญภัยกับ การล่องแก่ง
ยอดดอยปุย ตั้ง อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.5 (ดอยปุย) ตามถนนสายบ้านหัวน้ำแม่สะกึ๊ด-บ้านห้วยปูลิง จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.3 (แม่สะกึ๊ด) ถึงจุดทางเดินขึ้นดอยปุย ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าขึ้นดอยปุยอีก ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ตามสองข้างทางเดินจะพบเห็นสังคมพืชและสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ จะได้พบเห็นดอกไม้ป่านานาชนิด ทั้ง กล้วยไม้ เอื้องแซะ เห็ดต่างๆ ที่มีเรียงรายตามสองข้างทางขึ้นดอยปุย บนยอดดอยปุย ซึ่งสูง 1,722 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม ทัศนียภาพโดยรอบ 360 องศา ภูเขาที่สลับซับซ้อนเรียงรายอยู่หน้าผู้มาเยือน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยแม่สะกึด ตั้ง อยู่ที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ภายใต้การดูแลของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.3 (แม่สะกึด) ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนออกมาตามถนนสายหลักไปอำเภอแม่สะเรียง ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีถนนแยกซ้ายมือจากถนนหลักเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลักษณะเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้คือ เป็นเส้นทางเลียบลำน้ำแม่สะกึด ระยะทาง 1,860 เมตร ผ่านป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีไม้ขนาดใหญ่ มีการสื่อความหมายธรรมชาติที่ผสมผสานระหว่างการใช้ป้ายสื่อความหมายบนเส้น ทาง และการให้ศึกษาด้วยตนเองจากเอกสารประกอบที่แจกให้
หนองเขียว มี ลักษณะเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่กลางหุบเขา บริเวณโดยรอบมีที่ราบกว้างประมาณ 200 ไร่ มีป่าสนเขาเป็นพื้น การเดินทางใช้เส้นทางเดินเท้าจากน้ำตกแม่สุรินทร์ ประมาณ 2 ชั่วโมง ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สร.1 (น้ำตกแม่สุรินทร์) ประมาณ 12 กิโลเมตร มีหมู่บ้านปกากะเญอตั้งอยู่ใกล้เคียง
ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก มี บ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งบ้านพักที่มีให้บริการนี้อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านพักตั้งอยู่บนเนินเขา เส้นทางเดินค่อนข้างลาดชัน ห่างจากลานจอดรถ ประมาณ 100 - 200 เมตร บ้านพักอยู่ติดลำน้ำปาย ไม่ได้อยู่บริเวณน้ำตกแม่สุรินทร์
ลานกางเต็นท์ อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง หากต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำ อัตราค่าบริการสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์เพิ่มเติม คลิกที่นี่
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.